สำหรับใครที่อ่านคอลัมน์นี้เป็นประจำ คงเห็นว่าหลายครั้ง เมื่อมีประเด็นทางการเมืองหรือกระแสในบ้านเราที่คนพูดกันทั้งวี่ทั้งวัน และจะเป็นจะตายกับเรื่องดังกล่าวนั้น ผมมักจะเขียนเรื่องอื่น เพื่อพาแฟนคอลัมน์ออกจากวังวนเรื่องเดิมที่เป็นกระแส จะได้รับรู้กันว่า ในโลกใบนี้มีเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย ที่น่าสนใจ…กว่า
แต่เดิมวันนี้ผมตั้งใจทำเช่นนั้นเหมือนกัน เพราะตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา และสัปดาห์ที่จะถึงนี้ น่าจะมีแต่พูดถึงเรื่องการเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะเป็นการถกเถียงกัน จะเป็นการเออออกัน จะเป็นอะไรก็แล้วแต่ ทุกคนก็คงพูดถึงแต่เรื่องนี้ ผมเลยตั้งใจอยากเขียนเรื่องอื่น เพื่อพักสมองพวกเราบ้าง พักอารมณ์พวกเราบ้าง แต่ผมเองก็ทำไม่ได้
เพราะตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมถึงสัปดาห์ที่จะถึงนี้ ผมต้องเล่าสถานการณ์ให้บริษัทข้ามชาติ ที่อยู่ทั้งในประเทศไทยและอยู่ภูมิภาค รับรู้และเข้าใจสถานการณ์ ผมก็เลยออกจากวังวนพูดถึงเรื่องนี้ไม่ได้เช่นเดียวกัน
ที่ผมจะเขียนในวันนี้ ผมจะไม่เอามุมมองความคิดผมมาวิเคราะห์ เพราะแค่ในไทยโพสต์มีผู้เชี่ยวชาญพูดถึงสถานการณ์ตลอดเวลาอยู่แล้ว แต่มุมที่ผมจะเขียนในวันนี้ เป็นมุมมองสถานการณ์ในไทยผ่านสายตาชาวต่างชาติ เวลาเขามองไทยเรา ซึ่งบางทียอมรับว่าเป็นมุมมองที่ทำให้เหนื่อยใจ เพราะนอกจากจะมองไทยผ่านสายตาฝรั่งนั้น เขาจะเอาความเชื่อของเขามาแฝงในคำถาม ผมเลยต้องตอบทั้งตรงไปตรงมาและอธิบายที่มาที่ไปของสถานการณ์ให้เขาเข้าใจ และบางครั้งต้องเอาสถานการณ์ใกล้เคียงจากบ้านเขามาอยู่ในคำตอบผม เพื่อตบหน้าเขากลับ เมื่อเขาถามอะไรงี่เง่า
สำหรับใครที่ดูประเทศไทยแบบผ่านๆ คือเห็นไทยต่อเมื่อมีข่าว เขาจะเข้าใจสิ่งที่เขาเห็น เพราะเขาไม่ได้ดูประเทศไทยทุกวันอยู่แล้ว และประเทศไทยของเราจะเป็นข่าวก็ต่อเมื่อมีเหตุการณ์ทางการเมือง เช่น ปฏิวัติ และ/หรือ การชุมนุมหรือประท้วง ดังนั้นจะกล่าวหาว่าคำถามของเขา หรือความเข้าใจของเขาเกี่ยวกับบ้านเรา “งี่เง่า” ผมยอมรับว่าไม่แฟร์ครับ เพราะคงไม่ต่างไปกว่าความรู้ของพวกเราเกี่ยวกับประเทศประเภท South Sudan ที่เราจะสนใจหรือผ่านตาต่อเมื่อมีข่าวหรือมีเหตุการณ์ และส่วนใหญ่เหตุการณ์ที่จะเป็นข่าวนั้นเหมือนจะเป็นข่าวซ้ำๆ
แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า เมื่อเราอธิบาย เมื่อเราพูดด้วยเหตุผล แล้วเขายังเชื่อกับภาพเดิมๆ โดยไม่เปิดใจฟังสิ่งที่เราพยายามอธิบายนั้น อันนั้นต่างหากถึงขั้น “งี่เง่า” ทำให้ผมสนุกในการตอบโต้และชี้แจงทุกครั้ง ซึ่งผมบอกเขาทุกครั้งว่า ผมสังกัดพรรคการเมืองนะครับ แต่ผมมีจุดยืน มีความคิดเห็นที่ไม่อาจตรงกับพรรค กับรัฐบาล หรือกับสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง ผมบอกเขาเลยว่าผมจะไม่เชียร์เพื่อเชียร์ และสำคัญไปกว่านั้น จะไม่ด่าเพื่อด่า แต่ผมจะอธิบายที่มาที่ไปของสถานการณ์จากมุมมองทั้งของทั้งสองฝ่าย เพื่อให้เขาเข้าใจ
คำถามแรกยอดฮิตคือ เมื่อพรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้ง ทำไมเขาเป็นรัฐบาลไม่ได้? ผมเลยต้องอธิบายให้เขาเข้าใจว่า พรรคไหนชนะการเลือกตั้ง ไม่ได้หมายความว่าเป็นรัฐบาลโดยอัตโนมัติ พรรคนั้นๆ มีสิทธิ์ตั้งรัฐบาลพรรคแรก ซึ่งหมายความว่า ในสภาต่างหากที่จะเป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่ประชาชนเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง ผมก็บอกว่าเหมือนระบบรัฐสภาทั่วไป อันนี้จะเรียกว่า Parliamentary Democracy และถ้าเผื่อพรรคที่ชนะไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ พรรครองลงมา หรือพรรคอื่นๆ ที่สามารถรวมตัวเลขได้ มีสิทธิ์ตั้งรัฐบาล
เขามักจะถามกลับว่า คะแนนเสียงที่ไปกับพรรคที่ชนะไม่มีความหมายเลยเหรอ? ผมบอกว่ามันอยู่ที่ระบบ และยกตัวอย่างของสหรัฐอเมริกาว่า ในปีที่ George Bush ชนะ Al Gore และปีที่ Donald Trump ชนะ Hillary Clinton ทั้ง Bush กับ Trump แพ้คะแนนเสียงจากประชาชน แต่ชนะคะแนน Electoral Votes เลยทำให้เขาชนะการเลือกตั้งได้ เพราะถ้าผมไม่ชี้แจงแบบนี้ ต่างชาติจะพูดอยู่เสมอว่า “ระบบ” กีดกั้นคะแนนประชาชน ผมเลยต้องเถียงกลับไปว่า ถ้าอย่างงั้น “ระบบ” ก็กีดกั้นการเลือกตั้งในสหรัฐเหมือนกัน แล้วทำไมคุณไม่โวยวายกับเขาบ้าง? ทำไมไม่กล่าวหาเขาว่ามี “ผู้อยู่เบื้องหลัง” เหมือนกล่าวหาในบ้านเรา?
ผมพูดแบบตรงไปตรงมาว่า สถานการณ์ในครั้งนี้ (คือสถานการณ์เลือกนายกฯ) เป็นการชนและปนกันระหว่าง 2 เรื่องแย่ๆ เรื่องแย่ที่ 1 คือ อำนาจวุฒิสมาชิก ที่มีสิทธิ์เลือกนายกรัฐมนตรี ผมบอกพวกเขาเสมอว่า อำนาจตรงนี้มาจากรัฐบาลทหารหลังรัฐประหาร ซึ่งเป็นอำนาจที่ไม่เคยมีมาก่อน และแถมวุฒิสมาชิกชุดนี้ถูกคัดเลือกและสรรหาจากรัฐบาลทหารที่ยึดอำนาจ มองไปทางไหนก็จะมีแต่ปัญหา ถ้าเผื่อเจอแคนดิเดตนายกฯ หรือพรรคการเมืองที่เขาไม่โปรด
เรื่องแย่ที่ 2 คือ จุดยืนของพรรคที่ชนะเกี่ยวกับมาตรา 112 ซึ่งจุดตรงนี้เป็นสิ่งที่ชาวต่างชาติมักไม่เข้าใจ ว่าทำไมถึงต้องมีมาตรานี้ ทำไมคนไทยถึงไม่อยากให้แตะ หรือพูดตรงๆ ทำไมคนไทย (จำนวนไม่น้อย) ถึงเชิดชูและรักสถาบันขนาดนี้ พวกเขามองว่า มาตรา 112 ละเมิดสิทธิพื้นฐานของประชาชนที่มีเสรีภาพในความคิดและการแสดงออก
ผมมักจะเถียงเขากลับไปว่า การมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดนั้น ไม่ได้หมายความว่าคุณทำหรือพูดทุกสิ่งอย่างที่คุณอยากพูดหรือทำ ยกตัวอย่างแค่ง่ายๆ ไม่ได้เกี่ยวกับกฎหมาย ไม่เกี่ยวกับสถาบันอะไรใดๆ ทั้งสิ้น แค่คุณถูกเชิญไปบ้านคนอื่น แล้วเขาตั้งใจทำกับข้าวให้คุณทาน เมื่อไม่ถูกปากคุณ คุณจะบอกเขาไหมว่า “อาหารห่วยจัง”? คุณมีสิทธิ์พูดได้ แต่ถ้ามีมารยาทจะไม่พูด
ผมถามต่อว่าในศาล (ของเขา) ถ้าแสดงความไม่พอใจต่อหน้าตุลาการ ด้วยการพูดวาจาเสียดสี ไม่สุภาพ หรือยกนิ้วกลางให้ คุณมีเสรีภาพที่จะทำได้ แต่มีกฎหมายคุ้มครองปกป้องตุลาการ และคุณติดคุกทันทีครับ หรือคุณจะเขียนจดหมายด่าประธานาธิบดีหรือนายกรัฐมนตรี โดยใช้ทั้งคำขู่และคำหยาบนั้น ถ้ารุนแรงเกิน ตำรวจมาหาคุณที่บ้านนะครับ เพราะอะไร? เพราะมีกฎหมายคุ้มครองสถาบันสูงของเขา
สิ่งที่ผมจะพูดอยู่เสมอ เพื่อให้เขาเห็นภาพคือ ในประเทศคุณเอง ถ้าอยู่ๆ มีคนประกาศผ่านสื่อหรือในที่สาธารณะว่า “ฮิตเลอร์เป็นฮีโร่ของผม” ถ้าเป็นประเทศเยอรมนีคุณถูกจับครับ และอีกหลายประเทศคุณจะถูกประณาม และถูก Blacklist ดีไม่ดีมีตำรวจสืบสวนสอบสวนไปด้วย ถ้าอยู่สหรัฐแล้วบอกว่า “คนผิวดำด้อยกว่าคนผิวขาว” คุณถูกไล่ออกจากงาน และสังคมเล่นงานคุณ แล้วดีไม่ดี ตำรวจหาคุณเช่นเดียวกัน ผมต้องเถียงเขาตลอดเวลาว่า ถ้าพวกคุณมองประเทศไทยถูกปิดปากเพราะ 112 คุณก็ถูกปิดปากเหมือนกัน
สำหรับเรื่อง 112 กับสถาบันนั้น ผมมักจะพูดว่า ประเด็นหรือเรื่องที่เป็นเรื่องสำคัญในบ้านของคุณ ไม่ว่าจะเป็นการประณามกลุ่มรักฮิตเลอร์ หรือการประณาม Racism บ้านเราไม่มีเรื่องแบบนี้ แต่อารมณ์การปกป้องสิ่งที่รัก (สถาบัน) เป็นสิ่งที่คนไทยจำนวนไม่น้อยปกป้องด้วยชีวิต มากกว่าที่พวกคุณประณามคนรักฮิตเลอร์ และกลุ่ม Racist ทั้งหลายครับ
ต่อในเรื่องแย่ที่ 2 คือ เรื่องการถือหุ้นสื่อของคุณพิธา
สิ่งที่ชาวต่างชาติมักจะพูดเสมอคือ “ผู้มีอำนาจ” จะกลั่นแกล้งคุณพิธาเพราะมาจากซีกที่เขาไม่โปรดใช่ไหม? เลยเอาเรื่องนี้มากลั่นแกล้งเขา? ผมบอกเขาว่าสำหรับเรื่องนี้ ถ้ามองแบบแฟร์ๆ น้ำหนักความผิด มันเท่ากับน้ำหนักความไม่ผิด ซึ่งหมายความว่ามันโต้เถียงกันได้ เพราะความผิดหรือไม่ผิดเกือบเท่าๆ กัน เมื่อเป็นเช่นนี้ขึ้นมา ทำไมถึงเปิดโอกาสให้หน่วยงานเล่นคุณได้?
ผมจะหยิบยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นชัดว่า กฎหมายประเทศสิงคโปร์กำหนดชัดเจนว่า ถ้าคุณขนยา “ไอซ์” เข้ามาในประเทศเกิน 25 กรัม คุณจะถูกจับด้วยข้อกล่าวหา Drug Trafficking และถูกลงโทษประหารชีวิต แต่ถ้าอยู่ๆ คุณเอา “ไอซ์” เข้าประเทศสิงคโปร์ 24 กรัม หรือ 25 กรัมเป๊ะๆ คุณจะทำไปเพื่ออะไร? จะหมิ่นเหม่ทำไม? และเสี่ยงทำไม? คุณอาจไม่เห็นด้วยกับกฎหมายนี้ก็ตาม เพราะคุณไม่ได้ตั้งใจขาย คุณนำไปเสพเอง แต่กฎหมายเป็นกฎหมายครับ คุณเถียงไม่ได้ถ้าถูกจับขึ้นมา เพราะคุณรู้อยู่แล้วว่ามีกฎหมายนี้
วันนี้ต้องขอโทษครับ ถือว่าเป็นการระบายความในใจของผมที่ผมต้องเจอทุกวัน ในการชี้แจงสถานการณ์บ้านเมืองเราให้กับบริษัทข้ามชาติครับ ที่ผมต้องอธิบายทั้ง 2 ฝ่ายให้เขาเข้าใจและเห็น เพราะเขาจะรับข่าวประเทศไทยจากนักวิชาการไทย (รับจ้าง) ที่ทำหน้าที่ด่าบ้านเกิดเพื่อให้ตัวเองดูดี ผมบอกเลยว่าผมรำคาญ เลยต้องใช้เวลา ใช้พลังในการอธิบายให้เข้าใจ หรือเห็นภาพกว้างขึ้นครับ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
President Biden….You’re a Good Dad
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีสารพัดเรื่องที่น่าสนใจและน่าเขียนถึง เรื่องแรกต้องเป็นเรื่องประกาศกฎอัยการศึกในเกาหลีใต้ เพราะเป็นเรื่องไม่มีวี่แววว่าจะเกิดขึ้น และถือว่าเป็นการประกาศฟ้าผ่าทีเดียว
คุยเรื่อง…ที่ไม่ใช่เรื่อง
เผลอแป๊บเดียว วันนี้เราเข้าเดือนสุดท้ายของปีแล้ว ถือว่าเราเข้าฤดูกาลซื้อของขวัญสำหรับคริสต์มาสและปีใหม่อย่างเป็นทางการ ถึงแม้ตามห้างต่างๆ
'ศาลอาญาระหว่างประเทศ….มีไว้ทำไม?'
เมื่อวันพฤหัสฯ ที่ผ่านมา ศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court หรือ ICC) ได้ออกหมายจับนายกรัฐมนตรีอิสราเอล Benjamin Netanyahu
'BRO!!!!!'
เกือบ 2 สัปดาห์กับผลการเลือกตั้งในสหรัฐ ที่สร้างความประหลาดใจให้กับคนทั่วไป เว้นบรรดานักวิเคราะห์แม่นๆ….หลังผลออกมา พวกนี้ยังพูดเต็มปากเต็มคำว่า
“ถ้าไม่เลือกเรา...เขามาแน่”...ทำให้เขาชนะขาดลอย
ผมไม่แน่ใจว่ากว่าแฟนคอลัมน์จะได้อ่านบทความนี้ เรื่องที่ผมจะเขียนนั้นมันแห้งเกินไปหรือเปล่า เพราะกว่าจะถึงวันที่ได้อ่านบทความนี้ เรื่องนี้อาจจะเก่าไปแล้วก็ได้
ผมจะไม่แปลกใจถ้าTrumpชนะ….แต่ผมจะแปลกใจถ้าHarrisแพ้
อีกไม่กี่วันข้างหน้าจะได้รู้กันว่าใครจะเป็นผู้นำ “The Free World” ระหว่างอดีตประธานาธิบดี กับอดีตรองประธานาธิบดี