นั่นไง...
ส่อเค้าวันที่ ๔ สิงหาคม ยังไม่ได้นายกรัฐมนตรีคนที่ ๓๐ จริงๆด้วย
ไม่รู้ "เสี่ยอ้วน ภูมิธรรม" คิดอะไรอยู่ จู่ๆถึงได้กลับลำ บอกว่าวันที ๒ สิงหาคม ยังไม่มีการประชุมแกนนำ ๘ พรรค
การเมืองช่วงนี้ ดูท่าแล้ว นักการเมืองน่าจะเป็นอัลไซเมอร์กันเยอะ พูดอะไรจำไม่ค่อยได้ วานซืนพูดชัดถ้อยชัดคำ
"...ประชุม ๘ พรรคร่วม ในวันที่ ๒ สิงหาคม ที่พรรคเพื่อไทย เนื่องจากวันที่ ๑ สิงหาคม ยังคงเป็นวันหยุด หลายคนยังอยู่ต่างจังหวัด ยังไม่สะดวกมาร่วมประชุม..."
มาวานนี้บอกว่า
"...ยังอยู่ในกราะบวนการนัดหมาย ทางผู้ประสานงานยังไม่ได้แจ้งมาให้ทราบ จึงยังไม่รู้ว่า ๘ พรรค จะประชุมกันวันไหน หากทราบแล้วจะแจ้งมีการแจ้งให้สื่อทราบต่อไป..."
ลืมกินยา หรือ ความจำเสื่อม!
ไม่ใช่ทั้ง ๒ อย่าง เพราะการเมืองช่วงเข้าด้ายเข้าเข็มแบบนี้ ต้องวางแผนกันวันต่อวัน ชั่วโมงต่อชั่วโมง ไม่งั้นจั่วลมเอาง่ายๆ
เป็นได้สูงว่า เพื่อไทย ต้องการรอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย คำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน เรื่องที่ประชุมมีมติห้ามโหวตชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีซ้ำ เพราะถือเป็นการยืนญัตติซ้ำ ขัดข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๖๓ ข้อ ๔๑ เสียก่อน
รู้ผลแล้วถึงจะนัดประชุม
เพราะคำวินิจฉัยที่ต่างกัน อาจกระทบถึงกระบวนการเลือกนายกฯโดยที่ประชุมรัฐสภาได้
หากศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง ก็ง่ายหน่อย เดินหน้าตามแผนเดิมได้ทันที
แต่หากศาลมีคำวินิจฉัย รับคำร้อง และให้หยุดกระบวนการเลือกนายกฯไว้ก่อน อันนี้หนังยาวครับ ต่อลมหายใจให้ก้าวไกลไปโดยอัตโนมัติ
อันที่จริง ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยออกมาในแนวทางไหน อาจไม่เปลี่ยนข้อเท็จจริงที่ว่า สมาชิกวุฒิสภาเสียงส่วนใหญ และ ๕ พรรคร่วมรัฐบาลเดิม ไม่เอาพรรคแก้ม.๑๑๒ ซึ่งก็คือก้าวไกล
แต่การยื้อออกไปนาน ทำให้ความหวังของคนที่รอ ๙ เดือน ๑๐ เดือน ค่อยโหวตเลือกนายกฯ เพราะวุฒิสภาชุดปัจจุบันหมดวาระลง มีมากขึ้น
อาจเหลือ ๗ เดือน ๘ เดือน
อาจมีพ่อขมองอิ่มร้องข้อกฎหมายประเด็นอื่นขึ้นมาอีก เกิดศาลบอกว่าให้หยุดกระบวนการเลือกนายกฯขึ้นมาอีก "ด้อมส้ม" ฉลองใหญ่แน่
เพราะจะเหลือเวลา ๓-๔ เดือนสมาชิกวุฒิสภาหมดวาระ
ทำเป็นเล่นไป มีคนคิดแบบนี้นะครับ
แต่ในแง่ข้อเท็จจริงและกฎหมายนั้นไม่ง่าย
"ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล" อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ให้ความเห็นทางวิชาการด้านกฎหมาย ไว้ดังนี้ครับ
"...จุดชี้ขาดสำคัญที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับหรือไม่รับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินในกรณีนี้ เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๓ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญพ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๔๖ โดยพิจารณาจากผู้ร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและประชาชน ว่า เป็นผู้ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญโดยตรงหรือไม่ จากการกระทำของรัฐสภาที่ลงมติว่าการเสนอชื่อบุคคลให้รัฐสภาเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ถือเป็นญัตติ ซึ่งต้องปฏิบัติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๖๓ ข้อ ๔๑
สำหรับกรณีนี้ หากพิจารณาข้อกล่าวอ้างในประเด็นเรื่องบุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญโดยตรงจากการลงมติของรัฐสภา ถ้าหากจะมีเกิดขึ้น ที่เห็นได้ชัดเจน น่าจะเป็น คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซึ่งถูกละเมิดสิทธิในการได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่คุณพิธาไม่ได้ร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่กลับเป็น ส.ส. และประชาชน จำนวนหนึ่ง เป็นผู้ร้องเรียน
ดังนั้นหากศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว เห็นว่า ส.ส. และประชาชน ผู้ร้องเรียน ไม่ได้เป็น บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญโดยตรงจากการกระทำของรัฐสภาที่ลงมติดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญก็อาจมีคำสั่งไม่รับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินไว้พิจารณาวินิจฉัย และเมื่อมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยแล้ว คำขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุติการเลือกนายกรัฐมนตรีไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ย่อมเป็นอันตกไปด้วย
นอกจากนี้ หากพิจารณาแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่าน ๆ มา ศาลรัฐธรรมนูญได้วางแนวคำวินิจฉัยมาโดยตลอดว่า ผู้ร้องต้องเป็นบุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญโดยตรงจากการกระทำของผู้ถูกร้อง
ดังตัวอย่าง คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ ๑๘/๒๕๖๕ ที่วินิจฉัยว่า ตามที่นายระวี มาศฉมาดล ส.ส.พรรคพลังธรรมใหม่ยื่นคำร้องว่า การลงมติของรัฐสภาที่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม โดยแก้ไขให้มีจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ๔๐๐ คน และ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ๑๐๐ คน และกำหนดให้ใช้บัตรเลือกตั้ง ๒ ใบ เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องในฐานะ ส.ส. ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันตามรัฐธรรมนูญ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นการกระทำโดยที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ซึ่งเป็นการกระทำทางนิติบัญญัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐธรรมนูญกำหนด ไม่ปรากฏว่าผู้ร้องเป็นบุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญโดยตรง เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นของผู้ร้องในฐานะหัวหน้าพรรคการเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของรัฐสภาที่ลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเท่านั้น จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย..."
ก็...ดูไว้เป็นแนวทางครับ
ไม่รู้ว่าหากศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง เนื่องจาก ผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นผู้ถูกละเมิดโดยตรง "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" จะร้องเองหรือไม่
ถ้าร้องซ้ำ โดยพ่วงคำร้องให้ศาลสั่งหยุดกระบวนการเลือกนายกฯไว้ก่อน เวลาก็อาจทอดออกไปอีก
ขบวนการถ่วงเวลาไม่ให้เลือกนายกฯ รอจนกว่าวุฒิสภาชุดนี้หมดวาระมีจริงครับ
และกำลังพยายามอยู่
แต่สุดท้ายก็อยู่ที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
ผลออกมาอย่างไรก็ต้องว่าตามนั้น.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อย่าปล่อยให้เหลิง
นักร้องยังไม่ทำงาน... จนถึงขณะนี้ยังไม่มีคำร้องเกี่ยวกับการปราศรัยของ "ทักษิณ ชินวัตร" ไปยัง กกต.เลยครับ
เจอตอ ชั้น ๑๔
งวดเข้ามาทุกทีครับ... หากไม่มีอะไรผิดพลาด วันที่ ๑๕ มกราคมนี้ พยานหลักฐานกรณีนักโทษเทวาดาชั้น ๑๔ น่าจะอยู่ในมืออนุกรรมการสอบสวนชุดเฉพาะกิจแพทยสภา ชุดที่ คุณหมออมร ลีลารัศมี เป็นประธาน ครบถ้วนสมบูรณ์
'ทักษิณ' ตายเพราะปาก
แนวโน้มเริ่มมา... ปลาหมอกำลังจะตายเพราะปาก เรื่องที่ "ทักษิณ ชินวัตร" ไปปราศรัยใหญ่โต เวทีเลือกตั้งนายก อบจ.หลายจังหวัด ทำท่าจะเป็นเรื่องแล้วครับ
พ่อลูกพาลงเหว
มันชักจะยังไง.... พ่อลูกคู่นี้จะไปได้สักกี่น้ำกันเชียว ก่อนนี้ "ทักษิณ" ริ "ยิ่งลักษณ์" ยำ
นี่แหละตัวอันตราย
การเมืองปีงูเล็กจะลอกคราบ เริ่มต้นใหม่ ไฉไล กว่าเดิม หรือจะดุเดือดเลือดพล่าน ไล่กะซวก เลือดสาดกันไปข้าง
แก้รัฐธรรมนูญแกงส้ม
ก็เผื่อไว้... อาจจะมีการลักไก่ ลัดขั้นตอนแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ