จีนมุ่งสร้าง ‘ระเบียบโลกใหม่’ ผ่านการเพิ่มสมาชิก BRICS

จีนประกาศว่าต้องการจะสร้าง “ระเบียบโลกทางเลือกใหม่” ที่พร้อมจะท้าทายอิทธิพลเดิมของระเบียบโลกเดิมที่มีสหรัฐฯเป็นผู้นำแต่เพียงคนเดียว

และคำประกาศของการประชุมสุดยอด BRICS ที่แอฟริกาใต้ล่าสุดให้เชิญสมาชิกใหม่มาเพิ่มอีก 6 ประเทศจากเดิม 5 ประเทศย่อมจะเป็นก้าวย่างที่ยืนยันแนวทางของจีนในทิศทางนี้อย่างแน่ชัด

สมาชิกดั้งเดิมของ BRICS คือบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้

ตั้งแต่ปีหน้าก็จะเพิ่มอีก 6 ประเทศคืออาร์เจนตินา อียิปต์ เอธิโอเปีย อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

เท่ากับตอกย้ำว่าจีนกำลังจะเป็นแกนนำของกลุ่มประเทศที่ต้องการจะยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับอเมริกา

ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม G-7 หรือสหภาพยุโรป

BRICS ก่อตั้งขึ้นในปี 2552 โดยเป็นกลุ่มประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่

และต่อมาได้กลายเป็นหนึ่งในกระบอกเสียงชั้นนำในการเป็นตัวแทนประเทศกำลังพัฒนาและซีกโลกใต้ในกิจการโลกหรือที่เรียกว่า Global South

รวมกันแล้วสมาชิกทั้ง 5 ของ BRICS มีประชากรประมาณ  40% ของโลก

หากรวมประเทศที่จะมาสมทบใหม่ก็จะมีพลังต่อรองสูงขึ้นเพราะมีประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลกสามรายคือซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอิหร่าน

มีการตั้งข้อสังเกตว่ากลุ่ม BRICS กำลังเพิ่มพลังการรวมตัวกันเพื่อต่อต้านตะวันตกภายใต้ภายใต้การนำของจีนและรัสเซีย

ในจังหวะเวลาที่ความสัมพันธ์ที่เสื่อมทรามลงระหว่างปักกิ่งกับสหรัฐอเมริกา

และเป็นช่วงเวลาที่รัสเซียยืนหยัดต่อสู้กับตะวันตกในกรณีสงครามในยูเครนเช่นกัน

อิหร่าน เรียกการตัดสินใจเพิ่มจำนวนสมาชิกของ BRICS ว่าเป็น “ความเคลื่อนไหวครั้งประวัติศาสตร์”

ถือเป็นชัยชนะเชิงกลยุทธ์สำหรับนโยบายต่างประเทศของอิหร่าน

และยังขึ้นข้อความในโซเชียลมีเดียว่า

“ขอแสดงความยินดีต่อผู้นำสูงสุดแห่งการปฏิวัติอิสลามและชาติอันยิ่งใหญ่ของอิหร่าน”

ประธานาธิบดีซีริล รามาโฟซาของแอฟริกาใต้ ซึ่งป็นประธานกลุ่ม BRICS ได้ประกาศเรื่องสมาชิกใหม่ 6 คนในวันสุดท้ายของการประชุมสุดยอดของกลุ่มในย่านการเงินของเมืองแซนด์ตัน ในโจฮันเนสเบิร์กเมื่อปลายสัปดาห์ก่อน

สี จิ้นผิง ผู้นำจีนดูจะมีความกระตือรือร้นอย่างเห็นได้ชัด

“การขยายจำนวนสมาชิกครั้งนี้ถือเป็นประวัติศาสตร์” สี กล่าว “มันแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของกลุ่มประเทศ BRICS เพื่อความสามัคคีและการพัฒนา”

“ตลอดหลายปีที่ผ่านมา จีนยืนหยัดในความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับประเทศกำลังพัฒนาพร้อมจะฟันฝ่าอุปสรรคทั้งหลายทั้งปวงด้วยกัน”

ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซียไม่ได้มาร่วมประชุมสุดยอด ส่งรัฐมนตรีต่างประเทศเซอร์เกย์ ลาฟรอฟมาแทน

เหตุเพราะศาลอาญาระหว่างประเทศได้ออกหมายจับเขาเมื่อเดือนมีนาคม ฐานลักพาตัวเด็กจากยูเครน

แม้จะมีการวิเคราะห์ว่าซาอุดีอาระเบียจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกใหม่ด้วย...หากสมาชิก BRICS ทั้ง 5 ในปัจจุบันบรรลุข้อตกลงร่วมกันในการขยายกิจการ แต่ประเด็นที่ชวนอิหร่านมาเข้าร่วมก็ด้วยกลายเป็นประเด็นละเอียดอ่อนทางการเมืองได้

จีนและรัสเซียร่วมมือกันผลักดันการขยายสมาชิก แต่บราซิล อินเดีย และแอฟริกาใต้ ซึ่งมีความสัมพันธ์ทวิภาคีที่แน่นแฟ้นกับสหรัฐฯ เพิ่งให้ยอมเปิดไฟเขียวเมื่อไม่นานมานี้เอง

เพราะมีความเห็นว่ายังเร็วเกินไปที่จะขยายสมาชิกของกลุ่มนี้ และหวั่นว่าหากเติบโตเร็วเกินไป อาจจะทำให้พลังของกลุ่มนี้อ่อนแรงลง

ในข้อความออนไลน์ ชีค โมฮัมเหม็ด บิน ซาเยด อัล นาห์ยาน ผู้นำสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ยินดีต่อการประกาศของกลุ่ม BRICS และกล่าวว่าประเทศของเขาจะเข้าร่วม “กลุ่มสำคัญ”

“เราตั้งตารอที่จะให้คำมั่นสัญญาต่อไปของความร่วมมือเพื่อความเจริญรุ่งเรือง ศักดิ์ศรี และประโยชน์ของทุกชาติและผู้คนทั่วโลก” ชีค โมฮัมเหม็ด กล่าวในทวิตเตอร์

ก่อนหน้านี้ไม่นาน จะไม่มีใครเชื่อว่ารวมอิหร่าน ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จะเข้าร่วมในองค์กรทางเศรษฐกิจหรือการเมืองเดียวกันระหว่างประเทศได้

เหตุเป็นเพราะความตึงเครียดที่เพิ่มสูงขึ้นหลังจากการล่มสลายของข้อตกลงนิวเคลียร์ของเตหะรานในปี 2558

แต่เมื่อการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาเริ่มซาลง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ก็กลายเป็นประเทศแรกที่กลับมามีส่วนร่วมทางการทูตกับอิหร่านอีกครั้ง

หลังการโจมตีด้วยขีปนาวุธที่อาบูดาบีซึ่งอ้างสิทธิโดยกลุ่มกบฏฮูตีในเยเมนที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน

ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซาอุดีอาระเบียและอิหร่านประกาศว่าได้บรรลุข้อตกลงที่จะคืนดีกันด้วยฝีมือการไกล่เกลี่ยของจีน

สำหรับจีนแล้ว นี่คือยุทธศาสตร์เพื่อสร้างอิทธิพลบารมีของจีนในเวทีระหว่างประเทศอย่างชัดเจน

ทั้งซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ยังคงรักษาความสัมพันธ์กับรัสเซียท่ามกลางสงครามระหว่างมอสโกกับยูเครน

สร้างความผิดหวังให้กับวอชิงตันเป็นอย่างมาก

เพราะอเมริกาได้พยายามให้หลักประกันความมั่นคงแก่ประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่เหล่านี้มายาวนาน

ประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียย้ำว่า "BRICS ไม่ได้จะเเข่งขันกับใคร... แต่ก็ชัดเจนว่ากระบวนการที่กำลังมีระเบียบโลกใหม่เกิดขึ้นย่อมมีผู้ต่อต้านที่เเข็งขัน"

ปูตินร่วมงานนี้ผ่านระบบออนไลน์และให้รัฐมนตรีต่างประเทศของตนมาร่วมด้วยตนเอง

ถึงปี 2020 ประเทศสมาชิกทั้ง 5 ของ BRICS ได้แซงหน้าประเทศ G7 ไปแล้วในแง่ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ

 ตามข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ BRICS คาดว่าจะขยายตัวคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 36.9 ของ GDP โลกในปีนี้ และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 38.6 ในปี 2571

BRICS ได้จัดตั้งสถาบันการเงินของตนเองเรียกว่าคือ New Development Bank แต่ยังพยายามจะมีกิจกรรมที่สามารถแข่งกับ IMF และ World Bank ของโลกตะวันตก

แน่นอนว่าโลกไม่สามารถถูกครอบงำโดยตะวันตกได้ตลอดไป และความพยายามของจีนและรัสเซียที่จะสร้างแกนแห่งอำนาจใหม่นั้นย่อมเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ประเด็นจึงอยู่ที่ว่าการเดินทางเพื่อบรรลุเป้าหมายของกลุ่ม BRICS นั้นจะยาวนานและเผชิญอุปสรรคอะไรบ้างก่อนที่จะสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและแนวความคิดระดับสากลได้อย่างเป็นรูปธรรม.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ