หลังจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2477 ได้ลงมติเห็นสมควรให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลเป็นพระมหากษัตริย์ด้วยเสียง 127 ต่อ 2 เสียง ต่อจากนั้น ได้มีการประชุมเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพราะพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่หรือรัชกาลที่แปดยังทรงเป็นยุวกษัตริย์มีพระชันษาเพียง 10 ชันษา อีกทั้งยังประทับอยู่นอกราชอาณาจักรด้วย
สมาชิกในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีการอภิปรายถกเถียงเกี่ยวกับเกณฑ์การตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยมีการยกกฎมณเฑียรบาลและรัฐธรรมนูญขึ้นมาว่า จะใช้อะไรเป็นตัวตั้ง
ต่อจากการอภิปราชของ น.ต. หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ร.น. รัฐมนตรี พ.ต. หลวงรณสิทธิพิชัยได้กล่าวว่า
“ข้าพเจ้าขอกล่าวสนับสนุนท่านรัฐมนตรี เมื่อกี้นี้ (น.ต. หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ร.น./ผู้เขียน) นอกจากท่านรัฐมนตรี เมื่อกี้นี้ ได้กล่าวแล้ว ยังมีมาตรา ๖๑ แห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๑ แห่งรัฐธรรมนูญมีว่า ‘บทบัญญัติแห่งกฎหมายใด มีข้อความแย้งหรือขัดแก่รัฐธรรมนูญนี้ ท่านว่าบทบัญญัตินั้นๆเป็นโมฆะ’ เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้ เมื่อความในมาตรา ๑๐ มีบ่งชัด และเฉพาะพระมหากษัตริย์องค์ที่เราได้เลือกใหม่นี้ได้เข้าในเหตุทั้ง ๒ ประการแห่งมาตรา ๑๐ นี้ คือว่าในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในอาณาจักรไม่ หรืออีกข้อหนึ่ง หรือด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งที่จะบริหารพระราชภารกิจไม่ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อสมด้วยเหตุ ๒ ประการนี้ จึงเห็นเป็นการสมควรที่เราจะได้ใช้มาตรา ๑๐ แห่งรัฐธรรมนูญนี้เป็นข้อพิจารณาในการที่จะเลือกตั้งคณะผู้สำเร็จราชการต่อไป แล้วนอกจากนั้น สภาฯยังทรงสิทธิในการที่จะเลือกคณะผู้สำเร็จราชการนี้ไม่ว่าบุคคลชนิดใด จะเป็นเจ้าหรือไม่ใช่เจ้าได้ทั้งสิ้น ไม่มีข้อขัดข้องอย่างไร”
นายฟัก ณ สงขลา ผู้แทนราษฎรจังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวว่า “ข้าพเจ้าเห็นว่าน่าจะเป็นที่รับรองกันโดยทั่วไปแล้วว่า ในการเลือกผู้สำเร็จราชการนั้น เราจะต้องถือตามรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้น ตามความเห็นของท่านผู้แทนอุบลฯนั้น (นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์/ผู้เขียน) เป็นทำนองเสนอความเห็นว่า ในการที่จะเลือก ถ้าหากว่าเป็นคณะแล้ว ควรที่จะพิจารณาถึงกฎมณเฑียรบาลบ้างว่าจะเลือกอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ปัญหาที่ว่าจะเลือกตามรัฐธรรมนูญนั้น คงจะเป็นที่รับรองกันแล้วในที่นี้ เพื่อจะให้รวบรัดเข้า ข้าพเจ้าขอเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาก่อนว่าเราจะเลือกบุคคลหรือคณะบุคคล”
นายกรัฐมนตรี (พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา/ผู้เขียน) กล่าวว่า “รัฐบาลขอเสนอให้เป็นคณะ คือจำนวน ๓ คน ไม่เกินกว่านั้น”
นายสรอย ณ ลำปาง ผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง กล่าวว่า “ตามที่รัฐบาลเสนอ ๓ คนนั้น ข้าพเจ้าเห็นชอบแล้ว เพราะเหตุว่า กษัตริย์ของเรายังเป็นผู้เยาว์ จะได้มีผู้ที่ทำการแทนพระองค์ท่าน และจะได้มีที่ปรึกษากันหลายๆคน ข้าพเจ้าเห็นชอบด้วยแล้ว เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงขอให้สมาชิกทั้งหลายจงระลึกว่า กษัตริย์ของเราเป็นผู้เยาว์ เพราะฉะนั้น สมควรที่จะมีหลายคนที่จะเป็นที่ปรึกษา”
ขุนวรสิษฐ์ดรุณเวทย์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า “ข้าพเจ้าเห็นชอบด้วยที่รัฐบาลเสนอ และคิดว่าท่านสมาชิกทั้งหลายก็คงจะเห็นชอบเหมือนกัน เพราะฉะนั้น เราจึงควรปรึกษากันต่อไปว่าจะเป็นใครจะดีกว่า ข้าพเจ้าขอเสนออย่างนี้”
หลวงวรนิติปรีชา ผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า “ข้าพเจ้าขอให้รัฐบาลเสนอชื่อมาว่า รัฐบาลจะต้องการใครบ้าง”
ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวว่า “ขอให้ตกลงกันเสียก่อนว่า ที่รัฐบาลเสนอเป็นคณะและมี ๓ คนนั้น เห็นด้วยหรือไม่”
ร.ต. ถัด รัตนพันธุ์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า “ในที่นี้ เราเป็นปัญหาว่า ผู้สำเร็จราชการนั้นควรเป็นบุคคลหลายคนหรือคนเดียว เพราะฉะนั้น ในที่นี้ ข้าพเจ้าขอเสนอให้ลงมติกันเสียก่อนว่าจะเป็นหลายคนหรือคนเดียว เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าขอเสนอให้มี ๓ คนตามที่รัฐบาลเสนอมา ขอให้ลงมติ”
ร.ต. สอน วงษ์โต รับรอง
นายสนิท เจริญรัฐ ผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “เท่าที่ข้าพเจ้าฟังมายังไม่มีใครเสนอความเห็นเป็นอย่างอื่น บอกว่ามีคณะ แล้วรัฐบาลเสนอว่าเป็น ๓ คน ไม่เห็นมีใครค้านสักที เพราะฉะนั้นจะไปลงมติอย่างไรกัน”
ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวว่า “จะมีผู้ใดคัดค้านบ้างว่าไม่ให้เป็น ๓ คน”
นายทองม้วน อัตถากร ผู้แทนราษฎรจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า “ข้าพเจ้ายังข้องใจอยู่ เพราะเหตุว่า เราตั้งคณะเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ถึง ๓ นาย ถ้าหากว่ามีปัญหาเกิดขึ้น สมมุติว่า ระหว่างที่จะลงนามใดๆหรือลงนามไปในพระราชบัญญัติ ถ้าหากมีเพียง ๒ คน อีกคนหนึ่งไม่อยู่ นี่จะจัดการไปอย่างไร” ร.ต. ถัด รัตนพันธุ์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า “ตามข้อบังคับ ข้าพเจ้าได้เสนอให้ลงมติแล้ว เพราะฉะนั้น สมาชิกอื่นจะอภิปราย ก็มีแต่ว่าไม่ให้ลงมติเท่านั้น”
ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวว่า “ท่านจะคัดค้านหรือไม่”
นายสวัสดิ์ ยูวะเวส ผู้แทนราษฎรจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า “ข้าพเจ้าขอรับรองสมาชิกที่คัดค้านเมื่อกี้นี้ และขอเสนอต่อไปว่า การที่ให้มีผู้สำเร็จราชการ.......”
ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวว่า “จะต้องให้ลงมติกันก่อน ท่านคัดค้านหรือ”
นายทองม้วน อัตถากร ผู้แทนราษฎรจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า “ข้าพเจ้าเป็นผู้เสนอ ขอเสนอให้ลงมติ”
ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวว่า “ข้าพเจ้าจะให้ลงมติว่าควรจะเป็นคณะหรือเป็นบุคคลก่อน ท่านผู้ใดเห็นว่าควรจะให้เป็นคณะ โปรดยกมือขึ้น”
มีสมาชิกยกมือ ๑๐๑ นาย
ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวว่า “ท่านผู้ใดเห็นว่าควรจะเป็นบุคคล โปรดยกมือขึ้น”
มีสมาชิกยกมือ ๑ นาย เป็นอันว่าที่ประชุมนี้ลงมติให้ผู้สำเร็จราชการมีเป็นคณะ
ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวว่า “รัฐบาลเสนอให้เป็น ๓ คน ผู้ใดจะเสนอให้เป็นอย่างอื่น”
ขุนชำนาญภาษา ผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า “ก่อนที่จะรับหลักการซึ่งรัฐบาลเสนอนั้น ข้าพเจ้าอยากจะถามรัฐบาลว่าเงินเดือนผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั้น รัฐบาลจะตั้งให้คนละเท่าไร เพราะเกี่ยวกับบุคลตั้ง ๓ คน”
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “รัฐบาลยังไม่ดำริ”
ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวว่า “มีท่านผู้ใดอยากจะเสนอจำนวนอื่นอีก นอกจาก ๓ ที่รัฐบาลเสนอนี้ เมื่อไม่มีผู้ใดคัดค้านหรือเสนอให้เป็นอย่างอื่น จะถือว่าที่ประชุมนี้อนุมัติให้เป็น ๓”
ไม่มีผู้ใดคัดค้าน
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “รัฐบาลขอเสนอตามลำดับดังนี้ ๑. พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตน์ฯ ๒. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ๓. เจ้าพระยายมราช บุคคลที่เสนอมาทั้ง ๓ นี้ เพราเหตุดังนี้คือ เพื่อประโยชน์แห่งการงานและเพื่อประโยชน์ที่จะเป็นการสะดวก คือ บุคคลทั้ง ๓ นี้ที่เลือกก็ด้วยคุณลักษณะต่างๆดังนี้ คือ ๑. ต้องให้ทางมหาชนมีความเชื่อถือ ๒. เกี่ยวกับต่างประเทศ ๓. เกี่ยวกับพระบรมวงศ์ แล้วก็ ๔. เกี่ยวกับเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถที่จะดำเนินการของประเทศให้ลุล่วงไปได้ ทีนี้สำหรับกรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์นั้น เกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์สนิทชิดเชื้อกับเจ้านายฝ่ายในและฝ่ายหน้าได้ดี แล้วก็เป็นเจ้านายที่ซื่อตรง ที่จะคดเคี้ยวเห็นจะไม่มี เพราะนิสัยเป็นคนซื่อตรงจริงๆ แต่ว่าส่วนวิชาความรู้ของผู้นี้ ไม่ใช่ปราดเปรื่องอะไรนัก เป็นแต่ว่าเคยสอบไล่ได้จากโรงเรียนนายร้อยเป็นชั้นนายทหาร แล้วก็ได้ติดสอยห้อยตามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปในที่ต่างๆ ส่วนพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯนั้นมีความรู้ความชำนาญในการปกครองมาแล้ว เช่นได้เคยเป็นข้าหลวงประจำจังหวัดมาแล้ว และได้เคยศึกษามาในต่างประเทศแล้ว มีความรู้ในเรื่องรัฐประศาสตร์ อะไรต่ออะไร เป็นเจ้านายที่คล่องแคล่วดีด้วย นิสัยชอบในทางการปกครองชนิดนี้ ส่วนเจ้าพระยายมราชนั้นเป็นผู้ใหญ่ เคยเป็นครูเจ้านายมาทั้งนั้น แล้วก็เคยรับหน้าที่ใหญ่ๆโตๆมาโดยมาก ชื่อเสียงก็ดี และมีคนเคารพนับถือกันโดยมาก แต่นั่นแหละ ถึงแม้ว่าจะมีบกพร่องอยู่บ้าง ก็พอจะอภัยให้ได้”
ขุนอินทรภักดี ผู้แทนราษฎรจังหวัดเพ็ชรบูรณ์ กล่าวว่า “จ้าพเจ้ามีความเห็นพ้องด้วยรัฐบาลใน ๒ พระองค์ที่รัฐบาลเสนอแล้ว แต่ว่าเจ้าพระยายมราชนั้น ข้าพเจ้ายังไม่เห็นด้วย แต่เหตุผลประการใดจะไม่ขอกล่าว รัฐบาลได้กล่าวแล้วว่าเพื่อประโยชน์ในราชการ ฉะนั้น ข้าพเจ้าขอเสนอเจ้าคุณพหลฯแทนเจ้าพระยายมราช”
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 34): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 45: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 33): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม”
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 43: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 32): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม”
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 31): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม”
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490