หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคหันมาให้ความสนใจดูแลสุขภาพมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ประกอบกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมการแพทย์ที่ล้ำสมัย ซึ่งไม่เพียงแค่การดูแลจากภายนอกให้ดูดีด้วยการศัลยกรรมทั้งผ่าตัดและไม่ผ่าตัดเท่านั้น แต่ยังดูแลสุขภาพจากภายใน ป้องกันก่อนที่จะป่วย ส่งผลให้ทั้งอุตสาหกรรมด้าน สุขภาพและความงามเติบโตมากยิ่งขึ้น ซึ่ง Global Wellness Institute: GWI ประเมินว่า ตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของโลกมีแนวโน้มเติบโตจาก 4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2563 เป็น 11 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2568 คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยสูงถึง 20.9% ต่อปีในช่วงปี 2563-2568 สำหรับตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทย ปี 2563 จัดอยู่ในอันดับที่ 15 ของโลก โดยมีการเติบโตต่อเนื่องทุกปี
ขณะที่ มูลค่าตลาดเสริมความงามทั่วโลกคาดว่าในปี 2570 จะขึ้นไปแตะระดับ 2.16 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 7.14 ล้านล้านบาท เติบโตเฉลี่ยปีละ 13.9% (CAGR ปี 2563-2570) เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ประมาณ 2.5 เท่า ขณะที่ในไทยจะแตะระดับ 7.51 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 2.48 แสนล้านบาท โตเฉลี่ยปีละ 16.6% (CAGR ปี 2563-2570) เพิ่มจากปี 2563 เกือบ 3 เท่า
เช่นเดียวกับ สมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งเสริมสวยนานาชาติ หรือ ISAPS มองว่า ผู้ที่เสริมความงามโดยศัลยแพทย์ในปี 2564 เพิ่มขึ้นถึง 19.3% โดยเป็นการทำศัลยกรรมแบบผ่าตัดรวมกว่า 12.8 ล้านครั้ง และศัลยกรรมแบบไม่ผ่าตัด 17.5 ล้านครั้งทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยเองอุตสาหกรรมศัลยกรรมและความงามปี 2565 ก็มีมูลค่ารวมกว่า 60,000 ล้านบาท เติบโตจากปี 2560 ซึ่งอยู่ที่ 30,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ นายแพทย์ธนัญชัย อัศดามงคล แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรมตกแต่งและผู้อำนวยการศูนย์ศัลยกรรมความงาม โรงพยาบาลบางมด ยังได้ระบุว่า ปัจจุบันต่างชาตินิยมเดินทางมาประเทศไทยเพื่อใช้บริการด้านการแพทย์ และหนึ่งในนั้นคือการศัลยกรรม โดยข้อมูลของ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. ยกให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านความงามอันดับที่ 3 ของเอเชีย สามารถสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวที่เข้ามาใช้บริการด้านความงามและศัลยกรรม เนื่องจากมีเทคนิคที่ดีและความเชี่ยวชาญของแพทย์ จึงทำให้อุตสาหกรรมศัลยกรรมความงามเป็นอีกหนึ่งเซ็กเมนต์ที่จะสร้างเม็ดเงินให้แก่ประเทศไทย
ในขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า แม้ว่าปัจจุบันผู้บริโภคจะเปิดกว้างมากขึ้นต่อการทำศัลยกรรมและเสริมความงาม แต่ด้วยปัจจัยเฉพาะหน้าด้านภาวะเศรษฐกิจ กำลังซื้อที่ยังเปราะบาง และค่าครองชีพที่สูงจะส่งผลต่อการทำรายได้ของผู้ประกอบการ ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงจากผู้เล่นในธุรกิจที่มีจำนวนมากไม่ต่ำกว่า 4,000 ราย โดยเฉพาะการแข่งขันกับผู้เล่นในต่างประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ที่รุกเข้ามาทำการตลาดในไทยมากขึ้น รวมถึงมีการดึงลูกค้าให้ไปใช้บริการในประเทศตนเองผ่านตัวแทนหรือเอเยนซีต่างๆ อีกทั้งประเทศคู่แข่งในอาเซียนที่หันมาเจาะตลาดศัลยกรรมและความงามมากขึ้น เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย เป็นต้น
ทั้งนี้ คาดว่าธุรกิจศัลยกรรมและเสริมความงามของไทยปี 2566 น่าจะมีมูลค่าตลาดประมาณ 71,000-72,000 ล้านบาท ขยายตัวราว 2.3-3.6% (YoY) ทยอยกลับมาฟื้นตัวภายหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย แต่มูลค่าดังกล่าวยังไม่กลับไปเท่าก่อนโควิด และตัวเลขการเติบโตในภาพรวมอาจไม่ได้สะท้อนผลประกอบการที่ดีขึ้นของผู้ประกอบการทุกราย ขึ้นอยู่กับการตอบโจทย์ลูกค้า ทั้งในเรื่องของค่าบริการ รสนิยม คุณภาพและมาตรฐานในการให้บริการ รวมถึงผลลัพธ์หรือความพึงพอใจในผลงานของแพทย์ ซึ่งเป็นทางเลือกที่ผู้บริโภคมีต่อการเลือกใช้บริการธุรกิจศัลยกรรมและเสริมความงามที่แตกต่างกันออกไป
และมองไปข้างหน้ายังพบว่า ธุรกิจศัลยกรรมและเสริมความงามยังคงเผชิญกับอีกหลายปัจจัยท้าทาย เช่น การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะศัลยแพทย์ตกแต่ง ที่อาจทำให้เกิดการแย่งชิงบุคลากรทางการแพทย์กันมากขึ้น และส่งผลต่อต้นทุนของธุรกิจที่สูงขึ้น
อีกทั้งความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงเร็ว อาจส่งผลต่อต้นทุน ซึ่งหากลูกค้ามาใช้บริการน้อยและไม่สม่ำเสมอ ความคุ้มค่าด้านการลงทุนก็จะน้อยและอาจขาดทุนในที่สุด สะท้อนให้เห็นว่า การอยู่รอดหรือประสบความสำเร็จของธุรกิจในยุคที่ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่าย และมีทางเลือกมากขึ้นอาจไม่ใช่เรื่องง่าย.
บุญช่วย ค้ายาดี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ปี68สินเชื่อระบบแบงก์ไทยหืดจับ
ปี 2568 ยังเป็นอีกปีที่ต้องจับตากับทิศทางของเศรษฐกิจไทย เพราะยังมีปัจจัยหลายอย่าง ทั้งบวกและลบ ที่จะเข้ามามีผลกับภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสถานการณ์กดดันจากปัญหาหนี้ครัวเรือน
แผนดัน ‘เกษตรครบวงจร’
อุตสาหกรรมเกษตร เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย และที่ผ่านมาเศรษฐกิจถูกขับเคลื่อนไปได้ด้วยสินค้าเกษตร แต่ก็มีบางช่วงที่ติดขัดและไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ จากปัจจัยกระทบต่างๆ
เคาต์ดาวน์ปลอดภัยส่งท้ายปี
เทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2568 เป็นช่วงเวลาแห่งความสุข เป็นวาระแห่งการเริ่มต้นใหม่ที่เปี่ยมไปด้วยพลังและความหวัง โดยในปีนี้สถานที่จัดงาน Countdown ทั่วประเทศไทยหลายหน่วยงานได้เตรียมกิจกรรมไว้ให้ทุกคนได้ร่วมสนุกและสัมผัสความงดงาม
แชร์มุมมอง‘อินฟลูเอนเซอร์’ในตลาดอาเซียน
การตลาดอินฟลูเอนเซอร์ถือได้ว่าเป็นกลยุทธ์สำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มายาวนาน แต่กลยุทธ์การทำการตลาดของแต่ละแบรนด์นั้นล้วนแตกต่างกันไป ล่าสุด วีโร่ ได้เปิดตัวเอกสารไวต์เปเปอร์ฉบับใหม่ในหัวข้อ “ผลกระทบ
ของขวัญรัฐบาล
อีกไม่ถึง 2 สัปดาห์ก็จะเข้าสู่ช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่แล้ว ก็เป็นธรรมเนียมของรัฐบาลและ ครม.ที่จะมีมาตรการเป็นของขวัญมอบให้กับประชาชน ซึ่งการประชุม ครม.ล่าสุดเริ่มมีการเคาะมาตรการต่างๆ ออกมาช่วยเหลือประชาชนกันแล้ว
ยกระดับธุรกิจไทยแข่งขันเวทีโลก
ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ EXIM BANK คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 3% ด้วยแรงขับเคลื่อนจากอุปสงค์ในประเทศที่ฟื้นตัวต่อเนื่องจากการใช้จ่ายภาครัฐ