ในอดีต วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 บรรดาพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่าร่วมใจกันถวายพระพรชัยเป็นประจำตลอดมา
เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2470 พระองค์เสด็จพระราชสมภพ ณ โรงพยาบาลเมาต์ออเบิร์น รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา มีพระนามแรกในพระสูติบัตรว่า เบบี้ สงขลา (Baby Songhla) สงขลา คือนามสกุลที่ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงใช้เมื่ออยู่อเมริกา
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้พระราชทานนามทางโทรเลขว่า Bhumibala Aduladeje สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
ไม่ทรงทราบว่าเป็นการสะกดแบบโรมัน พระนามในช่วงแรกเขียนเป็นภาษาไทยว่า “ภูมิบาลอดุลเดช สงขลา” ก่อนที่จะทรงทราบภายหลังว่า พระนามที่แท้จริงได้รับพระราชทานคือ "ภูมิพลอดุลเดช”
สำหรับคำว่า “อดุลเดช” นั้น เป็นการสะกดเหมือนกับพระนามของพระบิดา ซึ่งสะกดแบบไม่มี ย.ยักษ์ คือ มหิดลอดุลเดชฯ แต่ต่อมาทรงเขียน “อดุลยเดช” ใช้สลับกันไปมาสองแบบ ในที่สุดจึงนิยมใช้แบบหลังมาจนถึงปัจจุบัน
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเคยมีรับสั่งว่า พระนาม “ภูมิพล” แปลว่า “กำลังของแผ่นดิน แม่อยากให้เธออยู่กับดิน”
(หนังสือ แม่เล่าให้ฟัง หนังสือ เจ้านายเล็กๆ-ยุวกษัตริย์, นิตยสารสารคดี ฉบับที่ 274)
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อประโยชน์สุขแก่เหล่าทวยราษฎร์ของพระองค์มาช้านาน
วันที่ 5 ธันวาคม 2558 เป็นวันมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 88 พรรษา
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้มีพระราชปณิธานที่จะจัดกิจกรรมเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชฯ ผู้ทรงมีพระคุณอันประเสริฐ เปรียบดุจพ่อของแผ่นดิน
โดยมีพระราชประสงค์จะจัดกิจกรรมจักรยานเฉลิมพระเกียรติ จัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ และจัดแสดงโขนกลางแปลงพระราชทานเฉลิมพระเกียรติ
เพื่อให้ประชาชนชาวไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้ร่วมกันแสดงความจงรักภักดีและแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ
รวมใจแสดงความกตัญญูและทดแทนคุณพ่อ เพื่อสร้างเสริมความสามัคคีของชาวไทยทั้งชาติ เพื่อสุขภาพกายและใจที่แข็งแรง มีจิตใจแจ่มใส และเพื่อให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าได้ชื่นชมศิลปวัฒนธรรม
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต รับสนองพระราชปณิธานจัดกิจกรรมจักรยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชฯ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 88 พรรษา 5 ธันวาคม 2558 ภายใต้ชื่อ “ปั่นเพื่อพ่อ Bike For Dad”
พร้อมทั้งดำเนินการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ และจัดการแสดงโขนกลางแปลงพระราชทานเฉลิมพระเกียรติ
โดยเชิญชวนประชาชนทุกภาคส่วนที่สนใจทั่วประเทศ และประชาชนชาวไทยที่อาศัยอยู่ต่างประเทศ รวมทั้งเครือข่ายมิตรสหายของชุมชนไทยในต่างประเทศร่วมกิจกรรมปั่นจักรยานด้วยความสมัครใจ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ในวันศุกร์ที่ 11 ธันวาคม 2558 เวลา 15.00 น. และร่วมชมนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ และโขนกลางแปลงพระราชทานเฉลิมพระเกียรติ ระหว่างวันที่ 11-13 ธันวาคม 2558
ผมได้รับการโปรดเกล้าฯ ดำรงตำแหน่งปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 และได้มีโอกาสทำหน้าที่เลขานุการคณะกรรมการอำนวยการจัดกิจกรรม “ปั่นเพื่อพ่อ Bike For Dad” ต่อจาก ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับการโปรดเกล้าฯ ไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
วันที่ 19 ตุลาคม 2558 นายกรัฐมนตรีได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการและคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ
คณะกรรมการอำนวยการจัดกิจกรรมจักรยานเฉลิมพระเกียรติฯ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นเลขานุการ
คณะกรรมการฝ่ายต่างๆ มีรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเป็นประธาน มีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบเป็นฝ่ายเลขานุการ
ทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองรายละเอียด ให้เป็นไปด้วยความละเอียดรอบคอบ ครอบคลุมทุกมิติ และขับเคลื่อนการดำเนินการด้านต่างๆ ให้บรรลุตามพระราชปณิธานอย่างสมพระเกียรติ
รัฐบาลได้กราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ ทรงเป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม และทรงจักรยานนำขบวนพสกนิกรชาวไทยในขบวนจักรยานเฉลิมพระเกียรติ พร้อมทั้งทอดพระเนตรนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ และการแสดงโขนกลางแปลงพระราชทานเฉลิมพระเกียรติ
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงรับเชิญเสด็จฯ ทรงเป็นประธาน และได้ทรงพระกรุณาออกแบบและพระราชทานตราสัญลักษณ์เพื่อใช้ในการจัดกิจกรรม มีความหมายลึกซึ้งและเป็นสิริมงคลอย่างยิ่ง
ตราสัญลักษณ์ประกอบด้วยพระนามาภิไธยย่อ ภปร. หมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชฯ พระนามาภิไธยย่อ มวก. หมายถึง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
“Dad” สื่อถึงการรวมใจแห่งความรักและปรารถนาอันยิ่งใหญ่ต่อพ่อ “D” ใหญ่สีเหลือง คือสีประจำพระองค์ สื่อแทนพ่อ “a” สีฟ้า แทนความหมายสื่อถึงแม่ “d” เล็ก สีเหลือง หมายถึงลูก (สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร)
“ปั่นเพื่อพ่อ” หมายถึงกิจกรรมเพื่อเทิดพระคุณพ่อ แสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อพ่อหลวงของแผ่นดิน ก่อให้เกิดความสามัคคีของชาวไทยทั้งชาติทั่วโลก เพื่อสุขภาพกายและใจ
“Bike For Dad” ปั่นเพื่อพ่อ เพื่อความเป็นสากลและความเข้าใจต่างชาติ และใช้เพื่อประชาสัมพันธ์ในต่างประเทศ
นอกจากนี้ พระราชทานเสื้อจักรยาน เข็มกลัด สายรัดข้อมือ อาหารว่างและน้ำดื่ม แก่ข้าราชการและประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด
คณะกรรมการอำนวยการและคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ ได้ดำเนินการประชุม วางแผนจัดกิจกรรม ติดตามเร่งรัดการดำเนินการตามแผนการอย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนซักซ้อมการปฏิบัติหลายครั้ง เพื่อให้การจัดกิจกรรมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นฝ่ายเลขานุการของการจัดกิจกรรมสำคัญในครั้งนี้ ข้าราชการทุกคนในสังกัดทั้งหมด ช่วยกันปฏิบัติหน้าที่ ประสานงานหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จัดการประชุมคณะกรรมการอำนวยการ เพื่อรายงานผลการปฏิบัติของคณะกรรมการทุกฝ่าย เร่งรัดการดำเนินการให้ทันตามเวลาที่กำหนดไว้
เริ่มตั้งแต่การตรวจเส้นทางเสด็จฯ จุดรวมพล จุดเริ่มต้น จุดพักขบวน จุดบริการประชาชน ตลอดเส้นทาง การจัดการแจกจ่าย เสื้อจักรยาน เข็มกลัด สายรัดข้อมือ น้ำดื่ม อาหารว่างพระราชทาน และการจัดเลี้ยงพระราชทานประชาชน (อาหารปรุงสด) ที่บริเวณภายในสวนอัมพรพระราชวังดุสิต สนามเสือป่า ถนนราชดำเนิน และสนามหลวง
จัดพิธีการ และเชิญผู้ร่วมงานเฝ้าฯ รับเสด็จ การปั่นจักรยานเฉลิมพระเกียรติฯ นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ “ทำดีแบบพ่อ” และการแสดงโขนกลางแปลงพระราชทานเฉลิมพระเกียรติ ตลอดจนจัดตั้งศูนย์ประสานกับทุกฝ่ายตลอดเวลาการจัดงาน
ในวันที่ 11 ธันวาคม 2558 เวลา 15.00 น.สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พร้อมด้วยพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ได้เสด็จฯ มาถึงบริเวณลานพระราชวังดุสิต
เสด็จฯ ไปยังพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงเปิดกรวยกระทงดอกไม้ธูปเทียนแพ ถวายสักการะ
เสด็จฯ ต่อไปยังบริเวณพิธีเปิดกิจกรรมจักรยานเฉลิมพระเกียรตินายกรัฐมนตรี ได้ถวายบัตรประจำพระองค์ แล้วเสด็จฯ ไปยังจักรยานพระที่นั่ง ทรงกดปุ่มเปิดเส้นทางจักรยาน
จากนั้น ทรงจักรยานพระที่นั่งนำขบวนพสกนิกรผู้เข้าร่วมกิจกรรมจักรยานเฉลิมพระเกียรติไปตามเส้นทางที่กำหนด ระยะทาง 29 กิโลเมตร
ขบวน A สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงปั่นจักรยานนำขบวนข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และประชาชน จำนวน 500 คน
ขบวน B พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงปั่นจักรยานนำขบวนข้าราชการและประชาชน จำนวน 500 คน
ขบวน C พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรี นารีรัตน์ ทรงปั่นจักรยานนำขบวนข้าราชการและประชาชน จำนวน 500 คน
ขบวน D เป็นขบวนประชาชนในกรุงเทพมหานครที่ลงทะเบียนไว้จำนวน 100,000 คน
ขบวน S ชุดซ่อมจักรยาน และชุดรักษาความปลอดภัย จำนวน 100 คน
เริ่มต้นขบวนที่ลานพระราชวังดุสิต ผ่านถนนศรีอยุธยา ถนนราชปรารถ ประตูน้ำ ถึงแยกราชประสงค์ เลี้ยวขวาเข้าถนนพระราม 1 ถึงสี่แยกปทุมวัน เลี้ยวซ้ายเข้าถนนพญาไท เข้าจุดประทับพักที่ 1 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
แล้วต่อไปตามถนนพระรามที่ 4 ถนนสีลม ถนนเจริญกรุง ถนนเยาวราช เลี้ยวซ้ายขึ้นสะพานพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาฝั่งธนบุรี ตามถนนประชาธิปก อ้อมวงเวียนใหญ่ เข้าถนนอรุณอัมรินทร์ เข้าจุดประทับที่ 2 กองทัพเรือ
แล้วต่อไปตามถนนอรุณอัมรินทร์ ผ่านโรงพยาบาลศิริราช เลี้ยวขวาขึ้นสะพานพระปิ่นเกล้า ผ่านสนามหลวง ถนนราชดำเนินนอก กลับเข้าสู่ลานพระราชวังดุสิต
ตลอดเส้นทาง ประชาชนจำนวนมาก ต่างมาเฝ้าฯ รับเสด็จ พร้อมทั้งเปล่งเสียงถวายพระพรว่า “ทรงพระเจริญ” ดังกึกก้องเป็นระยะๆ
กระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ประสานงานให้ทุกจังหวัด ร่วมจัดกิจกรรม “ปั่นเพื่อพ่อ” ภายใต้กรอบพระราชปณิธาน การปั่นจักรยานระยะทาง 29 กิโลเมตร พร้อมทั้งการแสดงวัฒนธรรมและนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ
กระทรวงการต่างประเทศ ผู้ประสานงาน “ไทยทั่วโลกรวมใจเป็นหนึ่งเดียว” ด้วยกิจกรรม (Bike For Dad 2015) โดยสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใน 65 เมือง 52 ประเทศ ร่วมจัดกิจกรรม “ปั่นเพื่อพ่อ” ตามวันเวลาท้องถิ่นด้วย
ประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า เข้าร่วมกิจกรรมจักรยานเฉลิมพระเกียรติครั้งนี้พร้อมกันทั้งประเทศ และต่างประเทศทั่วโลก โดยผู้ลงทะเบียนกิจกรรมปั่นเพื่อพ่อ รวม 607,909 คน กรุงเทพฯ 99,999 คน ส่วนภูมิภาคในทุกจังหวัด 498,105 คน และในต่างประเทศ 65 เมือง 9,805 คน อายุระหว่าง 3-93 ปี
เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงปั่นจักรยานเสร็จ ได้เสด็จฯ พร้อมด้วยพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ไปทรงเปิดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ และเสด็จฯ ทอดพระเนตรนิทรรศการที่จัดไว้แต่ละซุ้ม ตามพระราชอัธยาศัย ที่บริเวณสนามเสือป่า
นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ “ทำดีแบบพ่อ”โดยกระทรวง ทบวง กรมและหน่วยงานต่างๆ ร่วมกันสร้างสรรค์ขึ้นอย่างงดงามและอลังการ ในรูปแบบนิทรรศการมีชีวิต ในพื้นที่รวม 6,720 ตารางเมตร
แสดงภาพพระบรมฉายาลักษณ์ส่วนพระองค์ที่ไม่เคยเผยแพร่มาก่อน พระราชกรณียกิจนานัปการ และพระอัจฉริยภาพในด้านต่างๆ
การจัดนิทรรศการได้น้อมนำพระราชดำรัส พระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชฯ รัชกาลที่ 9 มาดำเนินการจนเกิดประโยชน์ต่อประชาชนชาวไทย สร้างจิตสำนึกการทำความดีแบบพ่อ
แบ่งเป็น 11 โซน ประกอบด้วย พระราชประวัติ ทรงเป็นเอกกษัตริย์นักพัฒนา ทรงเป็นราชาจอมทัพไทย ทรงงานด้านการศึกษาและสาธารณสุข ทรงเป็นปราชญ์แห่งแผ่นดิน ทรงเป็นภูมินทร์นักปฏิบัติ ทรงเป็นอัครราชาฟ้าคมนาคม ทรงเป็นราชาแห่งการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรม ทรงเป็นผู้นำเศรษฐกิจพอเพียง ทรงเป็นอัครศิลปิน พระอัจฉริยภาพทุกสาขา ทรงเป็นมหาราชาที่โลกแซ่ซ้องสรรเสริญ และทรงเป็นแบบอย่างของการทำดี
(นิทรรศการเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2558 จนถึงวันที่ 20 ธันวาคม 2558 เวลา 09.00-17.00 น.)
หลังจากนั้น ได้เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรการแสดงโขนกลางแปลงพระราชทานเฉลิมพระเกียรติ โดยมีคณะรัฐมนตรี ทูตานุทูต และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เฝ้าฯ รับเสด็จ ที่วิทยาลัยนาฏศิลป์ กรมศิลปากร จัดแสดงที่บริเวณเวที หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม จนจบการแสดง
การแสดงโขนใช้เวลาแสดง 2.30 ชั่วโมง แบ่งเป็น 5 องค์
องค์แรก นารายณ์ปราบนนทุก (ปฐมบทกำเนิดทศกัณฐ์), องค์ที่ 2 ทศกัณฐ์ลักนางสีดา (ทศกัณฐ์ทำอุบาย บุตรพระพายถวายพล), องค์ที่ 3 จองถนน (จองถนนยกพลชิงนางสีดา), องค์ที่ 4 หนุมานถวายแหวน-ยกรบ (มหาสงคราม พระรามรบทศกัณฐ์), องค์ที่ 5 พระรามคืนนคร (พระรามคืนนคร ครองเมือง)
(การแสดงโขนกลางแปลงพระราชทาน ได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมอีก 2 รอบ ในวันที่ 12-13 ธันวาคม 2558)
จากนั้นพระดำเนินผ่านพสกนิกรผู้เข้าร่วมกิจกรรม "ปั่นเพื่อพ่อ" แล้วทรงจักรยานเสด็จพระราชดำเนินกลับพระที่นั่งอัมพรสถาน
ความปลาบปลื้มใจในกิจกรรมนี้ เห็นได้จากรอยยิ้มและแววตาที่อิ่มเอมใจของทุกคน ทั้งนักปั่นจักรยานและผู้เฝ้าติดตามชมกิจกรรม ทั้งผ่านการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์และตามเส้นทางต่างๆ
เป็นวันที่คนไทยมีความสุขที่สุดวันหนึ่ง ที่ได้ร่วมแสดงความรัก ความจงรักภักดี ความกตัญญูกตเวทีต่อพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่ง
นับเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สำคัญ จารึกไว้ในความทรงจำของพสกนิกรชาวไทยตลอดไป
ปีติภูมิไทย ไม่เหมือนชาติใดในโลก “พร้อมสะพรั่งพลังใจไทยทุกทิศ นฤมิตภาพฝัน "ปั่นเพื่อพ่อ" ให้โลกรู้แรงรักที่ถักทอ ล้านวงล้อร่วมประกาศราชสดุดี”
จงรักภักดี “ปลื้มปีติผลิรอยยิ้มพริ้มใจผ่อง แผ่นดินทองครองใจภักดิ์จงรักยิ่ง “ปั่นเพื่อพ่อ” ก่อพลังตั้งใจจริง เพื่อเทิดมิ่งทูนขวัญ 5 ธันว์วาร”
ครอบครัวเดียวกัน “พ่อแม่ลูกผูกพันปั่นเพื่อ “พ่อ” สายใยรักถักทอเพื่อก่อสาน ครอบครัวเข้าขบวนชวนชื่นบาน สุขสมานสานสัมพันธ์ในวันดี”
รวมพลังสามัคคี “จะยากดีมีจนทุกชนชั้น ออกมาปั่นออกมาปลุกทุกแห่งหน เป็นหนึ่งเดียวเกลียวศรัทธามหาชน โลกหมุนวนเคลื่อนไหวในวงล้อ”
เกื้อกูลมีน้ำใจ “ปั่นสนุกและปลุกใจให้เรียนรู้ เราจะอยู่ร่วมกันรู้ปันแบ่ง รักเกื้อกูลกายและใจให้แข็งแรง สังคมแกร่งก้าวไกลไปด้วยกัน”
มิตรภาพและรอยยิ้ม “ประทับตาประทับใจในวันนี้ ล้านรอยยิ้มยินดีที่สร้างสรรค์ มิตรภาพคล้องใจไทยผูกพันธ์ จารึกวัน “ปั่นเพื่อพ่อ” ก่อด้วยรัก”
(ประพันธ์โดย จิระนันท์ พิตรปรีชา กวีซีไรต์ ปี 2532)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตำรวจนักเก็บกู้ระเบิด (EOD)
สถานการณ์ของโลกปัจจุบัน การก่ออาชญากรรม ก่อวินาศกรรม หรือก่อการร้าย หากคนร้ายใช้วัตถุระเบิดเป็นอาวุธ แรงระเบิด สะเก็ดระเบิดและความร้อน จะเป็นภยันตรายก่อให้เกิดความเสียหายกับชีวิตร่างกายและทรัพย์สินอย่างร้ายแรงที่สุด
ตำรวจ ศชต.
“ท่ามกลางสถานการณ์ก่อความไม่สงบในพื้นที่ที่ทรงตัวมานานเกือบ 20 ปี สิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาการก่อการร้ายในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ และบางอำเภอในจังหวัดสงขลา ต้องอาศัยการทำงานของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ในการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้น”
ตชด.กับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
“เศรฐกิจพอเพียงจริงๆ คือหลักการดำเนินชีวิตที่จริงแท้ที่สุดกรอบแนวคิดและปรัชญามุ่งเน้นความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนาคือ สามารถประยุกต์ใช้ในทุกระดับ ตลอดจนให้ความสำคัญกับคำว่าพอเพียง ที่ประกอบด้วยความพอประมาณ ความมีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวภายใต้เงื่อนไขของการตัดสินใจและดำเนินกิจกรรมที่ต้องอาศัยเงื่อนไข ความรู้และเงื่อนไขคุณธรรม”
ตำรวจพลร่ม
ตำรวจพลร่มเป็นตำรวจซึ่งมีการฝึกอบรมอย่างหนัก ทำให้ตำรวจหน่วยนี้มีวินัย เข้มแข็ง กล้าหาญ อดทน ปฏิบัติหน้าที่ในภารกิจสำคัญที่ได้รับมอบหมายอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นที่ชื่นชมและยกย่องตลอดมา
หมอนิติเวชตำรวจ
พลตำรวจโทนายแพทย์ประเวศน์ คุ้มภัย อดีตผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ (ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว) จบการศึกษาคณะแพทยศาสตรบัณฑิต
เครื่องจับเท็จ
มหากาพย์คดีฆาตกรรม น้องชมพู่ เป็นคดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญ สื่อมวลชนให้ความสนใจ