ต้นเดือนธันวาคม 2021 จีนเผยเอกสาร “China: Democracy That Works” นำเสนอประชาธิปไตยในมุมมองของจีน มีสาระสำคัญดังนี้
ประชาธิปไตยอยู่คู่มนุษยชาติ พรรคคอมมิวนิสต์จีนกับคนจีนยึดถือเรื่อยมา นับจากก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อ ค.ศ.1921 พรรคฯ ให้คนทั้งชาติตระหนักถึงประชาธิปไตยของประชาชนเรื่อยมา คนจีนเป็นผู้ควบคุมอนาคตของตนและสังคมด้วยตัวเอง ประชาชนเป็นนายของประเทศ เป็นสังคมนิยมประชาธิปไตย (socialist democracy)
ภาพเอกสาร China: Democracy That Works
เครดิตภาพ: http://id.china-embassy.org/eng/jrzg/202112/t20211206_10462963.htm
ประชาธิปไตยพัฒนาเรื่อยมา ขึ้นกับประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของแต่ละที่ กลายเป็นประชาธิปไตยหลายรูปแบบแล้วแต่ว่าใครจะเลือกใช้แบบใด ประเทศใดเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ขึ้นกับวิจารณญาณของพลเมืองประเทศนั้น ไม่ใช่โดยคนนอกที่พยายามตีกรอบว่าแบบใดเป็นประชาธิปไตย แบบไหนไม่ใช่ ประชาธิปไตยจีนเป็นอีกรูปแบบในหลายรูปแบบที่เป็นอยู่ขณะนี้
การสร้างประชาธิปไตยจีน:
ในอารยธรรม 5 พันปี จีนได้สร้างและอยู่ในระบอบการเมืองการปกครองหลายรูปแบบ คนจีนลุกขึ้นต่อสู้เพื่อตนเองสำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้าง เคยใช้แนวคิดการปกครองต่างชาติซึ่งพบว่าใช้การไม่ได้
ความคิดมาร์กซิสต์ช่วยปลุกประชาชนให้ตระหนักในความสำคัญของตนเองอีกครั้ง ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ต่อต้านการกดขี่ขูดรีด เป็นที่มาของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นประชาธิปไตยของปวงชน (people's democracy) ประชาชนเป็นผู้บริหารประเทศ มีพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นแกนนำร่วมมือกับพรรคการเมืองอื่นๆ
นับจากปี 1978 จีนเปิดประเทศปรับปรุงสังคมนิยมให้ทันสมัย เป็นสังคมนิยมประชาธิปไตยที่ก้าวหน้ากว่าเดิม ยึดแนวทาง “สังคมนิยมตามคุณลักษณะของจีน” (socialism with Chinese characteristics)
ประชาธิปไตยแท้ต้องอยู่ในวิถีชีวิตไม่ว่าจะที่บ้านหรือที่ทำงาน ต้องถือว่าล้มเหลวถ้าสังคมเป็นประชาธิปไตยแต่รัฐบาลไร้ประสิทธิภาพ ประเทศไม่พัฒนา ชีวิตความเป็นอยู่ย่ำแย่.
ปี 2012 ประชาธิปไตยจีนพัฒนาอีกขั้นทั้งด้านทฤษฎี ระบบและการปฏิบัติ จนถึงขั้นให้ประชาชนดำเนินการทั้งหมดตามแนวทางประชาธิปไตย พรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นแกนนำสร้างประชาธิปไตยประชาชนตามบริบทวัฒนธรรมและอื่นๆ สร้างประเทศให้ทุกคนมีกินมีใช้ไม่ขัดสน
พรรคคอมมิวนิสต์จีนทำตามความต้องการของมหาชน ดังหลักการ “มาจากประชาชน เพื่อประชาชน” การตัดสินใจในพรรคทำตามกระบวนการเลือกตั้งประชาธิปไตย เปิดทางให้บุคคลสำคัญของทุกกลุ่มทุกภาคส่วนเป็นผู้นำคนหนึ่งในพรรค มีบทบาทในรัฐบาล โดยที่ทุกคนต้องจงรักภักดีต่อลัทธิมาร์กซ์ ต่อพรรคและประชาชน
ประชาชนเป็นนายประเทศและเป็นรากฐานของประเทศ กระบวนการประชาธิปไตยของปวงชน (people's democracy) อยู่ในทุกสถาบันทุกขั้นตอนอย่างสมบูรณ์
ระบบของจีนคือประชาชนเป็นนายประเทศ ในขณะเดียวกัน ต้องทำทุกอย่างเพื่อต้านการบ่อนทำลายไม่ว่าจะทางการเมืองหรือความมั่นคงด้านต่างๆ เพื่อให้ประเทศเดินไปข้างหน้าอย่างเป็นระบบระเบียบภายใต้กฎหมาย ตามแนวทางเผด็จการประชาธิปไตยของปวงชน (people's democratic dictatorship) มีสมัชชาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีน (National People's Congress) เป็นสถาบันสูง
สุดบ่งบอกประชาธิปไตยของปวงชน ประชาชนใช้อำนาจควบคุมประเทศผ่านสมัชชานี้ ช่วยรักษาความเป็นเอกภาพของคนทั้งประเทศ ทำงานประสานกับสมัชชาประชาชนท้องถิ่นในระดับต่างๆ หน่วยงานท้องถิ่น
สมัชชาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีนมีอำนาจทั้งทางนิติบัญญัติ แต่งตั้งหรือถอดถอนเจ้าหน้าที่แม้กระทั่งประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา มีอำนาจตัดสินและรับรองนโยบายสำคัญๆ เช่น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีอำนาจกำกับตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานรัฐ ศาล ส่วนสมัชชาระดับท้องถิ่นจะมีอำนาจตามที่กฎหมายกำหนด ให้มั่นใจว่าประชาชนทั้งประเทศคือผู้ตรวจสอบควบคุมประเทศนี้ ปลายปี 2020 ทั้งประเทศมีตัวแทนสมัชชาประชาชน 2.62 ล้านคน (จากประชากร 1,400 ล้านคน) 94.5% เป็นคนท้องถิ่นใกล้ชิดประชาชน
จีนมีหลายพรรคการเมืองแต่ไม่มีพรรคฝ่ายค้าน พรรคการเมืองใช้วิธีประชุมหารือทางการเมือง (Political Consultation) จัดการความเห็นต่าง ยึดหลักว่าทุกคนทุกพรรคอยู่ร่วมกันได้ (ไม่แข่งขันแย่งชิงจนฝ่ายหนึ่งต้องล้มหายตายจากทางการเมือง) เกิดระบบที่ทุกพรรคทำงานร่วมกัน โดยมีพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นแกนนำ มีกระบวนการชัดเจนเพื่อให้ทุกพรรคทำงานร่วมกันบนความเท่าเทียม เป้าหมายสุดท้ายคือขจัดการเมืองของคนส่วนน้อยเพื่อประโยชน์คนไม่กี่กลุ่ม ให้ทุกพรรคทุกกลุ่มทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์ร่วมกัน แทนการออกนโยบายเพื่อพวกพ้องอันก่อให้สังคมแตกแยกเป็นฝักเป็นฝ่าย
ประชาธิปไตยของปวงชนเน้นสร้างสามัคคีประสานพลังคนทั้งชาติเข้าด้วยกัน พรรคให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ บางพื้นที่ให้เป็นเขตปกครองตนเองตามชาติพันธุ์ จัดตั้งองค์กรปกครองท้องถิ่นบริหารโดยคนในพื้นที่ มีสิทธิ์ตัดสินใจแบบประชาธิปไตย ทั้งนี้อยู่ภายใต้การนำของประเทศ ไม่อาจแบ่งแยกประเทศ
ประชาชนมีอำนาจปกครองตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ชุมชนเมือง มีคณะกรรมการบริหารตามหลักประชาธิปไตย เลือกตัวแทนของตน
พนักงานลูกจ้างบริษัท หน่วยงานรัฐ มีสิทธิตามแบบประชาธิปไตยเช่นกัน มีสมัชชาลูกจ้าง (employees congresses) นายจ้าง-ลูกจ้างปรึกษาหารือสม่ำเสมอ ครอบคลุมบริษัทกับหน่วยงานรัฐ 6.55 ล้านแห่ง
การพูดคุยปรึกษาหารือแบบประชาธิปไตย (Democratic consultation) กลายเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง ทุกคนมีสิทธิ์พูดด้วยเป้าหมายให้สังคมดีขึ้น ทุกการตัดสินใจผ่านการพูดคุยหารืออย่างเข้มข้นก่อน มีเวทีและกระบวนการรองรับเพื่อแต่ละคนเข้าใจครบถ้วนก่อนใช้สิทธิ์
ควบคู่กันนี้คือระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม (socialist market economy) มีกิจการที่ชุมชนหรือรัฐเป็นเจ้าของควบคู่กับกิจการของเอกชน มุ่งเป้าให้เศรษฐกิจประเทศเข้มแข็งอยู่ในอำนาจของประชาชน ไม่ขาดสิ่งของจำเป็น
จีนเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างเต็มที่ การที่ทุกคนใช้ชีวิตอย่างมีความสุขเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นสูงสุด ความสำเร็จข้อนี้ดูได้จากเศรษฐกิจที่เติบโตพัฒนาต่อเนื่อง ทุกคนมีกินมีใช้ไม่ขัดสน มีระบบประกันสังคมใหญ่ที่สุดในโลก
ประชาธิปไตยแท้:
ลำพังมีการเลือกตั้งไม่อาจสรุปว่าเป็นประชาธิปไตย ประชาธิปไตยแท้ต้องอยู่ในวิถีชีวิตไม่ว่าจะที่บ้านหรือที่ทำงาน เป็นบรรทัดฐานสังคม รวมถึงมีรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ ต้องถือว่าล้มเหลวถ้าสังคมเป็นประชาธิปไตยแต่รัฐบาลไร้ประสิทธิภาพ ประเทศไม่พัฒนา ชีวิตความเป็นอยู่ย่ำแย่
ประชาธิปไตยที่ดีต้องอาศัยฉันทามติมากกว่าสร้างความขัดแย้งแตกแยก ควรเป็นสังคมที่มีระบบระเบียบมากกว่าอยู่ในความโกลาหลวุ่นวาย ส่งเสริมความดีและความงาม ไม่ใช่ส่งเสริมเรื่องผิดหรือชั่วร้าย
อำนาจอันได้จากระบอบประชาธิปไตยจำต้องควบคุมและตรวจสอบเข้มงวด ป้องกันใช้ในทางที่ผิด จีนมุ่งใช้อำนาจเพื่อสร้างสิ่งดีเสมอ คอร์รัปชันคือศัตรูตัวร้ายของประชาธิปไตย รัฐบาลใช้หลายมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวด
ประชาธิปไตยปรับเปลี่ยนเรื่อยมานับพันปี มีหลายรูปแบบ สะท้อนความก้าวหน้าของมนุษย์ ไม่ใช่ทุกประเทศที่ใช้ระบอบนี้จะประสบความสำเร็จ การเลือกใช้โดยไม่พิจารณาบริบทตนเองอาจเกิดปัญหาไม่สิ้นสุด จีนได้พัฒนาประชาธิปไตยตามบริบทของตน ไม่ยึดแนวทางของพวกตะวันตก แต่พัฒนาจากความรู้การตัดสินใจด้วยตนเอง เป็นอีกรูปแบบที่ก่อประโยชน์ต่อมนุษยชาติ ประชาธิปไตยจีนจะพัฒนาต่อไปตอบสนองความต้องการใหม่ๆ ท้ายที่สุดประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินว่าการปกครองของตนดีหรือไม่
และหากยึดมั่นประชาธิปไตยจริงควรใช้หลักการนี้กับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ด้วยการเคารพสิทธิของประเทศอื่น อยู่ร่วมกับนานาชาติโดยสันติ แทนมุมมองที่คิดว่าโลกเป็นเหมือนป่าดงดิบที่สัตว์ทั้งหลายต้องหาทางเพื่อเอาตัวรอด ใช้อำนาจที่เหนือกว่ากดขี่ข่มขู่ประเทศอื่น อนาคตของมนุษยชาติควรอยู่ในมือของทุกคนในโลก ไม่ใช่แค่คนบางประเทศเท่านั้น.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
จากฮาเฟซ อัลอัสซาดสู่จุดเริ่มอาหรับสปริงซีเรีย
อำนาจการปกครองเป็นของคนส่วนน้อย คนกลุ่มนี้แหละที่ได้รับประโยชน์ ทิ้งให้ประชาชนจำนวนมากอยู่ตามมีตามเกิด อำนาจนี้เปลี่ยนมือไปมาจนมาถึงระบอบอัสซาดที่อยู่ได้ 2 ชั่วคน คือพ่อกับลูก
จากสถาปนาประเทศซีเรียสู่พรรคบาธ
เรื่องราวของซีเรียเต็มไปด้วยการแข่งขันช่วงชิงทั้งภายในกับอำนาจนอกประเทศ ความขัดแย้งภายในหลายมิติ เป็นอีกบทเรียนแก่นานาประเทศ
2024สงครามกลางเมืองซีเรียระอุอีกครั้ง
สงครามกลางเมืองที่ดำเนินมาเกือบ 14 ปียังไม่จบ สาเหตุหนึ่งเพราะมีรัฐบาลต่างชาติสนับสนุนฝ่ายต่อต้านกับกลุ่มก่อการร้าย HTS เป็นปรากฏการณ์ล่าสุด
ฮิซบุลเลาะห์-อิสราเอลจากเริ่มรบสู่หยุดยิง
ถ้าคิดแบบฝ่ายขวา อิสราเอลที่หวังกวาดล้างฮิซบุลเลาะห์ การสงบศึกตอนนี้ไม่บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ และฮิซบุลเลาะห์กำลังเปลี่ยนจุดยืนหรือ
เส้นทางสายไหมตะวันออกแห่งศตวรรษที่21
BRI จะเป็นแค่การพัฒนาร่วมหรือเป็นยุทธศาสตร์ครองโลกของจีนเป็นที่ถกแถลงเรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรนานาชาติเฝ้าติดตาม จริงหรือเท็จกาลเวลาจะให้คำตอบ
ท่าทีความมั่นคงของเนทันยาฮู2024 (2)
เนทันยาฮูย้ำว่า อิสราเอลหวังอยู่ร่วมกับนานาชาติโดยสันติ แต่กระแสโลกต่อต้านอิสราเอลส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมของอิสราเอล นโยบายกับความจริงจึงย้อนแย้ง