เศรษฐกิจจีนกำลังเป็นประเด็นของความกังวลทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ที่คนข้างนอกต้องเป็นห่วงว่าตัวเลขเศรษฐกิจกำลังส่งสัญญาณไม่ค่อยจะน่าสบายใจก็เพราะจีนได้กลายเป็นตลาดที่สำคัญทั้งโลก
จีนจามเมื่อใด ทั้งโลกก็เสี่ยงที่จะติดหวัดเมื่อนั้น
ตัวเลขเศรษฐกิจหลายตัวชี้ว่าเศรษฐกิจของจีนตกอยู่ในภาวะเงินฝืด (deflation)
เพราะตัวเลขราคาผู้บริโภคลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ต้นปี 2564
อันเป็นหนึ่งในตัวบ่งชี้ที่ชัดเจนที่สุดของความท้าทายที่ผู้กำหนดนโยบายเผชิญในขณะที่พวกเขาพยายามดิ้นรนเพื่อฟื้นฟูการบริโภคในประเทศ
นั่นแปลว่าอำนาจซื้อของชาวบ้านลดลง ซึ่งสำหรับประเทศที่ต้องการเป็นตัวเลขจีดีพีกระเตื้องขึ้นนั้นเป็นข่าวร้ายทีเดียว
ทางการจีนแจ้งด้วยว่าดัชนีราคาผู้บริโภคลดลงร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบปีต่อปีในเดือนกรกฎาคม
หลังจากสถิติทางการระบุว่าตัวเลขชัดนี้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเดือนก่อนหน้า
ตัวเลขอีกชุดหนึ่งที่น่าสนใจคือดัชนีราคาผู้ผลิตซึ่งเป็นมาตรวัดราคาสินค้า ณ จุดที่ขนส่งออกจากประตูโรงงาน
ตัวเลขนี้หดตัวลง 4.4% ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
ราคาผู้บริโภคซึ่งลดลงสู่ระดับติดลบครั้งล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 อยู่ในภาวะ “เงินฝืด” มานานหลายเดือน
ทั้งนี้เป็นเพราะการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่คาดว่าจะดีดตัวกลับไม่เกิดขึ้นจริง
แม้จะมีการประกาศยกเลิกข้อจำกัดการแพร่ระบาดเมื่อต้นปีก็ตาม
ในจังหวะเดียวกับที่รัฐบาลจีนสั่งการให้ผู้กำหนดนโยบายให้ต่อสู้กับการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์และความอ่อนแอในการค้า
ทั้งหมดนี้มีส่วนสำคัญในการฉุดเศรษฐกิจของจีนอย่างมีนัยสำคัญ
จนกลายเป็นข่าวทางลบที่ออกจากจีนมาหลายเดือนแล้ว
เมื่อตัวเลขไม่กระเตื้องขึ้น มิหนำซ้ำยังมีร่องรอยของการชะลอตัวต่อเนื่อง จึงกลายเป็นปัจจัยที่ทั่วโลกกำลังจับตาอย่างใกล้ชิดอยู่ขณะนี้
ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินของจีนที่มหาวิทยาลับคอร์แนลที่สหรัฐฯตั้งข้อสังเกตว่า
“ขณะนี้เศรษฐกิจจีนกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงร้ายแรงที่จะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดซึ่งอาจจุดประกายให้การเติบโตและความเชื่อมั่นของภาคเอกชนตกต่ำลง”
เขามีความเห็นว่ารัฐบาลจีนจำเป็นต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วและเด็ดขาดเพื่อวางรากฐานการเติบโตและจำกัดภาวะเงินฝืดก่อนที่สถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะที่แก้ไขยากไปกว่าที่เป็นอยู่
ความจริง จีนประสบความสำเร็จพอสมควรในการสกัดอัตราเงินเฟ้อไม่ให้กลายเป็นปัญหาใหญ่เหมือนบางประเทศทางตะวันตก
ในช่วงโควิดระบาด จีนได้พยายามออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขณะที่พยายามควบคุมไวรัสผ่านนโยบายปลอดโควิดเป็นเวลา 3 ปีอย่างสุดฤทธิ์เช่นกัน
พอพ้นจากมาตรการควบคุมโรคระบาดอย่างเข้มข้น (ซึ่งได้สร้างความไม่พอใจในหมู่ประชาชนหลายกลุ่ม) ผู้กำหนดนโยบายของจีนก็เร่งสร้างความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจอย่างแข็งขันเกือบจะทันที
เรียกได้ว่าเป็นมาตรการที่ปรับจากการควบคุมโควิดอย่างเข้มข้นมาเป็นการ “ปลดล็อก” อย่างกะทันหัน
เพราะตระหนักแล้วว่าหากยังขืนมีความเคร่งครัดในการควบคุมโควิด เศรษฐกิจก็จะร่วงหล่นจนกู่ไม่กลับ
จีนเริ่มการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยบางส่วน และเสนอมาตรการจูงใจด้านภาษีแก่ธุรกิจต่างๆ
แต่กลับลังเล ไม่กล้าปล่อยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่อย่างที่ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายเสนอ
คล้าย ๆ จะบอกว่าการยิงด้วยปืนฉีดน้ำไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม
จำเป็นต้องขนเอาปืนใหญ่ออกมาเล็งให้ตรงเป้าจึงจะแก้ปัญหาที่ร้ายแรงนั้นได้
สมาชิกกรมการเมืองหรือโปลิตบูโรของพรรคคอมมิวนิสต์ที่ปกครองประเทศยอมรับเมื่อปลายเดือนที่แล้วว่าการฟื้นตัวกำลังดำเนินไปอย่าง "คดเคี้ยว"
และประกาศว่า "ขยายอุปสงค์ภายในประเทศอย่างแข็งขัน"
สำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของราคาผู้บริโภคตลอดทั้งปีจนถึงปัจจุบันอยู่ที่เพียง 0.5%
ซึ่งต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยเป้าหมายของรัฐบาลที่ 3% ในปีนี้
นั่นสะท้อนถึงช่องว่างที่เพิ่มขึ้นระหว่างความคาดหวังและความเป็นจริงบนภาคพื้นดินของเศรษฐกิจจีน
จีนตั้งเป้าหมายการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือ GDP ของปักกิ่งที่ร้อยละ 5 ในปี 2566
ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในรอบหลายทศวรรษ
เดิมทีถูกมองว่าที่ตั้งเป้าเช่นนั้นเพื่อให้อยู่ในระดับที่ไม่ตั้งความคาดหวังไว้สูงเกินไป
เพราะหากตั้งไว้สูงกว่านั้น แล้วไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ ก็จะถูกมองว่ารัฐบาล “ล้มเหลว”
แต่หากสามารถทำได้ดีกว่าเป้า ก็จะได้ชื่อว่า “ประสบความสำเร็จเกินคาด”
ผู้นำจีนมีความจำเป็นต้องบริหารทั้งเศรษฐกิจตัวจริงกับบริหาร “ความคาดหวังของประชาชน” อย่างระมัดระวังเป็นพิเศษ
แต่ข้อมูลที่สะท้อนถึงความอ่อนแอของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องหลายเดือนได้กระตุ้นให้เกิดการมองโลกในแง่ร้ายในวงกว้างต่อแนวโน้มการเติบโตของจีนเอง
ตัวเลขทางการชี้ว่าเศรษฐกิจขยายตัวเพียง 0.8 เปอร์เซ็นต์ระหว่างไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปี
ในขณะที่ข้อมูลที่เผยแพร่ต่อสาธารณะแสดงให้เห็นว่าการส่งออกในเดือนกรกฎาคมลดลง 14.5 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบเป็นรายปี
ซึ่งเป็นการหดตัวที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เริ่มเกิดโรคระบาด
ตัวเลขการนำเข้าลดลงร้อยละ 12.4 เมื่อเทียบเป็นรายปีในรูปของเงินดอลลาร์
ซึ่งเป็นการลดลงครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม
อย่างนี้จะไม่ให้เกิดภาพทางลบต่อเศรษฐกิจของจีนได้อย่างไร
นักเศรษฐศาสตร์จาก Hang Seng Bank ที่เซี่ยงไฮ้ให้ความเห็นว่าอัตราเงินเฟ้อและตัวเลขการค้าเป็น “ภาพสะท้อนของกำลังซื้อที่ลดลงและความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่อ่อนแอ”
ราคาผู้บริโภคในจีนได้รับผลกระทบอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจากราคาเนื้อหมูลดลงร้อยละ 26 ในเดือนกรกฎาคมปีต่อปี
อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานซึ่งไม่นับรวมราคาอาหารและพลังงานที่ผันผวนมากเพิ่มขึ้น 0.8%
ราคาผู้ผลิตซึ่งได้แรงหนุนอย่างมากจากต้นทุนสินค้าโภคภัณฑ์และวัตถุดิบ ติดลบในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา
ทั้งหมดนี้คือสัญญาณเตือนภัยว่าด้วยเศรษฐกิจจีนที่กำลังเป็นที่สนใจทั่วโลก
ไม่มีใครอยากเห็นเศรษฐกิจจีนที่ใหญ่อันดับสองของโลกมีปัญหา
เพราะในโลกที่เชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิดทุกวันนี้ ข่าวร้ายของจีนก็คือข่าวร้ายของโลก!
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ