สองภาพนี้แสดงให้เห็นถึงการเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐฯ กับญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ด้านหนึ่ง กับจีน, รัสเซีย และเกาหลีเหนืออีกซีกหนึ่งอย่างชัดเจน
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เชิญผู้นำญี่ปุ่น ฟูมิโอะ คิชิดะ และประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ยุน ซุกโยว ไปประชุมสุดยอดที่ Camp David อเมริกา
พร้อมประกาศแผนความร่วมมือด้านการทหารอย่างชัดเจน
รวมถึงการติดตั้ง “สายด่วน” หรือ Hotline ระหว่างสามผู้นำ
เพื่อเป็นการต่อสายถึงกันได้ตลอดเวลาหากมีเหตุฉุกเฉินที่ต้องมีปฏิบัติการร่วมกัน
ทั้งสามประเทศยืนยันว่าที่ต้องกระชับความสัมพันธ์ทางทหารเพิ่มขึ้นอีก ก็เพื่อตอบสนองต่อภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ และการแลกเปลี่ยนทางทหารกับรัสเซีย
อีกภาพหนึ่งในจังหวะใกล้ๆ กันเมื่อต้นเดือนนี้คือ คิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ยืนกลางร่วมกับนายหลี่ หงจง สมาชิกกรมการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์จีน (ขวา) และเซอร์เก ชอยกู รัฐมนตรีกลาโหมรัสเซีย ที่กรุงเปียงยางเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม
เป็นโอกาสที่ผู้นำเกาหลีเหนือจัดงานขบวนพาเหรดทางทหารอย่างยิ่งใหญ่เพื่อรำลึกครบรอบ 70 ปีการสิ้นสุดสงครามเกาหลี
จุดเด่นของงานนี้คือ อาคันตุกะคนสำคัญจากมอสโกและปักกิ่ง
ท่ามกลางการคาดเดาว่า จีน, รัสเซีย และเกาหลีเหนือก็กำลังเพิ่มความร่วมมือทางทหารระหว่างกันเช่นกัน
คณะผู้แทนของจีนได้ส่งมอบจดหมายอย่างเป็นทางการจากประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ถึงผู้นำเกาหลีเหนือ เน้นย้ำว่าเกาหลีเหนือและจีนมี "มิตรภาพที่เขียนด้วยเลือด"
และตอกย้ำถึงความกระตือรือร้นที่จะพัฒนาความร่วมมือทวิภาคีต่อไป
ตีความเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากว่า การแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของเกาหลีเหนือกับรัสเซีย และมีเป้าหมายตรงไปยังการประชุมสุดยอดของผู้นำเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ในสัปดาห์เดียวกัน
เพราะเปียงยางต้องการจะส่งสัญญาณว่า พร้อมจะเผชิญหน้ากับการรวมกลุ่มของไตรภาคีที่เพิ่มขึ้นของฝั่งตะวันตกกับเพื่อนบ้านของเกาหลีเหนืออย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้
ด้านความสัมพันธ์ 3 ฝ่ายของซีกเกาหลีเหนือกับมอสโกและปักกิ่งนั้น ความจริงมีความแน่นแฟ้นมาระยะหนึ่งแล้ว
เมื่อต้นปี 2565 รัสเซียและจีนได้คัดค้านมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติหลายชุด ที่กำหนดบทลงโทษเพิ่มเติมต่อเกาหลีเหนือจากการทดสอบขีปนาวุธ
สอดคล้องกับการประกาศความร่วมมือของจีนและรัสเซียที่ "ไม่มีขีดจำกัด" และการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้นระหว่างสหรัฐฯ และจีน
วิวัฒนาการเหล่านี้ทำให้เกิดความร่วมมือสามฝ่ายใหม่ระหว่างเกาหลีเหนือ จีน และรัสเซีย
ท่ามกลางสัญญาณที่ชัดเจนของกลุ่มสงครามเย็นที่ก่อตัวอีกครั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ
การประชุมสุดยอดไตรภาคีครั้งล่าสุดนี้ มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์สำหรับสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้อย่างมาก
ที่สำคัญกว่านั้น การประชุมสุดยอดสามฝ่ายแบบ “สแตนด์อโลน” (Stand Alone) ครั้งแรกนี้จะช่วยให้ผู้นำทั้งสามสามารถขยายและจัดระบบความร่วมมือสามทาง ในการเผชิญกับภัยคุกคามนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ
และเผชิญกับความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นในสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงระดับภูมิภาคและระดับโลก
ถือว่าเป็นจังหวะเหมาะเจาะที่ 3 ฝ่ายมาเจอกันหลังจากเกาหลีใต้และญี่ปุ่นหันมา “ซ่อม” ความสัมพันธ์ทวิภาคีเมื่อต้นปีนี้
โดยพยายามจะ “ก้าวข้ามความขัดแย้งในอดีต” ว่าด้วยข้อพิพาททางประวัติศาสตร์และความขัดแย้งเรื่องดินแดนที่เป็นอุปสรรคทางการค้าและความมั่นคงมายาวนาน
ทำให้มีพื้นที่ของการพูดจาทางการเมืองมากขึ้นสำหรับผู้นำในกรุงโซลและโตเกียวเพื่อหารือ
ขยายความร่วมมือระดับทวิภาคีไปสู่การกระชับมิตรไตรภาคีกับวอชิงตัน
เป็นการระดมพันธมิตรของประเทศเอเชียอื่นๆ ภายใต้การชักชวนของอเมริกา เพื่อสกัดอิทธิพลของจีนอย่างเห็นได้ชัด
ในการประชุมสามฝ่ายครั้งก่อนเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว อันเป็นการพบปะกันนอกรอบระหว่างการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกในกรุงพนมเปญ ครั้งนั้น ไบเดน, คิชิดะ และยุนยืนยันคำมั่นสัญญาต่อการจัด “ระเบียบโลก" ที่อิงกฎเกณฑ์ (Rule-Based World Order) และเห็นพ้องที่จะยกระดับความร่วมมือในอินโด-แปซิฟิกบนพื้นฐานของ “ค่านิยมร่วมและบรรทัดฐานสากล
คิชิดะและยุนไปเยือนยูเครนในเดือนมีนาคมและกรกฎาคมปีนี้ ตามลำดับ
เพื่อแสดงการสนับสนุนต่อยูเครน
และตอกย้ำความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับสหรัฐฯ และสมาชิกคนอื่นๆ ของนาโตที่รวมหัวกันต่อต้านการรุกรานของรัสเซีย
การประชุมสุดยอดแคมป์เดวิดเท่ากับเป็นเปิดฉากใหม่ในความร่วมมือไตรภาคี
ต่อยอดจากความร่วมมือที่ได้เริ่มต้นในปีนี้ ด้วยการฝึกต่อต้านเรือดำน้ำสามทิศทางอีกครั้ง
เสริมด้วยข้อตกลงที่จะแบ่งปันข้อมูลคำเตือนเกี่ยวกับขีปนาวุธของเกาหลีเหนือแบบเรียลไทม์
หลังจากการประชุมครั้งแรกของกลุ่มที่ปรึกษาด้านนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐฯ-สาธารณรัฐเกาหลีเมื่อเดือนที่แล้ว ไบเดน, ยุน และคิชิดะกำลังหาทางบีบบังคับไม่ให้เกาหลีเหนือเดินหน้าพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อย่างไม่หยุดยั้ง
เชื่อกันว่าเกาหลีเหนือส่งกระสุนให้รัสเซีย เพื่อช่วยเหลือสงครามที่กำลังดำเนินอยู่ในยูเครนเพื่อแลกกับความช่วยเหลือด้านอาหารและพลังงาน
หากมอสโกถ่ายโอนเทคโนโลยีขีปนาวุธขั้นสูงไปยังเปียงยาง ก็จะช่วยเร่งการพัฒนาโครงการขีปนาวุธของรุ่นหลัง
จะทำให้เกาหลีเหนือเป็นภัยคุกคามที่สำคัญต่อสหรัฐฯ, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
ในด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ทั้งสามประเทศมีการพบปะกันอย่างสม่ำเสมอเพื่ออำนวยความสะดวกในการสื่อสารอย่างใกล้ชิด และความร่วมมือด้านนโยบายเกี่ยวกับห่วงโซ่อุปทาน เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ และแร่ธาตุที่สำคัญ
ความร่วมมือไตรภาคีนี้ยังขยายไปยังประเด็นอื่นๆ ด้วย เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พลังงาน และความมั่นคงทางอาหาร
อีกทั้งยังมีการพูดถึงการเสริมสร้างแนวร่วมประชาธิปไตยเพื่อต่อต้านการเพิ่มขึ้นของอำนาจนิยม และเสริมสร้างคุณค่าสากลและหลักนิติธรรม
แต่มีหรือที่จีนและรัสเซียจะยอมให้สหรัฐฯ ขยายเครือข่ายของตัวเองในเอเชีย
การที่ปักกิ่งกับมอสโกแสดงความใกล้ชิดสนิทสนมกับเกาหลีเหนือ โดยเฉพาะด้านการทหารนั้นก็ชี้ชัดว่า ความสัมพันธ์ไตรภาคีของปีกนี้มีแต่จะเพิ่มความแข็งแกร่งมากขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งแน่นอน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ