การประชุมสภาผู้แทนราษฎร หลังการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (๕๘)

 

หลังจากที่รัฐบาลได้รับพระราชทาน “พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศสละราชสมบัติ”  รัฐบาลได้ออก “คำแถลงการณ์ของรัฐบาลเกี่ยวกับการสละราชสมบัติ” ให้ประชาชนได้รับทราบ และคณะรัฐมนตรีได้เสนอเรื่องต่อสภาผู้แทนราษฎร

ก่อนหน้าที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงสละราชสมบัติ พระองค์ได้เสด็จยังต่างประเทศ และได้ทรงแต่งตั้งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2477 และเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ทรงยืนยันว่าพระองค์ได้ทรงพ้นตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปพร้อมกับการสละราชสมบัติ และการตั้งผู้ครองราชย์สมบัติสืบต่อจากพระองค์นั้น  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงได้มีกระแสรับสั่งว่า พระองค์ทรงสละสิทธิ์ที่จะตั้งผู้ครองราชย์สมบัติสืบต่อจากพระองค์

ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้มีการอภิปรายเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรต่อกรณีการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  ผู้เขียนได้นำเสนอคำแนะนำที่หม่อมเจ้าวรรณไวทยากรฯทรงประทานให้แก่ที่ประชุมสภาฯ นั่นคือ สภาผู้แทนราษฎรไม่มีอำนาจในการรับหรือไม่รับการสละราชสมบัติ  เพราะพระบาทสมเด็จพระปกเล้าฯทรงสืบราชสมบัติต่อจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  และพระองค์มีสิทธิ์ที่จะสละราชสมบัติโดยไม่จำเป็นต้องขอการอนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น สิ่งที่สภาผู้แทนราษฎรจะทำได้คือรับทราบการสละราชสมบัติเท่านั้น ส่วนในกรณีพระมหากษัตริย์พระองค์ต่อไป หม่อมเจ้าวรรณไวทยากรทรงให้ความเห็นว่า “ส่วนพระองค์ต่อไปซึ่งจะขึ้นครองราชสมบัติ ก็ด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร”

หลังจากมีการอภิปรายไปพอสมควร เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ รัฐมนตรีกระทรวงวัง กล่าวว่า “ผู้ที่จะสืบราชสันตติวงศ์ของพระมหากษัตริย์ตามกฎมณเฑียรบาลตามที่สมเด็จกรมพระนริศฯ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ผู้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะสละราชสมบัติ/ผู้เขียน) ได้ทรงสืบสวนแล้ว ได้แก่ สมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงสงขลาฯ ซึ่งได้สิ้นพระชนม์แล้ว กับมีพระราชโอรส คือ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล นั้นเป็นผู้สืบราชสันตติวงศ์ของพระมหากษัตริย์ตามกฎมณเฑียรบาล ตามที่ได้แจกไปให้ท่านแล้ว”

หลังจากนั้น มีการอภิปรายต่อไป จนเกิดข้อถกเถียงว่า สภาผู้แทนราษฎรไม่จำเป็นต้องเลือกกษัตริย์ตามกฎมณเฑียรบาล เพราะสภาผู้แทนราษฎรทรงไว้ซึ่งอำนาจสูงกว่ากฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ พ.ศ. ๒๔๖๗  สภาผู้แทนราษฎรจะเลือกเจ้านายพระองค์ใดก็ได้

ต่อมา หลวงวรนิติปรีชา ผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า “ที่ผู้แทนจังหวัดพระนครให้วางหลักเกณฑ์นั้น (นายไต๋ ปาณิกบุตร ผู้แทนจังหวัดพระนคร เสนอให้วางหลักเกณฑ์ว่า ไม่ควรมีพระมหากษัตริย์ที่เป็นเด็ก/ผู้เขียน) ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วย ควรจะพิจารณาตัวบุคคลอย่างที่ท่านผู้แทนหลายท่านได้กล่าวมาแล้ว จึงจะถูกต้อง เพราะฉะนั้น เมื่อจะพิจารณาถึงตัวบุคคลแล้ว ข้าพเจ้าเห็นว่า เราควรจะพักไปสักคราวหนึ่งก่อน แล้วจึงค่อยปรึกษากันว่าจะเอาใคร เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าขอเสนอให้หยุดพัก ๑๕ นาที”

ขุนวรศาสน์ดรุณกิจ รับรอง

นายกรัฐมนตรี (พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา/ผู้เขียน)  กล่าววว่า “รัฐบาลขอประชุมต่อกันไปหถึงวันที่ ๗ ด้วย เพราะอีก ๕ นาทีก็จะหมดเวลาประชุมแล้ว”

ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวว่า “ต้องให้ลงมติว่าจะพัก......”

หลวงวรนิติปรีชา ผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า “ข้าพเจ้าไม่ได้ขอร้องให้เลิกการประชุม จะประชุมกันให้ตลอดเรื่อง ข้าพเจ้าก็ยินดี แต่ขอหยุดพักสัก ๑๕ นาที หรือ ๑๐ นาที แล้วเราจะได้มาเลือกกันว่าจะเอาผู้ใด ไม่น่าจะขัดข้องเลยในข้อนี”

ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวว่า “ประเดี๋ยว จะประชุมต่อไปอย่างนั้นหรือ เป็นอันว่านี่เราประชุมกันรวดเดียว ประชุมกันต่อไปคือว่าจะประชุมถึงวันที่ ๗ ด้วย มีผู้ใดขัดข้องบ้าง เมื่อไม่มีผู้ใดขัดข้อง ข้าพเจ้าจะถือว่าที่ประชุมอนุมัติ มีผู้ใดขัดข้องบ้าง เมื่อไม่มีผู้ใดขัดข้อง ข้าพเจ้าจะถือว่าที่ประชุมอนุมัติ ให้หยุดพัก ๑๐ นาที”

ที่ประชุมหยุดพักเวลา ๒๓.๕๕ นาฬิกาและเริ่มประชุมต่อไปเวลา ๐.๒๗ นาฬิกา

ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวว่า “ให้อภิปรายต่อไปในเรื่องนี้”

ขุนชำนาญภาษา ผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า “เรื่องการตั้งพระมหากษัตริย์โดยความเห็นชอบของสภาฯนี้ ควรที่สภาฯนี้จะดำเนินไปตามกฎมณเฑียรบาล คือ ข้าพเจ้าขอเสนออย่างนี้....”

ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวว่า  “เรื่องนี้ก็เป็นอันตกลงกันแล้ว ข้าพเจ้าขอวิงวอนท่านสมาชิก่อนที่จะตั้งต้นอภิปราย ขอให้บอกว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เห็นด้วยก็แสดงเหตุผลไป ถ้าไม่เห็นด้วย ก็แสดงเหตุผล วิธีการนั้นตกลงกันแล้ว ไม่มีใครคัดค้าน”

ขุนชำนาญภาษา ผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า “คือ ที่ข้าพเจ้าจะเรียนนั้น เพื่อจะสนับสนุนในการที่เห็นด้วยนั่นเอง ข้าพเจ้าเห็นว่า สมควรแล้วที่จะเลือกพระองค์เจ้าอานันทฯ ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ จึงขอให้สภาฯนี้ลงมติ คือ ข้าพเจ้าเห็นควรอย่างนี้ ผู้ใดจะเห็นสมควรดด้วย ขอให้ที่ประชุมวินิจฉัย”

พระพินิจธนากร ผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า

“ข้าพเจ้าเห็นด้วยอย่างยิ่งและดังเหตุผลที่จะกราบเรียนต่อไปนี้ ถ้าท่านประธานจะให้พูด เห็นจะไม่ขัดข้องกระมัง ข้าพเจ้าขอเรียนให้ที่ประชุมทราบว่า ข้าพเจ้ามีความจงรักภักดีและสักการบูชาต่อจักรีบรมวงศ์อย่างยิ่ง เพราะฉะนั้น เพื่อป้องกันมิให้ท่านทั้งหลายเข้าใจผิดไปได้ ข้าพเจ้าได้เคยรู้จักกับพระบิดา คือ กรมหลวงสงขลาฯ ท่านพระองค์นี้เป็นผู้ที่รักประชาธิปไตยอย่างยิ่ง ในวันหนึ่ง ข้าพเจ้าได้ไปกินน้ำชาที่วังท่านในงานแต่งงานของเพื่อนข้าพเจ้าคนหนึ่ง ข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปเห็นท่านพูดกับคนใช้ก็ดี หรืออะไรก็ดี ไม่มีการใช้คลานหรืออะไรกัน และข้าพเจ้าได้ไปพูดกับท่านเองสองต่อสองเช่นนี้ ถ้าจะได้ลูกของท่านซึ่งเหมือนกับพระราชบิดาแล้ว ข้าพเจ้าคนหนึ่งจะยินดีอย่างยิ่งทีเดียวนั่นข้อที่สอง ข้อที่สาม คือ ที่จับอกจับใจข้าพเจ้ามาก คือ ท่านยังเป็นเด็กอยู่ และจะใช้จ่ายเงินของเราน้อย ข้าพเจ้าจับอกจับใจที่สุดทีเดียวเมื่อเราจะให้ท่านศึกษาสักสองแสนบาทหรืออะไรอีก บางทีจะพอพระราชหฤทัยอย่างยิ่งทีเดียว เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ข้าพเจ้าไม่เห็นมีอะไรที่จะขัดข้องว่า เราจำเป็นจะต้องมีคนที่สามารถหรืออะไร เรามีรัฐธรรมนูญ เราปกครองตามแบบ แล้วเราทำไปโดยสภาฯทั้งนั้น แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทำผิดไม่ได้เลย คือ เดอะคิงแคนดูโนรอง (The King can do no wrong) เมื่อโนรอง (no wrong) แล้วจะทำผิดอะไรก็ไม่แปลกเลย เพราะเราทำตามรัฐธรรมนูญ และบัดนี้มันก็เป็นวันที่ ๗ แล้ว ข้าพเจ้าคิดว่า ลงมติกันได้สักทีกระมัง”

ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวว่า  “ขอให้เสนอให้ชัด คิดว่า เดี๋ยวจะเป็นปัญหาอีก”

พระพินิจธนากร ผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า “ขอให้ลงมติ”

ขุนเสนาสัสดี นายแทน วิเศษสมบัติ รับรอง

หลวงวรนิติปรีชา ผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า “ท่านพูดเมื่อกี้เป็นแต่เพียงคิดว่าเท่านั้น เพราะฉะนั้น คำขอนั้นตกไปแล้ว มาขอทีหลังไม่ได้” 

ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวว่า  “ญัตตินั้นถูกต้องแล้ว ท่านจะคัดค้านหรือไม่”

หลวงวรนิติปรีชา ผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า “ต่อนี้ไป ข้าพเจ้าขอให้เปิดอภิปรายต่อไป เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ อย่าเพ่อรวบรัดลงมติ ผู้ที่ต้องการจะพูดก็มีอีก ตั้งหลายสิบคนยังไม่ได้พูดเลยว่าไม่เห็นสมควรอย่างไร”

ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวว่า  “มีใครรับรองบ้าง”

ขุนอินทรภักดี รับรอง

ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวว่า  “ท่านผู้ใดเห็นว่าควรจะเปิดอภิปรายต่อไป โปรดยกมือขึ้น”

มีสมาชิกยกมือ ๒๘ นาย

ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวว่า  “ท่านผู้ใดเห็นว่าควรปิดอภิปรายได้แล้ว ยกมือขึ้น”

มีสมาชิกยกมือ ๕๑ นาย เป็นอันว่าที่ประชุมนี้เห็นสมควรให้ลงมติ

ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวว่า  “สำหรับพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลองค์นี้ ท่านผู้ใดเห็นด้วย เห็นด้วยหมายความว่าควรจะเป็นพระมหากษัตริย์ โปรดยืนขึ้น”

มีสมาชิกยืนขึ้น ๑๒๗ นาย

ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวว่า  “ท่านผู้ใดเห็นว่า เจ้านายพระองค์นี้ไม่ควรจะเป็นพระมหากษัตริย์ โปรดยืนขึ้น”

มีสมาชิกยืนขึ้น ๒ นาย

เป็นอันว่าที่ประชุมนี้ลงมติเห็นสมควรให้พระองค์เจ้าอานันทมหิดลเป็นพระมหากษัตริย์

(โปรดติดตามตอนต่อไป: ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 37): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 36): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 47: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับคณะรัฐมนตรีและชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 46: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับคณะรัฐมนตรีและชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 34): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490