โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี... แม้ว่าจะเรียกมันว่า ‘แจกเงิน’

นโยบายแจก 10,000 บาทผ่าน digital wallet ยังมีประเด็นที่ต้องการความกระจ่างจากรัฐบาลอีกหลายข้อ

เพราะแม้การที่รัฐบาลจะแจกเงินประชาชนไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่กรณีของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยบอกว่าเป็นการแจกผ่านระบบดิจิทัลพร้อมเงื่อนไขบางประการที่แปลกใหม่ จึงหนีไม่พ้นว่าจะต้องเกิดคำถามตามมา

ตราบที่ยังไม่มีการชี้แจงลงรายละเอียดก็จะยังเป็นเรื่องค้างคาใจ

และจะเป็นอุปสรรคที่จะทำให้โอกาสที่จะประสบความสำเร็จอยู่ห่างไกลออกไป

เมื่อวานนี้มีคำถามเรื่อง “เงินมาจากไหน” วันนี้ ผมขอนำประเด็นต่อเนื่องที่ควรได้รับคำอธิบายเพิ่มเติมจากรัฐบาลเศรษฐา

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ เกียรตินาคินภัทร ที่เคยทำงานในกระทรวงการคลังและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)ถามต่อว่าการตั้งราคาของ utility token ที่จะใช้เป็นอย่างไร

 “ราคา” ของ token เมื่อเงินของเราไม่เท่ากัน

แม้ว่าโครงการจะบอกว่านี่ไม่ใช่เงินสกุลใหม่ และมีมูลค่าเท่ากับหนึ่งบาทตลอดเวลา แต่ “เงิน” สกุลเดียวกัน ที่ออกโดยผู้ออกคนละคน หรืออยู่คนละรูปแบบ ก็มี “ราคา” ได้ (ทางวิชาการเรียกว่า ราคา par ของเงินคนละแบบ)

โดยเฉพาะถ้าไม่สามารถแลกกลับเป็น “เงิน” รูปแบบอื่น ได้ตลอดเวลา และไม่มีกลไกในการรับรองมูลค่าของ “เงิน” token นั้นจะรักษามูลค่าพื้นฐานได้อย่างไร

และ token นี้จะมีศักดิ์และสิทธิ์เท่าเทียบกับเงินบาทในรูปแบบธนบัตร หรือเงินฝากในธนาคารหรือไม่

มีกฎหมายอะไรที่รับรองให้ชำระหนี้ได้

และผู้รับปฏิเสธการชำระหนี้ของ token นี้ได้หรือไม่

ถ้า token มีสภาพเหมือนเงิน แต่มีข้อจำกัดในการใช้มากกว่าเงินสด และไม่สามารถแลกเป็นเงินสดได้ในทันที หรือมีความไม่มั่นใจว่าจะใช้ได้หรือไม่ ผู้ขายอาจจะไม่ยอมรับหรือรับในอัตราที่ต่ำกว่าเงินบาท (เช่น ขายของ 100 บาทในราคา 200 token)

หรือ อาจจะมีคนยอม “ขาย” token ในราคาที่ต่ำกว่าหนึ่งบาทเพื่อรับเงินบาททันทีในวันนี้ ให้กับคนที่ตั้งโต๊ะรับซื้อ และสามารถรอไปแลกเงินบาทได้ในอนาคต

ซึ่งอาจจะเกิดธุรกิจรับซื้อ token หรือตลาดซื้อขาย token ได้เลย

นั่นแปลว่าคนที่ถือ token ต้องรับโอกาสที่จะขาดทุนได้ด้วย

นอกจากนี้ ถ้าจะให้ token ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนได้ ระหว่างที่ขึ้นเงินสดยังไม่ได้ ร้านค้าและผู้ประกอบการต้องสามารถโอนเงินกลับมาให้ลูกจ้างเป็นค่าจ้างให้กลับมาใช้จ่ายได้อีก

ซึ่งจะทำให้เส้นแบ่งระหว่างผู้จ่ายและผู้รับเบลอไปเรื่อยๆ แต่ลูกจ้าง หรือ supplier จะรับ token ไหม

คำถามต่อมาคือ คนรับมาแล้วจะทำอะไรกับ token?

ด้วยข้อจำกัดที่ต้องใช้ในรัศมีที่จำกัด และไม่สามารถแลกเป็นเงินสดได้  ปัญหาหนึ่งที่พอจะมองเห็นได้คือ ถ้าคนในชุมชนรุมกันไปใช้ token นี้ที่ร้านค้าแห่งหนึ่งในชุมชน

แต่ร้านค้าแห่งนั้นจำเป็นต้องไปซื้อวัตถุดิบจาก supplier ที่อยู่ห่างไปกว่า 4 กม. หรือนำเข้าสินค้ามาจากต่างประเทศ แปลว่าร้านนี้ขายของได้และได้รับ token มาเยอะมาก แต่อาจจะไม่สามารถนำ token ไปซื้อวัตถุดิบมาขายของต่อได้ หรือไม่

ในเมื่อเอาไปขึ้นเป็นเงินสดก็ไม่ได้  เงินก็อาจจะไม่หมุนต่อ

และมีความเสี่ยงที่ร้านค้านั้นอาจจะขาดสภาพคล่องได้ หรือเจ๊งเอาได้

นี่ยังไม่นับประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำทางพื้นที่ (เช่น คนบนดอยอาจจะไม่มีร้านค้าที่รับเงินนี้ได้ในรัศมีใกล้ๆ) กับการเข้าถึงเทคโนโลยีอีก หรือคนที่ไม่อยู่ในพื้นที่ทะเบียนบ้านอาจจะไม่คุ้มที่จะกลับไปใช้เงิน

คำถามใหญ่อีกข้อหนึ่งคือ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจะคุ้มค่าต้นทุนหรือไม่

และอีกคำถามสำคัญคือ ต้นทุนในการแจกเงินอาจจะเกิดขึ้นในทันที

แต่นี่คือการใช้จ่ายเงินภาครัฐที่คุ้มค่าที่สุด ตรงจุด และเกิดผลกับเศรษฐกิจอย่างเหมาะสมหรือไม่

 “การแจกเงิน” แบบเป็นการทั่วไป  (ไม่ได้เฉพาะเจาะจงบางกลุ่ม) หรือที่ทางการเรียกว่า “เงินโอน” ภาครัฐ อาจจะมีผลต่อเศรษฐกิจ น้อยกว่าเงินที่ใส่ลงไปอีก (fiscal multiplier อาจจะน้อยกว่า 1x)

เป็นเรื่องยากมากที่จะเกิดผลต่อเศรษฐกิจมหาศาลขนาด 5-6 เท่า จนสร้างรายได้ภาษีใหม่มาจนพอจ่ายต้นทุนโครงการแทบเป็นไปไม่ได้เลย

          เพราะเหตุผลสามข้อใหญ่ๆ

  • แม้ผู้รับจะใช้เงินที่ได้รับไปทั้งหมด แต่อาจจะไม่ได้หมายความว่า เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่เท่ากับเงินที่ผู้รับใช้ไป ที่จะไม่เกิดขึ้นถ้าไม่มีโครงการนี้

เช่น ถ้าปกติคนคนหนึ่งกินข้าวเดือนละหนึ่งหมื่นบาท พอได้รับเงินมาหนึ่งหมื่นบาท คนคนนั้นใช้เงินที่ได้รับมาจนหมด และใช้เงินเดือนนั้นเพิ่มเป็นหนึ่งหมื่นห้าพันบาท แต่ไม่ได้แปลว่าเกิด GDP ใหม่หนึ่งหมื่นบาท แต่เกิด GDP ใหม่แค่ห้าพันเท่านั้น เพราะจะเอาอีกห้าพันไปออม หรือไปใช้หนี้

2.การใช้จ่ายไม่ได้เกิดเป็นกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศเท่านั้น แต่อาจจะรั่วไหลไปเป็นการนำเข้าก็ได้ เช่น ถ้าคนรับเงินหนึ่งหมื่นบาทไปซื้อมือถือใหม่ GDP ในประเทศเกิดขึ้นน้อยมาก แม้ว่าจะมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นก็ตาม

3.อาจจะมีการยืม demand ในอนาคตมาใช้ เช่น ใช้เงินที่ได้รับตุนของที่ต้องใช้อยู่แล้ว สบู่ กระดาษทิชชู่ น้ำมันพืช ยาสีฟัน ซึ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจอาจจะพุ่งสูงขึ้นระหว่างมีโครงการ แต่ก็อาจจะ “จ่ายคืน” หลังโครงการจบ

ดร.พิพัฒน์บอกว่า โครงการนี้น่าสนใจ แต่รายละเอียดโครงการนี้ยังมีน้อยไป

พร้อมจะรอข้อมูลเพิ่มเติมก่อนที่จะประเมินผลกระทบจริงๆ ได้ และมีคำถามเกิดขึ้นค่อนข้างมาก

ดังนั้น จึงควรจะยอมรับไปเลยว่านี่คือการ “แจกเงิน” 

เพราะหากยอมรับอย่างนี้เสียแล้วก็จะแก้ปัญหาหลายอย่างที่ว่ามา

แต่ประเด็นที่สำคัญคือ จะต้องมีการตั้งงบประมาณอย่างโปร่งใส พิจารณาอย่างรอบคอบถึงต้นทุน ผลที่จะได้รับ และเปรียบเทียบกับทางเลือกในการใช้เงินด้านอื่นๆ และเลือกขนาดของโครงการตามความเหมาะสมภายใต้กรอบของกฎหมายเพื่อรักษาวินัยทางการคลัง

และเพราะโลกนี้ไม่มีอะไรฟรีครับ!

นั่นคือข้อสรุปของนักเศรษฐศาสตร์ภาคเอกชนวันนี้ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาพอสมควร

เป็นการฝากคำถามจากฝั่งที่ไม่ได้อยู่ในรัฐบาล...แต่ช่วยรัฐบาลคิดวิเคราะห์และเสนอทางออก

เพราะเชื่อว่าบ้านเมืองมีปัญหาเศรษฐกิจหนักหนาสาหัสอยู่หลายด้าน ที่ใครมาเป็นรัฐบาลก็ต้องตั้งหน้าตั้งตาแก้ไขให้จงได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ