เมื่อคิสซิงเจอร์วัย 100 เยือนจีน...ผู้คนที่นั่นก็ฮือฮา!

เฮนรี คิสซิงเจอร์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯซึ่งเป็นผู้บุกเบิกความสัมพันธ์กับจีนเมื่อกว่า 50 ปีก่อนวันนี้อายุ 100 พอดี

สัปดาห์ก่อน “คุณปู่เฮนรี” ไปเยือนจีนอีกครั้ง สร้างความฮือฮาให้กับแวดวงคนจีนไม่น้อย

ผู้หลักผู้ใหญ่จีนให้การต้อนรับขับสู้อย่างอบอุ่น มีการรายงานข่าวการมาเยือนอย่างคึกคัก

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงต้อนรับอย่างเอิกเกริก ออกข่าวผ่านสื่อทางการอย่างกว้างขวาง

โดยเฉพาะประโยคที่สี จิ้นผิงบอกกับคิสซิงเจอร์ว่า “ท่านเป็นเพื่อนเก่าของจีน และท่านจะถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯตลอดไป”

ผู้คนบนโซเชียลมีเดียของจีนก็แสดงความทึ่งและชื่นชมที่คิสซิงเจอร์ในวัยนี้ยังมีสามารถสื่อสารและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้นำจีนได้อย่างแหลมคม

เพื่อแสดงความสัมพันธ์กันยาวนานระหว่างคิสซิงเจอร์กับจีน ระดับนำเช่นหวัง อี้, ผู้อำนวยการใหญ่ว่าด้วยนโยบายต่างประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีนต้อนรับด้วยตนเอง

อีกทั้งรัฐมนตรีกลาโหมของจีนก็ให้เข้าพบอย่างเป็นกันเอง

‘หวัง อี้’แสดงอาการปลื้มเป็นพิเศษที่ ‘เฮนรี คิสซิงเจอร์’ เยือนจีนแบบสร้างเซอร์ไพรส์ครั้งนี้

นักการทูตระดับอาวุโสสูงสุดของจีนคนนี้ยังใช้จังหวะนี้สั่งสอนรัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดนว่าวอชิงตันต้องการ “การทูตอันชาญฉลาด” แบบคิสซิงเจอร์

ความหมายก็คือคิสซิงเจอร์เป็นนักการทูตตัวอย่างที่เข้าใจจีน และพยายามจะสานสัมพันธ์กับจีนด้วยการใช้วิธีการถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน

แทนที่จะใช้วิธีการก้าวร้าวและขวานผ่าซากกับปักกิ่ง

คิสซิงเจอร์ไปจีนหลายครั้ง แต่ก็ไปในนามส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับทำเนียบขาว

แม้ว่าจีนจะพยายามใช้โอกาสเช่นนี้ส่งสัญญาณให้รัฐบาลสหรัฐฯได้รับรู้ว่าปักกิ่งพร้อมจะคุยกับอดีตนักการทูตสหรัฐฯคนนี้มากกว่าที่จะต่อสายถึงนักการทูตปัจจุบันของอเมริกาที่ยังขาดความเข้าอกเข้าใจจีนเพียงพอ

คิสซิงเจอร์เองก็พยายามจะเล่นบท “นักวิชาการ-นักคิดอิสระ” ที่หวังจะสามารถทลายกำแพงกั้ที่นสัมพันธ์อันตึงเครียดระหว่าง 2 มหาอำนาจขณะนี้

แต่ปัญหาคือโจ ไบเดนจะฟังคิสซิงเจอร์แค่ไหน และคิสซิงเจอร์เองจะสามารถเป็น “กาวใจ” ได้มากน้อยเพียงใด

หวัง อี้ ซึ่งเคยเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศของจีนและวันนี้ได้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นเป็นมือขวาด้านนโยบายต่างประเทศของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงยกย่องบทบาทของคิสซิงเจอร์ ในการปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลวอชิงตันและรัฐบาลปักกิ่งในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1970

เพราะ “การทูตราชการลับ” ของคิสซิงเจอร์ที่เชื่อมต่อกับผู้นำจีนยุคประธานเหมาเจ๋อตุงทำให้เกิดฉากประวัติศาสตร์ที่ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสันบินมาจีนเพื่อเปิดสัมพันธ์อย่างเป็นทางการเมื่อปี 1972

อันเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สหรัฐฯตัดสัมพันธ์กับไต้หวัน หันมารับรองสาธารณรัฐประชาชนจีนภายใต้นโยบาย “จีนเดียว”

แม้วันนี้จะยังมีประเด็นว่าทำไมสหรัฐฯที่ยอมรับว่าโลกนี้มีจีนเดียว แต่ยังคงสนับสนุนไต้หวันด้วยอาวุธ

อันเป็นประเด็นร้อนแรงของความระหองระแหงระหว่างสองมหาอำนาจ

คิสซิงเจอร์เขียนหนังสือหลายเล่มเกี่ยวกับจีน และจุดยืนของเขายืนอยู่ข้างจีนในเรื่องนี้มาตลอด

ทำให้ผู้นำจีนมองคิสซิงเจอร์เป็นผู้ที่เข้าใจจีนที่สุดคนหนึ่งในบรรดาปัญญาชนและนักคิดนักเขียนตะวันตก

หวัง อี้เรียกอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ผู้อาวุโสคนนี้ว่าเป็น “เพื่อนเก่า” ผู้ซึ่ง “มีบทบาทที่ไม่สามารถทดแทนได้ในการเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างสองประเทศ”

ข้อความนี้ปราฏในแถลงการณ์อย่างเป็นทางการของของกระทรวงต่างประเทศจีนหลังการหารือของทั้งสองที่กรุงปักกิ่ง

หวัง อี้บอกด้วยว่านโยบายสหรัฐฯ ต่อจีนในปัจจุบันนี้ “ต้องการแนวคิดอันเฉียบแหลมทางการทูตสไตล์คิสซิงเจอร์และความกล้าหาญทางการเมืองแบบนิกสัน”

ระดับนำของจีนคนนี้ดูเหมือนจะฝากให้คิสซิงเจอร์นำความไปแจ้งต่อผู้นำสหรัฐฯด้วยว่า

“เป็นไปไม่ได้ที่จะพยายามและเปลี่ยนแปลงจีนและยิ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่จะควบคุมหรือปิดล้อมจีน

อย่างที่สหรัฐฯและโลกตะวันตกกำลังพยายามจะทำอยู่ทุกวันนี้

นี่ไม่ใช่การเยือนในฐานะปัจเจกของคิสซิงเจอร์ เพราะมีการออกแถลงการณ์ร่วมด้วย

ซึ่งเป็นกรณีพิเศษจริง ๆ สำหรับคนที่ไม่มีตำแหน่งแห่งหนทางการที่ผู้นำจีนจะออกแถลงการณ์ร่วมกับอาคันตุกะจากต่างแดน

แต่ “ท่านผู้อาวุโสคิสซิงเจอร์” ย่อมถือได้ว่าเป็น “แขกพิเศษ” ที่ได้รับการต้อนรับที่แตกต่างออกไปจากคนอื่น ๆ

แถลงการณ์ของกระทรวงต่างประเทศจีนอ้างถึงถ้อยแถลงของคิสซิงเจอร์ในประเด็นนี้ว่า

“ไม่ว่าจะยากเย็นแค่ไหน ทั้งสองฝ่ายควรปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียมและรักษาการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน...”

และย้ำว่าเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้ที่ประเทศใดจะพยายามโดดเดี่ยวอีกฝ่ายหนึ่ง

ถึงวันนี้จีนก็ยังระลึกเสมอว่าคิสซิงเจอร์เป็นผู้มีบทบาทสำคัญด้านความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนเมื่อกว่า 50 ปีก่อน

คิสซิงเจอร์แอบเยือนกรุงปักกิ่งเมื่อปี 1971 ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาด้านความมั่นคงประจำทำเนียบขาว ในยุคอดีตประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน

เมื่อปูทางสู่การเยือนกรุงปักกิ่งครั้งประวัติศาสตร์ของนิกสันในปี 1972 แล้วก็นำไปสู่การเปิดสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนเป็นปกติในปี 1979

นักข่าวถามโฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ว่าทำเนียบขาวรู้เรื่องเกี่ยวกับการเยือนจีนของคิสซิงเจอร์หรือไม่

ได้รับคำตอบว่าประธานาธิบดีไบเดน รับทราบถึงแผนการเยือนจีนของคิสซิงเจอร์

แต่ไม่ได้ไปในฐานะตัวแทนของรัฐบาลอเมริกัน

แปลว่าจะมีการแสดงความเห็นกันในปักกิ่งอย่างไรก็เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่สะท้อนจุดยืนของสหรัฐฯแต่อย่างไร

เพื่อตอกย้ำว่าปักกิ่งให้ความสำคัญกับการเยือนครั้งนี้อย่างไร นอกจากการพบปะกับหวัง อี้ คิสซิงเจอร์แล้ว เขายังได้พยปะหารือกับรัฐมนตรีกลาโหมจีน หลี่ ช่างฝู (Li Shangfu) ด้วย

ไม่แต่เท่านั้น ทางการจีนยังย้ำประเด็นที่ว่าคิสซิงเจอร์ได้แสดงความเห็นต่อรัฐมนตรีกลาโหมจีนในประเด็นไต้หวันด้วย

โดยบอกว่าสหรัฐฯ และจีนควรขจัดความไม่เข้าใจกัน อยู่ร่วมกันอย่างสันติ และหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า

นี่คืออีกมิติหนึ่งของ “การทูตไม่เป็นทางการ” ของจีนที่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการดำเนินนโยบายของปักกิ่งในเวทีระหว่างประเทศ

แต่สำหรับวอชิงตันแล้ว อะไรที่เป็น “เรื่องส่วนตัว” ย่อมจะเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับทางการอย่างชัดเจน

จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็เป็นคนละเรื่องกัน

แต่สำหรับจีนแล้วไม่มีอะไรที่ไม่เชื่อมโยงกันเป็นอันขาด!

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ