ในที่สุดรัฐนาวา “เศรษฐา 1” ก็ได้จัดประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการครั้งแรกไปแล้ว เมื่อวันพุธที่ 13 ก.ย.2566 ซึ่งก็ต้องบันทึกไว้อีกเช่นกันว่า การประชุมนัดแรกก็มีรัฐมนตรีประเดิมลาแล้ว ก็คือ “ศุภมาส อิศรภักดี” รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว.นั่นเอง สงสัยเจ้ากระทรวงยังมะรุมมะตุ้มกับการแฉของเพจดังว่าด้วยปลัดกระทรวงไปทริปต่างประเทศอยู่เนืองนิจนั่นเอง ...๐
แล้วก็เป็นไปตาม คำสัญญา เซอร์ไพรส์ของนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 นั่นคือการลดแลกแจกแถม มีทั้งเรื่องการลดค่าไฟ ราคาน้ำมัน และการพักหนี้เกษตรกร ซึ่งก็ไม่สร้างอะไรให้แปลกใจ
แต่เรื่อง “ฟรีวีซ่า” ที่เดิมพูดถึงแต่พี่ใหญ่แดนมังกร แต่ มติ ครม.กลับมี “คาซัคสถาน” เข้ามาด้วย ซึ่งก็เรียกว่าทำเอามึนกันทั้งบางว่าโผล่มาได้อย่างไร เพราะ ข้อมูลที่ กต.เผยแพร่ไว้ล่าสุดนั้นก็มีนักท่องเที่ยวแค่ปีละกว่า 5 หมื่นคนเท่านั้น ที่สำคัญ กต.ก็จัดให้ “คาซัคสถาน” เป็นประเทศที่อยู่ในเอเชียกลาง แต่ “นายกฯ นิด” กลับบอกว่าเป็นชาติที่อยู่ในเขตยุโรป ที่ดูจากสถิติถือเป็นประเทศที่อยากเดินทางเข้ามาไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ...๐
ส่วนที่สร้างเซอร์ไพรส์จริงคงไม่มีอันใดเกิน การจ่ายเงินข้าราชการที่จะแบ่งเป็น 2 งวด โดยจะเริ่มใช้ในวันที่ 1 ม.ค.2567 ซึ่งงานนี้ไม่รู้ว่า “เศรษฐา” คิดในฐานะนายกฯ หรือฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกันแน่ เพราะเรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะแม้จะมีระยะเวลากว่า 3 เดือนให้กรมบัญชีกลางและสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) จัดการก็ตามที แต่ อย่าลืมเรื่องไฟแนนซ์ หรือลีสซิ่งในภาคเอกชนที่หักเงินของข้าราชการในการซื้อ หรือเช่าซื้อของต่างๆ ด้วย เพราะ “เอกชน” คงไม่มีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามมติ ครม.แต่อย่างใด งานนี้หากทำจริงในวันที่ 1 ม.ค. หลังจากนั้นเราคงได้มีข่าวการฟ้องร้องยึดทรัพย์สินกันพะเรอเกวียนแน่ๆ หากไม่มีมาตรการมารองรับเรื่องดังกล่าว ...๐
หรือเพราะรัฐบาลคิดว่าเป็น “รัฏฐาธิปัตย์” ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในแผ่นดินตามที่ “ชัย วัชรงค์” โฆษกรัฐบาลป้ายแดงได้ระบุไว้ ว่าตอนนี้รัฐบาลเป็นรัฏฐาธิปัตย์แล้ว แหม! ก็ไม่รู้ว่า “โฆษกชัย” เรียนรัฐศาสตร์จากที่ใดมา เพราะรัฐบาลนั้นไม่ได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหมือนคณะรัฐประหาร หรือคณะปฏิวัติที่จะเรียกว่ารัฏฐาธิปัตย์ได้ เพราะ หากเป็นจริงก็ไม่จำเป็นต้องมีรัฐสภา และไม่ต้องถูกฝ่ายค้านตรวจสอบแล้ว ...๐
นอกจาก “โบนัส” ที่รัฐบาลแจกให้กับประชาชนแล้ว ยังมีการแต่งตั้งข้าราชการการเมืองทั้งหลายเพื่อตอบแทนบรรดาคนในพรรคตามสไตล์วังวนการเมืองเดิมไม่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะ “คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์เพาเวอร์แห่งชาติ” เพราะเรียกว่าขนมาทั้งคนตระกูลชินวัตร และคนสนิทของตระกูล ไล่มาตั้งแต่ “แพทองธาร ชินวัตร” หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ที่เป็นรองประธาน “พันศักดิ์ วิญญรัตน์” เป็นที่ปรึกษาหูกระต่าย และ “นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี” กรรมการ รวมทั้งให้ “นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช” เลขาธิการนายกฯ ประสานงานอีกต่างหาก ...๐
ในขณะที่การ แบ่งงานรองนายกฯ ทั้ง 6 คนนั้นก็เรียกว่าเรียบร้อยสหายอ้วน “ภูมิธรรม เวชยชัย” เพราะเป็นรองนายกฯ ตัวตายตัวแทนเศรษฐา ที่สำคัญยังได้ข้ามห้วยคุมกระทรวงเพื่อนร่วมรัฐบาลอย่าง “กระทรวงเกษตรฯ” ของพรรคพลังประชารัฐอีกต่างหาก ส่วนรองนายกฯ หัวเดียวกระเทียมลีบที่ไม่มีตำแหน่งพ่วงอย่าง “สมศักดิ์ เทพสุทิน” นั้น ก็มีศักดิ์ศรีขึ้นมาบ้าง เพราะเป็นรองนายกฯ เบอร์ 2 โดยได้กำกับดูแลทั้งกระทรวงคมนาคม, กระทรวงยุติธรรม ยกเว้นกรมสอบสวนคดีพิเศษ, กรมประชาสัมพันธ์, สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค, สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, สำนักงานราชบัณฑิตยสภา, สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง รวมถึงศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเรียกว่าเป็นรองนายกฯ ฝ่ายกฎหมายก็ว่าได้ ซึ่ง งานนี้ก็ไม่รู้ว่า “สมศักดิ์” จะยิ้มแก้มปริขนาดไหน ...๐
ไม่ต่างจาก “ชาดา ไทยเศรษฐ์” รมช.มหาดไทย ที่ได้กำกับทั้งกรมการพัฒนาชุมชน, กรมที่ดิน และการประปาส่วนภูมิภาค ซึ่งหากพินิจพิเคราะห์แล้วก็ต้องบอกว่า “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ก็แบ่งงานได้แบบบัวไม่ช้ำ น้ำไม่ขุ่น กับ 3 รมช.กันเลยทีเดียว เพราะ “ทรงศักดิ์ ทองศรี” รมช.มหาดไทยก็ได้ดูแล “กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น” ในขณะที่ “เกรียง กัลป์ตินันท์” รมช.มหาดไทยจากเพื่อไทยนั้น ก็ได้ดูแล “กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย-กรุงเทพมหานคร-องค์การตลาด-องค์การจัดการน้ำเสีย” ด้วย ...๐
ท.ศักดิ์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
บันทึกหน้า 4
วันนี้เห็นข่าว แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ดีอกดีใจกับ อันดับที่ 29 สตรีผู้ทรงอิทธิพลโลก จากจำนวน 100 คนทั่วโลก ของนิตยสาร Forbes ก็ให้รู้สึกอึนๆ มึนๆ เหมือนอากาศขมุกขมัวสลัวในกรุงเทพมหานคร ก็เพราะไม่แน่ใจว่า ในฐานะพลเมืองไทยแล้ว ควรจะจำนนกับสถานการณ์ ณ ปัจจุบันแล้วยินดีปรีดา หรือว่าปลงๆ เสียเถิดจะเกิดผล!!
บันทึกหน้า 4
ถึงกับว้าว! "อิ๊งค์" ทอล์กโชว์ อลังการงานสร้าง เวทีใหญ่สวยงาม จัดเต็มแสงสีเสียง ยกเว้นเรื่องเดียว "สาระ" เนื้อหาผลงาน 90 วัน รัฐบาลแพทองธาร
บันทึกหน้า 4
ต้องเรียกว่าตีปี๊บกันอย่างยิ่งกับการแถลงผลงาน 90 วัน พร้อมสานฝันอนาคตในธีม “2568 โอกาสไทย ทำได้จริง” ที่ “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรีจะเป็นคีย์แมนหลัก โดยถ่ายทอดสดผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (เอ็นบีที) ในวันพฤหัสบดีที่ 12 ธ.ค.นี้
บันทึกหน้า 4
วันอังคารที่ 10 ธันวาคม ตรงกับ วันรัฐธรรมนูญ เป็นวันหยุดราชการ การประชุม ครม.จึงเลื่อนไปเป็นวันพุธ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2475 ถึงปัจจุบัน มีรัฐธรรมนูญแล้ว 20 ฉบับ มีรัฐประหารถึง 13 ครั้ง
บันทึกหน้า 4
” จับตาว่า ม็อบจะจุดติดหรือไม่ หลัง สนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรฯ ยื่นหนังสือถึงนายกฯ จำนวน 6 ข้อ เพื่อยกเลิกเอ็มโอยู 44 รวมถึงยังยื่นข้อเรียกร้องดังกล่าวต่อสมาชิกรัฐสภา
บันทึกหน้า 4
พรุ่งนี้ 10 ธ.ค. วันรัฐธรรมนูญ บันทึกให้ระลึกรู้ว่า ประเทศไทยได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญมาแล้ว 20 ฉบับ ฉบับปัจจุบันคือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ป