ไฉนหนัง Barbie จึงกลายเป็น ประเด็นขัดแย้งในทะเลจีนใต้?

หนังเรื่อง Barbie เป็นเรื่องราวเบา ๆ ที่กำลังได้รับการกล่าวขวัญถึงอย่างกว้างขวางทั่วโลก

แต่คนเวียดนามอดดูหนังเรื่องนี้เพราะโดยที่ผู้สร้างไม่ได้จงใจ เนื้อหาบางตอนกลับโหมไฟความขัดแย้งกรณีพิพาทเขตแดนทางทะเลระหว่างเวียดนาม-จีนขึ้นมา

ทางการเวียดนามสั่งห้ามฉายภาพยนตร์ ‘บาร์บี’ จากค่ายวอร์เนอร์บราเธอส์ ให้เหตุผลว่า มีภาพของแผนที่ที่สนับสนุนการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ทะเลจีนใต้ของกรุงปักกิ่ง

เท่ากับเป็นการตอกย้ำตำนานข้อพิพาทระหว่างสองประเทศที่เรื้อรังมามายาวนาน

ท่าทีของเวียดนามครั้งนี้ส่งสัญญาณแข็งกร้าวออกมาว่า รัฐบาลกรุงฮานอยไม่ยอมรับเส้นประ 9 เส้นที่จีนใช้อ้างว่าเป็นจุดกำหนดอาณาเขตของตนในทะเลจีนใต้

และยังเป็นการบอกกล่าวต่อประชาคมโลกว่า เวียดนามจะทำทุกอย่างในทุกมิติเพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการยึดถือจุดยืนนี้ให้ได้

แม้จะเป็นบันเทิงที่ไม่เกี่ยวกับการเมืองก็ตาม

วี เคียน ธานห์ หัวหน้าแผนกภาพยนตร์ของกระทรวงวัฒนธรรม กีฬาและท่องเที่ยวของเวียดนามแจ้งว่าการสั่งห้ามฉายภาพยนตร์ ‘บาร์บี’ นั้น เป็นเรื่องของการ “ควบคุมจำกัดภาพของเส้นประ 9 เส้นที่ทำให้คนเวียดนามรู้สึกถึงการล่วงละเมิดจากจีน”

หลังเวียดนามประกาศสั่งห้ามฉายออกมา บริษัทวอร์เนอร์บราเธอส์แถลงว่าจุดประสงค์ที่อยู่ในภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเพียง “เส้นลากของดินสอสีแบบที่เด็ก ๆ เขียนขึ้นมาสนุก ๆ” เพื่อแสดงให้เห็นถึง “เส้นการเดินทางสมมติจากดินแดนบาร์บีมายังโลกของความเป็นจริง” เท่านั้น

ย้ำว่าไม่ได้หมายถึงเส้นประ 9 เส้นของจีนแต่อย่างไร

แต่คำอธิบายนี้ไม่ช่วยเปลี่ยนใจรัฐบาลเวียดนามให้ยกเลิกคำสั่งห้ามฉาย แต่ฟิลิปปินส์กลับยอม

โดยให้เหตุผลว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตรวจสอบรายละเอียดทุกอย่างเท่าที่มีแล้วก่อนจะทำการตัดสินใจให้คำอนุญาต

โดยมีเงื่อนไขขอให้ทางวอร์เนอร์บราเธอส์เบลอภาพที่แสดงให้เห็นแผนที่เจ้าปัญหานี้ด้วย

แปลว่าฟิลิปปินส์ซึ่งก็มีประเด็นกับจีนเรื่องการอ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้เหมือนกันก็ยังมีความรู้สึกอ่อนไหวในเรื่องนี้เหมือนกัน

เพียงแต่ไม่คิดละเอียดเหมือนเวียดนาม

นอกจากประเด็นภาพยนตร์ ‘บาร์บี’ แล้วในช่วงเวลาเดียวกันนี้ เวียดนามมีคำสั่งให้ตรวจสอบเว็บไซต์ของบริษัท iMe ซึ่งเป็นผู้จัดคอนเสิร์ตของ Black Pink เกิร์ลกรุ๊ปเคป๊อปชั้นนำที่มีกำหนดจัดขึ้นเดือนนี้ที่กรุงฮานอย

เพราะมีการนำภาพแผนที่ทะเลจีนใต้ที่มีเส้นประ 9 เส้นออกมาใช้ในการโปรโมทคอนเสิร์ตด้วยเช่นกัน

วันที่ 6 กรกฎาคม ฟาม ธู ฮาง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศเวียดนามแถลงว่า “การโปรโมทและการใช้ผลิตภัณฑ์หรือสิ่งพิมพ์ที่นำเสนอเส้นประ 9 เส้นในเวียดนาม คือ การทำผิดกฎหมายเวียดนามและเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้”

มีผลให้บริษัท iMe จะออกมาขอโทษโดยชี้แยงว่าเป็น “ความเข้าใจผิดที่ไม่ได้ตั้งใจให้เกิดขึ้น”

และรับปากทำเปลี่ยนภาพทั้งหมดที่ไม่เหมาะสมสำหรับผู้ชมเวียดนามด้วย

ไม่แต่เท่านั้น ในสัปดาห์เดียวกันนี้ รัฐบาลกรุงฮานอยเพิ่งสั่งบริษัทผู้ให้บริการสตรีมมิง เน็ตฟลิกซ์ (Netflix) ถอดซีรีส์โรแมนติกสัญชาติจีนเรื่อง Flight to You ออกจากการฉายในเวียดนาม

เหตุผลของทางการเวียดนามคือซีรีส์นี้มีหลายฉากที่แสดงให้เห็นถึงแผนที่เส้นประ 9 เส้นอยู่

บริษัทแห่งนี้ก็ยอมปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวเช่นกัน

เวียดนามเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้มาก

เพราะฮานอยถือว่ามันเป็นประเด็นเรื่องอธิปไตยและความมั่นคงแห่งชาติสำหรับเวียดนาม

เวียดนามถือว่าการที่สื่อต่างชาติไม่ว่าจะเป็นการเมืองหรือบันเทิง หากให้ข้อมูลที่ฮานอยเห็นว่าเป็นเรื่องบิดเบือน สร้างความเสียหายให้กับประเทศก็เท่ากับกำลังถูกคุกคามโจมตี

ซึ่งรวมถึงกรณีที่สาธารณรัฐประชาชนจีนรุกล้ำเข้ามาในน่านน้ำของตนอยู่เป็นประจำด้วย

ที่เห็นได้ชัดคือเวียดนามกำลังส่งสัญญาณไปยังเพื่อนบ้านทั้งหลายว่าการลุกขึ้นมาต่อต้านจีนในกรณีนี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ประเด็นเส้นประ 9 เส้นนั้นเป็นต้นเหตุของข้อพิพาทที่มีการนำไปฟ้องต่อคณะตุลาการระหว่างประเทศ ณ กรุงเฮก ซึ่งได้มีคำพิพากษาออกมาตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 2016 แล้วว่า จีนไม่สามารถใช้แผนที่ดังกล่าวเป็นตัวกำหนดเขตแดนทางทะเลขอตน

แผนที่ทางการของจีนอธิบายเส้นประ 9 เส้นว่าเป็นเส้นที่ลากล้อมรอบพื้นที่เกือบทั้งหมดของทะเลจีนใต้ อันเป็นการส่งสัญญาณว่า พื้นที่อันกว้างใหญ่ภายในเส้นนี้เป็นของจีน

หลังมีคำพิพากษาคณะตุลาการระหว่างประเทศออกมา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซียและบรูไน ซึ่งเป็นประเทศที่ตั้งอยู่รอบ ๆ เส้นประ 9 เส้นต่างก็พร้อมใจกันปฏิเสธคำกล่าวอ้างของจีนทันที

แต่เรื่องความขัดแย้งระหว่างจีนกับเพื่อนบ้านในทะเลจีนใต้ก็ยังไม่จบลงง่าย ๆ

หลายประเทศคู่กรณีกล่าวหาว่าเรือของจีนยังคงรุกล้ำมาในพื้นที่ที่เรียกว่าเป็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (exclusive economic zone – EEZ) ในทะเลของจีนใต้อย่างต่อเนื่อง

คำว่า EEZ หมายถึงพื้นที่เขตเศรษฐกิจจำเพาะที่ห่างจากชายฝั่งของแต่ละประเทศเป็นระยะทาง 200 ไมล์ทะเล

การร่างหลักปฏิบัติร่วมหรือที่เรียกว่า Code of Conduct (CoC) ระหว่างจีนกับประเทศอาเซียนเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียดทานที่อาจจะนำไปสู่การสู้รบในทะเลจีนใต้นั้นแม้จะทำกันมาหลายปี

แต่ก็ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้

เพราะมีรายละเอียดที่ฝ่ายจีนและประเทศคู่กรณียังต้องถกเถียงเพื่อหาข้อสรุปที่ตรงกัน

เมื่อยังตกลงกันอย่างเป็นทางการไม่ได้ ทะเลจีนใต้ก็กลายเป็นประเด็นร้อนที่อเมริกาเข้ามาเผชิญหน้ากับจีนด้วยการแสดงจุดยืนเข้าข้างประเทศที่เป็นคู่กรณีกับปักกิ่ง

จนจีนต้องออกประกาศเป็นประจำว่า “อย่าให้ประเทศข้างนอกภูมิภาคมาสร้างความร้าวฉานให้กับเราที่อยู่ในย่านนี้”

จึงขึ้นอยู่กับจีนและประเทศในแถบนี้ที่จะต้องหาทางประนีประนอมเพื่อระงับต้นเหตุแห่งความขัดแย้งอย่างถาวร

อย่างน้อยเพื่อดูหนังฟังเพลงโดยไม่ต้องห่วงเรื่อง “เส้นประ  9 เส้น” เสียที!

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ