กระแสไม่เลือกทั้งไบเดนกับทรัมป์:
เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ 2024 กำลังอยู่ในกระบวนการ 2 พรรคใหญ่ อยู่ในขั้นตอนเฟ้นหาตัวแทนพรรคลงชิงชัยตำแหน่งผู้นำประเทศ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยืนยันขอลงเลือกตั้ง หวังเป็นผู้นำประเทศต่ออีกสมัย ทำนองเดียวกับอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ขอสู้ศึกอีกครั้ง พร้อมกับผู้สมัครอื่นๆ อีกหลายคน ผลการสำรวจของ Quinnipiac University Poll ช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา พบว่าคนอเมริกัน 47% ไม่เอาทั้งไบเดนกับทรัมป์ ไม่เอาผู้สมัครใดๆ ที่มาจาก 2 พรรคใหญ่ กลับสนใจพรรคทางเลือกที่ 3 (a third-party candidate) ซึ่งในการเมืองอเมริกาหมายถึง
พรรคการเมืองเล็กๆ หรือผู้สมัครอิสระที่ไม่อยู่ในสายตาสื่อ ที่ไม่น่าจะชนะเลือกตั้งได้เลย เป็นปรากฏการณ์ตอกย้ำซ้ำรอยความจริงที่ว่าคนอเมริกันเบื่อหน่ายการเมือง ไม่คิดว่าพรรคเดโมแครตหรือรีพับลิกันเป็นทางออกของชาติ
เมื่อเจาะลึกลงรายละเอียด 64% ของผู้เลือกตั้งอิสระ (ไม่สังกัด 2 พรรคใหญ่) คิดว่าจะเทคะแนนให้พรรคทางเลือกที่ 3 ในขณะที่ 61% จากพวกเดโมแครตและ 57% จากพวกรีพับลิกันยังสนใจผู้สมัครจากพรรคตนดังเดิม ชี้ว่าคนอเมริกันที่ไม่สังกัดพรรคมีแนวโน้มเลือกพรรคเล็กหรือผู้สมัครอิสระ ส่วนพวกสังกัดพรรคยังนิยมเลือกตัวแทนจากพรรค
ถ้ามองเฉพาะในกรอบพรรค น่าสนใจที่ 71% ของพวกเดโมแครตจะเลือกไบเดน ตามมาด้วย Robert F. Kennedy Jr. ลำดับ 2 ได้เสียงสนับสนุน 14%
ส่วนรีพับลิกัน ไม่ว่าอดีตประธานาธิบดีทรัมป์จะโดนกี่คดี มีเรื่องอื้อฉาวมากเพียงไร พวกรีพับลิกันส่วนใหญ่ยังเทคะแนนให้อย่างเหนียวแน่น ทรัมป์ได้เสียงสนับสนุน 54% ชนะลำดับที่ 2 รอน เดอซานติส (Ron DeSantis) ผู้ว่าการรัฐฟลอริดาอย่างขาดลอย (ได้เสียงสนับสนุน 25% ราวครึ่งหนึ่งของทรัมป์) ส่วนผู้สมัครท่านอื่นๆ ได้คะแนนคนละไม่กี่เปอร์เซ็นต์
ตามผลสำรวจนี้ ถ้ายึดกรอบพรรคใหญ่ การเลือกตั้งรอบหน้ายังเป็นการแข่งขันระหว่างไบเดนกับทรัมป์เหมือนเลือกตั้งรอบก่อน ถ้าเลือกวันนี้ไบเดนน่าจะชนะทรัมป์ด้วยคะแนน 49 ต่อ 44
ประเด็นที่คนอเมริกันให้ความสำคัญมากที่สุด:
Quinnipiac University Poll เผยว่า 31% ให้ความสำคัญเศรษฐกิจมากที่สุด รองลงมา 29% ตอบว่ารักษาความเป็นประชาธิปไตยประเทศ 7% ให้ความสำคัญกับเรื่องการทำแท้งกับเรื่องปืน (ได้คะแนนใกล้เคียง) ตามมาด้วยต่างด้าวอพยพเข้าเมือง เรื่องสุขภาพ ความไม่เท่าเทียมทางเชื้อชาติ และการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ
ถ้าดูคะแนนตามการสังกัดพรรค 51% ของพวกรีพับลิกันชี้ว่าเศรษฐกิจสำคัญที่สุด 22% ให้ความสำคัญกับการรักษาประชาธิปไตย 13% คือเรื่องต่างด้าวอพยพเข้าเมือง 34% ของพวกเดโมแครตชี้ว่าเศรษฐกิจสำคัญที่สุด ตามมาด้วย 30% ให้ความสำคัญกับการรักษาประชาธิปไตย
เรื่องปากท้องมาลำดับแรกเป็นเรื่องปกติเหมือนเช่นทุกครั้ง ที่น่าสนใจคือ “รักษาความเป็นประชาธิปไตยประเทศ” มาเป็นลำดับ 2 ห่างลำดับแรกเพียง 2% (คะแนนรวมทั้งหมด) สอดคล้องกับผลสำรวจอื่นๆ เมื่อไม่นานนี้ที่คนอเมริกันส่วนใหญ่เห็นว่าระบอบประชาธิปไตยของตนกำลังวิกฤต
ยกตัวอย่าง ผลวิจัยเมื่อมิถุนายน 2023 ของ Associated Press-NORC Center for Public Affairs Research เผย คนอเมริกันครึ่งหนึ่งไม่เชื่อมั่นการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย (อุดมการณ์ประชาธิปไตยดีแต่ผลทางปฏิบัติไม่ดีตามทฤษฎี) แยกเป็นพวกเดโมแครต 47% บอกว่าแย่ ส่วนรีพับลิกัน 56% ตอบว่าแย่ คิดว่าพวกพรรคการเมือง ศาลฎีกา ประธานาธิบดี รัฐบาลไม่ยึดมั่นประชาธิปไตย ส่วนใหญ่จอมปลอมมากกว่า ไม่ตั้งใจทำเพื่อประชาชนจริง ส่วนใหญ่คิดว่า กฎหมายกับนโยบายรัฐบาลไม่เป็นไปตามที่ประชาชนต้องการ ไม่ว่าจะเรื่องเศรษฐกิจ นโยบายควบคุมปืน ประเด็นผู้อพยพเข้าเมือง จนถึงการทำแท้ง
อย่างไรก็ตามอีกครึ่งหนึ่ง (49%) เห็นว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยยังทำงานได้ดี (ในจำนวนนี้มีเพียง 10% เท่านั้นที่คิดว่าดีเยี่ยม ดีมาก อีก 40% บอกว่าพอใช้) รวมความแล้วมุมมองคนอเมริกันต่อประชาธิปไตยยังคงเดิมไม่ต่างจากผลสำรวจครั้งก่อนๆ
30% ของพวกเดโมแครตให้ความสำคัญกับการรักษาประชาธิปไตย สอดคล้องกับ Associated Press-NORC ที่ 8 ใน 10 ของพวกเดโมแครตฟันธงว่าพรรครีพับลิกันไม่ยึดมั่นหลักประชาธิปไตย ประธานาธิบดีไบเดนตีตราว่าอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นพวกกึ่งเผด็จการ (semi-fascism) เป็นพวกสุดโต่ง (extremist) รวมถึง สส. สว.บางคนด้วย
อันที่จริง ไม่ง่ายที่จะฟันธงว่ารีพับลิกันเป็น “พรรคเผด็จการ” หรือ “พรรคประชาธิปไตย” ไม่น่าจะถูกต้องหากใช้ความคิดเห็นคนอเมริกันจากบางงานวิจัยแล้วสรุปว่าเป็นเช่นนั้นและพรรครีพับลิกันไม่ยอมรับ ที่ตอบได้คือความไม่เป็นเสรีประชาธิปไตยสะท้อนผ่านบางนโยบาย ผ่านพฤติกรรมของ สส. สว.บางคน รวมทั้งอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เพราะนโยบายสหรัฐแต่ไหนแต่ไรก็เป็นเช่นนี้ มีลักษณะ 2 มาตรฐาน ทำนองเดียวกับผู้นำประเทศบางคน เพียงแต่ทรัมป์ดูชัดเจนเพราะกล้าแสดงออก พูดตรงไปตรงมา บางเรื่องให้ความสำคัญกับผลลัพธ์มากกว่าความเป็นประชาธิปไตย
รวมความแล้วผลสำรวจของ Quinnipiac University Poll กับ Associated Press-NORC ตอกย้ำความไม่พอใจต่อระบอบประชาธิปไตยแบบอเมริกาจากคนอเมริกัน ในขณะที่รัฐบาลสหรัฐพยายามชูธงการปกครองของตนและชี้ว่าตนเป็นผู้นำโลกเสรี ส่งออกประชาธิปไตย
การเมืองแบบพายเรือในอ่าง:
แม้คนอเมริกันเกือบครึ่งสนใจทางเลือกที่ 3 แต่เท่านี้ไม่พอ เพราะต้องระบุว่าทางเลือกที่ 3 นี้คือใคร ซึ่งผลสำรวจไม่มีข้อมูลนี้ และยังไม่ปรากฏผู้ใดโดดเด่นอยู่ในความสนใจ จึงตีความได้ว่าเป็นความคิดเบื่อหน่ายนักการเมือง พรรคการเมืองเดิมๆ โดยไม่รู้ว่าจะเลือกใครแทน
ประการแรก ผู้สมัครอิสระหรือพรรคเล็กยากจะชนะ
ความจริงแล้วอเมริกามีพรรคการเมืองมากกว่า 2 พรรคและสามารถลงเป็นผู้สมัครอิสระที่ไม่สังกัดพรรคการเมืองด้วย แต่เมื่อย้อนดูประวัติศาสตร์ การเลือกตั้งเมื่อปี 1968 ผู้สมัคร George Wallace ในนามพรรค American Independent ได้คะแนน elector votes 46 คะแนน เป็นการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายที่พรรคที่ 3 ได้คะแนนมากถึงขนาดนั้น (ซึ่งไม่ชนะอยู่ดี) ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีตกอยู่กับ 2 พรรคใหญ่ ทุกวันนี้ผู้มีสิทธิจะไม่เลือกผู้สมัครหรือพรรคที่ได้คะแนนน้อย เมื่อผนวกกับระบบ 2 พรรค สุดท้ายชาวอเมริกันมักจะลงคะแนนให้ตัวแทนจาก 1 ใน 2 พรรคใหญ่
ผู้สมัครอิสระหรือพรรคเล็กจึงไม่ได้รับความนิยม เป็นแค่ไม้ประดับมากกว่า
ประการที่ 2 ประธานาธิบดีจากพรรคที่ 3 บริหารประเทศไม่ได้
ถ้าวิเคราะห์ลงลึก ประธานาธิบดีจากพรรคที่ 3 แบบข้ามาคนเดียวบริหารประเทศไม่ได้ เพราะ สส. สว. เป็นของ 2 พรรคใหญ่ ควบคุมกลไกการบริหารประเทศไว้ทั้งหมด ยกเว้นบางเขตเลือกตั้ง บางชุมชนที่ผู้สมัครพรรคเล็กชนะเลือกตั้ง ดังนั้นแม้ประธานาธิบดีสามารถใช้อำนาจของตนตามกรอบรัฐธรรมนูญ (อำนาจฝ่ายบริหาร) แต่หากจะออกฎหมายใดๆ จะต้องใช้เสียงจากรัฐสภา รวมทั้งกฎหมายงบประมาณ ดังนั้นนโยบายสำคัญๆ สุดท้ายจะต้องผ่านความเห็นชอบจาก 2 พรรคใหญ่ก่อน ประธานาธิบดีแม้ดูเหมือนมีอำนาจมากแต่ในทางปฏิบัติอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐสภา
ประการที่ 3 การเมืองที่ไม่มีทางออก
สำหรับคนอเมริกันเกือบครึ่งที่ไม่อยากเลือกพรรคใหญ่ ที่เห็นว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีไม่ใช่คำตอบ ไม่ตอบโจทย์ความต้องการ แต่คาดว่าในที่สุดพวกเขาน่าจะลงคะแนนให้กับ ‘the lesser of the two evils’ หรือ “คนที่แย่น้อยกว่า” ตามเคย คนถูกผลักดันให้ออกไปใช้สิทธิเลือกคนที่แย่น้อยกว่าโดยที่ไม่ชอบทั้งคู่ หวังสกัดไม่ให้คนที่แย่ที่สุดชนะเลือกตั้ง สอดคล้องกับการหาเสียงแบบสาดโคลนที่ต่างฝ่ายต่างพยายามชี้ว่าอีกฝ่าย “แย่” เพียงไร
แทนที่จะสนใจผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันหรือพรรคเดโมแครตดังเช่นทุกครั้งที่ผ่านมา คนอเมริกันเกือบครึ่งกลับสนใจผู้สมัครประธานาธิบดีจากพรรคที่ 3 สะท้อนความเบื่อหน่ายการเมืองแบบเดิมๆ
ประชาธิปไตยที่ให้ความสำคัญการเลือกตั้งสูงสุดจึงทำได้เพียงมองหาตัวเลือกที่แย่น้อยกว่า ต้องฝากอนาคตชาติบ้านเมือง อนาคตตัวเองกับลูกหลานไว้กับคนที่ “แย่น้อยกว่า” ผู้คนไปเลือกตั้งตามพิธีกรรมที่กำหนด เพื่อให้ใครบางคนขึ้นมากุมอำนาจประเทศ เป็นคำถามว่าระบอบประชาธิปไตยควรมีทางเลือกที่ดีกว่านี้หรือไม่ คนอเมริกันควรยอมรับสภาพเช่นนี้อีกนานเพียงไร หรือว่าประชาธิปไตยอเมริกันให้ได้เพียงเท่านี้ เรื่องนี้สังคมถกกันมาก ถกกันเรื่อยมา แต่ยังเป็นการเมืองแบบพายเรือในอ่าง
ล่าสุดยังเป็นการแข่งขันระหว่างไบเดนกับทรัมป์ การเมืองอเมริกันยังคงวนเวียนเหมือนเดิมต่อไป.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นโยบายต่างประเทศจีน2024จากมุมมองสหรัฐ
เป้าหมายนโยบายต่างประเทศคือการฟื้นฟูชาติจีนครั้งยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะใช้มุมมองจีนหรือสหรัฐ ทั้งคู่มองว่าต่างเป็นคู่แข่งเชิงยุทธศาสตร์และน่าจะเป็นปรปักษ์ในที่สุด
ยุทธศาสตร์แห่งชาติจีน2024จากมุมมองสหรัฐ
กำหนดเป้าหมาย ‘มีกองทัพเข้มแข็งระดับโลก เป็นผู้นำทบทวนระเบียบโลก’ ในการนี้จีนต้องเผชิญหน้าสหรัฐผู้นำระเบียบโลกปัจจุบันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ปฐมบทอาหรับสปริงซีเรีย
ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจสังคมเป็นต้นเหตุสำคัญของอาหรับสปริงซีเรีย รัฐบาลต่างชาติที่หวังล้มอัสซาดพยายามอยู่นานหลายปี รอจนวาระและโอกาสเป็นใจ
จากฮาเฟซ อัลอัสซาดสู่จุดเริ่มอาหรับสปริงซีเรีย
อำนาจการปกครองเป็นของคนส่วนน้อย คนกลุ่มนี้แหละที่ได้รับประโยชน์ ทิ้งให้ประชาชนจำนวนมากอยู่ตามมีตามเกิด อำนาจนี้เปลี่ยนมือไปมาจนมาถึงระบอบอัสซาดที่อยู่ได้ 2 ชั่วคน คือพ่อกับลูก
จากสถาปนาประเทศซีเรียสู่พรรคบาธ
เรื่องราวของซีเรียเต็มไปด้วยการแข่งขันช่วงชิงทั้งภายในกับอำนาจนอกประเทศ ความขัดแย้งภายในหลายมิติ เป็นอีกบทเรียนแก่นานาประเทศ
2024สงครามกลางเมืองซีเรียระอุอีกครั้ง
สงครามกลางเมืองที่ดำเนินมาเกือบ 14 ปียังไม่จบ สาเหตุหนึ่งเพราะมีรัฐบาลต่างชาติสนับสนุนฝ่ายต่อต้านกับกลุ่มก่อการร้าย HTS เป็นปรากฏการณ์ล่าสุด