เมื่อฮุน เซน ก้าวลง เปิดทางให้ ฮุน มาเนต ขึ้นเป็นนายกฯ กัมพูชา

การเมืองกัมพูชาเพื่อนบ้านเรากำลังปรับเปลี่ยนไปอย่างน่าสนใจ...พ่อปกครองประเทศมา 38 ปี ส่งต่อให้ลูก แต่ก็ยังมีเงื่อนไขว่า ถ้าลูกทำไม่ได้ตามที่ประชาชนคาดหวัง พ่อก็อาจจะหวนกลับมาถือบังเหียนของประเทศได้

การเมืองเรื่องครอบครัวและอำนาจเบ็ดเสร็จ แม้จะมีการเลือกตั้งที่กวาดฝ่ายค้านที่มีพลังออกนอกสนามยังเป็นปรากฏการณ์ของกัมพูชาอยู่วันนี้

ฮุน มาเนต กำลังจะก้าวขึ้นมาแทนนายกฯ ฮุน เซน

ถือได้ว่าเป็นการเปลี่ยนผ่านของคนรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่งอย่างชัดเจน

ฮุน มาเนต ในวัยเพียง 45 เรียนหนังสือจากตะวันตก แต่ได้รับมอบอำนาจจากวิถีการเมืองแบบเก่า จะมีความแตกต่างไปจากรุ่นก่อนอย่างไรจึงเป็นประเด็นที่น่าวิเคราะห์ยิ่ง

ฮุน มาเนต เป็นลูกคนโตของฮุน เซน   เพิ่งได้รับการเลื่อนขึ้นเป็นนายพลระดับ 4  ดาว

ไม่ใช่คนหน้าใหม่ทางการเมืองของกัมพูชา เพราะคุณพ่อได้ส่งสัญญาณว่าจะสร้างทายาททางการเมืองมาหลายปีแล้ว

การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ก.ค.ที่ผ่านมา เป็นเพียงพิธีกรรมเพื่อส่งไม้ต่อจากพ่อไปถึงลูกเท่านั้น

เพราะลูกชายคนนี้ไม่ได้เผชิญกับการแข่งขันทางการเมืองที่ทดสอบความสามารถในการรับแรงเสียดทานจากฝ่ายตรงกันข้ามแต่อย่างใด

ฮุน เซน ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาชนกัมพูชา (Cambodian People's Party: CPP) ได้ปูทางการเมืองเอาไว้ให้ลูกเป็นขั้นเป็นตอน

ก่อนการเลือกตั้งครั้งนี้ก็มีการกำจัดคู่แข่งทางการเมืองเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง

เช่นร้องศาลให้สั่งยุบพรรคกู้ชาติกัมพูชา  (Cambodia National Rescue Party: CNRP) ซึ่งเป็นพรรคคู่แข่งที่สำคัญที่สุดในปี 2017

จากนั้นก็สั่งจับกุมแกนนำพรรคฝ่ายค้านด้วยข้อหาต่างๆ นานาที่พึงจะไปขุดไปคุ้ยมา

ผลที่ตามมาคือ นักการเมืองโดดเด่นที่อาจจะท้าทายอำนาจรัฐได้ต้องหลบลี้หนีภัยทางการเมืองไปอยู่ต่างประเทศ

ไม่แต่เท่านั้น ฮุน เซน ยังใช้มาตรการต่างๆ เพื่อลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองอย่างกว้างขวาง

ใครหรือองค์กรใดทำท่าว่าจะมีความเห็นที่คัดค้านหรือจะตรวจสอบรัฐบาลก็จะถูกบีบบังคับให้หายไป

สื่ออิสระถูกปิดหรือควบคุมอย่างใกล้ชิด

องค์กรเอ็นจีโอทั้งในและต่างประเทศรายงานเกี่ยวกับการคุกคามองค์กรสิทธิมนุษยชน สหภาพการค้า และองค์กรพัฒนาเอกชนเป็นประจำถูกจำกัดกิจกรรม

ทางการกัมพูชาก็จะออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านั้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

แต่ไม่เคยยอมให้มีการถกแถลงข้อกล่าวหาเหล่านั้นอย่างเปิดเผยและจริงจัง

ผู้เห็นต่างทางการเมืองจึงเป็นศัตรูกับอำนาจรัฐ

อาจจะเป็นเพราะฮุน เซน ต้องการจะให้ลูกชายก้าวขึ้นมามีอำนาจอย่างไร้อุปสรรคขัดขวางใดๆ ทั้งสิ้น

และนั่นคือจุดอ่อนที่สำคัญสำหรับฮุน มาเนต เพราะเมื่อทุกอย่างราบรื่นเช่นนี้ ย่อมไม่อาจจะพิสูจน์ว่าหากผู้นำคนใหม่ต้องเผชิญกับความท้าทายในสภาพความเป็นจริงของการบริหารบ้านเมืองแล้ว จะมี “ภูมิต้านทาน” มากน้อยเพียงใด

ก่อนจะส่งมอบอำนาจต่อให้ลูกชาย ฮุนเซน ประกาศทางโทรทัศน์แห่งชาติว่า "ผมต้องเสียสละ และปล่อยมือจากอำนาจได้แล้ว"

ฮุน เซน บอกประชาชนคนกัมพูชาว่า

"ผมได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุนี และประกาศว่า ผมจะไม่ดำรงตำแหน่งนายกฯ อีกต่อไป"

และเสริมต่ออย่างชัดเจนว่า ฮุน มาเนต  จะเข้ารับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ 10 ส.ค.นี้

และเข้าปฏิญาณตนเป็นนายกฯ ในวันที่ 22 ส.ค.

แต่อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่า ฮุน เซน จะหายไปจากแวดวงการเมือง

เพราะเขาประกาศสำทับว่าจะยังคงเป็นหัวหน้าพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ต่อ

อีกทั้งยังจะรักษาสถานภาพเป็นสมาชิกสภาแห่งชาติ

และต้องไม่ลืมว่าเขาเคยพูดเอาไว้ก่อนหน้านี้ ถ้าลูกชายไม่สามารถทำหน้าที่ผู้นำประเทศตามความคาดหวังของประชาชน  ตัวเขาเองก็จะหวนกลับมาบริหารประเทศอีกครั้ง

นั่นแปลว่ามีเขาคนเดียวเท่านั้นที่สามารถจะบอกว่าจะลงจากตำแหน่งเมื่อไหร่ จะส่งไม้ต่อให้ใคร หรือจะกลับมาได้อีกวันไหน

ฮุน มาเนต เป็นลูกชายคนโตจากบุตรทั้งหมด 5 คนของฮุน เซน โดยฮุน มาเนต  เข้าร่วมกองทัพกัมพูชาในปี 1995

และได้ไปเรียนต่อด้านการทหารที่สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร

เขาเป็นคนเขมรคนแรกที่เรียนจบจากโรงเรียนทหารเวสต์พอยต์ อันมีชื่อเสียงก้องโลกของอเมริกาในปี 1999

ฮุน มาเนต คงเตรียมตัวเป็นผู้นำประเทศตั้งแต่ยังเป็นหนุ่ม เพราะเขาไม่ได้เรียนเฉพาะด้านทหาร แต่ยังศึกษาได้ปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก เมื่อปี 2002 และปริญญาเอกในด้านเศรษฐศาสตร์เช่นกัน จากมหาวิทยาลัยบริสตอลที่อังกฤษในปี 2008

ฮุน มาเนต แต่งงานกับพิช ชานโมนี บุตรสาวของนักการเมืองคนสำคัญในกัมพูชา มีบุตรด้วยกัน 3 คน

เกือบจะไม่ต้องออกแรงไต่เต้าในกองทัพเพราะเขาได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งสำคัญๆ เกือบจะทันทีที่เรียนจบมา

โดยเป็นรองผู้บัญชาการกองกำลังอารักขานายกรัฐมนตรีฮุน เซน ผู้เป็นพ่อ

ต่อมาก็เลื่อนเป็นผู้บัญชาการหน่วยต่อต้านก่อการร้าย

ตามมาด้วยตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพ

และรองผู้บัญชาการทหารสูงสุดกัมพูชา

พร้อมๆ กันนั้นเขาก็มีเส้นทางการเมืองคู่ขนานไปด้วย

โดยเป็นหัวหน้าปีกคนรุ่นใหม่ภายในพรรคประชาชนกัมพูชา และเป็นกรรมาธิการสามัญประจำสภาด้วย

ความที่เป็นเพื่อนบ้านของไทย การที่กัมพูชามีผู้นำคนใหม่ที่มีความใกล้ชิดกับกลุ่มการเมืองไทย รวมถึงคุณทักษิณ ชินวัตร จึงเป็นเรื่องที่น่าติดตามว่าจะมีแนวทางของความสัมพันธ์กันอย่างไร.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ

แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ

เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง

พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์

ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด

เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!

อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว