หนึ่งในคำถามใหญ่ของนโยบายแจกเงิน 10,000 บาทให้ทุกคนที่มีอายุเกิน 16 ปีผ่าน digital wallet ของรัฐบาลใหม่นี้คือจะเอาเงินมาจากไหน
เพราะประมาณการณ์กันว่าจะต้องใช้เงินถึง 560,000 ล้านบาท
และนี่เป็นแค่นโยบายเดียวของพรรคเพื่อไทยซึ่งยังมีนโยบายอื่น ๆ อีกหลายโครงการที่ต้องใช้เงินจำนวนมาก
แล้วไหนพรรคร่วมรัฐบาลพรรคอื่นจะต้องขอแบ่งเค้กงบประมาณไปใช้ทำโครงการของเขาเพื่อสร้างผลงานด้วยอีกมากมาย
เรื่องเงินจะมาจากไหนนั้น ผมได้รับฟังจากหลายผู้เชี่ยวชาญที่น่าสนใจ
หนึ่งในนั้นคือ ดร. พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ เกียรตินาคินภัทร ทำงานในกระทรวงการคลัง กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่เขียนวิเคราะห์ไว้ใน FB ของท่าน
โดยท่านบอกว่ายังมีข้อสงสัยอยู่อีก 3-4 ข้อ
หนึ่ง จะเอาเงินจากไหนมาใช้
ต้นทุนโครงการนี้มูลค่ากว่า 5.5 แสนล้านบาท คิดเป็นกว่า 3% ของ GDP และกว่า 16% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี
เป็นเรื่องยากมากที่เราจะตัดงบประมาณ หรือขึ้นภาษีมาจ่ายโครงการนี้ได้ทั้งหมด
อย่างไรเสียก็ต้องมีการขาดดุลงบประมาณเพิ่มเติม
แต่ปัญหาคือ ตาม พรบ. หนี้สาธารณะ กำหนดให้รัฐบาลกู้ได้แค่ 20% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี บวกอีก 80% ของรายจ่ายคืนต้นเงินกู้ ก็คือไม่เกินประมาณ 3.5% ของ GDP
ในขณะที่งบประมาณปีหน้าที่รัฐบาลที่แล้วอนุมัติก็มีการขาดดุล 3% ของ GDP แล้ว
แปลว่ามีช่องว่างให้ขาดดุลเพิ่มได้แค่อีกนิดเดียว
และถ้าจะตัดงบก็ติดว่าเรามีงบประจำสูงถึงเกือบ 80% ของวงเงินงบประมาณ จะตัดอะไรได้คงไม่มากนัก
ถ้าจะฝากธนาคารรัฐออกให้ไปก่อน ก็ติดอีก
เพราะ พรบ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ มาตรา 28 กำหนดไว้ว่าการมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐ โดยรัฐรับภาระจะชดเชยภายหลังนั้น ทำได้ไม่เกิน 32% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี
ซึ่งทุกวันนี้ตามรายงานความเสี่ยงการคลัง ยอดนี้ก็เกือบเต็ม 1 ล้านล้านบาทแล้ว ไม่น่าพอใช้แน่ๆ
และหมายถึงว่าการช่วยเหลืออื่นๆที่ใช้แบงก์รัฐจะทำเพิ่มไม่ได้แล้ว
สุดท้ายก็เป็นภาระของรัฐอยู่ดี
อาจจะมีคนถามว่า จะเริ่มใช้ได้เมื่อไร เพราะลำพังแค่ร่าง พรบ. งบประมาณของปีงบประมาณหน้า ที่ควรจะเริ่มในเดือนตุลาคม ก็น่าจะล่าช้าไปถึงเดือนกุมภาพันธ์ หรือมีนาคมแล้ว โครงการนี้แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะตั้งงบได้ทัน
หรือจะใช้ท่าไม้ตาย ออก พรก. กู้เงิน แบบที่ทำตอนสมัยโควิด แต่รัฐบาลต้องพร้อมจะ defend ว่าการออก digital wallet เป็น “กรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้”
และต้องเอาเข้าสภาเพื่อรับรองเป็นกฎหมายตามหลัง
หรือจะพยายามเล่นแร่แปรธาตุแล้วบอกว่า token นี้ไม่ใช่ภาระของรัฐ ไม่นับเป็นหนี้ของรัฐด้วย หรือใช้เงิน รัฐ back แค่บางส่วนของเงินที่แจก ก็คงพอทำได้
แต่ก็จะมีคำถามอื่นๆตามมาแน่ๆ
ประเด็นนี้ บังเอิญมีข่าวออกมาในช่วงนี้ว่ารัฐบาลเศรษฐาอาจจะกำลังคิดจะขยายเพดานก่อหนี้ภายใต้มาตรา 28 ให้กลับไปที่ระดับ 35%
นั่นอาจจะเป็นคำตอบที่ ดร. พิพัฒน์ตั้งเป็นคำถามไว้
ข่าวบอกว่า นายกฯเศรษฐาได้เชิญหน่วยงานหลักด้านเศรษฐกิจ ทั้งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ กระทรวงการคลัง เข้ามาหารือเพื่อเตรียมความพร้อมในการเร่งขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลเพื่อนำไปแถลงต่อรัฐสภา
และหนึ่งในหัวข้อที่ปรึกษากันก็คือเรื่องนโยบายแจกเงิน 10,000 บาทนี่แหละ
นโยบายพรรคเพื่อไทย ได้ระบุแหล่งที่มาของเงินที่จะใช้ดำเนินโครงการมาจากบริหารระบบงบประมาณและระบบภาษี คือ ประมาณการรายได้รัฐที่เพิ่มขึ้นในปี 2567 จำนวน 260,000 ล้านบาท
ภาษีที่ได้จากผลคูณต่อเศรษฐกิจจากนโยบาย 100,000 ล้านบาท
การบริหารจัดการงบประมาณ 100,000 ล้านบาท
และการปรับลดงบประมาณสวัสดิการที่ซ้ำซ้อน 90,000 ล้านบาท
เพราะหากจะเอาจากงบประมาณรายจ่าย ปีงบประมาณ 2567 ที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำหนดวงเงินไว้ 3,350,000 ล้านบาทยังไงก็ไม่พอ
ครั้นจะไปใช้ “งบกลาง” หรือเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นก็มีข้อจำกัดในการใช้งาน
เพราะมีกฎระเบียบว่าต้องสำรองไว้ใช้หากมีความจำเป็นหรือกรณีเกิดภัยพิบัติเพื่อดูแลประชาชนเพิ่มเติม
ด้วยเหตุนี้ เงินที่จะนำมาดำเนินโครงการได้ ส่วนหนึ่งจะต้องมาจากนโยบายกึ่งการคลัง ตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561
ซึ่งระบุให้สถาบันการเงินของรัฐออกค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการไปก่อนแล้วรัฐบาลจะทยอยตั้งงบประมาณชดเชยให้ภายหลัง
แต่มันก็ไม่ได้ง่ายอย่างนั้น
เพราะกระทรวงการคลังมีความกังวลเรื่องวินัยการเงิน การคลัง และความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
โดยเฉพาะการดำเนินโครงการตามมาตรา 28 ปัจจุบัน เหลือประมาณ 18,000 ล้านบาท ก็จะเต็มกรอบเพดานการใช้จ่ายตามมาตรา 28 ที่กำหนดให้ก่อหนี้สูงสุดไม่เกิน 1.01 ล้านล้านบาท
คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 32%ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 วงเงิน 3.18 ล้านล้านบาท
ขณะที่งบประมาณ 2567 ที่กำหนดกรอบวงเงินไว้ 3.35 ล้านล้านบาท จะมีพื้นที่การดำเนินนโยบายกึ่งการคลัง มาตรา 28 ก่อหนี้ได้สูงสุดไม่เกิน 1.07 ล้านล้านบาท
หากขยายเพดานมาตรา 28 กลับไปสู่ที่ระดับ 35% ของงบประมาณรายจ่าย เหมือนปี 2564 จะทำให้มีพื้นที่ในมาตรา 28 เพิ่มขึ้น ประมาณ 2 แสนล้านบาท
นั่นแปลว่าหากใช้ช่องทางมาตรา 28 ในการดำเนินโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท อาจมีความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องขยายเพดานการก่อหนี้มาตรา 28 สูงกว่า 35%
ความกังวลของกระทรวงการคลังคือ ภาระผูกพันจากการดำเนินโครงการนโยบายของรัฐบาลตามมาตรา 28 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ตัวเลข ณ สิ้นปีงบประมาณ 2565 ภาระผูกพันดังกล่าวมีจำนวนรวมอยู่ที่ 1,039,920 ล้านบาท คิดเป็น 33.35% ของงบประมาณรายจ่ายปี 2565
แบ่งเป็น ภาระผูกพันที่นับรวมอยู่ในหนี้สาธารณะแล้ว จำนวน 206,049 ล้านบาท
ลูกหนี้รอการชดเชยจากรัฐบาล จำนวน 601,512 ล้านบาท
และประมาณการภาระผูกพันที่ยังไม่มีการรับรู้ จำนวน 232,359 ล้านบาท
นอกจากนี้ ในปีงบประมาณ 2565 รัฐบาลมีการอนุมัติโครงการใหม่ตามมาตรา 28 จำนวนทั้งสิ้น 210,039 ล้านบาท แบ่งเป็น
มาตรการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร 186,217 ล้านบาท,
ช่วยผู้ประกอบการรายย่อย 16,764 ล้านบาท,
และผู้มีรายได้น้อย 7,059 ล้านบาท
ด้วยเหตุนี้ การดำเนินโครงการตามมาตรา 28 อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทางการคลังในอนาคตได้
และยังจะสร้างภาระให้กับหน่วยงานของรัฐเพราะหน่วยงานจากรัฐต้องสำรองจ่ายเงินตนเองไปก่อน
พอจะเห็นแล้วใช่ไหมครับว่ารัฐบาลเศรษฐาจะต้องขบคิดหาทางออกเพื่อหาเงินมาใช้ดำเนินนโยบายที่เป็น “เรือธง” ของการหาเสียงอย่างไร
ไม่มีอะไรง่ายเลยสำหรับการใช้นโยบาย “ประชานิยม” ที่ไม่ได้คิดคำนวณตัวเลขเอาไว้ชัด ๆ ก่อนจะรับปากกับประชาชน
เพราะมาถึงวันนี้จะเปลี่ยนใจและบอกกับประชาชนว่า “นั่นมันเทคนิคการหาเสียง” ไม่ได้อีกแล้ว!
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ