หลังจากที่รัฐบาลได้รับพระราชทาน “พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศสละราชสมบัติ” รัฐบาลได้ออก “คำแถลงการณ์ของรัฐบาลเกี่ยวกับการสละราชสมบัติ” ให้ประชาชนได้รับทราบ และคณะรัฐมนตรีได้เสนอเรื่องต่อสภาผู้แทนราษฎร
ก่อนหน้าที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงสละราชสมบัติ พระองค์ได้เสด็จยังต่างประเทศ และได้ทรงแต่งตั้งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2477 และเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ทรงยืนยันว่าพระองค์ได้ทรงพ้นตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปพร้อมกับการสละราชสมบัติ และการตั้งผู้ครองราชย์สมบัติสืบต่อจากพระองค์นั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงได้มีกระแสรับสั่งว่า พระองค์ทรงสละสิทธิ์ที่จะตั้งผู้ครองราชย์สมบัติสืบต่อจากพระองค์
ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันเสาร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 ได้มีการอภิปรายเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรต่อกรณีการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้เขียนได้นำเสนอคำแนะนำที่หม่อมเจ้าวรรณไวทยากรฯทรงประทานให้แก่ที่ประชุมสภาฯ นั่นคือ สภาผู้แทนราษฎรไม่มีอำนาจในการรับหรือไม่รับการสละราชสมบัติ เพราะพระบาทสมเด็จพระปกเล้าฯทรงสืบราชสมบัติต่อจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระองค์มีสิทธิ์ที่จะสละราชสมบัติโดยไม่จำเป็นต้องขอการอนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น สิ่งที่สภาผู้แทนราษฎรจะทำได้คือรับทราบการสละราชสมบัติเท่านั้น ส่วนในกรณีพระมหากษัตริย์พระองค์ต่อไป หม่อมเจ้าวรรณไวทยากรทรงให้ความเห็นว่า “ส่วนพระองค์ต่อไปซึ่งจะขึ้นครองราชสมบัติ ก็ด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร”
หลังจากมีการอภิปรายไปพอสมควร เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ รัฐมนตรีกระทรวงวัง กล่าวว่า “ผู้ที่จะสืบราชสันตติวงศ์ของพระมหากษัตริย์ตามกฎมณเฑียรบาลตามที่สมเด็จกรมพระนริศฯ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ผู้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะสละราชสมบัติ/ผู้เขียน) ได้ทรงสืบสวนแล้ว ได้แก่ สมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงสงขลาฯ ซึ่งได้สิ้นพระชนม์แล้ว กับมีพระราชโอรส คือ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล นั้นเป็นผู้สืบราชสันตติวงศ์ของพระมหากษัตริย์ตามกฎมณเฑียรบาล ตามที่ได้แจกไปให้ท่านแล้ว”
หลังจากที่มีการอภิปรายไปสักพัก นายกรัฐมนตรี (พระยาพหลพลพยุหเสนา/ผู้เขียน) ได้กล่าวต่อที่ประชุมสภาฯว่า “ที่รัฐบาลเสนอพระองค์แรก คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล สภาฯนี้จะรับหรือไม่รับ”
หลังจากมีการอภิปรายต่อไป ได้มีผู้เสนอว่า สภาผู้แทนราษฎรไม่จำเป็นต้องเลือกกษัตริย์ตามกฎมณเฑียรบาล เพราะสภาผู้แทนราษฎรทรงไว้ซึ่งอำนาจสูงกว่ากฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ พ.ศ. ๒๔๖๗ สภาผู้แทนราษฎรจะเลือกเจ้านายพระองค์ใดก็ได้
ต่อจากนั้น ที่ประชุมสภาฯได้มีการอภิปรายโต้แย้งกันในประเด็นที่ว่า สภาผู้แทนราษฎรทรงไว้ซึ่งอำนาจสูงกว่ากฎมณเฑียรบาล พ.ศ. ๒๔๖๗ หรือไม่ ? จนมาถึง ร.ต. สอน วงษ์โต ผู้แทนราษฎรจังหวัดชัยนาท ได้กล่าวว่า “ตามที่สมาชิกผู้หนึ่งได้กล่าวอภิปรายเมื่อกี้นี้ ข้าพเจ้าขอสนับสนุนว่าเป็นดังนั้น คือ เราไม่ต้องอภิปรายกันมากมาย ทีแรก เราก็ต้องการตามกฎมณเฑียรบาลก่อน คือ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลนี้จะสมควรเป็นพระเจ้าแผ่นดินหรือไม่ เราก็โวต ถ้าไม่เห็นด้วย ก็ต่อไปองค์ที่ ๒-๓-๔ เราจะเอาองค์ไหน เราก็โวตให้องค์นั้นก็แล้วกัน ไม่ต้องกล่าวถึงคุณสมบัติของท่าน กล่าวเท่าไร คืนนี้ก็ไม่เสร็จ”
นายไต๋ ปาณิกบุตร ผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร ได้โต้ขึ้นว่า
“ข้าพเจ้าเห็นว่า การเลือกพระเจ้าแผ่นดินทั้งทีนั้น เป็นการสำคัญอย่างยิ่งของสภาฯนี้ เราไม่ควรจะรีบไปไหน เราจะรีบไปไม่ได้ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญของชาติ เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงขอประทานเวลาให้มีเวลาตรึกตรองกันบ้าง ข้าพเจ้าอยากจะใคร่ถามรัฐบาลว่า สำหรับพระองค์เจ้าอานันทฯ ตามที่รัฐบาลได้แจ้งในบันทึกว่า ได้ไปเฝ้าสมเด็จพระพันวัสสานั้น ได้ผลอย่างไรบ้าง”
น.ต. หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ร.น. กล่าวว่า “ถ้าสมาชิกประสงค์จะทราบ รัฐบาลพร้อมที่จะแจกสำเนาบันทึกในการไปเฝ้าให้สมาชิกทราบ”
นายไต๋ ปาณิกบุตร ผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร กล่าวว่า “แล้วมีอะไร ขอให้แจกเสียให้หมด เห็นยังมีอีกกองหนึ่ง”
น.ต. หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ร.น. กล่าวว่า “ในการที่ไม่ได้แจกไปก่อน ก็เพราะเหตุว่า รัฐบาลใคร่จะให้ที่ประชุมนี้วินิจฉัยด้วยใจบริสุทธิ์ เพราะฉะนั้น ถ้าแจกออกไปก่อน ก็เป็นเชิงว่ารัฐบาลต้องการจะชักชวนให้สมาชิกให้ลงมติในทางใดทางหนึ่ง ก็เตรียมไว้ว่า เมื่อสมาชิกประสงค์ที่จะทราบ ก็จะแจก ดังที่ได้แจกเดี๋ยวนี้แล้ว และไม่มีอะไรแจกอีกแล้ว”
พระสารสาสน์ประพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ อ่านบันทึกเรื่อง นายกรัฐมนตรี เข้าเฝ้าสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า วันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ วันนี้ เวลาประมาณ ๑๖.๐๐ นาฬิกา นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี กับ นายนาวาตรี หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี และหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า ณ วังตำบลปทุมวัน นายกรัฐมนตรีกราบทูลว่า เนื่องด้วยรัฐบาลได้รับลายพระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัตติวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ใจความว่า
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะได้พระราชทานพระราชหัตถ์เลขาทรงสละราชสมบัติไปยังรัฐบาล และบัดนี้ รัฐบาลได้รับโทรเลขจากเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศแจ้งว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชหัตถ์เลขาไปยังเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศแล้ว และเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศจะได้ส่งมาให้รัฐบาลต่อไป เมื่อเป็นเช่นนี้ รัฐบาลจึงเห็นว่า ไม่มีวิถีทางใดที่จะอัญเชิญให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯกลับคืนสู่พระมหานครได้ และจำเป็นที่จะต้องนำเรื่องนี้ขึ้นเสนอสภาผู้แทนราษฎรเพื่อวินิจฉับ และในโอกาสนี้ ย่อมเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะแนะนำผู้ซึ่งสมควรจะขึ้นครองราชย์สมบัติแทนต่อไป
ข้าพระพุทธเจ้าคิดด้วยเกล้าฯว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสละพระราชอำนาจในอันที่จะแต่งตั้งผู้สืบราชสมบัติต่อไปดังนี้แล้ว ก็เท่ากับมีพระราชประสงค์จะให้การเป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์และรัฐธรรมนูญ ซึ่งคณะรัฐมนตรีก็คงมีความเห็นเช่นเดียวกัน ฉะนั้น จึงมาเฝ้าขอพระราชทานกราบทูลให้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองพระบาท ในอันที่จะอัญเชิญพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลขึ้นครองราชสมบัติต่อไป
สมเด็จพระพันวัสสาฯทรงรับสั่งว่า เรื่องนี้ ฉันไม่มีเสียงอะไร ฉันพูดอะไรไม่ได้ การจะเป็นไปอย่างไรย่อมแล้วแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นประมุขแห่งราชวงศ์
หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์กราบทูลว่า ในโอกาสที่ได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครั้ง ๑ ในกรุงลอนดอน ข้าพระพุทธเจ้าได้กราบบังคมทูลเรียนพระราชปฏิบัติว่า ถ้าหากในที่สุด ทรงลาออกจากราชสมบัติแล้ว จะทรงโปรดเกล้าฯตั้งผู้ใดขึ้นครองราชย์สมบัติแทนต่อไป มีพระกระแสรับสั่งว่า จะไม่ทรงตั้งผู้ใด เพราะจะเป็นการกระทบกระเทือน ทรงพระราชดำริเห็นว่า ควรให้การเป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์จะดีกว่า เพราะจะได้เป็นการป้องกันมิให้มีการยุ่งยากในภายหน้า ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าได้กราบบังคมทูลต่อไปว่า รัฐบาลก็ได้ดำริเช่นนั้น แต่คิดด้วยเกล้าฯว่า ใต้ฝ่าละอองพระบาทอาจจะทรงขัดข้อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระกระแสรับสั่งว่า เรื่องนี้ได้มอบให้พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย มาเฝ้ากราบทูลแล้วว่า เพื่อเห็นแก่พระราชวงศ์ ขอให้รับ ซึ่งใต้ฝ่าละอองพระบาทได้รับสั่งว่า ถ้าหากพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นดังนั้น ก็ต้องทรงรับอยู่เอง
สมเด็จพระพันวัสสาฯทรงรับสั่งว่า กรมเทววงศ์ฯได้มาบอกแล้ว ฉันก็ได้รับทราบไว้ แต่ฉันไม่มีเสียงอะไร ทั้งนี้ย่อมแล้วแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
นายกรัฐมนตรีกราบทูลว่า การที่มาเฝ้านั้น ก็เพื่อจะแสดงความเคารพสักการะต่อพระองค์
สมเด็จพระพันวัสสาฯ รับสั่งว่า ฉันขอบใจที่มาแสดงความเคารพ
นายกรัฐมนตรี เลขาธิการคณะรัฐมนตรี และหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ กราบทูลลาออกจากที่เฝ้า เวลาประมาณ ๑๓๓๐ นาฬิกา เลขาธิการคณะรัฐมนตรีจดรายงาน วันที่ ๕ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗
ต่อจากนั้น ร.ต. เนตร พูนวิวัฒน์ กล่าวว่า
“ตามคำแถลงการณ์ของรัฐบาลนั้น รัฐบาลได้เคยให้หลวงธำรงฯไปเฝ้าพระองค์เจ้าอานันฯ ที่สวิทเซอร์แลนด์ แต่ทว่าข้อความเป็นประการใดนั้น สภาฯยังหาได้ทราบไม่ เพื่อประกอบเรื่องนี้ ข้าพเจ้าจึงขอให้รัฐบาลแถลงเรื่องนั้นเสียด้วย จะได้เป็นทางง่ายที่จะวินิจฉัยสืบไป”
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 37): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 36): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 47: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับคณะรัฐมนตรีและชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 46: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับคณะรัฐมนตรีและชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 34): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490