อังกฤษมีประเพณีการปกครองที่เกี่ยวข้องกับการยุบสภาสามัญที่แต่เดิมอำนาจการยุบสภาฯอยู่ที่นายกรัฐมนตรีถวายคำแนะนำการยุบสภาฯแก่พระมหากษัตริย์เพี่อให้พระองค์ทรงใช้พระราชอำนาจประกาศยุบสภาฯและให้มีการเลือกตั้ง ต่อมาในปี ค.ศ. 2011อังกฤษได้เปลี่ยนกติกาการยุบสภาโดยการตราพระราชบัญญัติ Fixed Term Parliament 2011 (FTPA) ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ ค.ศ. 2015 โดยกำหนดไว้ว่า หากนายกรัฐมนตรีจะยุบสภาฯก่อนสภาฯครบวาระ จะต้องได้เสียงสนับสนุนจากสมาชิกสภาฯจำนวน 2 ใน 3 ซึ่งหมายความว่า จะต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรคฝ่ายค้านด้วย โดยแต่เดิมไม่ต้องอาศัยเสียง 2 ใน 3 ก็ยุบได้
ตั้งแต่ ค.ศ. 2015-2022 มีการยุบสภาฯก่อนครบวาระอยู่ 2 ครั้ง ครั้งแรกในปี ค.ศ. 2017 และ 2019 ในการยุบสภาฯปี ค.ศ. 2017 เทเรซ่า เมย์ นายกรัฐมนตรีสามารถได้เสียงสนับสนุน 2 ใน 3 ของสมาชิกสภาฯ แต่ในปี ค.ศ. 2019 บอรีส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีต้องการยุบสภาฯก่อนครบวาระ และจัดให้มีการลงมติในสภาฯถึงสามครั้ง แต่ก็ไม่สามารถได้เสียงถึง 2 ใน 3 จนทำให้เขาต้องหาทางยุบสภาฯด้วยการผ่านกฎหมายฉบับอื่นต่างหาก นั่นคือ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งทั่วไปก่อนเวลา ค.ศ. 2019 หรือ the Early Parliamentary General Election Act 2019
จนในปี ค.ศ. 2022 รัฐสภาอังกฤษได้แก้ พ.ร.บ. FTPA ยกเลิกเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ทั้งที่ใช้มาได้เพียง 7 ปีเท่านั้น และประกาศใช้พระราชบัญญัติ the Dissolution and Calling of Parliament Act 2022 (DCPA) ซึ่งสาระสำคัญของกติกาการยุบสภาฯภายใต้พระราชบัญญัติ DCPA ก็คือ กลับไปใช้กติกาการยุบสภาฯอย่างที่อังกฤษเคยใช้มาก่อนการประกาศใช้ FTPA นั่นเอง
สาเหตุที่ทำให้อังกฤษต้องเปลี่ยนเงื่อนไขการยุบสภาฯ คือ พรรคการเมืองหลักทั้งสองพรรคของอังกฤษต่างมีความต้องการตรงกันที่จะให้กติกาการยุบสภาฯเปลี่ยนกลับไปเหมือนเดิม เพราะหลังจากที่พรรคอนุรักษ์นิยม ประสบปัญหาไม่สามารถยุบสภาฯเพราะไม่สามารถได้เสียง ส.ส. ในสภาฯได้ถึง 2 ใน 3 ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2019 พรรคอนุรักษ์นิยมประกาศจุดยืนอย่างหนักแน่นว่าจะต้องแก้ไข FTPA โดยนายบอริส จอห์นสันได้ประกาศว่า “เราจะต้องกำจัด FTPA เพราะกฎหมายฉบับนี้ส่งผลให้ประเทศเป็นอัมพาตในช่วงเวลาที่จำเป็นต้องมีการตัดสินใจในนโยบายที่สำคัญ” ขณะเดียวกัน พรรคแรงงาน ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านขณะนั้นก็เห็นไม่ต่างกัน โดยนายเจอเรมี คอร์เบน หัวหน้าพรรคแรงงานได้ประกาศชัดเจนเช่นกันว่า “พระราชบัญญัติ FTPA ทำให้ประชาธิปไตยระบบรัฐสภาขาดความยืนหยุ่นและส่งผลให้ฝ่ายบริหารอ่อนแอ”
ที่ว่าฝ่ายบริหารอ่อนแอ เพราะก่อนหน้าที่จะใช้ FTPA การยุบสภาเป็นเครื่องมือของนายกรัฐมนตรีในการชิงความได้เปรียบกับพรรคฝ่ายค้าน หรือต้องการยุบสภาฯเพื่อหวังได้เสียงสนับสนุนผ่านคะแนนเสียงเลือกตั้งของประชาชนในนโยบายของฝ่ายบริหาร โดยนายกรัฐมนตรีโดยลำพังคนเดียวสามารถยุบสภาฯก่อนครบวาระได้ แต่ภายใต้ FTPA นายกรัฐมนตรีจะต้องอาศัยเสียง ส.ส. ถึง 2 ใน 3 ในสภาฯ ซึ่งเท่ากับเป็นการโอนอำนาจการยุบสภาฯก่อนครบวาระไปอยู่ที่เสียงข้างมากแบบพิเศษของสภาฯ
นอกจากจะทำให้ฝ่ายบริหารขาดเครื่องมือในการชิงความได้เปรียบหรือได้เสียงจากประชาชนในการตัดสินใจในนโยบายที่สำคัญแล้ว ที่ว่า FTPA ทำให้ประชาธิปไตยระบบรัฐสภาขาดความยืนหยุ่น เพราะเมื่อการยุบสภาฯยากเย็นแสนเข็ญ ก็ส่งผลให้วาระของสภาฯต้องตายตัวห้าปี
ซึ่งการที่ FTPA ทำให้สภาฯต้องมีอายุห้าปีตายตัวกลับถูกมองว่าทำให้ประชาธิปไตยระบบรัฐสภาของอังกฤษขาดความยืดหยุ่น แต่หากเปรียบเทียบกับประชาธิปไตยระบบรัฐสภาของนอร์เวย์ที่ไม่ให้มีการยุบสภาฯได้เลยตลอดวาระสี่ปีของสภาฯ ดังที่ปรากฎในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของนอร์วย์ (ฉบับ ค.ศ. 1814 แก้ไข ค.ศ. 2020) มาตรา 71 ที่บัญญัติไว้ว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สภาผู้แทนราษฎรของนอร์เวย์เรียกว่า Storting ซึ่งคำว่า ting แปลว่าที่ประชุม ส่วนคำว่า stort แปลว่า ใหญ่ รวมแล้วหมายถึง ที่ประชุมหรือสภาใหญ่) จะต้องทำหน้าที่ดังที่ได้กล่าวไปเป็นเวลาสี่ปีติดต่อกัน (Article 71. The Members of the Storting function as such for four successive years.) และไม่มีมาตราใดในรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีหรือพระมหากษัตริย์ยุบสภาก่อนครบวาระสี่ปีเลย อังกฤษคงต้องบอกว่า ประชาธิปไตยระบบรัฐสภาของนอร์เวย์แข็งกระด้าง ในขณะที่การเมืองนอร์เวย์ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับมาตรา 71 และกล่าวได้ว่า การไม่ให้การยุบสภาฯในการเมืองนอร์เวย์ถือเป็นประเพณีการปกครองของนอร์เวย์ที่มีวิวัฒนาการเฉพาะตัวที่โดดเด่น เพราะนอร์เวย์เป็นประชาธิปไตยระบบรัฐสภาประเทศเดียวในโลกที่ห้ามไม่ให้มีการยุบสภาฯจนกว่าสภาฯจะครบวาระไปเอง
เข้าใจว่า ในกรณีของอังกฤษ แม้ว่าจะพยายามเปลี่ยนกติกาการยุบสภาฯ (FTPA) ไปด้วยเหตุผลที่ต่างๆที่ฟังขึ้นตามที่ได้กล่าวไปในตอนที่แล้ว แต่ตัวนักการเมืองเองก็ดี หรือประชาชนเองก็ดีอาจจะไม่เคยชินกับกติกาใหม่ใน FTPA เพราะใช้กติกาเดิมมาเป็นเวลาร้อยๆปีจนน่าจะฝังหัวเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองไปแล้ว
เหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้มีการตรา FTPA ก็คือ เพื่อเป็นการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์จากการลดหรือกำหนดการใช้พระราชอำนาจวินิจฉัยขององค์พระมหากษัตริย์ จะช่วยหลีกเลี่ยงวิกฤตการณ์ทางรัฐธรรมนูญที่อาจจะเกิดขึ้นจากการที่มีการถวายคำแนะนำต่อองค์พระมหากษัตริย์เพื่อให้มีการยุบสภาฯก่อนครบวาระ เพราะเงื่อนไขการยุบสภาฯก่อนครบวาระของ FTPA คือ เสียง ส.ส. 2 ใน 3 ของสภาฯ ที่มีความชัดเจนว่าเป็นเสียงข้างมากพิเศษของตัวแทนของประชาชนที่ต้องการให้มีการยุบหรือไม่ยุบสภาฯ ทำให้พระมหากษัตริย์ไม่ต้องใช้พระราชอำนาจวินิจฉัยคำแนะนำการยุบสภาฯเหมือนครั้งที่อำนาจการยุบสภาฯอยู่ในคนๆเดียวที่เป็นนายกรัฐมนตรี
เพราะก่อนหน้า FTPA ตามประเพณีการปกครองของอังกฤษ มีเงื่อนไขที่พระมหากษัตริย์จะทรงใช้พระราชอำนาจวินิจฉัยปฏิเสธคำขอให้มีการยุบสภาฯโดยนายกรัฐมนตรีได้ หากมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้
1. หลังจากการเลือกตั้งที่ไม่มีพรรคใดได้คะแนนเสียงข้างมากเกินครึ่งของสภาฯ และไม่มีพรรคใดสามารถรวมเสียงกับพรรคอื่นในการจัดตั้งรัฐบาลผสมได้ นายกรัฐมนตรีของรัฐบาลเดิมจะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป และหากในวันแถลงนโยบายในสภาฯ ได้รับการลงมติไม่ไว้วางใจ นายกรัฐมนตรีจะขอให้พระมหากษัตริย์ยุบสภาฯอีกไม่ได้ แต่นายกรัฐมนตรีจะต้องลาออกสถานเดียว เพราะก่อนหน้านี้ ในฐานะนายกรัฐมนตรี เขาได้ยุบสภาฯมาแล้วหนึ่งครั้ง เขาจะไม่สามารถยุบสภาฯอีกได้ มิฉะนั้นแล้ว นายกรัฐมนตรีในเงื่อนไขแบบนี้จะยุบสภาฯไปเรื่อยๆ
2. ถ้ารัฐบาลใหม่เกิดขึ้นในเงื่อนไขที่สภาฯเป็น hung parliament และต่อมาพ่ายแพ้ในการลงมติไม่ไว้วางใจ และเมื่อนายกรัฐมนตรีขอยุบสภาฯเพื่อให้มีการเลือกตั้ง พระมหากษัตริย์จะต้องทรงเห็นชอบ หากการขอยุบสภาฯของนายกรัฐมนตรีไปเป็นอย่างตรงไปตรงมา ดังกรณีในปี ค.ศ. 1974 นายเอ็ดเวิร์ด ฮีธ นายกรัฐมนตรีได้ขอให้มีการยุบสภาฯเพื่อจัดการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ แต่พรรคของเขาพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง ต่อมานายฮาโรลด์ วิลสัน เป็นนายกรัฐมนตรีรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้ hung parliament ได้ไม่กี่เดือน เขาไม่ได้ถูกลงมติไม่ไว้วางใจ แต่ขอให้มีการยุบสภาฯเพื่อเลือกตั้ง กรณีเช่นนี้ นายกรัฐมนตรีสามารถทำได้ เพราะถือเป็นการขอให้มีการยุบสภาฯเป็นครั้งแรกในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
3. ถ้านายกรัฐมนตรีในเงื่อนไขที่สภาฯเป็น hung parliament ขอให้มีการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งโดยหวังว่า ผลการเลือกตั้งจะทำให้สามารถเกิดการรวมเสียงข้างมากขึ้นได้ และจะได้รัฐบาลผสมมาแทนที่รัฐบาลของเขา แม้ว่าจะเป็นการขอยุบสภาฯครั้งแรกที่เขาเป็นรัฐบาล แต่พระมหากษัตริย์จะทรงปฏิเสธการขอยุบสภาฯได้ หากการรวมเป็นเสียงข้างมากสามารถเกิดขึ้นได้อยู่แล้วในขณะนั้น ในกรณีที่การรวมกันเป็นเสียงข้างมากในสภาฯสามารถเกิดขึ้นได้ แต่นายกรัฐมนตรียังขอให้มีการยุบสภาฯ ถือว่าการขอยุบสภาฯไม่ได้มาจากเจตนาบริสุทธิ์ เพราะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องยุบสภาฯ ดังนั้น พระบรมราชวินิจฉัยที่จะปฏิเสธหรือเห็นชอบการร้องขอให้ยุบสภาฯของนายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขตามที่กล่าวไปข้างต้น อย่างไรก็ตาม ในประวัติศาสตร์การเมืองของสหราชอาณาจักร ยังไม่เคยปรากฏการใช้พระบรมราชวินิจฉัยในการปฏิเสธการขอยุบสภาฯ เพราะทั้งพระมหากษัตริย์และนายกรัฐมนตรีต่างเคารพกติกาตามประเพณีการปกครอง โดยไม่มีรัฐบาลชุดใดกระทำการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างร้ายแรงที่จะทำให้เกิดเงื่อนไขที่พระมหากษัตริย์ทรงจำเป็นต้องใช้พระราชอำนาจดังกล่าวนี้ในการตรวจสอบถ่วงดุลการขอยุบสภาฯของนายกรัฐมนตรี
แต่ภายใต้ FTPA พระราชอำนาจดังกล่าวไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป ดังนั้น การตราพระราชบัญญัติ DCPA ให้กลับไปใช้กติกาการยุบสภาฯอย่างที่อังกฤษเคยใช้มาก่อนการประกาศใช้ FTPA ก็เท่ากับเป็นการฟื้นพระราชอำนาจในการปฏิเสธการยุบสภาฯกลับคืนมา
การหันกลับไปใช้กติกาการยุบสภาฯดั้งเดิมทำให้ผู้เขียนนึกถึงศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. บวรศักดิ์ อุวรรณโณขึ้นมาทันที เพราะเคยไปสัมภาษณ์ท่านตอนที่อังกฤษประกาศใช้ FTPA และท่านได้กล่าวว่า “ผมไม่เห็นด้วย เพราะมันทำให้ระบบรัฐสภาเพี้ยน คือว่า ดุลอำนาจมันไม่มีอีกต่อไปแล้ว ที่จะให้ฝ่ายบริหารยุบสภาได้ ไม่มีความหมายแล้ว ถ้าให้สภาประกาศยุบสภาด้วยตัวเอง เพราะมันไม่มีใครยุบหรอกครับอาจารย์ แม้กระทั่ง ส.ส.รัฐบาลเองก็จะไปโหวตกับฝ่ายค้านว่าไม่ยุบ เพราะฉะนั้นให้สภายุบสภาเอง ก็เหมือนไม่มียุบสภา มันเคยเกิดขึ้นแล้วรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส สาธารณรัฐที่ ๓ บอกว่าการยุบสภา ประธานาธิบดีต้องปรึกษากับเซเนตก่อน แล้วเซเนตก็พวกพรรคการเมืองนั่งอยู่ มันไม่ให้ยุบหรอก” [1]
ต้องยอมรับว่า อาจารย์บวรศักดิ์มองทะลุจริงๆ ! เพราะในที่สุด หลังจากทดลองใช้ FTPA ไป 7 ปี อังกฤษเองก็ต้องยอมรับว่า FTPA ทำให้ระบบรัฐสภาอังกฤษเพี้ยนไปจริงๆ และต้องกลับมาใช้กติกาดั้งเดิม
[1] ผู้สนใจโปรดดู ไชยันต์ ไชยพร, ประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข : บทวิเคราะห์มาตรา 7 จากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2540 ถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (จากมุมมองทางรัฐศาสตร์), สถาบันพระปกเกล้า, พ.ศ. 2560, หน้า 517.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แฉอีโม่ง วิ่งเต้นล้มปมชั้น 14 เตือนหยุดทำเถอะ
นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊คไลฟ์ว่า นับตั้งแต่ต้นปี 2568 ให้จับตาดูวันที่ 15 ม.ค.ที่แพทยสภาขีดเส้นตายให้แพทย์รักษาทักษิณ ชินวัตร ชั้น 14 ส่งรายงานการรักษามาตรวจสอบการเอื้อหนีติดคุก แล้วยังต้องติดตามผลตรวจสอบของ ป.ป.ช.กรณีชั้น
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ดร.เสรี ฟาดพรรคขี้โม้-พรรควาทกรรม
ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสาร โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า “พรรคหนึ่งมีแต่วาทกรรม ไม่เคยทำงาน
'นายกฯ อิ๊งค์' เมินเรื่องตอบกระทู้บอกแค่เมอร์รี่คริสต์มาส
'อิ๊งค์' เมอร์รี่คริสต์มาส หลังถูกถามไปตอบกระทู้สภาหรือไม่ บอกงงใครพูดเรื่องยุบสภา
พ่อนายกฯ ลั่นพรรคร่วมรัฐบาลต้องอยู่ด้วยกันจนครบเทอม
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการประเมินสถานการณ์การเมืองในปี 2568 ว่า การเมืองคงไม่มีอะไร ยังเหมือนเดิม พรรคร่วมรัฐบาลก็เหมือนเดิม การที่ไม่เห็นด้วยกับอะไรกันบ้าง ก็เป็น
เทวดาแม้วของขึ้น! เปิดศึกขาประจำกว่า 10 คน รวม ‘แก้วสรร-แฝดน้อง‘
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พ่อน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงฉายา “ทวีไอพี” ของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการ