ควรมีการกำหนดจำนวนสมาชิกในการตั้งพรรคการเมืองหรือจดทะเบียนพรรคการเมืองหรือไม่ ?

 

ปัจจุบัน ภายใต้มาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 กำหนดเงื่อนไขเบื้องต้นในการจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองว่าจะต้องมีคนอย่างน้อยห้าร้อยคน และทั้งห้าร้อยคนนี้จะต้องเป็นมีอุดมการณ์ทางการเมืองในแนวทางเดียวกัน และมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้

คำถามที่เกี่ยวข้องต่อมาก็คือ คำถามในเชิงปริมาณของจำนวนในการจัดตั้งพรรคหรือจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมือง นั่นคือ ควรจะต้องมีการกำหนดจำนวนขั้นต่ำไว้หรือไม่ ? คนๆ เดียวหรือสองคนหรือสามคนจัดตั้งพรรคหรือจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองได้หรือไม่ ? คำตอบจะเป็นอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับว่าในการลงสมัครแข่งขันในการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีระเบียบข้อบังคับของแต่ละประเทศว่า ผู้สมัครจะต้องสังกัดพรรคการเมืองหรือไม่ ?

หากระเบียบข้อบังคับไม่ได้กำหนดให้ผู้สมัครจะต้องสังกัดพรรค แต่สามารถเลือกที่จะลงสมัคร      รับเลือกตั้งโดยอิสระหรือจะสังกัดพรรคก็ได้  ถ้าเป็นเช่นนี้  แน่นอนว่า การที่นักการเมืองที่เลือกลงสมัครอิสระได้ ก็หมายความว่า ระเบียบข้อบังคับเช่นนั้นเปิดให้คนๆเดียวสามารถสมัครลงแข่งขันในการเลือกตั้งได้ โดยไม่สังกัดพรรค ดังนั้น ในประเทศที่มีกฎระเบียบในลักษณะนี้ ก็จะไม่เน้นที่จะต้องให้พรรคการเมืองจะต้องมีจำนวนสมาชิกหรือกรรมการบริหารพรรคมากมายอะไรในขณะที่มาลงทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อลงสมัครแข่งขันในการเลือกตั้ง

อย่างเช่นในกรณีของสหราชอาณาจักร ระบบการเลือกตั้งได้เปิดเสรีให้กับผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งจะลงแบบอิสระด้วยลำพังตัวคนเดียวก็ได้ หรือจะลงแบบสังกัดพรรคก็ได้ หากเลือกที่จะไม่สังกัดพรรค ผู้สมัครจะจัดอยู่ในนักการเมืองประเภท “อิสระ/independent”   ดังจะเห็นได้เวลาที่มีการประกาศผลคะแนนเลือกตั้งในแต่ละเขต ที่จะมีการบ่งบอกว่าผู้สมัครพรรคการเมืองใดได้คะแนนเสียงเท่าไร และผู้สมัครประเภทอิสระได้เท่าไร เป็นต้น

ส่วนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการลงทะเบียนลงสมัครรับเลือกตั้งในแบบพรรคการเมืองนั้น ในกรณีของสหราชอาณาจักร ได้มีระเบียบข้อบังคับล่าสุดที่ประกาศไว้ในเอกสารคำแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการลงสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้งของสหราชอาณาจักรภายใต้พระราชบัญญัติ “พรรคการเมือง การทำประชามติและการเลือกตั้ง พ.ศ. 2543” (the Political Parties, Elections and Referendums Act 2000/ PPERA) ไว้โดยสรุปดังนี้คือ ในกรณีสมัครแบบสังกัดพรรคการเมือง กำหนดให้มีพรรคการเมืองสองประเภทที่สามารถลงแข่งขันในการเลือกตั้งและเสนอชื่อบุคคลในนามของพรรค  นั่นคือ

หนึ่ง พรรคการเมืองที่เป็นพรรคขนาดใหญ่ ที่จะส่งคนลงแข่งขันในการเลือกตั้งทั้งหมดที่พรรค ได้ลงทะเบียนไว้ ไม่ว่าจะในบริเตนใหญ่หรือไอร์แลนด์เหนือ นั่นคือ มีความประสงค์จะส่งคนลงแข่งขันในทุกเขตหรือเกือบทุกเขตในการเลือกตั้งทั่วไป

สอง พรรคการเมืองขนาดเล็กลงมา (minor parties) ที่ลงทะเบียนไว้ว่ามีวัตถุประสงค์จะส่งคนลงแข่งขันในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น (parish and/or community elections) เฉพาะในอังกฤษและในเวลส์

โดยการลงทะเบียนทั้งสองกรณี พรรคการเมืองจะต้องลงทะเบียนกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง ขณะเดียวกัน การลงทะเบียนในการส่งคนเข้าแข่งขันในการเลือกตั้งของพรรคขนาดย่อมลงมา (minor parties) นั้น ยังมีกติกาในรายละเอียดอีกมาก

พรรคใหญ่

ในการลงทะเบียนจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองในสหราชอาณาจักร จะมีเงื่อนไขเบื้องต้นดังนี้คือ

หนึ่ง ยื่นแบบฟอร์มใบสมัครที่กรอกครบถ้วนแล้ว

สอง สำเนาระเบียบข้อบังคับของพรรค

สาม สำเนาแผนการงบประมาณตามที่ได้ตกลงกันในพรรค

สี่ เงินค่าสมัครที่ไม่สามารถขอคืนได้เป็นจำนวน 150 ปอนด์

โดยในแบบฟอร์มใบสมัคร จะต้องกรอกรายละเอียดดังต่อไปนี้ คือ ชื่อพรรค คำอธิบายและสัญลักษณ์พรรค (ถ้ามี) ที่อยู่ที่ทำการพรรคและข้อมูลในการติดต่อ เขตหรือพื้นที่ที่จะส่งแข่งขันเลือกตั้ง เช่น บริเตนใหญ่หรือไอร์แลนด์เหนือ  และจะต้องกรอกคำประกาศต่างๆ  ในแบบฟอร์มโดยเจ้าหน้าที่ของพรรคในประเด็นต่อไปนี้คือ

หนึ่ง แสดงความประสงค์จะส่งผู้สมัครลงแข่งขันในการเลือกตั้ง และในการแสดงเจตจำนงดังกล่าว พรรคจะต้องส่งผู้สมัครลงแข่งขันในการเลือกตั้งอย่างน้อยหนึ่งคนในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง และอาจจะมีการตั้งคำถามต่อพรรคว่า พรรคได้ทำอะไรไปบ้างแล้วหรือจะทำอะไรที่เป็นรูปธรรมที่จะยืนยันว่าต้องการลงแข่งขันในการเลือกตั้งจริงๆ และคณะกรรมการการเลือกตั้งจะถือว่า พรรคมีสถานะของการลงทะเบียนในการลงสมัครแข่งขันเลือกตั้งตราบที่พรรคแสดงเจตจำนงในการแข่งขันในการเลือกตั้ง

สอง พรรคจะต้องแสดงให้เห็นว่าพรรคมีขั้นตอนกระบวนการต่างๆ ที่จะปฏิบัติตามกฎกติกาที่ควบคุมการเลือกตั้งและกิจกรรมทางการเงินของพรรค และในการลงทะเบียนลงสมัครแข่งขันเลือกตั้ง  ระเบียบข้อบังคับภายใต้ PPERA 2000 กำหนดว่า พรรคจะต้องมีผู้ดำรงตำแหน่งดังต่อไปนี้  นั่นคือ

หนึ่ง หัวหน้าพรรค (a party leader)

สอง เหรัญญิกพรรค (a party treasurer) โดยเหรัญญิกคือผู้รับผิดชอบในการบริหารจัดการด้านการเงินของพรรคให้เป็นไปข้อบังคับตามกฎหมาย

สาม ผู้ทำหน้าที่พิจารณาอนุญาตให้ใช้ชื่อพรรค คำอธิบายและสัญลักษณ์ของพรรคบนบัตรเลือกตั้ง ซึ่งในเอกสารของคณะกรรมการการเลือกตั้งของสหราชอาณาจักรเรียกตำแหน่งนี้ว่า “nominating officer”  หรือ นายทะเบียนพรรค

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ระเบียบกติกาดังกล่าวได้กำหนดว่า ในการลงทะเบียนเพื่อแข่งขันในการเลือกตั้ง พรรคจะต้องมีอย่างน้อยสามตำแหน่งนี้ นั่นคือ นอกจากหัวหน้าพรรคแล้ว อย่างน้อยจะต้องมีอีกสองคน คนหนึ่งทำหน้าที่เหรัญญิกพรรค อีกคนทำหน้าที่นายทะเบียนพรรค แต่ถ้าพรรคให้คนใดคนหนึ่ง ทำหน้าที่ทั้งสามตำแหน่งนี้  พรรคจะต้องให้มีอีกคนหนึ่งลงทะเบียนในฐานะเจ้าหน้าที่ที่เพิ่มขึ้นมา (additional officer) และผู้ดำรงตำแหน่งนี้ จะต้องมีตำแหน่งพิเศษเฉพาะเจาะจงภายในพรรค

แต่เหรัญญิกและนายทะเบียนพรรค จะเป็นบุคคลเดียวกันไม่ได้ ยกเว้นว่าบุคคลนั้นจะเป็น         หัวหน้าพรรค นั่นคือ หัวหน้าพรรคสามารถทำหน้าที่ควบตำแหน่งเหรัญญิกและนายทะเบียนพรรค ได้  และผู้ที่ดำรงตำแหน่งทุกตำแหน่งในพรรค รวมทั้งตำแหน่งที่เพิ่มขึ้นมาพิเศษอื่นๆ (optional officers) จะต้องลงนามในแบบฟอร์มใบสมัคร  และตำแหน่งที่เพิ่มข้นมานี้ เช่น ตำแหน่งผู้จัดการรณรงค์หาเสียงของพรรค (campaign officer) ผู้ทำหน้าที่รับผิดชอบให้การใช้งบประมาณรณรงค์หาเสียงต้องเป็นไปตามกฎกติกาจะทำหน้าที่แทนเหรัญญิก แต่กฎระเบียบไม่อนุญาตให้บุคคลคนเดียวเป็นทั้งเหรัญญิกและผู้รณรงค์หาเสียงในเวลาเดียวกัน  และถ้าหัวหน้าพรรคจะทำหน้าที่ทั้งเหรัญญิกและนายทะเบียนพรรค ก็ต้องมีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่เพิ่มขึ้นมาอีกตำแหน่งหนึ่ง (an additional officer)

จากข้างต้น สรุปได้ว่า พรรคการเมืองที่จะมาจดทะเบียนสมัครแข่งขันในการเลือกตั้ง จะต้องมีผู้ทำหน้าที่ในตำแหน่งหัวหน้าพรรค  เหรัญญิก และนายทะเบียน นั่นหมายความว่า พรรคจะต้องมีบุคคลอย่างน้อย 3 คนในเบื้องต้น เพราะกฎห้ามไม่ให้บุคคลคนเดียวดำรงตำแหน่งเหรัญญิกควบกับนายทะเบียนพรรค ได้ ขณะเดียวกัน หากไม่มีตำแหน่งเหรัญญิก แต่มีตำแหน่งผู้จัดการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ก็ให้ทำหน้าที่แทนเหรัญญิกได้ แต่ไม่ใช่ให้คนๆเดียวดำรงสองตำแหน่งควบกัน แต่กระนั้น กฎก็อนุญาตให้หัวหน้าพรรคควบตำแหน่งเหรัญญิกและนายทะเบียนพรรค ได้ แต่จะต้องแต่งตั้งอีกตำแหน่งเพิ่มเติมขึ้นมา ทำให้สรุปได้ว่า การจดทะเบียนสมัครแข่งขันในการเลือกตั้งนั้น พรรคการเมืองจะต้องมีสมาชิก 2 คนเป็นอย่างน้อย

พรรคเล็ก (minor parties)

สำหรับพรรคเล็ก (minor parties) ไม่จำเป็นต้องมีการแต่งตั้งตำแหน่งเหรัญญิกก็ได้ แต่ต้องมีหัวหน้าพรรคและนายทะเบียนพรรค  และต้องมีคนสองคนดำรงตำแหน่งนี้ ห้ามดำรงตำแหน่งควบกัน แต่ถ้าพรรคให้บุคคลคนเดียวดำรงสองตำแหน่งควบ ก็จะต้องมีอีกคนหนึ่งดำรงตำแหน่งอื่นเพิ่มขึ้นมาอีกคนหนึ่ง ดังนั้น การจดทะเบียนพรรคการเมืองขนาดเล็กที่จะลงแข่งขันในระดับท้องถิ่นก็จะต้องมีสมาชิกพรรค 2 คนเป็นอย่างน้อยเช่นกัน

ในขณะที่ของไทยเรากำหนดไว้เบื้องต้นว่าจะต้องมีอย่างน้อย 500 คนในการจดทะเบียนตั้งพรรค และกำหนดไว้ด้วยว่า ภายในหนึ่งปีหลังจดทะเบียน จะต้องมีสมาชิกพรรคไม่น้อยกว่า 5,000 คน และภายในสี่ปี จะต้องให้ได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 คน ตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2560  เหตุผลได้แก่ หนึ่ง เรายังเป็นประเทศที่กำหนดให้ผู้สมัครต้องสังกัดพรรค สอง เรายังมีเงินอุดหนุนพรรคการเมืองอยู่ สาม เราไม่ไว้ใจ ส.ส. ที่ไม่สังกัดพรรค โดยกลัวว่าจะหากไม่บังคับสังกัดพรรคแล้ว จะยิ่งเพิ่มโอกาสให้ ส.ส. งูเห่าขายตัวมากยิ่งขึ้น

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘แม้ว’ ไล่ทุบ- ‘ภูมิใจไทย’ ไม่หมู ‘แดง-น้ำเงิน’ ทนอยู่แบบตบจูบ

นาทีนี้ศึกฝ่ายค้าน-รัฐบาลยังไม่เดือดเท่ากับศึกรัฐบาลด้วยกันเอง แรงขึ้นเรื่อยๆ สำหรับการขบเหลี่ยมของพรรคอันดับ 1 และพรรคอันดับ 2

'อนุสรณ์' ชี้ 'มาดามหน่อย' สานต่อนโยบายเพื่อไทย พัฒนาโคราชสู่ความยั่งยืน

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณี พรรคเพื่อไทย เปิดตัวนางยลดา หวังศุภกิจโกศล อดีตนายก อบจ.นครราชสีมา เป็นว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.นครราชสีมา ในนามพรรค

'ดร.ณัฏฐ์' ชี้เลือกตั้งอบจ.ระอุ! 'บ้านใหญ่' ยังขลัง-บางแห่งเสื่อมตามกาลเวลา

“ดร.ณัฏฐ์” มือกฎหมายมหาชน ชี้ การเมืองท้องถิ่น อบจ. ระอุ บ้านใหญ่ยังขลัง แต่บางแห่งเสื่อมไปตามกาลเวลา ข้าราชการการเมือง ส.ส.ช่วยหาเสียงได้

ฉุดไม่อยู่! สส.สาวเพื่อไทย เพ้อผลโพล 3 เดือนนายกฯอิ๊งค์ ประชาคมโลกสุดเชื่อมั่น

น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีศูนย์สำรวจความคิดเห็น นอร์ทกรุงเทพโพล