ประเด็นร้อนเมื่อ รมว.ต่างประเทศ อาเซียนถกสถานการณ์อ่อนไหว

การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่เพิ่งเสร็จสิ้นลงไปที่อินโดนีเซีย มีเรื่องร้อนๆ หลายประเด็นที่ควรแก่การติดตามเพื่อปรับยุทธศาสตร์สำหรับประเทศไทย

ประเด็นความร้าวฉานในเมียนมายังคงสร้างความตึงเครียดให้กลุ่มประเทศทั้ง 9 (ยกเว้นเมียนมาที่ไม่ได้รับเชิญมาร่วม)

ขณะที่อาเซียนเองก็ต้องพยายามแสวงหาจุดร่วม ในการบริหารความขัดแย้งระดับสากลระหว่างสหรัฐฯ จีน กับรัสเซีย

การประชุมรอบนี้เป็นการรวมตัวของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน พร้อมกับตัวแทนจากจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ตลอดจนสหรัฐฯ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์            

หัวข้อที่พูดคุยมีกว้างขวางหลากหลาย แต่ที่เป็นประเด็นหลักหนีไม่พ้นข้อกังวลทางเศรษฐกิจและความมั่นคงที่มีร่วมกัน

อีกด้านหนึ่งก็ต้องการตอกย้ำว่า ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกสามารถจัดการกับหัวเรื่องสำคัญๆ ได้อย่างไรเพื่อความอยู่รอดและสร้างความรุ่งเรืองร่วมกัน

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวิธีจัดการบริหารการแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และสงครามในยูเครน

ประเด็นใหญ่คงหนีไม่พ้นเรื่องความขัดแย้งในเมียนมา ที่ยังร้อนแรงและตอกย้ำถึงจุดยืนที่แตกต่างของสมาชิกอาเซียน ว่าจะเอาอย่างไรกับรัฐบาลทหารเมียนมาที่ยังไม่ได้แสดงความคืบหน้าเกี่ยวกับ “ฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน”

หัวข้อนี้ได้รับความสนใจเร่งด่วนทันที เพราะคุณดอน ปรมัตถ์วินัย รักษาการรองนายกฯ และรัฐมนตรีต่างประเทศของไทย แจ้งต่อที่ประชุมว่าได้เข้าพบนางอองซาน ซูจี ผู้นำเมียนมาที่ถูกคุมขัง...โดยที่มิน อ่อง หล่าย ผู้นำทหารให้ความเห็นชอบในการพบปะกันครั้งนี้

นักการทูตในที่ประชุมก็ยังไม่รู้ว่าจะเดินหน้าเรื่องนี้อย่างไร เพราะ “การทูตไทย” ภายใต้การดำเนินการของคุณดอนกับท่าทีทางการของอาเซียนยังไม่ได้เดินไปในทิศทางเดียวกัน

จุดยืนทางการอาเซียนคือ จะไม่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้นำเมียนมาจนกว่าจะมีความคืบหน้าในเรื่องการทำตามฉันทามติ 5 ข้อ

รัฐบาลไทยภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยืนยันว่าไทยจะดำเนิน “การทูตแบบเงียบ” และขอประสานเชื่อมต่อกับผู้นำทหารเพื่อเป็น “สะพาน” ระหว่างอาเซียนกับรัฐบาลทหารเมียนมา

ร่องรอยของความเห็นแตกต่างระหว่างมวลมิตรอาเซียนนั้น สะท้อนจากความล่าช้าในการเผยแพร่แถลงการณ์ร่วมของที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนในช่วงดึกของคืนวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา

นักการทูตที่นั่นบอกว่า การที่แถลงการณ์ร่วมออกช้าก็สะท้อนถึงความไม่ลงรอยกันในหมู่สมาชิก

แต่โดยภาษาทางการทูตสไตล์อาเซียนที่ทุกอย่างดำเนินภายใต้หลัก “ฉันทามติร่วม” หรือ consensus ของประเทศสมาชิกแล้ว นักการทูตระดับสูงก็ต้องออกมา "ยืนยันเอกภาพของอาเซียนอีกครั้ง"

โดยยอมรับว่ารัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้ "รับฟังการบรรยายสรุปจากไทยเกี่ยวกับกิจกรรมล่าสุดของเมียนมา ซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียนจำนวนหนึ่งมองว่าเป็นการพัฒนาในเชิงบวก"

ต้องขีดเส้นใต้ตรง “สมาชิกอาเซียนจำนวนหนึ่ง...”

แถลงการณ์ร่วมบอกว่ารัฐมนตรีอาเซียนจะดำเนินการ "ทบทวนอย่างรอบด้าน" เกี่ยวกับการปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ประการของเมียนมา

ก่อนที่จะส่งข้อเสนอแนะในภาพรวมไปยังการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในเดือนกันยายนนี้

นั่นคือการโยนลูกไปให้ระดับประมุขของประเทศสมาชิกไปถกกันต่อ

ถึงตอนนั้นใครจะเป็นผู้นำจากประเทศไทยยังไม่อาจจะรู้ได้

กุญแจหลักคือ ฉันทามติร่วม 5 ข้อ หรือ 5-Point Consensus ที่ตกลงกับนายพลอาวุโสของเมียนมา  มิน อ่อง หล่าย ในการประชุมสุดยอดพิเศษเมื่อเดือนเมษายน 2564 รวมถึงการเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงโดยทันที

เมื่อตกลงรายละเอียดกันเรื่องเมียนมาอย่างรอบด้านไม่ได้ ก็ต้องเขียนในแถลงการณ์ร่วมด้วยถ้อยคำกว้างๆ ที่ “ไม่กระเทือนซาง” ใครตามรูปแบบของอาเซียน

แม้ว่าในความเป็นจริงแล้วมีเรื่องที่ต้อง “เคลียร์ใจ” กันไม่น้อยระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียน ที่ต้องการยืนหยัดในหลักการจะไม่ร่วมสังฆกรรมกับผู้นำทหารเมียนมา กับกลุ่มประเทศที่ต้องการจะใช้วิธีการที่นุ่มนวลกว่านั้น

เมื่อไม่มีรายละเอียดว่าคุณดอนได้สามารถทำให้มิน อ่อง หล่าย กับอองซาน ซูจี พบปะกันเพื่อปูทางไปสู่การเจรจาสันติภาพในเมียนมาเพื่อให้อาเซียนดูมีน้ำยาบารมีบ้าง ก็จึงไม่อาจจะนำไปสู่การวิเคราะห์ที่ลึกซึ้งว่าด้วยทิศทางของการแก้ปัญหาได้ในยามนี้

อีกหัวข้อหนึ่งที่รัฐมนตรีอาเซียนให้ความสำคัญในการประชุมครั้งนี้คือ เรื่องรัสเซียและสงครามยูเครน

การหารือระหว่างรัฐมนตรีรัสเซีย (เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ) กับอาเซียน ในกรุงจาการ์ตาเกี่ยวกับความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน เน้นย้ำถึง “การดำเนินการอย่างสมดุลที่ซับซ้อนของประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในการผลักดันสันติภาพในยูเครนโดยไม่กระทบต่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญ”

แต่แอนโทนี บลินเกน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ย้ำเตือนอาเซียนว่า รัสเซียกำลังขู่อีกครั้งที่จะยุติโครงการ Black Sea Grain Initiative

อันเป็นการอนุญาตให้ขนส่งธัญพืชจากยูเครนอีกครั้งในวันที่ 18 กรกฎาคม

"หากมอสโกปฏิบัติตามคำขู่นี้ ประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงในภูมิภาคนี้ด้วย จะเจอปัญหาหนัก ซึ่งรวมถึงราคาอาหารที่สูงขึ้น เช่นเดียวกับการขาดแคลนอาหารมากขึ้น" บลินเกนบอกกับนักข่าวในกรุงจาการ์ตาเมื่อค่ำวันศุกร์ที่ผ่านมา

ที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งคือ การที่รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย ลาฟรอฟ เสนอให้ประเทศในอาเซียนใช้สกุลเงินท้องถิ่นมากกว่าเงินดอลลาร์ ซึ่งอาจช่วยให้มอสโกหลบเลี่ยงการคว่ำบาตรจากตะวันตกที่มีต่อสงคราม

ลาฟรอฟยังนัดประชุมไตรภาคีกับเรตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย และหวัง อี้ นักการทูตระดับสูงของจีน

อีกด้านหนึ่ง บลินเกนก็แยกไปพบกับหวัง อี้ ของจีนเช่นกัน

เป็นการถือโอกาสพบปะของอาเซียนเพื่อตั้งวงฟื้นฟูความสัมพันธ์ของสองยักษ์ไปในตัว

เรื่องทะเลจีนใต้ก็ข้ามไปเฉยๆ ไม่ได้

อาเซียนและจีนเห็นพ้องแนวทางที่จะเร่งการเจรจายาวนานหลายปีเกี่ยวกับ “หลักปฏิบัติ” หรือ Code of  Conduct ที่มุ่งลดความตึงเครียดในทะเลจีนใต้

ว่ากันว่ามีการยกขึ้นมาพูดคุยกันอีกครั้งระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับหวัง อี้ เช่นกัน

 เรื่องของเรื่องคือ ปักกิ่งมีข้อพิพาทกับบางประเทศในอาเซียนว่าด้วยการอ้างสิทธิ์เหนือเส้นทางน้ำที่อุดมด้วยทรัพยากรและเส้นทางการค้าที่สำคัญ

แม้จีนจะแพ้คดีอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศที่ยื่นฟ้องโดยฟิลิปปินส์ในปี 2559 แต่ปักกิ่งไม่ยอมรับอำนาจของคำตัดสินนั้น

จึงจำเป็นต้องหากลไกอื่นเพื่อป้องกันไม่ให้กลายเป็นเรื่องบานปลายร้ายแรงหนักกว่าเดิม

แต่ด้วยความตึงเครียดที่พุ่งสูงเหนือช่องแคบไต้หวัน การเร่งเจรจาเกี่ยวกับ “คู่มือปฏิบัติ” ของอาเซียนกับจีนเรื่องนี้อาจช่วยทำให้ได้มาตรฐานที่ชัดเจนยิ่งขึ้นเกี่ยวกับกิจกรรมของจีน และลดความเสี่ยงของการเผชิญหน้าในทะเลจีนใต้

               ประเด็นไต้หวันก็หนีไม่พ้นว่าจะต้องเป็นหัวข้อพูดคุยระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กับจีนในโอกาสนี้อีกครั้ง

บลินเกน "เน้นย้ำถึงความสำคัญของการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพทั่วช่องแคบไต้หวัน"

ขณะที่หวัง อี้ ได้อธิบายตอกย้ำอย่างละเอียดว่าด้วยจุดยืนของจีนในประเด็นไต้หวัน

อีกหัวข้อหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้ นั่นคือเกาหลีเหนือ

โดยในที่ประชุมสรุปว่าในระยะหลังนี้ เกาหลีเหนือได้แสดงท่าทีที่ก้าวร้าวและมีความเป็นศัตรูมากขึ้น...และวางตัวโดดเดี่ยวจากประชาคมโลกมากขึ้นเช่นกัน

ในสัปดาห์เดียวกับการประชุมอาเซียนนี้เองที่เกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธอีกรอบ

บ่งชี้ถึงความคืบหน้าในการพัฒนาอาวุธของเปียงยางที่ไม่ฟังเสียงทัดทานจากใครทั้งสิ้น

แถลงการณ์ของอาเซียนก็ได้แต่เพียงประณาม “การยั่วยุรอบใหม่ของเปียงยาง”

การประชุม Asean Regional Forum (ARF) นี้ ความจริงเป็นเวทีระดับนานาชาติที่ค่อนข้างแปลกตรงที่ว่ามีเกาหลีเหนือเข้าร่วมเป็นประจำ

หลายปีที่ผ่านมา เกาหลีเหนือมอบให้ อัน กวาง อิล เอกอัครราชทูตประจำอินโดนีเซียเป็นตัวแทน แทนที่จะส่ง โช ซอน ฮุย รัฐมนตรีต่างประเทศมา

เท่ากับเป็นการลดระดับความสำคัญในสายตาของเปียงยางต่อการประชุมอาเซียนตามลำดับ

แถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเรียกร้องให้มี "ความพยายามทางการทูต" เพื่อนำ "สันติภาพและเสถียรภาพที่ยั่งยืน" มาสู่คาบสมุทรเกาหลี

ดูหัวข้อในแถลงการณ์ร่วมแล้วก็พอจะจับใจความได้ว่า

อาเซียนยังอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งระดับภูมิภาคและระดับโลกที่วุ่นวายสลับซับซ้อนหนักขึ้นทุกขณะ!

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ