ผมตั้งวงสนทนาหลายกลุ่มในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อพยายามแสวงหาความคิดเห็นของภาคเอกชนเกี่ยวกับนโยบายที่ "รัฐบาลเศรษฐา” ประกาศว่าจะทำกันตั้งแต่การประชุมคณะรัฐมนตรีวันแรกเลย
แน่นอนว่านโยบาย “เรือธง” ที่ว่านี้คือ การแจกเงิน 10,000 บาทผ่าน Digital Wallet หรือ “กระเป๋าเงินดิจิทัล” ให้คนไทยทุกคนที่มีอายุเกิน 16 ปี
หนึ่งในผู้รู้ที่ร่วมวงเสวนาคือ ดร.สันติธาร เสถียรไทย อดีตกรรมการผู้จัดการ Sea Group และวันนี้เป็นที่ปรึกษาอาวุโสของ Global Counsel
คุณสันติธารช่วยสรุปความเห็นของหลายฝ่ายมาเล่าให้ฟัง ว่ามีประเด็นอะไรที่ควรจะได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วไป ขณะที่รอคำประกาศใช้นโยบายนี้อย่างเป็นทางการ
คุณสันติธารเริ่มด้วยการนำเสนอ “2 แกน 3 ทางเลือกของนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท”
และเล่าต่อว่าอย่างนี้...
ในช่วงที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสถกกับนักเศรษฐศาสตร์ นักการเงิน และคนฝั่งเทคโนโลยีในเรื่องนโยบายดิจิทัล 1 หมื่นบาทของรัฐบาลใหม่มาพอสมควร
โดยสรุปผมมองว่านโยบายนี้มี 2 แกนสำคัญที่ผูกติดอยู่ด้วยกัน เป็นการพยายามยิงนัดเดียวให้ได้นก 2 ตัว
แกนที่ 1 “กระตุ้น” เศรษฐกิจ เป็นโจทย์เร่งด่วน ที่นักเศรษฐศาสตร์มักจะให้ความสนใจ โดยมี 3 คำถามที่ต้องคิด
1.1 รูปแบบไหน - แจกทุกคน หรือมีข้อแม้อะไรบ้าง
ไอเดียหนึ่งคือ แทนที่จะแจกทุกคน แจกเฉพาะคนที่รายได้น้อยและจำเป็นต้องใช้เงินจริงๆ ได้ไหม เพราะกลุ่มนี้น่าจะเป็นกลุ่มที่มีโอกาสใช้เงินที่ได้มามากที่สุด แน่นอนการคัดกรองคนที่รายได้น้อยอาจทำได้ยาก เพราะแรงงานกว่าครึ่งอยู่นอกระบบ แต่วิธีหนึ่งที่อาจใช้ได้ตามที่ TDRI เคยเสนอคือ คัดกรอง “คนรวย” ออกเพราะข้อมูลตรงนั้นอาจหาได้ง่ายกว่า แม้จะรั่วไปบ้างอย่างน้อยก็ไม่ใช่คนรวยทุกคนจะได้
1.2 เท่าไร - ใช้เงินเท่าไรถึงจะเหมาะสม
ตอนนี้สภาวะเศรษฐกิจอ่อนแอ และการส่งออกคงซึมอีกนาน การจะกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่คำถามคือปริมาณเงินที่ใช้จำเป็นต้องมากขนาด 5 แสนกว่าล้านบาท (~3% ของ GDP) หรือไม่ ทางเลือกหนึ่งคือใช้เงินน้อยกว่านั้น และเก็บ “ยาแก้ปวด” ทางการคลังไว้เผื่ออนาคตเศรษฐกิจโลกล้มป่วยอีกเราจะยังได้มียาไว้ทาน แน่นอนว่าหากไม่ได้แจกทุกคนก็อาจใช้งบน้อยลงด้วย แม้ทุกคนจะได้ 10,000 เหมือนเดิม
1.3 เอาเงินจากที่ไหน - จะกระทบฐานะการคลังมากมั้ย
ความกังวลเรื่องแหล่งเงินจะมาจากไหนนั้น ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่โครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่มาก (มากกว่างบลงทุนในปีงบประมาณล่าสุดทั้งปี) และความกังวลว่าหากมันไม่ได้เพิ่มรายได้/GDP ไปถึง 5-7% ตามที่คาด และไม่ได้เพิ่มรายได้ภาษีเป็นแสนล้านจะทำอย่างไร (เช่น หากตัวคูณหรือ Multiplier ของการกระตุ้นการคลังครั้งนี้มันไม่สูงอย่างที่คิด - ขอไม่เจาะเรื่องนี้ตรงนี้)
ทางหนึ่งก็คือ ลดไซส์ของนโยบายนี้ลงมาหน่อยอย่างที่กล่าวข้างบน และอาจต้องทำ Scenario เผื่อไว้ว่าถ้ารายได้ภาษีไม่เพิ่มเท่าที่คิด จะหาแหล่งเงินมาเสริมจากตรงไหน
แกนที่ 2 “ทรานสฟอร์ม” - การสร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลใหม่ เป็นโจทย์ระยะยาว ที่หากทำดีๆ จะช่วยพัฒนาศักยภาพเศรษฐกิจและการทำนโยบายในอนาคตได้
บางคนในภาคเทคโนโลยีชี้ให้เห็นว่า นโยบายนี้อาจไม่ได้มองแค่กระตุ้นระยะสั้น แต่เป้าหมายจริงๆ คือการวางโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลใหม่ เช่น ระบบชำระเงินของประเทศแบบใหม่บน Blockchain ที่แตกต่างจากพร้อมเพย์-เป๋าตังที่คุ้นเคยกัน
ถ้ามองจากมุมนี้การแจกเงินอาจไม่ใช่แค่กระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น แต่เป็นการให้แรงจูงใจดึงดูดให้คนเข้ามาใช้โครงสร้างพื้นฐาน หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลใหม่ของประเทศ
2.1 ทำไมต้อง Blockchain
แต่ความจริงระบบการชำระเงินของพร้อมเพย์และวอลเล็ตเป๋าตังก็ดีมากอยู่แล้ว ทำไมยังต้องทำใหม่เป็น Blockchain? จากที่คุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านนี้การใช้ Blockchain มีข้อดีหลักๆ 3 ข้อ คือ Transparency (โปร่งใส) Security (ปลอดภัย) และ Programmability (โปรแกรมได้)
แต่ในกรณีของนโยบาย 10,000 บาท หลายคนมองว่าน่าจะต้องทำออกมาเป็นรูปแบบที่ไม่ได้ประโยชน์เรื่องความโปร่งใสและความปลอดภัยพิเศษของ Blockchain (ศัพท์เทคนิคคือ เป็น Private/Permissioned และ Centralised Blockchain)
ข้อดีจึงเหลือเรื่องการเป็น Programmability = เงิน/คูปองที่โปรแกรมให้มีฟีเจอร์ต่างๆ ได้ เช่น ต้องใช้ให้หมดภายใน 6 เดือน, ต้องใช้ในบางบริเวณเท่านั้น และหากคิดเล่นๆ ต่อไปในวันหน้าอาจเติมฟีเจอร์เข้าไปอีก เช่น หากใช้สำหรับการศึกษาอาจได้รับสิทธิพิเศษเพิ่ม เป็นต้น
แต่จากที่คุยกับคนฝั่งเทคโนโลยีบางคนก็บอกว่า การจะโปรแกรมฟีเจอร์ทั้งหลายที่ว่ามานี้สามารถทำได้โดยไม่ต้องใช้ Blockchain เลยก็ได้ (คล้ายกับที่คูปองส่วนลดที่เราใช้ในแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ก็มีเงื่อนไขและฟีเจอร์โดยไม่ต้องใช้เทคโนโลยีนี้)
สรุปคือ ยังไม่ชัดว่าทำไมต้องใช้บล็อกเชนในกรณีนี้ (ย้ำว่าอาจมีเหตุผลแต่ผมยังไม่รู้)
2.2 ความสัมพันธ์กับ CBDC คือยังไง
ที่สำคัญคือ ในขณะที่เรากำลังให้ความสนใจกับเรื่องนี้ ทางธนาคารแห่งประเทศไทยเองก็กำลังทดลองพัฒนาเงินบาทดิจิทัลของ ธปท.เอง Central Bank Digital Currency - CBDC) ที่น่าจะมีฟีเจอร์คล้ายๆ กัน โดยล่าสุดก็เริ่มมีการจับมือกับธนาคารพาณิชย์บางแห่งให้คนใช้ใน Use Case ทั่วไปบ้างแล้วในวงจำกัด เลยไม่แน่ใจว่าเงิน/คูปองดิจิทัลนี้จะมีความสัมพันธ์กับ CBDC ยังไง หรือจะใช้ CBDC ไปเลยได้ไหม?
นอกจากจะต้องตีโจทย์เหล่านี้ให้แตกแล้ว รัฐบาลอาจต้องคิดให้ดีว่าจะเรียงให้ความสำคัญกับโจทย์การกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือโจทย์สร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่มากกว่ากัน เพราะการยิงปืนนัดเดียวให้ได้นกสองตัว แม้เป็นไอเดียที่ดีก็มีความเสี่ยงที่จะพลาดนกทั้งสองตัว
โดยส่วนตัวมองว่ามี 3 ทางเลือกกว้างๆ
ทางที่ 1 เน้นกระตุ้น
ให้ความสำคัญกับโจทย์กระตุ้นเศรษฐกิจเป็นหลัก ซึ่งแปลว่าใช้อะไรก็ได้ที่รัฐบาลและคนไทยคุ้นอยู่แล้ว เร็ว มีระบบรองรับ เช่น แจกเงินผ่านระบบเป๋าตัง หรือพร้อมเพย์เช่นเดิม
ทางที่ 2 เน้นทรานสฟอร์ม
ให้ความสำคัญกับการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน/แพลตฟอร์มใหม่ของประเทศเป็นหลัก การกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นเรื่องรอง
ในกรณีนี้อาจไม่ต้องใช้เงินมากเท่านี้ เพราะเงินเป็นเพียงแรงจูงใจให้คนใช้แพลตฟอร์มใหม่เท่านั้น และไม่ต้องเร่งรีบ อาจค่อยๆ ทดลองระบบใหม่ในสเกลจำกัดก่อน เพื่อเรียนรู้ถึงปัญหาและความท้าทายในการลงมือทำจริง รวมทั้งการสื่อสารให้คนเข้าใจ (เพราะคนยังไม่คุ้น)
ทางที่ 3 “ลูกผสม”
ทำทั้งกระตุ้นและทรานสฟอร์มแต่อาจถอยกันคนละก้าว
ซึ่งทำได้หลายรูปแบบมาก เช่น คิดเร็วๆ อาจแบ่งเงิน 10,000 บาทเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกแจกเงินผ่านระบบที่คนคุ้นเคยอยู่แล้วเป็นหลัก เป็นเงินธรรมดาไม่ใช่บล็อกเชน เน้นความเร็ว เรียบง่าย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และก้อนหลังค่อยเป็นคูปองดิจิทัลที่ว่าซึ่งอาจไม่ต้องเยอะเพื่อดึงคนมาใช้ระบบใหม่
โดยการแจกจ่ายคูปองดิจิทัลนี้รัฐอาจไม่ต้องทำเองหมด หรือทำผ่านแอปวอลเล็ตตัวเดียว แต่ให้ธนาคารและสถาบันการเงินที่ทำวอลเล็ตที่คนใช้เยอะๆ อยู่แล้วมาทำระบบรองรับคูปองดิจิทัลที่ว่านี้ และช่วยกระจายมันให้ถึงมือประชาชนกลุ่มต่างๆ
ข้อดีคือ คนที่มี e-Wallet/ Mobile Banking พวกนี้อยู่แล้ว เคยทำ KYC ลงทะเบียนเรียบร้อยแล้วก็ไม่ต้องมาลงแอปพลิเคชันใหม่ แถมแอปพวกนี้ก็จะแข่งขันกันสร้าง Use Case ใหม่ๆ ให้คูปองดิจิทัลนี้ได้ด้วย
พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อว่าด้วยแง่มุมอื่นๆ ของนโยบายที่กำลังกล่าวขวัญกันอย่างกว้างขวางครับ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ