Mark Twain เคยพูดว่า “Truth is stranger than fiction, but it is because fiction is obliged to stick to possibilities; Truth isn’t.”
ถ้าแปลแบบภาษาฟุดฟิดฟอไฟ เหตุการณ์ในโลกแห่งความจริงไม่สามารถมาแต่งในนวนิยายได้ เพราะถึงแม้เรื่องในนวนิยายเป็นแฟนตาซีจัด คนชม ถ้าแต่งเรื่องแปลกแนวเกินจะไม่มีความเชื่อว่าสิ่งนั้นเกิดขึ้นได้ คนชม/อ่าน/ฟัง จะรู้สึกว่า คนแต่งดูถูกสติปัญญาของผู้บริโภค แต่เหตุการณ์หลายอย่างในโลกจริง เกิดขึ้นจริง แต่ไม่สามารถเกิดขึ้นในโลกนวนิยายได้ครับ เพราะในโลกนวนิยายต้องอยู่บนพื้นฐานความน่าเชื่อถือ…บ้าง
สำหรับสถานการณ์ คุณทักษิณกลับมา เรื่องราวการเลือกนายกรัฐมนตรี เรื่องราวการเมือง การสลายขั้ว การสวนมติพรรค (เพราะความหิวของตัวเอง) ผมถามจริงๆ เถอะ ถ้าเรื่องราวเหล่านี้ปรากฏในหนัง (ไม่ว่าจะหนังอินเดีย หรือละครไทยก็ตาม) ทุกท่านก็คงเหมือนผมคือ ดูไปบ่นไป และด่าผู้ผลิตหนัง/ละครเรื่องนั้นๆ เพราะจะคิดว่าเรื่องราวที่ปรากฏในจอไม่มีทางเกิดขึ้นในโลกความจริงหรอก ใครจะไปเชื่อ?!?!?!
แต่ความจริงน้ำเน่ากว่าเรื่องนิยาย!!! ผมรับรองว่าไม่มีนักเขียน หรือผู้แต่งสคริปต์คนไหนกล้าคิดเรื่องที่เกิดขึ้นในบ้านเราช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ถ้าทำเป็นหนังขึ้นมาไม่มีใครดูหรอก และไม่มีใครกล้าสร้าง เพราะคนดูจะรู้สึกว่าคนสร้างดูถูกสติปัญญา แล้วคนสร้างกลัวว่ามันน้ำเน่าเกิน
มีคำพูดหนึ่งที่ผมมักใช้เวลาเจอสถานการณ์เหลือเชื่อจริงๆ ไม่ต้องหยิบยกคำพูดของ Mark Twain ซึ่งอาจดูยืดยาว แล้วไม่ทันสมัย เมื่อเจอสถานการณ์ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมมักจะพูดเองว่า “You can’t make this _hit up!” ขออภัยที่ใช้คำหยาบ แต่มันสรุปเหตุการณ์ได้ดีที่สุดครับ
อย่าว่าแต่ในประเทศไทยอย่างเดียว ในช่วงกลางสัปดาห์มีข่าวเรื่องเครื่องบินที่นาย Yevgeny Prigozhin นั่งระหว่างเดินทางภายในประเทศรัสเซียตก ทำให้ผู้โดยสารและลูกเรือทุกคนเสียชีวิต เรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ตกอยู่ในกรณีความจริงเหลือเชื่อกว่าโลกนวนิยาย
สำหรับใครที่ติดตามข่าวคราวเมื่อ 2-3 เดือนที่แล้ว คงจะจำได้ว่ามีข่าวกลุ่มกองกำลัง Wagner เกือบจะปฏิวัติและโค่นล้มประธานาธิบดี Vladimir Putin แต่ในที่สุดไม่สำเร็จ และ Prigozhin ไม่ติดคุก ไม่ถูกประหารชีวิต แต่ต้องพ้นจากตำแหน่งผู้นำ Wagner และต้องไปเก็บตัวอยู่ที่ Belarus (หรือที่อื่นๆ ที่ไม่ใช่ประเทศรัสเซีย) แต่ดูแล้วว่าเขาไม่ได้ทำตามข้อตกลง และยังใช้ชีวิตปกติในประเทศรัสเซีย พอพูดถึงเรื่องความจริงเหลือเชื่อกว่านิยายนั้น ต้องดูประวัติความสัมพันธ์ Prigozhin กับ Putin แล้วมันจะเข้าข่าย “You can’t make this _hit up!”
ในช่วง 1990s หลัง Prigozhin ออกจากคุก 9 ปี ตามข้อกล่าวหาหลอกลวงและปล้นทรัพย์ เขาไปเปิดธุรกิจ Catering
ถ้าย้อนเวลากลับไป ประเทศรัสเซียในยุคนั้นเป็นยุคริเริ่มประเทศใหม่ เปลี่ยนจากสหภาพโซเวียตที่เป็นระบอบคอมมิวนิสต์เต็มตัวมาเป็นประเทศรัสเซีย ที่หันมาบริหารประเทศตามทุนนิยมและเสรีภาพมากขึ้น เป็นยุคที่คนรัสเซียต้องปรับตัวกับแนวทางบริหารใหม่ และแนวทางชีวิตใหม่ด้วย
ดังนั้นทุกอย่างที่เคยอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นร้านค้า ร้านอาหาร หรืออะไรก็แล้วแต่ ทุกสิ่งอย่างที่หน่วยงานรัฐเคยดูแล เปิดให้เอกชนดูแลแทน ซึ่งเป็นช่วงที่เละ เป็นช่วงตะลุมบอน ช่วงนั้นประเทศรัสเซียเต็มไปด้วยร้านค้า ร้านอาหาร ที่มีคนแย่งกันอยากเป็นเจ้าของ แต่บริหารไม่เป็น เพราะก่อนหน้านั้น หน่วยงานรัฐดูแลทุกอย่าง ร้านค้าหรือร้านอาหารจะมีประสิทธิภาพหรือไม่ ไม่มีใครสนใจอะไร เพราะใบอนุญาตร้านอาหารหรือร้านค้านั้น หน่วยงานรัฐเป็นผู้อนุมัติ และไม่มีคู่แข่ง ดังนั้นในยุคโซเวียต คุณภาพสินค้าหรืออาหารตามร้านไม่ได้เป็นสิ่งชี้วัดว่าร้านนั้นดีหรือไม่ดี หรืออยู่ได้หรือไม่ได้ ผลไม่ได้อยู่ที่กำไร การอยู่รอดของร้านนั้นๆ อยู่ที่ความสัมพันธ์ที่มีกับหน่วยงานรัฐมากกว่า
พอเปลี่ยนจากโซเวียตมาเป็นรัสเซีย เกิดการแข่งขันขึ้นทันที การเอาตัวรอดของร้านค้าขึ้นอยู่กับคุณภาพมากกว่าเมื่อก่อน เลยมีผู้ประกอบการผุดขึ้นมาอย่างกับดอกเห็ด เพราะทุกคนอยากเป็นเจ้าของอนาคตของตนเอง ทุกคนอยากกำหนดอนาคตของตนกับครอบครัวเสียที เพราะในยุคของโซเวียตมีคนอื่นกำหนดทิศทางชีวิตเขาตลอดเวลา
ครั้งเดียวที่ผมได้ไปรัสเซีย ผมไปในช่วงนั้นพอดีครับ (ร่วมเดินทางกับคุณเปลว สีเงิน ด้วย) ผมจำไม่ได้ว่าเราไปกันในช่วงก่อนหรือหลังเปลี่ยนระบอบประเทศเรียบร้อย จำไม่ได้ว่าเราไปช่วงก่อนหรือหลัง Boris Yeltsin ยืนอยู่บนรถถังหรือไม่ แต่ผมจำได้อย่างเดียวว่าเป็นช่วงกำลังเปลี่ยนแปลงแน่ๆ ดังนั้นจะเห็นวิถีชีวิตเดิมๆ ที่คนต่อแถวเพื่อซื้อขนมปัง ซื้อของใช้ในบ้าน บวกกับร้านอาหารที่ผุดขึ้นมาใหม่ ที่การบริหารและรสชาติไม่ได้เรื่อง
ผมยังจำได้ว่าตอนนั่งเครื่องระหว่างมอสโกไปเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กนั้น คุณพ่อผมนั่งติดกับคนรัสเซียคนหนึ่ง ระหว่างบินคุณพ่อผมเอาหมากฝรั่งมาเคี้ยว (ยี่ห้อ Chiclets สีเขียว) ซึ่งจะมาเป็นชิ้นๆ ทรงสี่เหลี่ยม คุณพ่อเอาชิ้นสองชิ้นมาเคี้ยว แล้วสังเกตว่าผู้ชายนั่งข้างๆ มองหมากฝรั่งที่คุณพ่อถืออยู่ คุณพ่อเลยยื่นหมากฝรั่งให้ผู้ชายคนนั้นในทำนองว่า “เอาไหม?”
ผู้ชายคนนั้นตื่นตาตกใจ ขอคุณพ่อ 4 เม็ด เพื่อเคี้ยว 1 เม็ดตอนนั้น และเก็บอีก 3 เม็ดให้กับลูก 2 คน และภรรยาที่บ้าน คุณพ่อบอกให้เขาเอาไปทั้งกล่อง แต่เขาไม่ยอม เพราะเขาบอกว่าแค่นี้เขาพอใจแล้ว (ตามภาษาอังกฤษของเขาที่ไม่ค่อยแข็งแรงเท่าไรนัก) เขาสื่อให้คุณพ่อเข้าใจว่า แค่คนละชิ้น ครอบครัวเขามีความสุข เขาสองคนเลย Shake Hands กัน ซึ่งเป็นเรื่องที่คุณพ่อมักหยิบยกมากล่าวในคอลัมน์ของเขาและตามเวทีต่างๆ เวลาไปบรรยาย
นี่แหละครับคือยุคและโลกที่ Prigozhin ริเริ่มสร้างตัว เอาไว้สัปดาห์หน้า ผมจะเขียนต่อเรื่องของเขาและกลุ่ม Wagner ครับ เพราะเป็นเรื่องความจริงที่เหลือเชื่อกว่านวนิยาย และวันนี้ผมนอกเรื่องไกลไปหน่อยครับ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
A Whole New World? หรือ Same Same, But Different?
ในเร็วๆ นี้ โลกของเราจะเปลี่ยนโดยที่เราไม่รู้ตัวครับ ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่ก็ตาม จะอยู่ใน Gen ไหน สิ่งที่พวกเราต้องยอมรับกันคือ
วันส่งท้าย 'สวัสดีปีใหม่'
หวังว่าวันนี้คงไม่สายเกินไปที่ผมจะทักแฟนคอลัมน์ด้วยคำว่า “สวัสดีปีใหม่” ครับ เนื่องจากวันนี้เป็นวันแรกที่เราได้เจอกันในรอบปีใหม่ แต่ผมมีคำถามอยู่คำถามหนึ่งว่า
'This is what butterflies listen to after a long day.'
ทิ้งท้ายปีนี้ด้วยคอลัมน์สบายๆ ครับ ผมไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ผมจะเขียนในวันนี้ จะถึงใจแฟนคอลัมน์หรือเปล่า เพราะผมไม่แน่ใจว่าพวกเราชอบฟังเพลงแนว Podcast
Gisele Pelicot วีรสตรีของโลก
วันนี้ผมขออนุญาตเขียนเรื่องที่อาจสะเทือนใจ และสร้างความอึดอัดให้กับแฟนคอลัมน์หลายท่าน มันไม่ใช่เรื่องที่คนปกติจะนั่งพูดคุยกัน เป็นเรื่องสะเทือนใจ
สงครามที่โลกลืม…ปิดฉากไปแล้ว
มันแปลกจริงๆ ครับ ประมาณเกือบ 2 สัปดาห์ที่แล้ว อยู่ๆ ผมนึกถึงคอลัมน์ที่ผมเคยเขียน เรื่องเกี่ยวกับ “สงครามที่โลกลืม”
President Biden….You’re a Good Dad
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีสารพัดเรื่องที่น่าสนใจและน่าเขียนถึง เรื่องแรกต้องเป็นเรื่องประกาศกฎอัยการศึกในเกาหลีใต้ เพราะเป็นเรื่องไม่มีวี่แววว่าจะเกิดขึ้น และถือว่าเป็นการประกาศฟ้าผ่าทีเดียว