สหรัฐฯ กดดันจีนเพิ่มเติมอีกรอบด้วยการประกาศห้ามการลงทุนของสหรัฐฯ บางส่วนในควอนตัมคอมพิวติ้งของจีน ชิปขั้นสูง และปัญญาประดิษฐ์
หรือ Quantum computing, advanced chips, and Artificial Intelligence (AI)
เหตุผลที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ลงนามในคำสั่งนี้ คือต้องการป้องกันไม่ให้กองทัพจีนเข้าถึงเทคโนโลยีและเงินทุนของอเมริกา
อันจะเป็นการสกัดกั้นโอกาสของปักกิ่งที่จะใช้เทคโนโลยีชั้นสูงของสหรัฐฯ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพที่จะนำมาเผชิญหน้ากับสหรัฐฯ ได้ในวันข้างหน้า
ถือได้ว่าเป็นความพยายามครั้งใหม่ของวอชิงตันที่จะส่งสัญญาณไปให้จีนว่า สหรัฐฯ จะไม่ยอมให้การวิจัย ค้นคว้า และพัฒนาเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมใหม่ๆ หลุดไปยังมือของจีนได้
คำสั่งผู้บริหารใหม่ของทำเนียบขาวถูกเปิดเผยเมื่อสัปดาห์ก่อน โดยจะมีผลบังคับใช้ในปีหน้า
มีรายละเอียดกำหนดให้บริษัทต่างๆ ของอเมริกาต้องแจ้งให้รัฐบาลทราบถึงการลงทุนเพิ่มขึ้นในสามภาคส่วนนี้ในประเทศจีน
หรือที่มีส่วนเกี่ยวกับจีนไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม
ทันทีทันใดนั้นก็มีการวิเคราะห์กันว่าคำสั่งนี้จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อบริษัทกองทุนเอกชนที่เรียกว่า private equities และบริษัทร่วมทุน
ที่จะโดนกระทบโดยตรงเช่นกันคือนักลงทุนสหรัฐฯ ในการร่วมทุนกับกลุ่มชาวจีน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจในจีนหรือในประเทศอื่นก็ตาม
เจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐฯ คนหนึ่งกล่าวว่า มีการออกแบบนโยบายนี้ให้ "ตรงเป้าหมาย"
นั่นคือการมุ่งเน้นไปที่สามภาคส่วนที่ฝ่ายบริหารของทำเนียบขาวได้กำหนดรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอื่นๆ ที่มุ่งเป้าไปที่จีน
ไบเดนเองบอกว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในภาคส่วนนี้ก่อให้เกิด “ความเสี่ยงด้านความมั่นคงของประเทศที่สำคัญ” เพราะคอมพิวเตอร์สามารถพัฒนาไปในทางที่จะช่วยผลิตอาวุธที่ซับซ้อนและป้องกันการเข้ารหัสที่หน่วยงานสอดแนมใช้เพื่อปกป้องข้อมูลรั่วไหล
นั่นแปลว่าสหรัฐฯ กำลังจะโยงการค้ากับความมั่นคง
และต่อยอดไปถึงกิจกรรมต่างๆ ที่เอกชนสหรัฐฯ ทำกับเมืองจีนในทุกรูปแบบที่ตีความได้ว่าเข้าข่ายกระทบถึงอะไรก็ตามที่อาจถูกแปลงไปเป็นกิจกรรมด้านการทหาร
คำสั่งดังกล่าวเป็นชุดปฏิบัติการล่าสุดที่ออกแบบมาเพื่อจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงของจีน
ซึ่งเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ เรียกว่ากลยุทธ์ “ยกรั้วให้สูง”
แน่นอนว่าปักกิ่งต้องตอบโต้ว่าการกระทำของสหรัฐฯ ออกแบบมาเพื่อจำกัดความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
กระทรวงพาณิชย์ของจีนแสดง “ความกังวลอย่างจริงจัง” เกี่ยวกับคำสั่งดังกล่าว
โดยแย้งว่า “นี่เป็นการเบี่ยงเบนไปจากหลักการแข่งขันที่เป็นธรรมและเศรษฐกิจการตลาดที่สหรัฐฯ สนับสนุนอย่างต่อเนื่อง”
และปักกิ่งยังคงมีสิทธิ์ใช้มาตรการตอบโต้
ซึ่งย่อมแปลว่าปักกิ่งกับวอชิงตันจะต้องมีเรื่องเผชิญหน้ากันอีกด้านหนึ่งที่โยงการค้า, การลงทุน, กับแสนยานุภาพทางด้านทหาร
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ อ้างว่าคำสั่งดังกล่าวจะปกป้องความมั่นคงของสหรัฐฯ ใน “ลักษณะที่กำหนดเป้าหมายอย่างแคบ ขณะที่ยังคงรักษาคำมั่นสัญญาที่มีมาอย่างยาวนานของเราในการลงทุนแบบเปิดเผยและเสรี”
พอมีคำสั่งนี้ออกมา บรรยากาศของความสัมพันธ์ระหว่างสองยักษ์ใหญ่ก็เกิดอาการร้าวฉานขึ้นมาอีกรอบทันที
ถือได้ว่ามาตรการชุดใหม่นี้เป็นภัยคุกคามต่อความพยายามในการรื้อฟื้นการสื่อสารในระดับสูง
หลังจากที่ทั้งสองประเทศมหาอำนาจเกิดอาการชะงักงันหลังจากกรณีบอลลูนสอดแนมต้องสงสัยบินข้ามสหรัฐฯ เมื่อต้นปีนี้
ไบเดนกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนเดิมตกลงกันที่ G20 ในบาหลีในเดือนตุลาคม ว่าต่างฝ่ายต่างจะพยายามรักษาเสถียรภาพของความสัมพันธ์
ทั้งสองผู้นำย้ำเตือนว่า จะต้องพยายามทำอย่างไรให้แน่ใจว่า "การแข่งขัน" ระหว่างกันจะไม่แปรรูปเป็น “ความขัดแย้ง”
เพราะต่างฝ่ายต่างเน้นว่าการแข่งขัน หรือ competition เป็นเรื่องปกติ แต่ต้องไม่แข่งกันจนไปถึง conflict หรือความขัดแย้งที่เยียวยาลำบาก
สหรัฐฯ ได้พยายามประสานกับพันธมิตรเพื่อสร้างฉันทามติให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อตอกย้ำความจำเป็นในการจำกัดการลงทุนในจีน
แต่เรื่องนี้พูดง่ายทำยาก
เพราะมีความซับซ้อนไม่น้อย เนื่องจากประเทศอื่นๆ กังวลว่าความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ เป็นการทำอะไรที่ “เกินเลยความพอดี”
ซึ่งจะทำให้ความบาดหมางระหว่างจีนกับตะวันตกรุนแรงกว่าที่ควรจะเป็น
เป็นที่มาของข้อเสนอจากยุโรปบางประเทศว่า แทนที่จะพยายามแยกขั้ว หรือ decoupling ก็ควรจะหันมาหามาตรการ “ลดความเสี่ยง” หรือ de-risking ในการมีความสัมพันธ์กับจีน
ปักกิ่งออกมาตอบโต้ว่าทั้งสองอย่างก็เป็นการเดินสวนทางกับความเป็นจริงที่ว่า โลกจะต้องร่วมมือในการสร้างเสริมเศรษฐกิจที่เปิดกว้างและเป็นธรรม
ไม่ใช่การกดดันบังคับหรือบอยคอตอย่างที่เห็นกัน
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ แสดงความหวังว่า บางประเทศในยุโรปจะเดินตามวอชิงตันที่เป็นผู้นำ
แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่
เพราะมีหลายประเทศที่เป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกลับออกมาขวาง
ญี่ปุ่นแย้มออกมาอย่างไม่เป็นทางการค่อนข้างชัดเจนว่า โตเกียวไม่มีความตั้งใจที่จะแก้ไขกฎหมายที่ควบคุมการลงทุนนอกประเทศจีน
สหรัฐฯ อ้างว่าสหราชอาณาจักรและเยอรมนี รวมถึงคณะกรรมาธิการยุโรป แสดงความสนใจในการพัฒนาระบบการลงทุนขาออกที่คล้ายคลึงกัน
แต่แกนนำของพรรครีพับลิกันกลับออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่ามาตรการของไบเดนเรื่องนี้ยังไม่กว้างพอ
นิกกี เฮลีย์ หนึ่งในผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรครีพับลิกันวิพากษ์ว่า “เป็นมาตรการครึ่งๆ กลางๆ”
“หากต้องการหยุดให้ทุนแก่กองทัพจีน เราต้องหยุดการลงทุนทั้งหมดของสหรัฐฯ ในบริษัทเทคโนโลยีและการทหารที่สำคัญของจีน” เธอกล่าว
เชื่อได้ว่าจีนจะต้องเดินหน้าออกมาตรการตอบโต้สหรัฐฯ ในอนาคตอันใกล้
นั่นหมายถึงการเผชิญหน้ารอบใหม่ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในจังหวะที่ตัวแทนทั้งสองพรรคในสหรัฐฯ กำลังเริ่มจะเข้าสู่โหมดการหาเสียงเพื่อแข่งขันในการเลือกตั้งทั่วไป (ทั้งตำแหน่งประธานาธิบดี และ สส. กับ สว.) ที่จะมีขึ้นในปลายปีหน้า
วาทะระหว่างหาเสียงของทั้งรีพับลิกันและเดโมแครตล้วนเป็นเรื่องร้อนๆ ที่ต่อต้านจีนในหลากหลายรูปแบบทั้งสิ้น
กระแสชาตินิยมและต่อต้านจีนในแวดวงการเมืองสหรัฐฯ จึงจะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญของการผ่อนคลายความตึงเครียดระหว่างปักกิ่งกับวอชิงตันแน่นอน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ
แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ
เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง
ไบเดนหรือทรัมป์? เอเชียน่าจะเลือกใครมากกว่า?
ผมค่อนข้างมั่นใจว่าการดีเบตระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ วันนี้ (เวลาอเมริกา) จะไม่ให้ความสำคัญต่อเอเชียหรืออาเซียน
พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์
ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด
เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!
อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว