“การเปลี่ยนแปลงในปี 2475 มีใครเกี่ยวข้องนิดเดียว กลุ่มข้าราชการนิดเดียวไม่เกี่ยวกับคนนอกวงราชการด้วยนะ...แต่เพียงวงกระจิ๋วเดียวกลุ่มข้าราชการวงเล็กๆ ไม่ใช่ว่ามีพ่อค้า ประชาชน….” [1]
การเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยในปี พ.ศ.2475 แตกต่างจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศตะวันตกที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาระบอบการปกครองเสรีประชาธิปไตยให้มีเสถียรภาพมั่นคง ตรงที่คณะราษฎรในฐานะกลุ่มการเมืองที่เป็นตัวแสดงทางการเมืองที่สำคัญทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยปราศจากการรับรู้และการมีส่วนร่วมสนับสนุนของประชาชนคนส่วนใหญ่
ด้วยเหตุนี้ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะราษฎรจึงพยายามที่จะจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้น ในนามของสมาคมคณะราษฎรโดยเปิดให้ประชาชนได้สมัครเข้าเป็นสมาชิก แม้ว่าจะมีประชาชนสมัครเป็นสมาชิกจำนวนนับหมื่นคน แต่ตามหลักฐานข้อมูลประวัติศาสตร์ไม่ได้บ่งชี้ว่าในสมาชิกจำนวนหนึ่งหมื่นคนนั้น ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกที่มีอุดมการณ์เป้าหมายร่วมกับสมาคมคณะราษฎรในการที่จะร่วมส่งเสริมสนับสนุนอุดมการณ์เป้าหมายของสมาคมคณะราษฎรอย่างแท้จริง โดยเฉพาะบรรดาข้าราชการที่สมัครเป็นสมาชิกจำนวนมากต้องการใช้สมาคมเป็นช่องทางแสดงความภักดีต่อระบอบใหม่ เพื่อความมั่นคงในอาชีพ [2] หรือหวังประโยชน์ส่วนตน เช่น ยื่นใบสมัครมาเพื่อต้องการให้คณะราษฎรหางานให้ทำ [3] แต่ก็มีบ้างที่เป็นสมาชิกที่ตื่นตัวทางการเมืองและเชื่อมั่นในการเปลี่ยนแปลงการปกครองตามอุดมการณ์ของสมาคมคณะราษฎร [4]
ขณะเดียวกัน เมื่อมีคณะบุคคลอื่นต้องการจะจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้น อย่างเช่น สมาคมคณะชาติ ที่ต้องการจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อทัดทานหรือเป็นฝ่ายตรงข้ามกับสมาคมคณะราษฎร คณะราษฎรที่ครองอำนาจทางการเมืองอยู่ในขณะนั้นก็ปฏิเสธที่จะให้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองอื่นขึ้นนอกเหนือจากสมาคมคณะราษฎรของตน โดยให้เหตุผลว่าเกรงประชาชนจะสับสน ซึ่งทั้งฝ่ายคณะราษฎรแลฝ่ายที่ต้องการจัดตั้งสมาคมคณะชาติต่างมีความหวาดระแวงสงสัยในเจตนาทางการเมืองที่แท้จริงของแต่ละฝ่ายเกี่ยวกับเป้าหมายของระบอบการปกครอง
อาจกล่าวได้ว่า สมาคมคณะราษฎรระแวงว่าสมาคมคณะชาติจะมีเป้าหมายนำระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กลับมา ส่วนสมาคมคณะชาติก็ระแวงสมาคมคณะราษฎรว่า จะไปไกลเกินว่าระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ นั่นคือ ไปถึงสาธารณรัฐ
ในที่สุด การจัดตั้งพรรคการเมืองไม่ว่าจะเป็นของฝ่ายคณะราษฎรเองหรือสมาคมคณะชาติได้ถูกปฏิเสธจากผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยเหตุผลที่ว่า การให้มีพรรคการเมืองในเวลานั้นจะนำมาซึ่งความขัดแย้งแตกแยกอันรุนแรงจนนำไปสู่สภาวะอนาธิปไตยได้ ดังที่ปรากฏในประเทศเยอรมนีในเวลานั้น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะไม่มีการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นอย่างเป็นทางการตามกฎหมาย แต่คณะราษฎรก็เป็นคณะบุคคลที่ครองอำนาจทางการเมืองแต่ฝ่ายเดียวมาจนถึงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และภายในช่วงเวลาตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจนถึงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ได้มีความพยายามที่จะให้มีกฎหมายพรรคการเมือง แต่ไม่สำเร็จ ทั้งที่ในทางปฏิบัติก็ได้เกิดการรวมตัวของนักการเมืองเป็นกลุ่มก้อนขึ้นแล้ว จนเมื่อมีการแก้ไขและร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พ.ศ. 2489 ได้มีการบรรจุข้อความในรัฐธรรมนูญให้สิทธิเสรีภาพแก่บุคคลในการรวมตัวเป็นพรรคการเมืองได้ และมีการร่างพระราชบัญญัติพรรคการเมืองขึ้น
ทั้งนี้เหตุผลสำคัญนอกจากจะเป็นการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของบุคคลในการรวมตัวเป็น พรรคการเมืองตามหลักการในระบอบเสรีประชาธิปไตยแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่า รัฐบาลและผู้มีอำนาจทางการเมืองในขณะนั้นเห็นว่า การให้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นจะทำให้ฝ่ายตนได้เปรียบ
เพราะนักการเมืองข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรที่แยกกันไปรวมตัวเป็นพรรคการเมืองสามพรรค อันได้แก่ พรรคสหชีพ พรรคแนวรัฐธรรมนูญและพรรคอิสระต่างสนับสนุนผู้นำทางการเมืองคนเดียวกันให้เป็นนายกรัฐมนตรี นั่นคือ นายปรีดี พนมยงค์ แทนที่จะสนับสนุนหัวหน้ากลุ่มของตน
ซึ่งการมีพรรคการเมืองสามพรรค แต่สนับสนุนผู้นำคนเดียวกันให้เป็นนายกรัฐมนตรีนั้นแสดงให้เห็นว่าทั้งสามพรรคนั้นยึดโยงกับตัวบุคคลมากกว่าจะมีอุดมการณ์เป้าหมายที่เป็นของแต่ละพรรคโดยเฉพาะ
จะสังเกตได้ว่า ปรากฎการณ์ของการมีหลายพรรคการเมืองแต่สนับสนุนผู้นำทางการเมืองคนเดียวกันให้เป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงเวลานั้น ยังจะพบได้ในเวลาต่อมาจนถึงการเมืองในปัจจุบัน ที่มีพรรคการเมืองหลายพรรคสนับสนุนผู้นำทางการเมืองคนเดียวให้เป็นนายกรัฐมนตรีแทนที่จะสนับสนุนหัวหน้าพรรคของตน
อาจกล่าวได้ว่า ปรากฎการณ์ทางการเมืองของความสัมพันธ์ระหว่างนายปรีดี พนมยงค์และพรรคการเมืองทั้งสามภายใต้เขา ได้กลายเป็นตัวแบบที่ทำตามกันมาจนถึงปัจจุบัน และเมื่อนายปรีดีต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ พรรคการเมืองเหล่านั้นก็สลายตัวตามไป แสดงให้เห็นว่า สมาชิกในกลุ่มการเมืองเหล่านั้นมิได้รวมตัวกันโดยมีเป้าหมายและอุดมการณ์ร่วมกันอย่างแท้จริงเท่ากับการรวมตัวกันเพื่อสนับสนุนตัวบุคคลหนึ่งและต่อต้านตัวบุคคลของฝ่ายตรงข้าม
อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งพรรคการเมืองตามกฎหมายต้องมีอันต้องยุติไปจากสาเหตุการทำรัฐประหารเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ซึ่งต่อมาจวบจนถึงปัจจุบัน รัฐประหารก็ยังเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้พัฒนาการของพรรคการเมืองไม่มีความต่อเนื่องจนสามารถเป็นสถาบันทางการเมืองได้
หลังจากรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ต่อมาหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2494 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 ฉากหน้าของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เปิดโอกาสให้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองได้ แต่ได้กำหนดเงื่อนไขไว้ว่าจะต้องเป็นไปภายใต้บังคับแห่งบทกฎหมาย ซึ่งหมายความว่าการจัดตั้งพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีการตราและประการใช้พระราชบัญญัติพรรคการเมืองเสียก่อน
แต่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายรัฐบาลได้ต่อต้านความพยายามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ผลักดันให้มีการตราพระราชบัญญัติพรรคการเมือง โดยฝ่ายรัฐบาลได้ให้เหตุผลว่า รัฐธรรมนูญได้อนุญาตให้มีการรวมตัวเป็นพรรคการเมืองได้อยู่แล้ว แต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายเรียกร้องให้มีการตราพระราชบัญญัติพรรคการเมืองได้แย้งว่า แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะอนุญาต แต่รัฐบาลไม่ยอมยกเลิกประกาศกระทรวงมหาดไทยภายใต้คณะรัฐประหาร 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 ที่ห้ามมิให้ชุมนุมทางการเมือง
สาเหตุที่ฝ่ายรัฐบาลไม่ต้องการให้มีพระราชบัญญัติพรรคการเมือง เป็นเพราะฝ่ายรัฐบาลได้เปรียบทางการเมืองอยู่แล้ว และไม่ต้องการให้สมาชิกฝ่ายค้านสามารถรวมตัวกันเป็นพรรคการเมืองที่มีกฎหมายรองรับและคุ้มครอง
การปฏิเสธร่างพระราชบัญญัติพรรคการเมืองขณะนั้นถือเป็นการบั่นทอนให้ฝ่ายค้านอ่อนกำลังและต้องคอยระวังตัวในการเคลื่อนไหวทางการเมือง ความพยายามที่จะให้มีการตราและประกาศใช้พระราชบัญญัติพรรคการเมืองไม่ประสบความสำเร็จจนกระทั่งในปี พ.ศ. 2498 แต่ครั้งนี้ ฝ่ายรัฐบาลเองกลับเป็นผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติพรรคการเมืองโดยสาเหตุสำคัญประการหนึ่งคือปัจจัยทางการเมืองระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาพที่ปรากฏให้เห็นจากสาระเงื่อนไขในการจัดตั้งพรรคการเมืองในพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2498 จะสอดคล้องกับเงื่อนไขตามทฤษฎีการปกครองแบบผสม
นั่นคือ การให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้ก่อตั้งและคณะผู้ก่อตั้งพรรคการเมืองกับประชาชนคนส่วนใหญ่ โดยกำหนดเงื่อนไขในการจดทะเบียนพรรคการเมืองว่า จะต้องหารายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง เป็นจำนวน ถึง 500 คนหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 10 คน ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนไม่น้อย หากรายชื่อจำนวน 500 คนหมายถึงประชาชนผู้มีความสนใจมุ่งมั่นร่วมเป้าหมายและอุดมการณ์ของพรรค แต่กระนั้น ก็ยังมีพรรคการเมืองที่จดทะเบียนได้ตามเกณฑ์ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก
แต่เมื่อเกิดปัญหากับหัวหน้าพรรค พรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงเลือกตั้งทั่วไปมากที่สุด
อย่างพรรคเสรีมนังคศิลาก็เสื่อมสลายไปหลังจากที่หัวหน้าและคนระดับรองหัวหน้าอย่างพรรค จอมพล ป พิบูลสงครามและพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์หลบหนีออกไปนอกประเทศ
การจัดตั้งพรรคการเมืองตามกฎหมายก็กลับมิได้เป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมืองกับสมาชิกพรรคหรือประชาชนได้แต่อย่างไร แต่กลับเป็นการส่งเสริมการรวมตัวของนักการเมืองให้เป็นกลุ่มก้อนภายใต้ผู้มีอำนาจทางการเมืองที่เป็นเอกบุคคลหรือคณะบุคคล และทำให้ผู้มีอำนาจหรือคณะบุคคลสามารถควบคุมนักการเมืองต่างๆที่มาเข้าสังกัดได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยเน้นไปที่การตอบแทนผลประโยชน์ส่วนตัวกันมากกว่าจะเป็นการมีอุดมการณ์ทางการเมืองร่วมกัน
ปรากฎการณ์ดังกล่าวภายใต้การมีพระราชบัญญัติพรรคการเมืองฉบับแรกก็ยังคงสืบทอดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการบังคับให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องสังกัดพรรคตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 เป็นต้นมาพรรคการเมืองไทยจึงเป็นการรวมตัวของกลุ่มคนโดยยึดไปที่ประโยชน์ที่จะได้จากตัวหัวหน้าพรรค หรือบุคคลระดับแกนนำของพรรคมากว่าจะยึดมั่นในเป้าหมายและอุดมการณ์ของพรรค หลังประกาศใช้พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2498 หัวหน้าพรรคและบุคคลระดับแกนนำของพรรคการเมืองที่ทรงอิทธิพล คือ ผู้นำฝ่ายทหารและตำรวจ พรรคการเมืองที่มีบทบาทสำคัญล้วนแต่เป็นพรรคการเมืองที่มีผู้นำทหารเป็นหัวหน้าพรรคหรือสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง และผู้นำทหารที่มีอำนาจทางการเมืองก็จัดตั้งพรรคการเมืองที่สนับสนุนพวกตนมากกว่าหนึ่งพรรค ไม่ต่างจากในสมัยที่พลเรือนอย่างนายปรีดี พนมยงค์เป็นผู้นำทางการเมืองที่ทรงอำนาจอิทธิพลทางการเมือง และพรรคการเมืองเหล่านี้ก็ยุติบทบาทไปทันทีเมื่อผู้นำที่พวกเขายึดถือสิ้นอำนาจไป
อีกทั้งปรากฎการณ์ความเคลื่อนไหวของนักการเมือง การจัดตั้งพรรค การย้ายพรรค และยุบเพื่อไปรวมเป็น/กับพรรคการเมืองใหม่ในช่วงหลังประกาศใช้พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2498 และหลังการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2500 และวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500 ได้เป็นปรากฎการณ์ที่ให้กำเนิดตัวแบบของการเป็นพรรคการเมืองตามกฎหมายที่ไม่มีอุดมการณ์ทางการเมืองแต่ยึดติดกับเอกบุคคลและ/หรือคุณะบุคคลผู้มีอำนาจ: วงจรอุบาทว์ของพรรคการเมืองไทย (vicious cycle of Thai political party)
[1] ศราวุฒิ วิสาพรม, “ฝูงชนในเหตุการณ์ ‘ปฏิวัติสยาม 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475,’” ศิลปวัฒนธรรม, 35 (8) (มิถุนายน พ.ศ. 2557), น. 90; กิตติศักดิ์ เจิมสิทธิประเสริฐ, “การปฏิวัติสยาม: รากเหง้า/รากเน่า ประชาธิปไตยไทย,” วารสารร่มพฤกษ์, 26 (1) (ตุลาคม พ.ศ. 2550 - มกราคม พ.ศ. 2551), น. 177-181; นคินทร์ เมฆไตรรัตน์, ความคิด ความรู้ และอำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475 (กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน: 2546), น. 54-62. อ้างใน ภูริ ฟูวงศ์เจริญ (2560). “คณะการเมือง” หลังการปฏิวัติสยาม: พลวัต พัฒนาการ และชะตากรรมของระบบไร้พรรคฃ,” กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หน้า 35.
[2] ภูริ ฟูวงศ์เจริญ (2560). “คณะการเมือง” หลังการปฏิวัติสยาม: พลวัต พัฒนาการ และชะตากรรมของระบบไร้พรรคฃ,” กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หน้า 68.
[3] ภูริ ฟูวงศ์เจริญ (2560). “คณะการเมือง” หลังการปฏิวัติสยาม: พลวัต พัฒนาการ และชะตากรรมของระบบไร้พรรคฃ,” กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หน้า 66-67.
[4] ภูริ ฟูวงศ์เจริญ (2560). “คณะการเมือง” หลังการปฏิวัติสยาม: พลวัต พัฒนาการ และชะตากรรมของระบบไร้พรรคฃ,” กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หน้า 69.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เพจพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ปลื้ม ‘คนคุณภาพประชาธิปัตย์’ ได้เป็นขรก.การเมือง
เฟซบุ๊กเพจ พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความว่า ครม. เห็นชอบ แต่งตั้ง “คนคุณภาพประชาธิปัตย์” เป็นข้าราชการการเมือง สังกัด ทส. และ สธ.
เอ็มโอยู44-เอื้อนายทุน จุดจบรัฐบาลไม่ครบเทอม
หากอ้างอิงข้อมูลจากนิด้าโพลเมื่อวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา หัวข้อ รัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์ อยู่ครบเทอมหรือไม่ โดยประชาชนมากกว่า 57.71% มองว่าอยู่ไม่ครบเทอม ประกอบด้วยสัดส่วนร้อยละ
‘พล.ร.อ.พัลลัภ’ เตือนภัย กับดักบันได 3 ขั้น พ่ายเขมรเสียดินแดน..!! I อิสรภาพแห่งความคิด กับ..สำราญ รอดเพชร
อิสรภาพแห่งความคิด กับ..สำราญ รอดเพชร : วันเสาร์ที่ 02 พฤศจิกายน 2567
'เทพไท' เรียกร้องนิรโทษกรรมทุกกลุ่ม รวมคดี 112 ด้วย
นายเทพไท เสนพงศ์ อดีตสส.นครศรีธรรมราช โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง "พรบ.นิรโทษกรรม:ปรองดองจริงหรือ?" ระบุว่ากรณีนายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการยื่นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.
ด้อมส้วมดิ้น! 'เพนกวิน' ย้อนพรรคส้ม ไม่ควรฟ้องปิดปากประชาชน
นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน ผู้ต้องหาคดี 112 ซึ่งหลบหนีออกไปต่างประเทศ โพสต์เฟซบุ๊กกล่าวถึงกรณีที่พรรคประชาชนประกาศว่า จะดำเนินการฟ้องร้องประชาชน
‘พล.ร.อ.พัลลัภ’ เตือนภัย กับดักบันได 3 ขั้น พ่ายเขมรเสียดินแดน..!! | อิสรภาพแห่งความคิด กับ..สำราญ รอดเพชร
อิสรภาพแห่งความคิด กับ..สำราญ รอดเพชร : วันเสาร์ที่ 2 พฤศจิกายน 2567