ฉากทัศน์ทางเศรษฐกิจกับการจัดตั้งรัฐบาล

ต้องยอมรับว่า สถานการณ์การฟอร์มทีมรัฐบาลดูเหมือนจะกลายเป็นยืดเยื้อไปเสียแล้ว แม้ว่าในขณะนี้พรรคอันดับ 1 อย่างก้าวไกลที่หมดสิทธิจะเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ได้ส่งไม้ต่อไปยังพรรคอันดับ 2 อย่างเพื่อไทย เพื่อเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว

แต่ดูเหมือนว่า การฟอร์มทีมรัฐบาลในขณะนี้ ไม่ง่าย เนื่องจากทุกฝ่ายกำหนดท่าทีของตัวเอง และกำลังนำพาไปสู่ทางตัน โดยเฉพาะการพลิกขั้ว สลับข้าง ที่แม้ว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น แต่กระแสเสียงของคนในสังคมก็ไม่ยอมรับเท่าไหร่ ดังนั้นจนถึงเวลานี้จึงยังไม่ชัดว่าเพื่อไทยจะเดินเกมอย่างไร ซึ่งต้องจับตาดูกันอย่างใกล้ชิด แบบห้ามกะพริบตาเลยทีเดียว

แต่ในมุมของเศรษฐกิจ การไม่มีรัฐบาลเข้ามารักษาการ ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อการบริหารเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยในมุมมองของภาคเอกชนหลายแห่งก็มีความกังวลว่า การตั้งรัฐบาลล่าช้าจะส่งผลต่อการบริหารของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า รวมถึงการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงแต่ละกระทรวงที่มีคิวจะเกษียณด้วย เพราะรัฐบาลรักษาการคงไม่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งนี่ถือเป็นอุปสรรคอีกประเด็นหนึ่ง รวมถึงยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องการรัฐบาลใหม่มาสานต่อ เช่น การส่งออกที่ลดลง การท่องเที่ยวที่ยังไม่เข้าเป้า

อย่างความเห็นของนักธุรกิจภาคส่งออก อย่างนายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ระบุว่า ทางผู้ประกอบการด้านการส่งออก และนักธุรกิจส่วนใหญ่ หวังให้การเลือกนายกรัฐมนตรีเสร็จสิ้นโดยเร็ว หรือควรมีการโหวตให้เสร็จในการประชุมนัดถัดไปในวันที่ 27 ก.ค.นี้ เพื่อลดความขัดแย้งในประเทศลง

โดยมองว่า เรื่องการเมืองในประเทศเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ต้องจับตามอง อยากให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องบรรลุข้อตกลงร่วมกันโดยเร็ว ไม่ว่าใครจะได้ตำแหน่งก็ขอให้เลือกโดยไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้นมาภายหลัง เพราะเรื่องหลักที่ควรโฟกัสคือทุกคนจะต้องทำงานร่วมกัน เพื่อสู้กับปัจจัยภายนอกรุมเร้ากับเศรษฐกิจไทย ไม่ว่าจะเป็นยุโรป สหรัฐ และจีน เศรษฐกิจยังไม่ค่อยดี ยังติดลบอยู่หลายรายการ จึงอยากให้มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่โดยเร็ว เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปด้วยกันอย่างเร็วที่สุด

ส่วนประเด็นปัญหาแรกที่รัฐบาลชุดใหม่ต้องเร่งเข้ามาแก้ไข ยังคงเป็นเรื่องของราคาพลังงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในช่วงเวลานี้

ที่ต้องฟังและประเมินอีกเช่นกันก็คือ เสียงจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย อย่างนายสนั่น  อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย ที่ระบุว่า สิ่งที่ภาคเอกชนโฟกัสในตอนนี้คือ จะทำอย่างไรให้ได้รัฐบาลใหม่รวดเร็วที่สุด ซึ่งเป็นโจทย์ที่จะทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง และประเมินว่าหากเกิดเหตุไม่คาดคิดหรือมีการแสดงออกทางการเมืองจนนำไปสู่ความรุนแรง ก็คงจะกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการการท่องเที่ยวที่กำลังเติบโตได้ดี หลายครั้งที่จะเห็นสถานทูตหรือรัฐบาลแต่ละประเทศออกคำเตือนนักท่องเที่ยวในการเข้าออกประเทศที่กำลังเกิดสถานการณ์รุนแรง ซึ่งส่วนนี้จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยตรง เอกชนจึงหวังว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้และการจัดตั้งรัฐบาลน่าจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

หอการค้าฯ มองว่าการเลือกนายกรัฐมนตรี รวมถึงการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ควรจะแล้วเสร็จในระหว่างเดือนสิงหาคม-กันยายน ซึ่งยังเป็นช่วงเวลาที่ไม่ถือว่าช้าเกินไป โดยหวังว่าหลังจากนี้ทุกฝ่ายจะมีการหารือและทำความเข้าใจร่วมกันโดยยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อเนื่อง

หรืออย่างนักวิชาการเองอย่างอาจารย์อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยยังประเมินเอาไว้ว่า การตั้งรัฐบาลใหม่ล่าช้ามีผลต่อการส่งออก ซึ่งหากมีการตั้งช้ากว่าเดือนสิงหาคม มีโอกาสเรื่องของการส่งออกของไทยจะติดลบมากถึง 2.5% เลยทีเดียว

นี่คือความสำคัญของการมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ เพราะส่วนหนึ่งเรื่องชีวิต ปัญหาปากท้องรอไม่ได้.

 

ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เร่งเครื่องดึงนักท่องเที่ยว

จากสถานการณ์การท่องเที่ยวไทยในปัจจุบัน กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้ให้ข้อมูลพบว่า ประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสมในช่วงเกือบ 7 เดือนเต็ม ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-28 ก.ค.2567 ทั้งสิ้น 20,335,107 คน

ต้องเร่งแก้ปัญหาปากท้อง

หลังจากนายกรัฐมนตรีหญิง แพรทองธาร ชินวัตร รับตำแหน่งอย่างชัดเจน ทำให้ภาคเอกชนต่างก็ดีใจ เพราะไม่ทำให้ประเทศเป็นสุญญากาศในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสิ่งแรกที่ภาคเอกชนอย่าง

แนะเจาะใจผู้บริโภคด้วย‘ความยั่งยืน’

คงต้องยอมรับว่าประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนได้รับความสนใจมากขึ้นทั้งจากผู้บริโภค ภาคเอกชน และภาครัฐ ส่งผลให้ผู้ประกอบการในภาคธุรกิจจำเป็นต้องมีการปรับตัว

รัฐบาลงัดทุกทางพยุงตลาดหุ้น

หลังจากปล่อยให้ตลาดหุ้นซึมมาอย่างช้านาน จนปัจจุบันอยู่ต่ำกว่า 1,300 จุด เรียกได้ว่าสำหรับนักลงทุนถือเป็นความเจ็บปวด เพราะดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาไม่ได้ไปไหน

ดันอุตฯไทยไปอวกาศ

แน่นอนว่าในยุคที่โลกต้องก้าวหน้าไปสู่อุตสาหกรรมที่ทันสมัยมากขึ้น และต่อไปไม่ได้มองแค่ในประเทศหรือในโลกแล้ว แต่มองไปถึงนอกโลกเลยด้วยซ้ำ เพราะจะเป็นหนึ่งในกลไกในการพัฒนาอุตสาหกรรมภาคพื้นที่มีความแข็งแกร่งส่งผ่านไปยังอุตสาหกรรมอวกาศได้

แบงก์มอง ASEAN ยังมาเหนือ

ยังคงมีอีกหลายประเด็นที่ต้องจับตามองกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งในสถานการณ์โลกและภายในประเทศ ที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจและการค้า โดยมุมมองของ อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ระบุว่า