หลังจากที่รัฐบาลได้รับพระราชทาน “พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศสละราชสมบัติ” รัฐบาลได้ออก “คำแถลงการณ์ของรัฐบาลเกี่ยวกับการสละราชสมบัติ” ให้ประชาชนได้รับทราบ และคณะรัฐมนตรีได้เสนอเรื่องต่อสภาผู้แทนราษฎร
ก่อนหน้าที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงสละราชสมบัติ พระองค์ได้เสด็จยังต่างประเทศ และได้ทรงแต่งตั้งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2477 และเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ทรงยืนยันว่าพระองค์ได้ทรงพ้นตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปพร้อมกับการสละราชสมบัติ และการตั้งผู้ครองราชย์สมบัติสืบต่อจากพระองค์นั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงได้มีกระแสรับสั่งว่า พระองค์ทรงสละสิทธิ์ที่จะตั้งผู้ครองราชย์สมบัติสืบต่อจากพระองค์
ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันเสาร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 ได้มีการอภิปรายเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรต่อกรณีการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้เขียนได้นำเสนอคำแนะนำที่หม่อมเจ้าวรรณไวทยากรฯทรงประทานให้แก่ที่ประชุมสภาฯ นั่นคือ สภาผู้แทนราษฎรไม่มีอำนาจในการรับหรือไม่รับการสละราชสมบัติ เพราะพระบาทสมเด็จพระปกเล้าฯทรงสืบราชสมบัติต่อจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระองค์มีสิทธิ์ที่จะสละราชสมบัติโดยไม่จำเป็นต้องขอการอนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น สิ่งที่สภาผู้แทนราษฎรจะทำได้คือรับทราบการสละราชสมบัติเท่านั้น ส่วนในกรณีพระมหากษัตริย์พระองค์ต่อไป หม่อมเจ้าวรรณไวทยากรทรงให้ความเห็นว่า “ส่วนพระองค์ต่อไปซึ่งจะขึ้นครองราชสมบัติ ก็ด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร”
หลังจากมีการอภิปรายไปพอสมควร เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ รัฐมนตรีกระทรวงวัง กล่าวว่า “ผู้ที่จะสืบราชสันตติวงศ์ของพระมหากษัตริย์ตามกฎมณเฑียรบาลตามที่สมเด็จกรมพระนริศฯ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ผู้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะสละราชสมบัติ/ผู้เขียน) ได้ทรงสืบสวนแล้ว ได้แก่ สมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงสงขลาฯ ซึ่งได้สิ้นพระชนม์แล้ว กับมีพระราชโอรส คือ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล นั้นเป็นผู้สืบราชสันตติวงศ์ของพระมหากษัตริย์ตามกฎมณเฑียรบาล ตามที่ได้แจกไปให้ท่านแล้ว”
หลังจากนั้น มีการอภิปรายต่อไป จนเกิดข้อถกเถียงว่า สภาผู้แทนราษฎรไม่จำเป็นต้องเลือกกษัตริย์ตามกฎมณเฑียรบาล เพราะสภาผู้แทนราษฎรทรงไว้ซึ่งอำนาจสูงกว่ากฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ พ.ศ. ๒๔๖๗ สภาผู้แทนราษฎรจะเลือกเจ้านายพระองค์ใดก็ได้
และมีการสอบถามเกี่ยวกับผลการเข้าเฝ้าสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้าเมื่อวันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ และการไปเฝ้าพระองค์เจ้าอานันฯ ที่สวิทเซอร์แลนด์ ซึ่ง น.ต. หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ร.น. รัฐมนตรี เป็นผู้กล่าวตอบ และมีบางส่วนที่ที่ประชุมอนุมัติไม่ให้บันทึกลงไปในรายงานการประชุม และยังมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนหนึ่งที่เห็นด้วยกับข้อเสนอของ ร.ท. ทองดำ คล้ายโอภาส ผู้แทนราษฎรจังหวัดปราจีนบุรีที่ว่า ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรควรเลือกพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว
หลังจากที่ผู้รักษาการประธานสภาฯ ได้เตือนให้อภิปรายอยู่ในประเด็น “อย่าออกให้กว้างเกินไป” นายไต๋ ปาณิกบุตร ผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร กล่าวว่า “ที่จริง ข้าพเจ้าไม่เห็นว่ากว้างอะไรเลย อย่าลืมว่าเราเลือกพระเจ้าแผ่นดิน เราไม่ใช่เลือกนักการ เราจะได้ว่ากันเร็วๆ และขอเรียนว่า ในระเบียบวาระที่ส่งมานี้ ให้เวลาเราน้อยเหลือเกิน เราไม่มีโอกาสจะอภิปรายกันในเวลาอื่น เพราะฉะนั้น จำเป็นจะต้องพูดกันให้มากมาย ถ้าเรื่องสำคัญของประเทศ เราจะมารวบรัดกันแล้ว ข้าพเจ้าเห็นว่า ไม่เป็นประโยชน์อะไรเลย การเลือกพระเจ้าแผ่นดินทั้งที จะได้ประโยชน์อะไร ข้าพเจ้าไม่เห็นประโยชน์อะไรเลย ข้าพเจ้าขอประทานเรียนต่อเพื่อนสมาชิกว่า เราควรจะถือเรื่องนี้เป็นข้อสำคัญที่สุดของสภาฯ”
ผู้รักษาการแทนประธานสภาฯ กล่าวว่า “ตามที่ข้าพเจ้าเข้าใจนั้น ไม่ใช่ว่าจะรวบรัด แต่ว่า อยากจะให้พูดกันให้เข้ารูป เราควรจะต้องอภิปรายถึงว่า พระองค์นี้ทำไมถึงไม่สมควร (พระองค์เจ้าอานันทมหิดล/ผู้เขียน) จะเป็นเด็กหรืออะไรก็ตาม เชิญท่านอภิปรายต่อไป ถ้ามีความประสงค์”
นายไต๋ ปาณิกบุตร ผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร กล่าวว่า
“ข้าพเจ้าขอประทานกราบเรียนว่าหลักที่ข้าพเจ้าพูดนี้ คิดได้ในเวลานี้เท่านั้น ข้าพเจ้าไม่มีเวลาที่จะร้อยกรองหรือเตรียมตัวอะไรเลย ที่ข้าพเจ้าพูดนั้น จำเป็นจะต้องอธิบายให้เข้าใจเสียก่อนว่า การเลือกพระเจ้าแผ่นดินนั้นสำคัญมาก เพราะจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินในประเทศซึ่งข้าพเจ้าอยู่ทั้งที จะไม่ให้ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างไรได้ เพราะว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ของประเทศสยาม ข้าพเจ้ามีความเห็นอย่างไร ข้าพเจ้าก็พูดอย่างนั้น ข้าพเจ้าไม่มีอาณัติจากเจ้านายพระองค์ใดและไม่มีการเกลียดชังอะไรเป็นส่วนตัว นี่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการเลือกเหมือนกัน ข้าพเจ้าเห็นว่าการที่จะมีพระเจ้าแผ่นดินเด็กๆเวลานี้มันก็เท่ากับที่ท่าน......ข้าพเจ้าไม่อยากจะพูดคำแรงๆมากไป เพราะมีผู้พูดกันแล้ว อย่างที่ท่านสมาชิกจังหวัดปราจีนฯพูดนั้นจับใจอย่างยิ่ง เช่นว่า เปรียบเหมือนเรือที่ไม่มีหางเสือ เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าขอเสนอให้คิดให้มากๆ ในข้อนี้ เราไม่มีทางที่จะรวบรวมกันได้ ไปกันคนละทางสองทาง เพราะฉะนั้น หมดปัญญา ไม่รู้จะทำอย่างไรได้ ข้าพเจ้าไม่มีความเห็นว่าจะเลือกพระมหากษัตริย์ที่ยังทรงพระเยาว์อยู่ ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ เพราะฉะนั้น ในมาตรา ๙ นี้ เราควรจะได้ปรึกษากันว่า ข้าพเจ้าขอเสนอให้วางหลักเกณฑ์ก่อนว่า ควรจะวางหลักว่า ความเห็นของสภาผู้แทนราษฎรนั้นในขณะนี้ ประเทศสยามยังไม่ควรมีพระมหากษัตริย์ที่เป็นเด็ก ข้าพเจ้าอยากจะวางหลักเกณฑ์เสียก่อนแล้ว จึงจะอภิปรายกันต่อไป ใครเห็นด้วย โปรดรับรอง”
ร.ท. ทองดำ คล้ายโอภาส หลวงนรินทรประสาตร์เวช รับรอง
น.ต. หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ร.น. รัฐมนตรี กล่าวว่า “ที่ข้าพเจ้ายกขึ้นกล่าวในทีนี้ ก็มีความประสงค์ว่า บัดนี้ เรามีบัญชีอยู่เฉพาะหน้า และในบัญชีนี้ ก็มีบุคคลซึ่งนามต่างๆลดหลั่นกันลงมา ข้าพเจ้าได้รับมอบหมายให้มาชี้แจงในที่ประชุมนี้ ซึ่งจะได้ให้เหตุผลในภายหลัง ส่วนความจริงก็ไม่สู้จะเกี่ยวข้อง คือ หมายเลข ๑๗ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ท่านผู้นี้ได้มาหาข้าพเจ้า และแสดงความประสงค์แน่ชัดว่า ถ้าหากว่าสภาฯจะได้แนะนำและเสนอท่านขึ้นเพื่อเป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ท่านเสียใจที่ท่านจะรับไม่ได้ ท่านมีความเห็นว่า ท่านอยากจะให้เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเป็นความประสงค์ของประชาชนทั่วไป และรัฐบาลนั้นเป็นการดี การที่กล่าวเช่นนี้นั้น ความจริง ใช่จะเป็นการบังคับสภาฯอย่างไรหามิได้ สภาฯย่อมจะมีความเห็นชอบท่านพระองค์ใดก็ได้ เมื่อเห็นชอบแล้ว ก็น่าจะเจรจากับท่านพระองค์นั้นต่อไป ที่ข้าพเจ้ากล่าวเดี๋ยวนี้ ใช่ว่าจะได้ท่านมาเป็นพระเจ้าแผ่นดินก็หาไม่ ถ้าท่านไม่สมัครแล้ว เราจะได้ผลสมหวังอย่างไร เพราะฉะนั้น เราจะต้องพิจารณาเป็นลำดับ ข้าพเจ้าขอประทานเสนอเพื่อเป็นเครื่องดำริของสมาชิกทั่วไป ดังนี้ ก็แล้วแต่ที่ประชุมจะดำริต่อไปอย่างไร”
ร.ต. ถัด รัตนพันธุ์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า
“ข้าพเจ้าเป็นผู้แทนราษฎรผู้หนึ่ง ซึ่งราษฎรได้เลือกมา ข้าพเจ้ามีความคิดความอ่านเท่ากับคนอื่นเหมือนกัน ข้าพเจ้าเห็นว่า ตามที่มีรายนามสำหรับเลือกพระมหากษัตริย์นี้ เห็นว่าควรจะเป็นไปตามกฎมณเฑียรบาล เพราะรัฐธรรมนูญปรากฏชัดอยู่ว่า พระองค์เจ้าอานันทมหิดลนั้นเป็นผู้อยู่ต้นที่สุด ก็ควรจะเป็นพระมหากษัตริย์ ถึงแม้ว่าจะเด็กก็ตาม แต่ว่าเราอาจจะมีผู้รักษาราชการแทนพระองค์ได้ ผู้รักษาราชการนั้นไม่จำเป็นจะต้องมีคนเดียว เราอาจจะตั้งเป็นคณะก็ได้ นี่ความเห็นของข้าพเจ้าเป็นดังนี้”
นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า
“ในหลักการที่ผู้แทนพระนครเสนอว่า เราควรจะวางหลักเกณฑ์กันเสียก่อนว่า เราควรจะเลือกพระมหากษัตริย์ที่เป็นผู้เยาว์หรือไม่ นั่นที่จริงก็เป็นวิธีการที่ดีอยู่ พอจะรวบรัดปัญหาในข้อนั้นได้ แต่ว่าเราจะวางหลักเกณฑ์ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหาได้ไม่ ที่เราจะวางหลักเกณฑ์เช่นนั้นไม่ได้ ถึงแม้ว่าผู้แทนพระนครเสนอเป็นวิธีที่ดี ข้าพเจ้าเห็นชอบด้วย แต่ข้าพเจ้าก็ไม่สามารถจะปฏิบัติตามได้ เพราะขัดกับรัฐธรรมนูญ เมื่อรัฐธรรมนูญมีว่าสืบราชสมบัติจะต้องเป็นไปตามกฎมณเฑียรบาล เราก็จะต้องพิจารณาเป็นรายองค์ไป มีเกณฑ์ที่เราจะวางว่า เมื่อถึงลำดับนั้น เราสมควรที่จะเลือกพระมหากษัตริย์ที่เป็นผู้เยาว์หรือไม่ เมื่อเราเห็นว่า พระองค์นั้นเป็นผู้เยาว์ เราก็ไม่เลือกก็แล้วกัน เมื่อปัญหามาเฉพาะหน้า และวางวงแคบเช่นนั้น จะควรหรือไม่ควรเพียงใด โดยเฉพาะข้าพเจ้าแล้ว ไม่มีส่วนได้เสีย และไม่เคยรู้จักหน้าค่าตาของพระองค์ใดทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่ขอออกความเห็นในทีนี้”
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 37): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 36): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 47: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับคณะรัฐมนตรีและชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 46: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับคณะรัฐมนตรีและชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 34): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490