ฟิลิปปินส์: จีนยั่วยุอย่างอันตราย จีน: นี่คือมาตรการ ‘ยับยั้งชั่งใจ’

เมื่อวานเขียนถึงเหตุการณ์ “เรือลาดตระเวนจีนฉีดน้ำใส่เรือฟิลิปปินส์ในทะเลจีนใต้” เกิดแรงกระเพื่อมเพิ่มความตึงเครียดขึ้นมาทันที

ฝ่ายมะนิลาและพันธมิตรตะวันตกออกมาเตือนจีนฉับพลัน แต่จีนก็ไม่ยอมเป็นฝ่ายถูกกล่าวหาด้านเดียว

ปักกิ่งชี้แยงว่า ณ วันที่ 5 สิงหาคมทีผ่านมา แม้ว่าจีนจะห้ามปรามและเตือนหลายครั้ง แต่ฟิลิปปินส์ก็ยังคงส่งเรือ 2 ลำเข้าน่านน้ำ “เหรินอ้าย เจียว”

ซึ่งเป็นการละเมิดปฏิญญาว่าด้วยการปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้

จีนกล่าวหาว่าฟิลิปปินส์พยายามส่งวัสดุก่อสร้างเพื่อซ่อมแซมและเสริมกำลังให้กับโครงสร้างทางทหารที่ผิดกฎหมาย

นั่นคือคำแถลงจากโฆษกของหน่วยยามฝั่งจีน (CCG) ที่ออกมาตอบโต้ครั้งที่สองต่อการเคลื่อนไหวของฟิลิปปินส์รอบหมู่เกาะหนานซาของจีน

โดยทางCCG ของจีนยืนยันว่าการใช้น้ำฉีดใส่เรือของฟิลิปปินส์นั้นเป็นวิธีการเตือนอย่างถูกกฎหมาย

นอกเหนือจากการใช้วิธีเตือนด้วยมาตรการทางกฎหมาย

หลังจากที่การเตือนด้วยวาจาซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่มีผลใดๆ จึงมีการใช้ปืนฉีดน้ำ “เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะกันโดยตรง”

จีนถือว่านั่นคือการใช้วิธีการแบบ “มืออาชีพ รัดกุม และเกินกว่าจะตำหนิได้”

ปักกิ่งกล่าวหาสหรัฐฯ ได้เข้ามายุแหย่ฟิลิปปินส์กระตุ้นให้เกิดเหตุการณ์นี้

เพระฝั่งวอชิงตันก็ออกแถลงการณ์ว่า “เรายืนหยัดร่วมกับพันธมิตรฟิลิปปินส์ในการประณามความพยายามของจีนในการขัดขวางปฏิบัติการที่ชอบด้วยกฎหมายที่ Second Thomas Shoal”

เป็นถ้อยแถลงทางการของแพทริก ไรเดอร์ โฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แสดงท่าทางสนับสนุนฟิลิปปินส์อย่างชัดเจน

โดยวิพากษ์วิจารณ์จีนว่าไม่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ

อ้างถึงคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการในเดือนกรกฎาคม 2016 และยังขู่ว่าอาจจะต้องดำเนินการตามสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันระหว่างสหรัฐฯ และฟิลิปปินส์

จุดที่เป็นข้อพิพาทนั้น ฟิลิปปินส์เรียกว่า Second Thomas Shoal ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของแนวปะการัง Mischief Reef ใกล้กับใจกลาง Dangerous Ground ทางตะวันออกเฉียงเหนือของหมู่เกาะ Spratly

เกาะปะการังแห่งนี้มีหน้าตาเป็นรูปหยดน้ำ ยาว 11 ไมล์ทะเล (20 กม.)

แนวปะการังล้อมรอบทะเลสาบซึ่งมีความลึกถึง 27 เมตร (89 ฟุต) และเรือเล็กจากทางตะวันออกเข้าถึงได้ มีหย่อมแห้งทางตะวันออกและตะวันตกของขอบแนวปะการังที่มีการก่อสร้างขึ้นมาสนับสนุนกิจกรรมทางทหาร

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนประณามการที่สหรัฐฯ รับรองการกระทำยั่วยุที่ผิดกฎหมายของฟิลิปปินส์

จีนบอกว่าสิ่งที่สหรัฐฯ ทำคือสนับสนุนการที่ฟิลิปปินส์ละเมิดอำนาจอธิปไตยของจีนอย่างโจ๋งครึ่ม

 “แผนการเช่นนี้ไม่มีทางสำเร็จ มีแต่จะล้มเหลว” โฆษกทางการจีนย้ำ

จีนอ้างว่าคดีอนุญาโตตุลาการทะเลจีนใต้เป็น “เรื่องตลกทางการเมือง” ที่ถูกชักใยเบื้องหลังโดยสหรัฐฯ ภายใต้หน้ากากของกฎหมายระหว่างประเทศที่จีนไม่ยอมรับ

 “การที่สหรัฐฯ ให้เหตุผลแก่อนุญาโตตุลาการที่ผิดกฎหมายนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อความมุ่งมั่นอันแน่วแน่ของจีนแต่อย่างใด และจะปกป้องอธิปไตยเหนือดินแดน สิทธิและผลประโยชน์ทางทะเลของเรา”  โฆษกกล่าว

พร้อมเรียกร้องให้สหรัฐฯ หยุดใช้ทะเลจีนใต้เพื่อหว่านความบาดหมางให้กับภูมิภาคนี้

โฆษกของ CCG สรุปกระบวนการทั้งหมดของความขัดแย้งในแถลงการณ์ว่า

แนวปะการังเหริน อ้ายเจียว (Ren'ai Jiao)เป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะ Nansha ของจีนมาโดยตลอด

ในปี 1999 ฟิลิปปินส์ส่งเรือไปบริเวณนั้นโดยจงใจเกยตื้นที่เหรินอ้ายเจียว ทำให้จีนต้องแสดงท่าทีจริงจังทันที

จีนอ้างว่าฟิลิปปินส์ให้สัญญาหลายครั้งว่าจะถอดเรือรบที่จอดอยู่ออก

แต่ 24 ปีต่อมา ไม่เพียงแต่เรือจะไม่ถูกถอดออกเท่านั้น แต่ยังมีความพยายามที่จะซ่อมแซมและเสริมกำลังด้วย

โดยมีเป้าหมายเพื่อยึดครอง Ren'ai Jiao อย่างถาวร

ฝ่ายจีนยืนยันว่าได้ยื่นการเจรจากับฟิลิปปินส์ในหลายระดับและผ่านหลายช่องทาง

โดยเรียกร้องให้ฟิลิปปินส์ละเว้นไม่ให้เรือเข้าเมืองเหรินอ้ายเจียวโดยไม่ได้รับอนุญาต

และห้ามขนส่งวัสดุก่อสร้างเพื่อการซ่อมบำรุงขนาดใหญ่และการเสริมกำลังแก่เรือรบที่ "จอดอยู่"

จีนเสนอผ่านช่องทางทางการทูตวให้ทั้งสองฝ่ายมีส่วนร่วมในการหารือเกี่ยวกับวิธีจัดการสถานการณ์ที่เหรินอ้ายเจียว

แต่ปักกิ่งอ้างว่าฟิลิปปินส์ปฏิเสธที่จะตอบสนองต่อข้อเสนอแนะเหล่านี้

การส่งมอบวัสดุก่อสร้างเพื่อซ่อมแซมและเสริมกำลังให้กับเรือรบที่ผิดกฎหมายหมายถึงการบุกรุกอย่างผิดกฎหมายเป็นระยะเวลานานขึ้น

จีนอ้างว่าการใช้ปืนฉีดน้ำเพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะกันโดยตรงแสดงให้เห็นถึง “ความยับยั้งชั่งใจ” ของฝ่ายจีน

ซึ่งแตกต่างจากบางประเทศในสถานการณ์คล้าย ๆ กันที่จะเปิดฉากยิงปืนใหญ่และส่งเรือรบลงสู่ก้นทะเล

นั่นคือความเห็นของผู้เชี่ยวชาญจีนที่อ้างโดยสื่อ Global Times ของทางการจีน

รัฐบาลฟิลิปปินส์เรียกเอกอัครราชทูตจีนเข้าพบและยื่นประท้วงทางการทูตอย่างรุนแรงเกี่ยวกับกรณีนี้

เห็นได้ชัดว่าความขัดแย้งระหว่างจีนกับฟิลลิปปินส์เพิ่มขึ้นหลังจากประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ขึ้นสู่อำนาจ

เพราะในยุคสมัยของอดีตประธานาธิบดีดูเตอร์เต้นั้น ฟิลิปปินส์ขยับเข้าใกล้จีนและห่างจากสหรัฐฯ

ขณะที่ภายใต้การนำของมาร์กอส จูเนียร์ปัจจุบัน มะนิลาปรับนโยบายใกล้ชิดกับวอชิงตันมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ขณะที่การร่าง Code of Conduct หรือคู่มือปฏิบัติร่วมระหว่างจีนกับอาเซียนที่ถกกันมาหลายปีก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงอย่างเป็นทางการได้ในเร็ววันแต่อย่างไร

กรณี “ฉีดน้ำ” กลางทะเลจีนใต้จึงกลายเป็นจุดปะทุใหม่ที่เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างมหาอำนาจในย่านนี้

ฟิลิปปินส์บอกว่าจีนทำอย่างนี้เท่ากับเป็นการ “ยั่วยุที่อันตราย”

แต่จีนโต้ว่าการมาตรการฉีดน้ำถือว่าเป็นการ “ยับยั้งชั่งใจ” เต็มที่แล้ว

แล้วเราจะเชื่อใครดี?

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ