
กระทรวงการคลังได้ปรับลดคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 2566 ลงเหลือ 3.5% จากคาดการณ์เดิมที่ 3.6% โดยให้เหตุผลว่า หลักๆ เป็นผลมาจากโครงสร้างนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากคาดว่านักท่องเที่ยวจีนจะลดลง ส่งผลให้รายได้จากการท่องเที่ยวลดลงเหลือ 1.25 ล้านล้านบาท จากคาดการณ์เดิมที่ 1.3 ล้านล้านบาท และยังมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องการส่งออกสินค้าที่ชะลอตัว โดยคาดว่าการส่งออกในปีนี้จะติดลบ 0.8% ตามการชะลอลงของเศรษฐกิจจีน ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 นั้น มองว่าหากนักท่องเที่ยวจีนยังมาตามนัด ก็น่าจะช่วยทำให้ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ตามเป้าหมาย
ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เองระบุว่ายังมีปัจจัยเสี่ยงหลักๆ ที่จะมีผลกับเศรษฐกิจ อาทิ ปัญหาเศรษฐกิจและการเงินโลก ที่มองว่าเศรษฐกิจโลกอาจจะชะลอตัวลง และต้องดูว่าจะยืดเยื้อกว่าที่คาดการณ์หรือไม่ รวมถึงการจัดตั้งรัฐบาลที่หากลากยาวออกไปก็อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น รวมไปถึงสถานการณ์ค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบางได้
ส่วนมุมมองของภาคเอกชนอย่าง ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intellingenec Center ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เห็นว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง และขยายตัวได้ดีกว่าช่วงครึ่งแรกของปี จากแรงหนุนภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทยฟื้นตัวใกล้เคียงประมาณการ ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวดี โดยเฉพาะหมวดบริการ กอปรกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและตลาดแรงงานที่มีแนวโน้มปรับดีขึ้น ส่วนการส่งออกจะทยอยฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี จากที่หดตัวต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปี 2566
โดยเมื่อมองไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสี่ยงด้านต่างๆ จากหลายปัจจัย อาทิ 1.การกลับมาของเอลนีโญ ที่เห็นสัญญาณชัดเจนขึ้น จะสร้างความเสียหายต่อภาคเกษตร อาจประสบภาวะฝนแล้งรุนแรงมากกว่าที่คาด 2.การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่มีความไม่แน่นอนสูง อาจเป็นไปได้ที่จะล่าช้าถึงปลายเดือน ต.ค. หลังพรรคก้าวไกลไม่สามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล 3.ปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยที่ยังเปราะบางจากรายได้ไม่พอกับรายจ่าย และมีแนวโน้มจะเป็นเช่นนี้อีกนาน มีแนวโน้มจะก่อหนี้เพิ่มเติมมากกว่ากลุ่มอื่น และ 4.ภาคธุรกิจมีแนวโน้มฟื้นตัว แต่ความเปราะบางสูงขึ้น โดย SCB EIC คาดว่าบริษัทราว 16% มีความเสี่ยงเป็นบริษัทผีดิบ (Zombie firms) ในปี 2566 ส่วนหนึ่งจากภาระดอกเบี้ยจ่ายที่สูงขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก ท่ามกลางทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นและมาตรฐานการให้สินเชื่อธุรกิจของสถาบันการเงินที่มีแนวโน้มเข้มงวดขึ้น
ขณะที่เงินเฟ้อทั่วไปของไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำ จากราคาพลังงานที่มีแนวโน้มชะลอตัวและผลจากปัจจัยพื้นฐาน สำหรับนโยบายพยุงราคาพลังงานในประเทศมีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการภาระต่างๆ ที่ภาครัฐเคยสนับสนุนไว้ และการรักษาสมดุลของค่าครองชีพประชาชน มากกว่าการปรับตัวตามทิศทางราคาพลังงานโลก ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มจะชะลอลงช้ากว่าจากการทยอยส่งผ่านต้นทุนจากผู้ประกอบการมายังราคาผู้บริโภค
ขณะที่ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้ความเห็นว่า เชื่อว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 1 หรือ 2 ของปีหน้า ส่วนการส่งออกของไทยในปีนี้อาจจะติดลบ 1% ถึง 2% โดยการท่องเที่ยวจะเป็นพระเอกนำ ซึ่งการท่องเที่ยวปีนี้มีโอกาสที่จะเห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ถึง 28 ล้านคน ถ้าการเมืองนิ่ง ไม่มีเหตุชุมนุมประท้วง ก็มองว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวได้ที่ 3.13.5% บวกลบเล็กน้อย
ส่วนปี 2567 นั้น เศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวถึง 3-4% แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ไม่เกินเดือน ก.ย.นี้หรือไม่ เพราะถ้าล่าช้ามากไปกว่านี้ การจัดทำงบประมาณจะยิ่งลำบาก เศรษฐกิจจะฟื้นตัวช้าและเข้าสู่โหมดความเสี่ยง ซึ่งอาจจะได้เห็นจีดีพีโตใกล้ปีนี้ที่ 3.1-3.5% หรืออาจโตต่ำกว่านี้ได้ ภายใต้เงื่อนไขว่าการเมืองมีเสถียรภาพมากน้อยแค่ไหน.
ครองขวัญ รอดหมวน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นวัตกรรมดัน‘เศรษฐกิจใหม่’
ท่ามกลางกระแสของการลงทุนที่เปลี่ยนไป ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่จะต้องเดินหน้าอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้ตกขบวนการลงทุน มุมมองใหม่ๆ เข้ามากยิ่งขึ้น รวมถึงแนวทางการในเทคโนโลยี
อย่าฉวยโอกาสยามวิกฤต
จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 8.2 ริกเตอร์ ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา เมื่อเวลา 13.20 น.ของวันที่ 28 มี.ค. ได้ส่งผลให้แรงสะเทือนถึงประเทศไทยหลายพื้นที่ ได้สร้างความเสียหายรุนแรงเกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
ใช้ประหยัดและมีประสิทธิภาพ
ราคาน้ำมัน ถือเป็นต้นทุนในทุกๆ ด้านของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้งภาคการผลิตอย่างอุตสาหกรรม การบริการ การขนส่ง ล้วนแล้วแต่มีผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชนทั่วไป ในยุคที่ข้าวยากหมากแพง ราคาน้ำมันได้ถีบตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก
อสังหาฯไทยอาจซึมยาว?
สถานการณ์การชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั้งจากสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซาจนกำลังซื้อหดหาย ภาวะการเงินที่ไม่ผ่อนปรนเหมือนกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ธนาคารระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น หลังจากหนี้เสียเริ่มลุกลามไปยังตลาดกลุ่มบน
จับตา“ส่งออกไทย”ท่ามกลางสงครามการค้า
“ภาคการส่งออก” ยังถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยในปี 2568 กระทรวงพาณิชย์ ยังคงตั้งเป้าหมายการส่งออกว่าจะขยายตัวได้ 2-3% หลังจากที่มูลค่าการส่งออกของไทยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2568
ผุดสถาบันปั้นซอฟต์พาวเวอร์
ประเทศไทยถือว่ามีซอฟต์พาวเวอร์อยู่หลายแขนง ไม่ใช่เพียงแค่อาหาร หรือสถานที่ท่องเที่ยวเท่านั้น ซึ่งในส่วนนี้เองเป็นโจทย์สำคัญที่ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคิดค้นโซลูชัน วิธีการ