เลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่สอง

 

คนที่เชียร์คุณพิธาให้เป็นนายกรัฐมนตรีคงจะรู้สึกผิดหวังกับผลการลงคะแนนเสียงเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านไป  คนเชียร์น่าจะแบ่งได้สองแบบใหญ่ๆ แบบแรกคือ แบบที่ไม่ค่อยจะได้รู้เรื่องกฎกติการัฐธรรมนูญและเรื่องราวของวุฒิสภาอะไรมากนัก  แบบนี้ก็น่าจะผิดหวังมาก แต่ไม่นานก็หาย และอาจลืมได้ง่ายๆ  ส่วนอีกแบบคือแบบที่รู้อะไรๆ แต่ทั้งๆที่รู้ ก็ยังคาดหวังว่าจะมีสมาชิกวุฒิสภาลงคะแนนให้คุณพิธาจนครบ 375 เสียง แบบนี้ไม่น่าจะผิดหวังมาก  แต่เท่าที่เห็น ก็ผิดหวังมาก  แต่น่าจะเป็นเรื่องความโกรธแค้นมากกว่า ซึ่งเป็นความโกรธแค้นที่คุกรุ่นมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้นานแล้วและจะยังคุกรุ่นต่อไปอีกนานมาก แบบไหนจะมีจำนวนมากกว่ากันใน 14 ล้าน คงเดากันออก

การประชุมสองสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งต่อไปก็คือ วันพุธที่ 19 กรกฎาคม คำถามคือ จะยังสามารถเสนอชื่อคุณพิธาอีกได้หรือไม่ ?  ตามมาตรา 272 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ไม่ได้ห้ามไว้ไม่ให้เสนอชื่อซ้ำ  ดังนั้น การเสนอชื่อซ้ำจึงอาจจะเกิดขึ้นอีกโดยไม่ผิดบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ และอาจารย์วิษณุ เครืองามก็ได้ตอบคำถามที่ว่า หากโหวตชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งไปแล้วแต่ไม่ผ่าน จะสามารถนำชื่อเดิมกลับมาโหวตอีกได้หรือไม่ ?   อาจารย์วิษณุ ให้คำตอบว่า “ได้ โหวตมันทุกวันนั่นแหละ ชื่อเดิมก็ได้”

และเมื่อถามต่อไปว่าพรรคอันดับ 2 จะสามารถเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีขึ้นไปก็ได้ใช่หรือไม่? อาจารย์วิษณุท่านก็ตอบว่า  “ได้ทุกอย่าง มันต้องอาศัยเสียงกึ่งหนึ่งในรอบแรก เพราะว่ามาตรา 272 วรรคหนึ่ง ระบุว่า ต้องมีความเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้ง 2 สภาที่มีอยู่ ซึ่งคือ 376 เสียง แต่ถ้าไม่สำเร็จก็โหวตอีก โหวตไปโหวตมาจนกระทั่งในที่สุดจะเปลี่ยนไปใช้มาตรา 272 วรรคสอง ก็แล้วแต่ หรือจะโหวตซ้ำมาตรา 272 วรรคหนึ่ง ก็ได้ ไม่เป็นไร เพราะมันอาจจะมีเหตุผลใหม่ๆ ดีๆ และมีคนเปลี่ยนใจเพิ่มขึ้นก็ได้  (เน้นโดยผู้เขียน) สำคัญคือวันแรก ด่านแรก ในการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร” (https://www.thairath.co.th/news/politic/2694989 วันที่ 18 พฤษภาคม 2566)

แต่แม้ว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 จะไม่ได้ห้ามเสนอชื่อซ้ำ และอาจารย์วิษณุก็พูดตามรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรว่า ทำได้  แต่เชื่อว่า น่าจะมีการอภิปรายโต้เถียงกันในที่ประชุมพอสมควรก่อนที่จะตกลงกันได้ว่าการเสนอชื่อซ้ำทำได้หรือไม่ หรือสมควรหรือไม่ ?

ที่อาจารย์วิษณุบอกว่า “…ไม่เป็นไร เพราะมันอาจจะมีเหตุผลใหม่ๆ ดีๆ และมีคนเปลี่ยนใจเพิ่มขึ้นก็ได้”  ก็ยังน่าคิด พราะขนาดในการประชุมสองสภาเลือกนายกรัฐมนตรีวันพฤหัสฯที่ 13 กรกฎาคม มีคนเปลี่ยนใจขอลงคะแนนใหม่ ยังเป็นที่ถกเถียงกัน  แม้ว่าในที่สุด ท่านวันนอร์จะอนุญาต  แต่ในวันที่ 19 กรกฎาคม หากมีการเสนอชื่อคุณพิธาซ้ำ น่าจะถกเถียงกันอย่างที่ว่าไป และไม่แน่ใจว่าจะลงเอยเสนอชื่อซ้ำได้อย่างที่อาจารย์วิษณุว่าไว้หรือไม่

ยกเว้นจะมี “เหตุผลใหม่ๆดีๆ” จนทำให้สมาชิกเสียงข้างมากในรัฐสภาเห็นควรให้มีการเสนอชื่อคุณพิธาซ้ำได้

ที่สำคัญคือ อะไรเล่าที่จะถือว่าเป็น “เหตุผลใหม่ๆดีๆ”

แม้ว่า อาจารย์วิษณุจะไม่ได้ขยายความว่าอะไรคือ “เหตุผลใหม่ๆดีๆ” แต่ในข้อเขียนสั้นๆของอาจารย์แก้วสรร อติโพธิ ได้กล่าวว่า ในการประชุมเลือกนายกฯครั้งต่อไป  ในทางข้อบังคับใครจะเสนอใครอีกก็ได้  โดยก้าวไกลในฐานะแกนนำ  มีอะไรใหม่ไหม  เช่น ยอมไปดึงภูมิใจไทยมาร่วมจนได้   อย่างนี้ก็เสนอพิธาอีกได้  แล้วได้เสียงเพิ่มด้วย แต่ถ้าก้าวไกลไม่มีอะไรใหม่  คิวก็ถึงเพื่อไทยที่เป็นอันดับสอง   จะเป็นนายกฯเอง   จะดึงพรรคไหนมาร่วมก็ได้  ก้าวไกลจะยอมเป็นรองก็ได้ ( ถ้ายอม ?)  หรือไม่เอาก้าวไกลก็ได้ สรุปโหวตคราวหน้าถ้า เพื่อไทยกับก้าวไกลไม่มีอะไรใหม่ ก็โหวตซ้ำเหมือนเดิม   แต่ถ้าดีลใหม่เกิดขึ้นโดยเพื่อไทยรับจัดตั้งรัฐบาลเอง   ก็ต้องดูกันว่าเปลี่ยนสูตรไปแค่ไหน  อาจจะได้นายกฯ และก้าวไกลเป็นฝ่ายค้านก็ได้  เป็นไปได้ว่า เพื่อไทยจะทำตัวแสนหวานชื่นกับก้าวไกลอีกโหวตหนึ่งก็ได้  แล้วค่อยโยนทิ้งในโหวตสาม  ปัญหาทั้งหมดของก้าวไกลคือได้ที่ 1  แล้วประกาศไว้จนคบใครไม่ได้เลย นอกจากเพื่อไทย มีแต่เพื่อไทยได้ที่ 2  แต่เจรจาได้หมดทุกพรรค พูดง่ายก็คือ “เหตุผลดีๆใหม่ๆ” ในคำอธิบายของอาจารย์แก้วสรรก็คือ ก้าวไกลจะยอมกลืนน้ำลายตัวเองไปขอเสียงจากพรรคฝากโน้นโดยเฉพาะภูมิใจไทย เพราะได้ภูมิใจไทยที่มีเสียง ส.ส. อยู่ 71 เสียง เมื่อรวมกับที่มีอยู่ 311 ก็เกิน 376 โดยไม่ต้องได้เสียง ส.ว. เลยก็ได้

แต่การจะไปขอให้ภูมิใจไทยมาร่วมจัดตั้งรัฐบาลนั้น ภูมิใจไทยมีเงื่อนไขชัดเจนคือ เรื่อง มาตรา 112 ดังนั้น ก้าวไกลจะต้อง “คิดใหม่ทำใหม่ ใช้เหตุผลใหม่” ต่อเรื่อง มาตรา 112

สรุปคือ การเปลี่ยนจุดยืนต่อ ม. 112 ของก้าวไกลเท่านั้นที่จะเป็น “เหตุผลใหม่ๆดีๆ”  แต่การเปลี่ยนจุดยืนต่อ ม. 112 ก็เกือบจะเท่ากับเปลี่ยนจุดยืนทางการเมืองของพรรคไปเลยในสายตาของแฟนพันธุ์แท้

แต่ถ้าไม่เปลี่ยน และจะยังมีการเสนอชื่อคุณพิธาซ้ำในการประชุมวันที่ 19 กรกฎาคม ก็คงไม่ผิดรัฐธรรมนูญ  เพราะเรื่องจะต้องมี “เหตุผลใหม่ๆดีๆ” นี้มิได้อยู่ในมาตรา 272  ดังนั้น แม้ว่าจะไม่มี “เหตุผลใหม่ๆดีๆ” ก็สามารถเสนอชื่อซ้ำได้ เพราะอย่างที่กล่าวไป ไม่มีข้อความไหนในรัฐธรรมนูญห้ามไว้ ไม่ว่าจะเป็นมาตรา 272 หรือมาตรา 159

แต่แม้ว่าจะเสนอชื่อซ้ำได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคราวนี้ จะไม่มีการเสนอชื่อคนอื่นเข้าแข่งขันกับคุณพิธาเหมือนคราวแรก

ดูทรงแล้ว พรรคที่สมควรจะมีการเสนอชื่อแคนดิเดทในรอบนี้ด้วย ก็น่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย เพราะมี ส.ส. เป็นจำนวนรองลงมาจากพรรคก้าวไกลของคุณพิธา  แต่ปัญหาที่จะเกิดขึ้นคือ พรรคฝ่ายที่เรียกตัวเองว่า “ประชาธิปไตย” ก็จะต้องแข่งแย่งเสียงกันเอง  ซึ่งอย่างที่ทราบเสียงที่มีอยู่ในแปดพรรคคือ 311 (เดิม 312 แต่หายไปหนึ่ง เพราะท่านวันนอร์ไปเป็นประธานสภาฯ) ไม่นับเสียง ส.ว. ที่ลงให้คุณพิธา

แน่นอนว่า พรรคก้าวไกลทั้ง 151 คนย่อมจะต้องลงให้คุณพิธา

พรรคเพื่อไทยทั้ง 141 คนย่อมจะต้องลงให้แคนดิเดทของพรรค

ทีนี้ คำถามคือ พรรค “ประชาธิปไตย” ที่เหลืออีก 6 พรรคจะเทคะแนนให้ใคร ?

ดังนั้น ที่มีอยู่ 311 ก็จะต้องแบ่งกันไป คุณพิธาที่เดิมในการเลือกครั้งแรกก็จะน้อยลงกว่า 311 และเมื่อน้อยลงกว่า 311 ก็ย่อมต้องการเสียงของ ส.ว. เป็นจำนวนที่มากกว่าที่เคยได้ ซึ่งเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว

ขณะเดียวกัน เพื่อไทยเองก็ต้องการเสียงสนับสนุนนอกเหนือไปจากเสียงของตัวเองและเสียงของพรรค “ประชาธิปไตย” ที่ไม่รู้ว่าจะได้เท่าไร ?

สมมุติว่า ทุกพรรคนอกจากก้าวไกลลงคะแนนให้แคนดิเดทเพื่อไทย เสียงทั้งหมดที่จะได้ก็คือ 160 (311-151 ของก้าวไกล) ยังขาดอีก 216 เสียงถึงจะได้ 376

จะทำแต้มให้ถึง 376 ได้ ก็สองวิธี

วิธีแรก ที่ไม่ต้องผิดคำพูดว่าจะไม่ร่วมกับพรรคฝากโน้น (พรรคร่วมรัฐบาลเก่าที่มี ภูมิใจไทย รวมไทยสร้างชาติ พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ ฯ) คือ หวังเสียงจาก ส.ว. ซึ่งมีทั้งหมด 250 คน และใน 250 จะต้องได้ถึง 216  ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย วิธีนี้ ดีที่ไม่ผิดคำพูด แต่ไม่สามารถเกิดขึ้นจริงได้ หรือถ้าเกิดขึ้นจริงก็ดีไป ที่ว่าดีก็คือ จัดตั้งรัฐบาลได้

วิธีที่สอง ผิดคำพูด ไปร่วมกับพรรคฝากโน้น ซึ่งอาจจะได้เสียง ส.ว. พ่วงมาด้วย การไปร่วมกับพรรคฝากโน้นที่อาจได้เสียง ส.ว. พ่วงมาด้วยนั้น ยังไงๆก็ต้องให้ได้ถึง 216  ลำพังเสียง ส.ส. ของพรรคฝากโน้นทั้งหมดรวมกันแล้วได้ 188 ยังต้องพึ่งเสียง ส.ว. อีก 28 เสียง

การข้ามห้วยไปขอเสียงจากพรรคฝากโน้นพรรคใดพรรคเดียวก็แย่แล้ว หากหลายพรรคก็ไม่รู้ว่าจะแย่หนักขนาดไหน และพรรคก้าวไกลก็จะได้ทีตีปี๊บหาเสียงไว้ในการเลือกตั้งคราวหน้าทันที และอาจจะมีการประท้วงบนท้องถนนตามมาก็ได้   

แต่เข้าใจว่า ถ้าไม่มีก้าวไกล การจะต้องไปให้ถึงเป้า 375 ก็อาจจะไม่จำเป็น และการข้ามห้วยมาจับมือกับพรรคฝากโน้นก็จะเป็นไปได้ เพราะพรรคฝากโน้น—ไม่นับประชาธิปัตย์และรวมไทยสร้างชาติที่เกี่ยงเรื่อง ม 112 และทักษิณ----อย่างภูมิใจไทยตั้งป้อมไว้เพียงเรื่อง ม 112  เท่านั้น  เป้าก็อาจจะลดมาเพียง 251 ก็พอ หากมี ส.ว. จำนวน 125 คนไม่รังเกียจให้คนเพื่อไทยเป็นนายกรัฐมนตรี  โดย ส.ว. จะใช้เหตุผลที่เคยสนับสนุนลุงตู่ในปี พ.ศ. 2562 ที่ว่า จะสนับสนุนแคนดิเดทที่ได้เสียงเกินครึ่งสภาผู้แทนราษฎร แต่อาจจะมีการประท้วงบนท้องถนนตามมาก็ได้         

แต่ปัญหาของเพื่อไทยคือ จะเสนอใคร ระหว่างคุณเศรษฐากับคุณอุ๊งอิ๊ง โดยเฉพาะคุณอุ๊งอิ๊งที่มี ส.ว. หลายคนเกี่ยงเรื่องประสบการณ์ และที่บ้านก็ยังไม่อยากให้คุณอุ๊งอิ๊งเป็นนายกฯงวดนี้  ครั้นจะส่งคุณเศรษฐา ก็ไม่รู้ว่านายใหญ่จะคิดระแวงเหมือนสมัยคุณสมัครไหม

ความเป็นไปได้ก็คือ เหมือนอย่างที่อาจารย์แก้วสรรว่า นั่นคือ “เป็นไปได้ว่า เพื่อไทยจะทำตัวแสนหวานชื่นกับก้าวไกลอีกโหวตหนึ่งก็ได้  แล้วค่อยโยนทิ้งในโหวตสาม”

คงต้องติดตามกันต่อไป 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พ่อนายกฯ ลั่นพรรคร่วมรัฐบาลต้องอยู่ด้วยกันจนครบเทอม

นายทักษิณ​ ชิน​วัตร​ อดีต​นายก​รัฐมนตรี​ ให้สัมภาษณ์ถึงการประเมินสถานการณ์การเมืองในปี 2568​ ว่า​ การเมืองคงไม่มีอะไร ยังเหมือนเดิม พรรคร่วมรัฐบาลก็เหมือนเดิม การที่ไม่เห็นด้วยกับอะไรกันบ้าง ก็เป็น

'นายแบกเพื่อไทย' ตบปาก 'นายกฯว่าว' โทษฐาน แนะ 'นายกฯอิ๊งค์' ใช้เวทีสภาฯ ลบคำครหาเรื่องโพย พึ่งพ่อ

นายอิราวัต อารีกิจ หรือ หมออั้ม นักเคลื่อนไหวทางการเมืองผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความว่า พิธา แนะนายกฯอิ๊ง ให้ใช้เวทีสภาฯ แส

เทวดาแม้วของขึ้น! เปิดศึกขาประจำกว่า 10 คน รวม ‘แก้วสรร-แฝดน้อง‘

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พ่อน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงฉายา “ทวีไอพี” ของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการ

'ทักษิณ' เกทับ! เลือกตั้งครั้งหน้า กวาด สส.เชียงใหม่ ครบ 10 ที่นั่ง

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงให้ นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร หรือสว.ก๊อง ผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงใหม่