ยังต้องจับตาเป็นพิเศษ สำหรับโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาทของพรรคเพื่อไทย ซึ่งหลายฝ่ายมีความกังวล โดยเฉพาะเรื่องของแหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการกว่า 5.6 แสนล้านบาท
คำถามคือ รัฐบาลจะเอาเงินจากไหนมาใช้รันโครงการอภิมหาประชานิยมแบบนี้ จนนำไปสู่การถกเถียง โดยเฉพาะเมื่อมองไปยังงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด หากไม่ใช้วิธีกู้เงินเพิ่ม ซึ่งต่อมามีข้อเสนอแนะมากมายจากกูรูหลายด้าน
อย่างล่าสุดที่อดีต กกต. สมชัย ศรีสุทธิยากร ออกมาโพสต์ถึงการหาแหล่งเงินที่จะมาใช้ในโครงการนี้ โดยระบุว่า หากรัฐจะหาเงินมาใช้โดยไม่ต้องกู้ สามารถใช้มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการตัดงบรายการประจำทุกหน่วยงาน across the board (ทุกกระทรวง) ประมาณร้อยละ 15-17 ก็น่าจะมีเงินมาแจกชาวบ้านได้ทันในเดือน ก.พ.2567
แต่ก็มีการตั้งคำถามตัวโตๆ ว่า แต่ละกระทรวงเขาจะว่าอย่างไร ยอมให้ตัดรายจ่ายประจำลงขนาดนี้หรือไม่พิสูจน์ความสามารถของ รมต.แต่ละกระทรวงแล้ว จะกล้าทุบไหม
พร้อมทั้งสำทับ หากทำได้จริงเท่ากับรัฐบาลเพื่อไทยทำให้ราชการทำงานมีประสิทธิภาพ เพราะลดงบประมาณร้อยละ 15-17 แล้วยังสามารถทำงานได้เท่าเดิม
นี่ก็เป็นเรื่องที่น่าคิดว่า ในเชิงการเมือง พรรคเพื่อไทยจะกล้าหั่นงบประจำของกระทรวงที่ตัวเองดูแลได้มากแค่ไหน และที่สำคัญจะกล้าไปหั่นงบกระทรวงที่เป็นโควตาของพรรคร่วมแค่ไหน
งานนี้ต้องจับตาดูกัน..ในช่วงของการจัดทำงบ 67 ปีนี้
อย่างไรก็ดี แนวทางของนายสมชัยก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่มีความเป็นไปได้ แต่ทางด้าน นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังก็มีทางออกที่แตกต่างออกไป โดยระบุว่า รัฐบาลไม่จำเป็นต้องออกพระราชกำหนด หรือ พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม ซึ่งหากพิจารณาในส่วนของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 28 ยังพอมีหลายช่องทางที่จะนำงบประมาณออกมาใช้ได้ โดยวงเงินปี 66 ยังเหลืออยู่ประมาณ 18,000 ล้านบาท เมื่อสิ้นปีงบประมาณแล้วจะมีตั้งงบใช้คืน 100,000 ล้านบาท สำหรับงบประมาณในปี 67 ต้องดูอีกครั้งว่าวงเงินเหลืออยู่เท่าไร ด้วยการเกลี่ยจากงบหลายส่วนที่ยังพอนำมาใช้รองรับเงินดิจิทัล
ขณะที่ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด หรือ ASPS ระบุว่า แหล่งเงินที่จะใช้ในการดำเนินนโยบายอาจมาจาก 3 ส่วน ได้แก่ 1.การจัดสรรงบประมาณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่า แหล่งเงินน่าจะมาจากรายรับจากภาษีของรัฐบาลในปี 2567 การบริหารจัดการงบประมาณ และปรับสวัสดิการที่ซ้ำซ้อน 2 แสนล้านบาท การจัดเก็บภาษีที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอีก 1 แสนล้านบาท
2.การกู้เงินโดยประเทศไทยมีหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ 61.15% ซึ่งจะกู้เพิ่มได้อีก 1.58 ล้านล้านบาท โดยหลักการแล้วไม่ควรกู้จนเต็มเพดานหนี้ 3.กระทรวงการคลังอาจจัดสัดส่วนการถือหน่วยลงทุนในกองทุนวายุภักษ์ให้ กบข.-ประกันสังคมฝ่ายวิจัยฯ ประเมินว่าสามารถทำได้ ขณะที่กองทุนวายุภักษ์เป็นกองทุนที่มีขนาดใหญ่ มีมูลค่าพอร์ตอยู่ที่ 3.47 แสนล้านบาท รองรับเงินที่ใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายได้พอสมควร
เห็นได้ชัดว่า ในขณะนี้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยยังพอมีออปชันในการเลือกหาแหล่งเงินมาใช้ในโครงการนี้พอสมควร แต่สุดท้ายแล้วจะเลือกแนวทางไหนคงต้องติดตามกันต่อไป
และประชาชนทุกคนจะต้องช่วยกันติดตามด้วยว่า โครงการนี้จะตอบโจทย์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างที่คาดหวังแค่ไหน และมีช่องโหว่ในการคอร์รัปชันหรือไม่ เพราะนี่คือเงินภาษีก้อนมหาศาล ที่อาจจะชี้ชะตาประเทศในอนาคตก็เป็นไปได้.
ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ผ่าแผนรับมือรถติดสร้างสายสีส้ม
จากการที่รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะผู้อำนวยการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เตรียมจัดการจราจรเพื่อดำเนินงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม
เปิดขุมทรัพย์จากพฤติกรรมสุดขี้เกียจ
เชื่อหรือไม่ว่า มีคนจำนวนไม่น้อยที่กดสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันเดลิเวอรี ทั้งที่ร้านอยู่ใกล้แค่ใต้คอนโดฯ สั่งซื้อของจากร้านสะดวกซื้อทั้งที่ร้านอยู่แค่ฝั่งตรงข้าม หรือยอมจ่ายเงินจ้างคนไปต่อคิวเพื่อซื้อของ ทำธุระ
สงครามการค้าเวอร์ชัน 2.0
อย่างที่ทราบกันดีว่า ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐล่าสุด ผู้ชนะก็คือ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนจากพรรครีพับลิกัน ซึ่งคว้าชัยแบบทิ้งห่างคู่แข่งอย่างนางกมลา แฮร์ริส ตัวแทนจากพรรคเดโมแครต
แห่ส่งเสริมนวัตกรรมพลิกโลก
เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต ออฟ ติงส์ หรือ IoT(ไอโอที) เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีสำคัญในยุคสมัยนี้ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนในยุคปัจจุบันเป็นอย่างมาก เพราะเป็นนวัตกรรมที่ทำให้การสื่อสารระหว่างมนุษย์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไร้รอยต่อยิ่งขึ้น
OCAแก้วิกฤตพลังงานไทย
ปัจจุบันปริมาณสำรองก๊าซของไทยลดลงอย่างต่อเนื่องจนเข้าขั้นวิกฤต ส่งผลให้ต้องนำเข้าก๊าซ LNG ในราคาที่ผันผวนเพิ่มมากขึ้น มีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นของประชาชนและรายได้งบประมาณของรัฐลดลง
แอ่วเหนือ...คนละครึ่งบูมเศรษฐกิจ
จากสถานการณ์อุทกภัยในช่วงที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในหลายพื้นที่ของภาคเหนือ โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ ทั้งในแง่ของการคมนาคม เดินทางเข้าสู่พื้นที่และความเสียหายต่อแหล่งท่องเที่ยว