ทัวร์สวนอบเชยกับตุ๊กๆ โคลัมโบ

เสียงของเครื่องยนต์ที่ดังตุ๊กๆๆๆ ทำให้รถสามล้อเครื่องมีชื่อเรียกอย่างกว้างขวางทั่วโลกว่า Tuk Tuk บางประเทศอาจเรียกแตกต่างกันออกไปบ้าง ภาษากลางของโลกเรียกว่า “ออโตริคชอว์”, อินเดียเรียก “ออโต” เฉยๆ, ฟิลิปปินส์เรียก “ไตรซิเคิล”, อินโดนีเซียเรียก “เบโม”, เมียนมาเรียก “ไซคา” ส่วนไทยเรียก “สามล้อ” และ “ตุ๊กๆ”

ที่มาของชื่อคือ “จินริกิชา” ในภาษาญี่ปุ่น นั่นก็คือรถลาก 2 ล้อใช้แรงคน ในอดีตญี่ปุ่นใช้รถลากกันอย่างแพร่หลายจนคำว่าจินริกิชากลายเป็นภาษาอังกฤษในชื่อ “ริคชอว์” (Rickshaw) พอมาถึงการพัฒนาเป็นริคชอว์ใช้เครื่องยนต์ก็เลยเรียกว่า Auto Rickshaw และญี่ปุ่นอีกนั่นแหละที่บุกเบิกออโตริคชอว์ขึ้นเป็นรถยนต์ 3 ล้อ Daihatsu Midget กลางๆ ยุคคริสต์ทศวรรษที่ 1930 ส่งออกไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อีก 1 ทศวรรษต่อมา อิตาลีโดยบริษัท Piaggio ผู้ผลิตสกูตเตอร์ยี่ห้อ Vespa จนโด่งดัง หันมาผลิตรถสามล้อเครื่องเช่นกัน รุ่นแรกของพวกเขาคือ Piaggio Ape (อ่านว่า “ปิอาจโจ อาเป” ซึ่งอาเปแปลว่าผึ้ง) และมีการเรียกรถชนิดนี้กันว่า Tukxi

พอสรุปแบบมั่นใจ 80 เปอร์เซ็นต์ได้ว่า ญี่ปุ่นให้กำเนิดออโตริคชอว์ อิตาลีให้กำเนิดชื่อตุ๊กๆ คงไม่ถึงขั้นไปลากเอารถเครื่องยนต์สันดาปภายในคันแรกของโลกโดย “คาร์ล เบนซ์” เมื่อปี ค.ศ.1886 เพราะนั่นก็มีสามล้อเหมือนกัน

ยามเช้าบนถนน Union Place กรุงโคลัมโบ

ในศรีลังกาก็เรียก “ตุ๊กๆ” เหมือนกับบ้านเราและอีกหลายประเทศ มีตุ๊กๆ อยู่เต็มท้องถนน ทั่วทุกเมือง รวมๆ กันแล้วราว 1.2 ล้านคัน จากประชากรเกือบ 22 ล้านคน เท่ากับว่าชาวศรีลังกาทุกๆ 20 คนจะมีตุ๊กๆ 1 คัน หรือทุกๆ 5-6 บ้านหรือหลังคาเรือนจะมีตุ๊กๆ 1 คัน เป็นจำนวนที่มากเอาการ ถึงขั้นที่ในบางเมืองแม้คนไม่มีอาชีพขับตุ๊กๆ รับจ้าง แต่มีตุ๊กๆ ไว้ขับใช้งาน

สำหรับตุ๊กๆ ในโคลัมโบมี 2 ระบบ คือ แบบมีมิเตอร์แสดงค่าโดยสารและแบบไม่มี สำหรับแบบไม่มีมิเตอร์นั้นหากินกับนักท่องเที่ยวเป็นหลัก แต่นักท่องเที่ยวก็สามารถเลือกใช้แบบมีมิเตอร์ได้ เพียงแต่เราจะไม่เห็นมิเตอร์จนกระทั่งเรียกให้จอดแล้วมองเข้าไปยังบริเวณซ้ายมือด้านบนเหนือกระจกหน้ารถ

ตุ๊กๆ แทบทั้งหมดคือยี่ห้อ Bajaj (อ่านว่า “บาจัจ”) เป็นแบรนด์ของประเทศอินเดีย โดยนำชิ้นส่วนมาประกอบเป็นตุ๊กๆ ในศรีลังกา เดิมที “บาจัจ” ซื้อลิขสิทธิ์การผลิตสกูตเตอร์ Vespa จาก “ปิอาจโจ” ของอิตาลีมาผลิตจำหน่ายในอินเดียตั้งแต่ปี ค.ศ.1959 ส่วนรูปลักษณ์ของออโตริคชอว์หรือตุ๊กๆ ของบาจัจก็ละม้ายกับ Piaggio Ape ปัจจุบันบาจัจคือผู้นำด้านการผลิตสกูตเตอร์ มอเตอร์ไซค์ และออโตริคชอว์ในอินเดีย และเป็นผู้ผลิตสามล้อเครื่องรายใหญ่ที่สุดในโลก

นาอูชา ชายวัย 40 ปี ขับตุ๊กๆ มาแล้ว 19 ปี คันนี้คันเดิมไม่เคยเปลี่ยน ราวเหล็กที่คั่นระหว่างคนขับกับผู้โดยสารโยกคลอน เบาะนั่งก็เลื่อนไถลไปข้างหน้าหากว่านั่งไม่ระวัง เขาสะสมเงินไว้กะว่าจะซื้อคันใหม่ แต่โควิด-19 ทำให้แผนการพังทลาย ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ เขาก็ไม่มีรายได้ เงินที่เก็บไว้เลยต้องนำมาใช้เลี้ยงครอบครัว ประคับประคองความเป็นอยู่ตลอดเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา

“พ่อแม่ผมเสียไปนานแล้ว ผมต้องทำงานตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น เมียเป็นแม่บ้าน ไม่มีรายได้ ลูกสาวและลูกชายก็ต้องไปโรงเรียน” ผมนึกว่าเขาพูดขึ้นเพื่อเรียกร้องความสงสารอันเป็นสูตรตายตัวของหลายคนผู้ทำมาหากินกับนักท่องเที่ยว ตอนหลังจึงรู้ว่านาอูชาพูดความจริงทั้งหมด และไม่ได้พูดเพื่อเรียกร้องทิป

วานนี้เขาเสนอทัวร์สถานที่สำคัญๆ ในกรุงโคลัมโบ เรียกราคาแค่ 1,000 รูปี พร้อมโชว์แผ่นกระดาษเคลือบพลาสติก ซึ่งเป็นแพ็กเกจรูปภาพสถานที่เหล่านั้น มีอยู่นับ 10 แห่ง ผมขอเบอร์โทรไว้ซึ่งเป็นสูตรการชิ่งหนีที่ได้ผลมานักต่อนัก

บ่ายวันนี้หลังจากเสร็จภารกิจเขียนคอลัมน์ (ตอนที่แล้ว) ส่งทางอีเมลไปยังโรงพิมพ์ไทยโพสต์เรียบร้อยแล้วผมก็นึกถึงนาอูชาขึ้นมา จำได้ว่าเขามีแววตาที่เชื่อถือได้ จึงโทรศัพท์ไปหา เขาบอกว่าจะมาถึงโรงแรมในอีกครึ่งชั่วโมง

การสวมหน้ากากในยุคโควิดครองโลกทำให้เราต้องมองคนกันที่ดวงตาเป็นหลัก และดวงตามักไม่โกหก บางทีถ้าเรามีประสบการณ์เราจะอ่านคนจากดวงตาได้มากกว่าจากการพูดการจา

เขาจำได้ว่าผมซื้อตั๋วเข้าวัดสีมามาลากา วัดกลางน้ำในทะเลสาบเบรา แต่ยังไม่ได้เข้าวัดคงคารามที่อยู่ห่างออกไป 200 เมตร ซึ่งตั๋วใช้ด้วยกันได้ แต่ตั๋วนี้มีอายุภายในวันที่ซื้อ นาอูชาบอกว่าจะพูดกับเจ้าหน้าที่วัดให้ เพราะเขาพานักท่องเที่ยวเข้าไปบ่อย พอรู้จักกัน แต่ผมลืมตั๋วไว้บนห้องพัก เขาย้ำแล้วตอนที่คุยกันทางโทรศัพท์ พอลงมาเจอเขาผมรู้สึกเหมือนโดนดุ

เขาพูดว่า “ผมบอกท่านแล้ว ท่านยังลืมอีก” เขาเรียกผมด้วยคำว่า “เซอร์” ตลอดเวลา แม้ว่าขอให้เรียกชื่อหรือ “มายเฟรนด์” แทน เพราะเรารุ่นราวคราวเดียวกัน แต่เขาก็ปฏิเสธทุกครั้ง

เป็นอันว่าผมต้องเลื่อนวัดคงคาราม วัดของนิกายสยามวงศ์ออกไปก่อน ทัวร์ของนาอูชาหรือทัวร์ของตุ๊กๆ ทั่วไปเกิดจากพฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่นิยมถ่ายรูปกับสถานที่ท่องเที่ยว หรือมีสถานที่เหล่านั้นเป็นฉากหลัง ถ่ายแล้วก็โพสต์ลงโซเชียลมีเดีย ทำให้ทัวร์ลักษณะนี้มีเหมือนกันๆ คือ พานักท่องเที่ยวไปยังสถานที่เหล่านั้นเพื่อถ่ายรูป ได้ภาพที่ต้องการแล้วมุ่งหน้าจุดหมายต่อไป จะเรียกทัวร์ตุ๊กๆ ว่าทัวร์กดชัตเตอร์ก็ย่อมได้

นาอูชาเริ่มทัวร์ของเขาที่วิหารมหาเทวีอุทยาน (Vihara Maha Devi Park) เป็นสวนสาธารณะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและเก่าแก่ที่สุดในโคลัมโบ เดิมมีชื่อว่า Victoria Park ตามพระนามของควีนวิกตอเรียของอังกฤษ เมื่อศรีลังกาได้รับเอกราชก็เปลี่ยนชื่อเป็นพระนามของพระนางวิหารมหาเทวี พระราชมารดาของพระเจ้าทุฏฐคามณีอภัย พระมหากษัตริย์ผู้ครองกรุงอนุราธปุระ ราชธานีศรีลังกาในยุคต้นประวัติศาสตร์ ได้รับการยกย่องโดยชาวสิงหลว่าปราบกษัตริย์ชาวทมิฬและยึดกรุงอนุราธปุระคืนมาได้เมื่อ พ.ศ.338

มองจากวิหารมหาเทวีอุทยานไปยังศาลาว่าการกรุงโคลัมโบ

ทางเข้าวิหารมหาเทวีอุทยานประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่บนฐานดอกบัว 2 ชั้น คั่นกลางฐานดอกบัวด้วยเศียรช้าง 4 มุม พระพุทธรูปหันหน้าไปทางศาลาว่าการกรุงโคลัมโบ (Colombo Municipal Council) อาคารขนาดใหญ่สีขาวในสไตล์นีโอคลาสสิกที่อยู่คนละฝั่งถนน อาคารหลังนี้สร้างตั้งแต่ปี ค.ศ.1924 เมื่อมองจากด้านหลังพระพุทธรูปไปทางศาลาว่าการเมือง บางคนอาจรู้สึกว่ามีบางสิ่งจับตาพฤติกรรมนักการเมืองในตึกขาวใหญ่หลังนั้น และพวกที่อยู่ในตึกนั้นก็คงมองเห็นพระพุทธรูปอยู่เนืองๆ

ผมเข้าไปล้างแผลในห้องน้ำของสวนสาธารณะ เป็นแผลที่ข้อมือ มีเลือดออก แต่ไม่มาก เกิดจากตอนลงรถตุ๊กๆ แล้วมือไปโดนกับแผ่นเหล็กสเตนเลสหุ้มโครงเหล็กส่วนประตูทางออกของตุ๊กๆ แผ่นเหล็กนี้ดูใหม่ แต่ไม่ได้หุ้มราบเรียบเป็นเนื้อเดียวกับโครงรถ เผยอคมบางออกมา ครูดบาดคนไม่ระมัดระวัง

เดินดูในสวนได้แค่อึดใจเดียวก็ต้องออกมา เพราะนาอูชารออยู่กับสถานที่แห่งใหม่ ยอมรับว่าวิหารมหาเทวีอุทยานน่าสนใจและน่าเข้ามาเดินเล่นนั่งเล่นสัก 1 วันเต็มๆ

ตุ๊กๆ จอดที่หน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติโคลัมโบ วันนี้ปิดให้บริการ รถแบ็กโฮกำลังเกลี่ยดินสีแดงๆ อยู่หน้าอาคาร ก่อนนี้เคยเป็นสนามหญ้า นาอูชาบอกว่าพิพิธภัณฑ์กำลังซ่อมแซม แน่นอนเขาน่าจะรู้อยู่แล้วว่าปิด แต่เขาพาผมมาอยู่ดี เพราะเขาสรุปได้ว่านักท่องเที่ยวยุคนี้ส่วนใหญ่ต้องการแค่ถ่ายรูปเท่านั้น และผมต้องแหย่เลนส์กล่องเข้าไประหว่างรั้วลวดเหล็กเพื่อถ่ายตึกขาวสถาปัตยกรรมอิตาเลียนที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ.1877

ตรงข้ามอาคารพิพิธภัณฑ์ ใกล้ๆ กับที่นาอูชาจอดตุ๊กๆ มีร้านกาแฟ จึงขอเวลานาอูชาเข้าไปดื่มเอสเปรสโซ ถามเขาว่าต้องการอะไรไหม เขาสั่นศีรษะและขอบคุณ

กาแฟถ้วยละ 300 รูปี หรือประมาณ 50 บาท ถือว่าราคาไม่แพงหากเทียบกับกาแฟ (แบบสากล) ที่ได้ดื่มในศรีลังกาตลอดทริปนี้ของผม รสชาติหอมอร่อยใช้ได้ ผมถามบาริสตาสาวว่าใช้เมล็ดกาแฟจากที่ไหน เธอตอบว่าสิงคโปร์ ผมไม่เชื่อ เธอยกถุงบรรจุกาแฟมาให้ดู ตอนท้ายของสลากเขียนว่า Product of Indonesia

ตอนกลับไปขึ้นตุ๊กๆ นาอูชาเห็นแผลที่ข้อมือของผม พอทราบสาเหตุเขาก็ขอโทษยกใหญ่ ขอโทษอีกนับสิบรอบหลังจากนั้น และทุกครั้งที่ผมจะขึ้นจะลง เขาต้องคอยมากัน มาประคองบริเวณจุดเสี่ยงนี้

ศาลาอิสรภาพอนุสรณ์ และอนุสาวรีย์ดอน สตีเฟน เสนานายาเก จัตุรัสอิสรภาพ กรุงโคลัมโบ

จากนั้นเขาขับพาไปที่จัตุรัสอิสรภาพ หรือ Independence Square พื้นที่ประมาณ 6 ไร่ ตั้งอยู่ปลายสุดของถนน Independence Avenue ถนน 4 เลน ไม่มีเกาะกลาง สะอาดและเงียบสงบ อนุสาวรีย์ “ดอน สตีเฟน เสนานายาเก” นายกรัฐมนตรีคนแรก (ค.ศ.1947-1952) รัฐบุรุษและบิดาของศรีลังกาตั้งตระหง่านอยู่ด้านหน้า

ถัดมาคือศาลาอิสรภาพอนุสรณ์ (Independence Memorial Hall) มีพื้นที่เกือบๆ 1,000 ตารางเมตร ออกแบบและเริ่มสร้างในปี ค.ศ.1949 ยึดแบบท้องพระโรงของพระราชวังแคนดี สถานที่ลงนามการยินยอมของศรีลังกาสู่การเป็นอาณานิคมอังกฤษ (เมื่อปี ค.ศ.1815) ในชื่อ “บริติชซีลอน”

ศาลานี้สร้างขึ้นหลังศรีลังกาได้รับอิสรภาพทางการบริหารประเทศ แต่ยังอยู่ภายใต้อำนาจสูงสุดของอังกฤษ ในชื่อ “ประเทศซีลอนในเครือจักรภพ” (Dominion of Ceylon) มีควีนเอลิซาเบธ ที่ 2 เป็นประมุข ซึ่งกว่าจะได้เป็นสาธารณรัฐต้องรอจนถึงปี ค.ศ.1972 จะขอกล่าวถึงการต่อสู้เพื่อเอกราชของศรีลังกาในโอกาสต่อไป

ด้านล่างหรือชั้นใต้ดินของศาลาอิสรภาพอนุสรณ์จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ ข้อมูลนี้ผมมาทราบทีหลัง นาอูชาไม่ได้บอก แต่เข้าใจว่าอยู่ในช่วงการปิดให้บริการ เนื่องจากสถานการณ์ของโควิด-19 ภายในท้องพระโรงย้อนยุคมีเสาหินอยู่หลายสิบต้น ล้วนแกะสลักนูนต่ำเป็นรูปเคารพและสัตว์มงคล เจ้าหน้าที่เดินมาแจ้งว่าห้ามถ่ายภาพด้วยกล้องถ่ายภาพ แต่ถ่ายด้วยกล้องมือถือได้ ก็ให้แปลกใจ เพราะมือถือสมัยนี้บางยี่ห้อบางรุ่นคุณภาพดีกว่ากล้องถ่ายภาพมากมายหลายรุ่น

ด้านหลังของศาลาอนุสรณ์อิสรภาพคือ “Arcade Independence Square” ศูนย์การค้าหรูที่อยู่ในโครงการพัฒนาจัตุรัสอิสรภาพของรัฐบาลศรีลังกา นาอูชาชี้ให้ดูแล้วบอกว่าเขาไม่มีสิทธิ์เข้าไปเลย เพราะล้วนเป็นของราคาแพงระยับ มีไว้สำหรับเศรษฐีศรีลังกาและนักท่องเที่ยวต่างชาติกระเป๋าหนักเท่านั้น

ขณะกำลังเดินลงจากศาลาแห่งนี้ นาอูชาทักชายคนหนึ่งที่นั่งอยู่กับครอบครัวว่า “สุไลมานใช่ไหม” อีกฝ่ายพยักหน้าแล้วต่างคนต่างถอดหน้ากากเช็กความถูกต้อง ทั้งคู่พูดคุยกันสั้นๆ ระหว่างเดินไปที่ตุ๊กๆ นาอูชาบอกว่าเขาเป็นมุสลิม และไม่ได้เป็นชาวทมิฬหรือชาวสิงหล ผมก็คิดเช่นนั้น เพราะหน้าตาและสีผิวไม่เหมือนคนศรีลังกาทั่วไป แลดูใกล้เคียงกับคนปักษ์ใต้บ้านเรามากกว่า ตอนหลังผมถึงทราบว่าครอบครัวของเขาอพยพไปจากมาเลเซีย

สถานที่ถัดมาคือโรงละครแห่งชาติมหินธา ราชปักษา หรือภาษาปากของคนทั่วไปเรียกว่าโรงละครสระบัว เพราะมีรูปร่างเหมือนดอกบัวบาน 8 กลีบ ได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบจากสระบัวของพระเจ้าปรากรมพาหุมหาราช กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งราชธานีโปลอนนารุวะ เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 12 โรงละครนี้สร้างเสร็จและเปิดใช้เมื่อปี ค.ศ.2011 เราไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไป ซึ่งนาอูชารู้ดี จะขอเข้าไปถ่ายรูปจากด้านในรั้ว แต่เจ้าหน้าที่บอกว่าถ่ายจากด้านนอกเท่านั้น ผมเดินไปยังเกาะกลางถนนเพื่อจับดอกบัวให้ได้ทั้งดอก พอเดินกลับมานาอูชาขอมือถือผมแล้วเดินไปที่เกาะกลาง อาสาถ่ายรูปให้ นี่คือหนึ่งในบริการของทัวร์ตุ๊กๆ อย่างไม่ต้องสงสัย

ทั้งหมดจนถึงตอนนี้ สถานที่ที่นาอูชาพาผมไปแวะกดชัตเตอร์อยู่ในย่านที่เรียกว่า Cinnamon Gardens หรือ สวนอบเชย ซึ่งอบเชยเป็นเครื่องเทศเลอค่าของนักล่าอาณานิคม เมื่อปี ค.ศ.1789 มีแปลงปลูกต้นอบเชยในย่านนี้กินพื้นที่ถึงกว่า 1 ตารางกิโลเมตร ปัจจุบันเป็นย่านที่ถนนหนทางสะอาดและค่อนข้างเป็นระเบียบ เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่เขียวชอุ่ม นอกจากสถานที่สำคัญทางราชการแล้วยังเป็นที่ตั้งของบรรดาสถานทูต องค์กรระหว่างต่างประเทศ และเป็นที่อยู่อาศัยของชนชั้นสูงทั้งชาวศรีลังกาและต่างชาติ

สถานที่ต่อมาคือ Gem Bureau ตั้งอยู่แถวขอบๆ ของเขต Cinnamon Gardens และนี่ก็คงเป็นที่มาของการเรียกค่าทัวร์ราคาถูกแค่ 1,000 รูปี แต่นาอูชาก็ตรงไปตรงมาพอที่จะบอกว่า “ท่านช่วยเหลือผมหน่อยได้ไหม ถ้าท่านซื้อผมจะได้เปอร์เซ็นต์ ถ้าท่านไม่ซื้อ ขอแค่เข้าไปดู ผมจะได้กิฟต์เวาเชอร์เติมน้ำมันฟรี 500 รูปี” ผมยินดีช่วย และยืนยันไว้เช่นกันว่าจะไม่ซื้ออย่างแน่นอน เพราะทั้งไม่นิยมและไม่รู้คุณค่า ถึงรู้คุณค่าก็ดูไม่เป็น และถึงดูเป็นก็ไม่มีเงิน

มียามยืนประจำการ นาอูชายืนรออยู่ข้างนอก ผมเปิดประตูห้องที่ดูลึกลับเข้าไปในชุดกางเกงยีนส์เสื้อยืด สวมหมวกแก๊ป สะพายเป้ และกล้องถ่ายรูป ดูยังไงก็ไม่ใช่ลักษณะของลูกค้าเป้าหมายของพวกเขาอย่างแน่นอน เมื่ออยู่ในห้องนั้นรู้สึกอึดอัดอย่างบอกไม่ถูก ผมแกล้งทำเป็นดูนั่นดูนี่ คิดว่าดูของที่ราคาถูกไว้ เช่นพวกหินสี พวกเขาจะได้ไม่สนใจหรือคาดหวังมาก

ในร้านไม่มีลูกค้าอยู่เลย คนของร้านอัญมณี 4 คนสลับหน้ามาคุย พอรู้ว่าผมเป็นคนไทยก็พูดถึงหนังองค์บาก แล้วถามผมว่าชกมวยไทยเป็นไหม ผมตอบว่าไม่ได้ชกนานแล้ว มีคนหนึ่งเคยไปเมืองไทย บอกว่าไปจันทบุรีและพัทยา ไปจันทบุรีคงไปซื้อพลอย ส่วนไปพัทยานั้นผมไม่ได้ถามว่าเขาไปทำอะไร

พวกเขาคงคะเนเงินในกระเป๋าของผม และสินค้าที่พวกเขาคิดว่าเหมาะสมคือ บลูแซพไฟร์ หรือ “ไพลิน” ราคามีตั้งแต่ 100 ดอลลาร์ ไปจนถึง 10,000 ดอลลาร์ จากเม็ดแพงๆ พวกเขาค่อยๆ เลื่อนไปที่เม็ดถูกลงๆ และมาลุ้นให้ผมซื้อเม็ดราคา 190 ดอลลาร์ แถมลดให้อีก 50 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 95 ดอลลาร์ ถือว่าถูกมากแล้วสำหรับของที่มีในร้าน และจะยืนราคานี้ถึงแค่วันนี้เท่านั้น

ผมใช้ลูกไม้เดิม ขอนามบัตร ขอเบอร์โทร และบอกช่วยเก็บเม็ดนี้ไว้ก่อน ถ้าเงินเหลือจากทริปศรีลังกาผมอาจจะกลับมาซื้อ ขอให้ยืนราคาไว้จนถึงตอนนั้น คนหนึ่งเขียนชื่อ เบอร์โทร และข้อความที่ผมอ่านไม่ออกลงในนามบัตรแบบพับ 2 ตอน ผมรับมาแล้วเดินออกไปอย่างคนมีมาด

พอตุ๊กๆ ลงถนนพ้นเขตร้าน ผมบอกนาอูชาว่าวันหลังจะเติมน้ำมันให้เต็มถัง ขอแค่อย่าพามาที่นี่อีก.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เกรงว่าคำอวยพรปีใหม่จะไม่จริง

เวลาที่เรากล่าวคำอวยพรให้ใครๆ เราก็จะพูดแต่เรื่องดีๆ และหวังว่าพรของเราจะเป็นจริง ถ้าหากเราจะเอาเรื่องอายุ วรรณะ สุขะ พละ มาอวยพร โดยเขียนเป็นโคลงกระทู้ได้ดังนี้

แด่...ไพบูลย์ วงษ์เทศ

ถึงแม้จะช้าไปบ้าง...แต่ยังไงๆ ก็คงต้องเขียนถึง สำหรับการลา-ละ-สละไปจากโลกใบนี้ของคุณพี่ ไพบูลย์ วงษ์เทศ นักเขียน นักกลอนและนักหนังสือพิมพ์อาวุโส

กร่าง...เกรี้ยวกราด...ฤากลัว

ใครบางคนตำแหน่งก็ไม่มี สมาชิกก็ไม่ใช่ แต่แสดงบทบาทยิ่งใหญ่กว่าใครๆ เหมือนจงใจจะสร้างตำแหน่งใหม่ที่คนไทยต้องยอมรับ และดูเหมือนเขาจะประสบความสำเร็จเอาเสียด้วย

คำอวยพรปีใหม่ 2568

ใกล้ถึงช่วงปีหน้า-ฟ้าใหม่ยิ่งเข้าไปทุกที...การตระเตรียมคำอำนวย-อวยพรให้กับใครต่อใครไว้ในช่วงวาระโอกาสเช่นนี้ อาจถือเป็น หน้าที่ อย่างหนึ่ง

ก้าวสู่ปีใหม่ 2568

สัปดาห์สุดท้ายปลายเดือนธันวาคม 2567 อีกไม่กี่วันก็จะก้าวเข้าสู่ปี 2568 "สวัสดีปีใหม่" ปีมะเส็ง งูเล็ก