ปัจจัยแรกที่ทำให้เกิดความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลคือ การที่ไม่มีพรรคการเมืองใดได้ ส.ส. เกินครึ่งสภา คำว่า “เกินครึ่ง” ซึ่งในภาวะปกติของการเมืองระบบรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขในปัจจุบัน หมายถึง เกินครึ่งของสภาผู้แทนราษฎร
แต่สำหรับบ้านเรา รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 กำหนดไว้ว่า ในห้าปีแรก ผู้ที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องได้เสียงสนับสนุนเกินครึ่งของจำนวนสมาชิกสองสภารวมกัน นั่นคือ ทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ดังที่เราได้ยินตัวเลข 376 เป็นเกณฑ์ที่ว่า ใครได้เสียง 376 จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี เรื่องเลยยากขึ้น หาก ส.ว. ให้ความเห็นชอบไม่ถึง
ปัจจัยที่สอง สมมุติว่า ตัดสิทธิ์ในการเลือกนายกรัฐมนตรีของวุฒิสภาออกไป เหลือแต่เงื่อนไขปกติของประเทศระบบรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขโดยทั่วไป นั่นคือ ใครได้เสียงเกินครึ่งสภาผู้แทนราษฎรก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่เราก็จะพบว่า หลังการเลือกตั้ง พ.ศ. 2566 ก็ไม่มีพรรคการเมืองใดได้ ส.ส. เกินครึ่งสภาฯเลย นอกจากไม่ได้เกินครึ่งแล้ว ยังห่างครึ่งมากด้วย เพราะพรรคก้าวไกลที่มาเป็นอันดับหนึ่ง ก็ได้ ส.ส. 151 ที่นั่งเท่านั้น
จะว่าไปแล้ว นับตั้งแต่มีการเลือกตั้งครั้งแรกหลังมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2498 ก็ไม่มีพรรคการเมืองไทยพรรคไหนได้เสียงเกินครึ่งสภาผู้แทนราษฎร ยกเว้นการเลือกตั้ง พ.ศ. 2548 และการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 ที่พรรคไทยรักไทยในปี พ.ศ. 2548 ได้ ส.ส. เกินครึ่งสภาฯ และไม่ใช่แค่เกินครึ่งแบบปริ่มๆ แต่ได้ถึง 377 ที่นั่ง เรียกว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สูงสุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งในประเทศไทยจนบัดนี้ ก็ยังไม่มีพรรคการเมืองไหนสามารถทำลายสถิติของไทยรักไทยได้ และในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 ก็ไทยรักไทยในนามเพื่อไทยอีกที่ได้ ส.ส. เกินครึ่งสภา
ดังนั้น กล่าวได้ว่า โดยส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดแล้วในประวัติศาสตร์การเมืองไทย มักจะไม่มีพรรคการเมืองใดได้เสียงเกินครึ่งสภาฯ เมื่อส่วนใหญ่เป็นเช่นนี้ รัฐบาลส่วนใหญ่ในการเมืองไทยจึงต้องเป็นรัฐบาลผสม แม้ว่าเราจะเปลี่ยนระบบเลือกตั้งไปต่างๆนานา แต่อย่างไรเสีย ก็ไม่มีพรรคการเมืองใดได้ ส.ส. เกินครึ่งสภาฯ ยกเว้นแค่ปี พ.ศ. 2548 และ 2554 เท่านั้น
แม้จะเปลี่ยนระบบเลือกตั้งไปอย่างไรก็ตาม แต่ผลการเลือกตั้งก็ยังออกมาเป็นแบบนั้น นั่นคือ ไม่มีพรรคการเมืองใดได้ ส.ส. เกินครึ่งสภาฯ ประเด็นที่ควรพิจารณาก็คือ พฤติกรรมการเลือกตั้งของประชาชน พฤติกรรมการเลือกตั้งของประชาชนย่อมส่งผลให้ไม่มีพรรคการเมืองใดได้ ส.ส. เกินครึ่งสภาฯ
แต่ก่อนหน้าจะมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และ 2550 ดูจะเข้าใจเงื่อนไขผลการเลือกตั้ง จึงเปิดทางให้มีนายกรัฐมนตรีเสียงข้างน้อยได้ หากไม่ได้นายกรัฐมนตรีที่ได้เสียงเกินครึ่งสภา แต่กระนั้น การจัดตั้งรัฐบาลผสมภายใต้รัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับก็ไม่ได้ยากเย็นจนทำให้ต้องใช้เงื่อนไขนายกรัฐมนตรีเสียงข้างน้อย จะว่าไปแล้ว การจัดตั้งรัฐบาลผสมในประเทศเรา ก็ไม่เคยยากเย็นอะไร เห็นจัดตั้งได้เร็วทุกครั้ง เพราะเรามักจะได้ยินแต่ว่า มีแต่คนอยากร่วมรัฐบาล มีแต่คราวนี้เท่านั้น ที่ยากแค้นลำเค็ญ เพราะนอกจากเงื่อนไขผลการเลือกตั้งที่ปกติ มักจะไม่มีพรรคใดได้เสียงเกินครึ่งแล้ว เงื่อนไข ส.ว. และการไม่เปิดให้มีนายกรัฐมนตรีเสียงข้างน้อยในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ก็เป็นปัญหา นอกเหนือไปจากจุดยืนและบุคลิกภาพของพรรคก้าวไกลเองที่ทำให้ไม่มีใครอยากจะร่วมตั้งรัฐบาล
นอกเหนือจากตัวแปรเฉพาะหน้า เช่น เงื่อนไขรัฐธรรมนูญและจุดยืนบุคลิกภาพของพรรคก้าวไกลแล้ว ตัวแปรถาวรที่น่านำมาพิจารณาคือ พฤติกรรมเลือกตั้งของคนไทย ทำไมคนไทยไม่เทคะแนนให้พรรคใดพรรคหนึ่งมากพอที่จะได้เกินครึ่งสภาฯหรืออย่างน้อยก็ใกล้เคียง ?
ยกเว้นอังกฤษที่พฤติกรรมการเลือกตั้งของประชาชนส่งผลให้สองพรรคใหญ่ได้ ส.ส. มากกว่าพรรคอื่นๆหรือ ส.ส. ที่อิสระไม่สังกัดพรรค จนทำให้การเมืองอังกฤษได้ชื่อว่าเป็นการเมืองระบบสองพรรค (แต่ถ้าอังกฤษเปลี่ยนระบบเลือกตั้ง ก็ไม่แน่ว่าระบบสองพรรคจะยังคงอยู่หรือเปล่า ?)
แต่การเมืองในประเทศในยุโรปหลายประเทศ เราจะพบปรากฎการณ์แบบเดียวกับของบ้านเรา นั่นคือ ไม่มีพรรคการเมืองใดได้ ส.ส. เกินครึ่งสภา และมีพรรคการเมืองได้รับเลือกเข้าไปในสภาฯหลายพรรค จนทำให้ประเทศเหล่านั้นได้ชื่อว่ามีการเมืองระบบหลายพรรค สาเหตุที่ประเทศเหล่านี้เป็นระบบหลายพรรค ก็เพราะว่า
หนึ่ง ระบบเลือกตั้งเป็นระบบสัดส่วน ต่างจากของอังกฤษ
สอง ระบบสัดส่วนส่งผลให้มีพรรคหลายพรรคเข้าสภาฯ ทำให้ประชาชนมีตัวเลือกมาก เอื้อให้ประชาชนสามารถมีความนิยมพรรคการเมืองแตกต่างกันไปตามจุดยืนของพรรคการเมืองต่างๆ เพราะพรรคการเมืองในประเทศเหล่านี้มักจะแบ่งออกเป็นพรรคขวาจัด ขวา ขวากลาง กลาง กลางซ้าย ซ้าย และซ้ายจัด
กล่าวได้ว่า การที่พฤติกรรมการเลือกตั้งเป็นเช่นนั้นเกี่ยวข้องกับจุดยืนหรืออุดมการณ์และนโยบายทางการเมืองที่มีหลากหลายซอยย่อยยิบ
แล้วพฤติกรรมการเลือกตั้งของคนบ้านเราสัมพันธ์กับจุดยืนหรืออุดมการณ์ทางการเมืองแบบยุโรปหรือเปล่า ?
คงต้องย้อนกลับไปปี พ.ศ. 2544 ที่เรียกได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองจุดหนึ่งในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งของไทย เพราะในปี พ.ศ. 2544 พรรคไทยรักไทยได้ ส.ส. มากที่สุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งก่อนหน้านั้น ก่อนที่ไทยรักไทยจะผงาดขึ้นมาในปี พ.ศ. 2544 พรรคการเมืองบ้านเราก็ไม่สามารถจำแนกความแตกต่างตามแบบพรรคการเมืองในยุโรปได้
แต่เมื่อมีไทยรักไทย เราจะพบความแตกต่างในหมู่พรรคการเมืองของเรา นั่นคือ แบ่งแยกออกเป็นพรรคที่มีนโยบายประชานิยมอย่างไทยรักไทย กับพรรคอื่นๆที่ไม่เป็นประชานิยม และหลังจากที่เกิดวิกฤตการเมือง พ.ศ. 2549 ก็เกิดการแบ่งพรรคการเมืองออกเป็นพรรคที่โกงกับไม่โกง และเกิดวาทกรรมต่างๆตามมา เช่น โกงแล้วแบ่งก็ยังดีกว่าที่โกงแล้วไม่แบ่ง หรือ โกงแล้วแบ่งก็ยังดีกว่าไม่โกงแต่ทำอะไรไม่เป็น
แต่เมื่อเวลาผ่านไป ทุกพรรคก็กลายเป็นพรรคการเมืองแบบประชานิยมไปหมด จะต่างตรงที่มากหรือน้อยเท่านั้น แม้จนล่าสุด มีพรรคอนาคตใหม่-ก้าวไกล ก็ยังจัดอยู่ในประเภทพรรคประชานิยมอยู่ดี
แม้นว่า ทุกพรรคเป็นประชานิยม แต่ต่อมา ก็ยังมีการแบ่งออกเป็น ฝ่ายประชาธิปไตย ฝ่ายเสรีนิยม กับ ฝ่ายเผด็จการหรือฝ่ายสืบทอดอำนาจหรือฝ่ายอนุรักษ์นิยม ซึ่งการแบ่งแบบนี้ ดูเผินๆฝรั่งหรือต่างชาติจะเข้าใจง่าย เพราะแต่ก่อนพรรคการเมืองฝรั่งเกือบทุกชาติก็เริ่มจากแบ่งเป็นเสรีนิยมกับอนุรักษ์นิยม การแบ่งพรรคการเมืองไทยออกเป็นฝ่ายประชาธิปไตยกับฝ่ายอนุรักษ์นิยมอย่างจริงๆจังๆ เพิ่งจะเริ่มขึ้นในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2562 และชัดเจนในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2566
แต่สิ่งที่ทำให้เกิดการแบ่งแยกชัดเจนระหว่างฝ่ายประชาธิปไตย-เสรีนิยม กับ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมสืบทอดอำนาจก็กลายเป็นเรื่อง มาตรา 112 (ไปได้อย่างไร ??!! พรรคที่รู้คำตอบดีน่าจะได้แก่ พรรคก้าวไกล)
และกลับกลายเป็นว่า ความแตกต่างระหว่างพรรคการเมืองไทยคือ พรรคเอาเจ้า กับไม่เอาเจ้าไปเสีย (คนที่ทำให้เกิดการแบ่งออกเป็นเอาเจ้า-ไม่เอาเจ้าก็หนีไม่พ้นต้องไปถามพรรคก้าวไกลอีกแหละ) และแน่นอนว่า พรรคที่ได้ชื่อว่าอยู่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมสืบทอดอำนาจ (พรรคร่วมรัฐบาลหลังเลือกตั้ง พ.ศ. 2562) ไม่ยุ่งกับมาตรา 112 อยู่แล้วสมชื่ออนุรักษ์นิยม
แต่ไปๆมาๆ พรรคการเมืองส่วนใหญ่ที่เคยได้ชื่อว่าอยู่ฝั่งประชาธิปไตยก็ประกาศจุดยืนไม่ยุ่งกับมาตรา 112 ด้วยเช่นกัน ตกลงเหลือพรรคก้าวไกลกับพรรคเล็กๆที่มี ส.ส. 1 คนเท่านั้นที่เป็นพรรคประชาธิปไตย-เสรีนิยม
จำได้ว่า ในช่วงการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 พรรคเพื่อไทยเองก็เคยมีจุดยืนคล้ายๆจะสนับสนุนการแก้ไขมาตรา 112 มาก่อน จึงไม่แน่ใจว่า การเปลี่ยนจุดยืน ณ ขณะนี้ เป็นเรื่องอะไรแน่ จะเป็น
-จุดยืนทางอุดมการณ์จริงๆ
-เป็นแค่เหตุผลในการช่วงชิงตัดแข้งตัดขาทางการเมืองเท่านั้น เพราะในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด หากไม่มีก้าวไกลมาเป็นคู่แข่งแย่งคะแนน เพื่อไทยต้องมาเป็นอันดับหนึ่งแน่นอน เพราะครองอันดับหนึ่งในการเลือกตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ. 2544 แล้ว
-เพื่อหวังให้ตัวเองเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. เพราะ ส.ว. จำนวนมากประกาศไม่รับการแก้ไขมาตรา 112
-หรือเป็นเพราะว่าพรรคก้าวไกลสุดโต่งเกินไปจริงๆเกี่ยวกับเรื่องสถาบันฯ ไม่นับแค่การต้องการแก้ไขมาตรา 112 ที่ทำให้พรรคการเมืองอื่นๆไม่ว่าจะเป็นฝ่ายประชาธิปไตยหรืออนุรักษ์นิยมไม่ยอมคบหา เพราะต่างเชื่อว่าจะนำประเทศไปสู่วิกฤตครั้งใหญ่
ไปๆมาๆ การเมืองไทยดูเหมือนจะวนกลับไปสู่ปี พ.ศ. 2475 จนได้ สมัยนั้นเกิดพรรคการเมืองที่เรียกว่า “สมาคมคณะราษฎร” กับ พรรคที่ชื่อว่า “สมาคมคณะชาติ” ฝ่ายแรกคือผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ฝ่ายหลังรวมตัวกันขึ้นมาเพื่อทัดทานฝ่ายแรก
ฝ่ายแรกตั้งพรรคขึ้นมา ก็เพราะต้องการขับเคลื่อนให้การเปลี่ยนแปลงการปกครองลงหลักปักฐาน ที่ไม่รู้ว่าจะไปถึงไหนถึงจะเรียกว่าลงหลักปักฐาน ฝ่ายหลังระแวงว่าพรรคคณะราษฎรจะไปสุดโต่งพาประเทศเป็นสาธารณรัฐ ฝ่ายแรกก็ระแวงว่า ฝ่ายหลังจะถอยหลังกลับเป็นเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์
พูดง่ายๆก็คือ ฝ่ายแรกถูกมองจากฝ่ายหลังว่าไม่เอาเจ้า ส่วนฝ่ายหลังถูกมองจากฝ่ายแรกว่าเอาเจ้า แต่ในที่สุด ทั้งสองสมาคมก็ไม่ได้ตั้งเป็นพรรคการเมือง
ถามว่า ถ้าไม่นับสมาคมคณะราษฎร-สมาคมคณะชาติในปี พ.ศ. 2475-2476 แล้ว เงื่อนไขความขัดแย้งแบบนี้เพิ่งกลับมาเกิดขึ้นช่วงนี้ หรือเคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้ว ?
ถามว่า ปรากฎการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นในการเมืองระบบรัฐสภาของประเทศยุโรปที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหรือไม่ ?
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'วรชัย' ชี้ 'ยิ่งลักษณ์' ไม่ได้รับความเป็นธรรม บอกกลับไทยตามกระบวนการไม่มีสิทธิพิเศษ
นายวรชัย เหมะ อดีตสส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ กรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ออกมาบอกว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
กกต. มั่นใจเลือกตั้ง นายกอบจ.อุดรธานี แข่งขันสูงไม่ใช่ปัญหา
นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้สัมภาษณ์ระหว่างไปตรวจเยี่ยมการรับมอบวัสดุอุปกรณ์ เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดการเ
เลขาฯกกต.ยันคดี 'ทักษิณ-เพื่อไทย' ล้มล้างปกครองฯ ที่ศาลรธน.ยกคำร้องไม่เกี่ยว กกต.
นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง ข้อกล่าวหาว่า นายทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย ล้มล้างการปกครอง ว่า ศาล
'นิพิฏฐ์' ติดใจปมรพ.ชั้น 14 พร้อมให้กำลัง 'ธีรยุทธ'
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตสส. จังหวัดพัทลุง โพสต์เฟซบุ๊กว่า เห่าหอนไปวันๆ
สส.ธนกร ฝาก 'กกต.' เข้มเลือกตั้งนายกอบจ.โปร่งใส ไร้ซื้อเสียง
นายธนกร วังบุญคงชนะ รองหัวหน้าพรรคและสส.บัญชีรายชื่อพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวว่า ในช่วงสุดสัปดาห์นี้จะมีการเลือก
'จตุพร' ปลอบและปลุก อดทนเฝ้าคอยยังมีอีกหลายยก!
นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ยอมรับว่า ประเมินสถานการณ์ศาล รธน.รับคำร้องคลาดเคลื่อน แม้ถูกเย้ยหยันหน้าแตก แต่ถัดจากนี้ไปขอให้ประชาชนอดทนเฝ้ารอสถานการณ์