เมื่อจีนฟาดญี่ปุ่นกรณี ปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

ประเด็นสิ่งแวดล้อมกลายเป็นข้อพิพาทใหญ่ระหว่างญี่ปุ่นกับจีนและเพื่อนบ้าน ซึ่งทำท่าจะบานปลายไปกระทบความสัมพันธ์ด้านอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง

จีนออกตัวแรงที่สุด...ด้วยการประกาศห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นทั้งหมด โดยเริ่มมีผลทันทีจากวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา...อันเป็นวันเดียวกับที่รัฐบาลญี่ปุ่นปล่อยน้ำเสียที่สงสัยว่ายังปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลงทะเล

ฮ่องกงก็ออกประกาศเรื่องเดียวกันติดๆ

คำประกาศของจีนมีผลต่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่นทันที เพราะมูลค่าของอาหารทะเลที่จีนนำเข้าจากญี่ปุ่นมากถึง 20,900 ล้านบาท เมื่อปีที่แล้ว

ฮ่องกงนำเข้ามากกว่า 18,000 ล้านบาท เมื่อปี 2022

ต้นเรื่องมาจากการตัดสินใจของรัฐบาลญี่ปุ่นที่จะปล่อยน้ำเสียที่ปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสี “ที่บำบัดแล้ว” ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิ

เสียงต่อต้านจากประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงมีทั้งเสียงแสดงความวิตกกังวล และแค้นเคือง

ทางการและสื่อจีนออกมาฟาดฟันญี่ปุ่นอย่างดุเดือด กล่าวหาว่าญี่ปุ่นขาดความรับผิดชอบ และจงใจจะทำลายสิ่งแวดล้อมถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิตมนุษย์

จีนบอกว่าต้องใช้มาตรการแบนอาหารทะเลทั้งหมดจากญี่ปุ่น ไม่ว่าจะโยงกับเขตฟุกุชิมะหรือไม่ก็ตาม

เพราะรัฐบาลมีหน้าที่ปกป้องประชาชนไม่ให้เผชิญกับความเสี่ยงต่อชีวิต

 ความจริงก่อนหน้านี้เมื่อเดือนที่แล้ว ปักกิ่งได้ประกาศห้ามนำเข้าอาหารทะเลจาก 10 จังหวัดของญี่ปุ่น ซึ่งรวมถึงฟุกุชิมะและโตเกียว

ฮ่องกงเดินตามปักกิ่งทันทีในเรื่องนี้เช่นกัน

เกาหลีใต้ก็ออกมาต่อต้านญี่ปุ่นในเรื่องนี้ด้วยการห้ามสินค้าทางทะเลเช่นกัน

ปัญหาสารนิวเคลียร์ปนเปื้อนในทะเลแถวฟุกุชิมะเกิดตั้งแต่เหตุแผ่นดินไหวและสึนามิ เมื่อปี 2011 หรือเมื่อ 12 ปีมาแล้ว

เหตุการณ์ครั้งนั้นสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อโรงไฟฟ้า และเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หลอมละลาย

ในช่วงนั้นผู้เชี่ยวชาญต้องปล่อยน้ำเข้าไปหล่อเย็นเชื้อเพลิงนิวเคลียร์

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ มีน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีหลายล้านตันสะสมอยู่ในโรงงาน

นั่นคือเหตุผลที่ญี่ปุ่นอ้างว่าจำเป็นต้องปล่อยน้ำเหล่านี้ลงสู่ทะเล

ญี่ปุ่นพยายามสร้างความมั่นใจให้กับประชาคมโลกด้วยการวิ่งเข้าหา IAEA หรือสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศของสหประชาชาติ

องค์กรนี้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาสำรวจตรวจสอบแล้วอนุมัติแผน แต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ก็ยังดังกระหึ่ม เพราะประเทศเพื่อนบ้านหรือแม้แต่ชาวประมงและธุรกิจที่เกี่ยวกับอาหารทะเลของญี่ปุ่นเองก็มีความเห็นคัดค้าน

 สื่อทางการจีนใช้ภาษาดุเดือดในการต่อว่าต่อขานญี่ปุ่นในเรื่องนี้

กล่าวหาญี่ปุ่นว่าได้ใช้มหาสมุทร ซึ่งต้องถือว่าเป็นทรัพยากรสาธารณะเป็นเสมือน “บ่อน้ำทิ้งของตัวเอง”

จีนไม่หยุดแค่นั้น ยังวิจารณ์ว่า IAEA มีความลำเอียงเข้าข้างทางการญี่ปุ่น

ตัวรัฐบาลเกาหลีใต้ยอมรับการตัดสินใจของญี่ปุ่น แต่นักการเมืองฝ่ายค้านและชาวบ้านจำนวนมากกลับออกมาประท้วง

เรื่องของเรื่องเกิดตั้งแต่ปี 2011 บริษัท เทปโก ผู้บริหารจัดการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ได้ปั๊มน้ำเข้าไปในเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพื่อหล่อเย็นแท่งเชื้อเพลิง ที่เกิดการหลอมละลาย

ในความเป็นจริงก็คือโรงไฟฟ้าจะผลิตน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีต่อเนื่อง ซึ่งก็บรรจุอยู่ในแท็งก์น้ำขนาดใหญ่

ถึงวันนี้กว่า 1,000 ถังถูกบรรจุเต็มแล้ว

เกิดมีคำอธิบายจากทางการญี่ปุ่นว่าปัญหานี้ การแก้วิธีนี้ไม่ยั่งยืน

จึงมีความจำเป็นต้องทยอยปล่อยน้ำเหล่านี้ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก

และไม่ใช่ปล่อยครั้งสองครั้ง หากแต่ต้องปล่อยน้ำปนเปื้อนเหล่านี้ไปอีก 30 ปี

แต่ยืนยันว่าน้ำที่จะปล่อยลงทะเลนั้นปลอดภัยแน่นอน

ปัญหาคือไม่มีใครเชื่อ หรือเชื่อก็ยังคลางแคลงใจอยู่

นักวิทยาศาสตร์เองก็แบ่งเป็นสองฝ่าย ฝ่ายที่เห็นว่าวิธีการที่ใช้บำบัดนั้นมีความน่าเชื่อถือว่าปลอดภัย

แต่อีกหลายฝ่ายก็ยังมีข้อสงสัย

โดยเฉพาะกลุ่มเรียกร้องด้านสิทธิมนุษยชนออกมาต่อต้าน

กลุ่ม Greenpeace ตั้งข้อสงสัยต่อกระบวนการบำบัดน้ำปนเปื้อนรังสีของเทปโก กล่าวหาว่ามาตรการที่ใช้ยังไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะขจัดสารกัมมันตรังสี

โดยมีข้อเสนอว่า รัฐบาลญี่ปุ่นควรจะกักเก็บน้ำปนเปื้อนไว้ในแท็งก์น้ำไปก่อน จนกว่าเทคโนโลยีการบำบัดน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีแบบใหม่จะนำมาใช้ได้ในทางปฏิบัติจริงๆ

จีนเรียกร้องให้ญี่ปุ่นทำข้อตกลงกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค และสถาบันระหว่างประเทศให้เรียบร้อยก่อนจะปล่อยน้ำเสียที่บำบัดแล้วจากโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ลงทะเล

ปักกิ่งกล่าวหาญี่ปุ่นว่า ละเมิด “ศีลธรรมระหว่างประเทศ และภาระผูกพันทางกฎหมาย” และเตือนว่า หากญี่ปุ่นเดินหน้าแผนการนี้ “จะต้องรับผลของการกระทำของตน”

ต้องไม่ลืมว่าจีนกับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้นั้นมีเรื่องบาดหมางในประวัติศาสตร์มาช้านานจนถึงวันนี้

พอเกิดเรื่องนี้ขึ้นมาก็เท่ากับไปกระพือข้อพิพาทเดิมอื่นๆ ขึ้นมาทันที

จีนต่อต้านการที่ญี่ปุ่นพยายามจะสร้างแสนยานุภาพทางทหารขึ้นมาเป็นครั้งแรกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

อีกทั้งญี่ปุ่นก็ยืนอยู่ข้างเดียวกับสหรัฐฯ ในกรณีขัดแย้งว่าด้วยเรื่องไต้หวันอยู่เช่นกัน

รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามจะบอกว่ามีความเปิดเผยและโปร่งใสในการอธิบายเรื่องนี้ให้เพื่อนบ้านได้เข้าใจ

โดยพาผู้เชี่ยวชาญเกาหลีใต้เข้าชมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

รัฐบาลเกาหลีใต้เองบอกว่า ยอมรับในผลการตรวจสอบของ IAEA ของสหประชาชาติ

แต่ฝ่ายค้านและประชาชนจำนวนมากออกมาต่อต้านอย่างเปิดเผย

กล่าวหาว่ารัฐบาลของตนโอนเอียงเข้าข้างรัฐบาลญี่ปุ่นอย่างไร้เหตุผล

ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนในเกาหลีใต้ชี้ว่า 80% มีความเป็นห่วงต่อการที่ญี่ปุ่นจะปล่อยน้ำปนเปื้อนรังสีลงทะเล

ประชาชนหลายพันคนเข้าร่วมการประท้วงในกรุงโซลมาแล้วหลายครั้ง

เรียกร้องให้รัฐบาลเกาหลีใต้ดำเนินมาตรการปกป้องประชาชน

จนเกิดกระแสแตกตื่นในหมู่ประชาชนบางกลุ่ม บางชุมชนถึงกลับเริ่มตุนอาหารประเภทเกลือ และอาหารที่จำเป็นเพื่อทดแทนอาหารทะเลจากญี่ปุ่นกันแล้ว

รัฐบาลเกาหลีใต้ยอมตามญี่ปุ่น แต่รัฐสภาที่นั่นกลับเห็นต่าง

โดยมีมติเมื่อเดือนมิถุนายนเป็นทางการระบุว่า สภานิติบัญญัติเกาหลีใต้ต่อต้านแผนการปล่อยน้ำปนเปื้อนรังสีของญี่ปุ่น

แต่จะมีผลต่อรัฐบาลแค่ไหนยังไม่แน่ชัด

ความตึงเครียดเรื่องฟุกุชิมะจะลามไปถึงความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นระหว่างญี่ปุ่นกับจีนอย่างมิอาจปฏิเสธได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ

แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ

เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง

พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์

ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด

เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!

อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว