18เดือนกับตลก3ช่าของเซเลนสกี

รัสเซียรุกรานยูเครนถูกหรือผิด:

ตามกฎหมายระหว่างประเทศ “การใช้กำลังจะถูกต้องตามกฎหมายก็ต่อเมื่อใช้เพื่อป้องกันตนเองตามมาตรา 51 ของกฎบัตรสหประชาชาติ และ/หรือคณะมนตรีความมั่นคงรับรองการใช้กำลังดังกล่าว” เห็นชัดว่ารัสเซียละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ ในอีกมุมอาจวิพากษ์ว่ารัฐบาลเซเลนสกี “อ่อนต่อโลก” ไม่เข้าใจ “หลักชิงลงมือก่อน”

ย้อนหลังเมื่อมิถุนายน 2002 ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช (George W. Bush) เอ่ยถึงหลักนิยม “ชิงลงมือก่อน” (preemption) ว่ายุทธศาสตร์ป้องปรามและปิดล้อมที่ใช้ในยุคสงครามเย็นไม่เหมาะสมอีกแล้ว

ภาพ: โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน
เครดิตภาพ: https://www.president.gov.ua/en/news/glava-derzhavi-obgovoriv-iz-prezidentom-par-pidgotovku-do-gl-84325

หลังเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน 2001 “ถ้าเรารอให้ภัยคุกคามก่อตัวเต็มที่ เรารอนานเกินไป เราต้องสู้กับศัตรู ทำลายแผนและเผชิญหน้าภัยคุกคามร้ายแรงที่สุดก่อนที่ภัยคุกคามจะปะทุออกมา”

สหรัฐตั้งใจโจมตีข้าศึกที่แสดงท่าทีคุกคามก่อนที่พวกเขาลงมือจริง ไม่รอให้ถูกโจมตีก่อนจึงโต้กลับ ด้วยความคิดที่ว่าตนมีสิทธิ์และความชอบธรรมที่จะชิงโจมตีประเทศใดๆ เพื่อปกป้องตนเองล่วงหน้า ความชอบธรรมนี้อยู่เหนือกฎหมายระหว่างประเทศ ถ้าเป็นภัยคุกคามที่จวนจะถึงตัวแล้ว (imminent threat) ไม่รอการรับรองจากสหประชาชาติ โดยเฉพาะหากผู้ก่อการร้ายคิดโจมตีด้วยอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (weapons of mass destruction: WMD)

รัฐบาลบุชใช้หลักนิยม “ชิงลงมือก่อน” เมื่อทำสงครามกับอิรัก อ้างว่ารัฐบาลของประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน สะสมอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงจำนวนมาก รวมทั้งอาวุธนิวเคลียร์ รัฐบาลซัดดัมมีประวัติใช้ WMD กับประชาชนตนเอง (ใช้อาวุธเคมี) อาจมอบอาวุธนิวเคลียร์แก่ผู้ก่อการร้ายโจมตีสหรัฐ เป็นภัยคุกคามจวนตัว ทุกวันนี้เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่าความจริงแล้วอิรักไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ รัฐบาลสหรัฐอ้างข้อมูลเท็จเพื่อรุกรานอิรัก

เหตุผลหนึ่งที่รัสเซียบุกยูเครนคือสร้างรัฐกันชน (buffer state) เป็นยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศของรัสเซียที่มีมาช้านาน เฉพาะกรณียูเครน ฝ่ายรัสเซียพูดหลายปีแล้วว่าเป็นเส้นต้องห้าม (red line) ห้ามยูเครนเป็นสมาชิกนาโต ขอให้วางตัวเป็นกลาง การที่รัฐบาลปูตินส่งกองทัพเข้ายูเครนเป็นการทำตามเส้นต้องห้ามที่ประกาศนานหลายปีแล้ว ให้โลกรับรู้ว่ารัสเซียจะทำอย่างไรหากถูกข่มขู่คุกคามคิดทำลายประเทศตน

รัสเซียบุกยูเครนละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติ ข้อโต้แย้งคือการบุกเข้าไปเป็นการป้องกันตัวเอง เป็นแนวทางเดียวกับที่หลายประเทศใช้

กองทัพรัสเซียอ่อนแอยูเครนชนะได้:

ข้อนี้อาจเป็นอีกปัจจัยที่เซเลนสกีโดนปั่นหัวให้เชื่อตามนั้น จึงกล้าทำสงครามกับรัสเซีย

ธันวาคม 2022 เจ้าหน้าที่รัฐบาลไบเดนกล่าวต่อรัฐสภาว่ายูเครนมีขีดความสามารถยึดไครเมียคืน และน่าจะสำเร็จก่อนสิงหาคม 2023 François Hollande ประธานาธิบดีฝรั่งเศสเชื่อว่ายูเครนจะชนะเช่นกัน กองทัพรัสเซียที่ล่าถอยบางครั้งเป็นหลักฐานให้คิดเช่นนั้น

รายงาน Freedom in the World 2023 จาก Freedom House ความตอนหนึ่งระบุว่า ผลจากการที่รัฐบาลปูตินเต็มไปด้วยการคอร์รัปชันกองทัพจึงอ่อนแอ แม้สองทศวรรษที่ผ่านมาใช้งบประมาณหลายแสนล้านดอลลาร์พัฒนากองทัพให้ทันสมัย กองทัพรัสเซียจึงขาดอาวุธ ขาดแม้กระทั่งอาหาร เวชภัณฑ์ ยังใช้แผนที่กับอาวุธสมัยเป็นสหภาพโซเวียต ปูตินพูดว่ากองทัพรัสเซียทัดเทียมนาโตและเหนือกว่ายูเครนเป็นการโอ้อวดเกินจริง

ศึกยูเครนผ่านมา 18 เดือนแล้ว ตลอดเวลาที่ผ่านมาประธานาธิบดีเซเลนสกีร้องขออาวุธกระสุนต่อเนื่อง ปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมาชาตินาโตประกาศว่าได้ทำตามสัญญาส่งมอบอาวุธที่รับปากยูเครนถึง 98% แล้ว รวมทั้งรถถังประจัญบาน Leopard ระบบขีปนาวุธ Patriot ปีที่แล้ว (2022) นาโตส่งมอบรถถังรัสเซียหลายร้อยคันแก่ยูเครน เช่น T-72 กับ M-55Ss (ปรับปรุงจาก T-55) ล่าสุดกำลังเตรียมเครื่องบินรบ F-16

มีข่าวว่าชาติสมาชิกนาโตบางประเทศให้จนกระสุนเกือบหมดคลัง อาวุธบางชนิดเหลือน้อยเต็มที

ตั้งแต่ต้นจนบัดนี้รัสเซียค่อยๆ รุกกินดินแดนแต่ที่สุดฝ่ายใดแพ้ชนะต้องติดตามต่อไป

สมรภูมิปกป้องยุโรป:

ถ้าจะบอกว่าอียูไม่คิดว่ารัสเซียเป็นภัยคุกคามจะดูแปลกเพราะประกาศว่ารัสเซียศัตรูอย่างเปิดเผย ร่วมมือภายใต้นาโตต่อต้านรัสเซีย แต่ในอีกด้านมีข้อมูลขัดแย้ง หลายปีแล้วที่นาโตตกลงว่าสมาชิกจะต้องตั้งงบประมาณกลาโหมอย่างน้อย 2% ของจีดีพี แต่สมัยรัฐบาลแมร์เคิล (ชุดที่แล้ว) ตั้งงบกลาโหมเพียง 1.2% ปี 2022 สมาชิกส่วนใหญ่ตั้งงบกลาโหมเพียงเล็กน้อย ไม่ถึงเป้า 2% มีเพียง 7 ใน 30 ประเทศเท่านั้นที่เข้าเป้า

มีข้อมูลมากมายชี้ว่ากองทัพเยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศสไม่พร้อมรบ เครื่องบินรถถังที่ใช้งานได้จริงน้อยกว่าจำนวนที่ระบุไว้มาก กระสุนที่มีอยู่ใช้ได้เพียงไม่กี่วัน เป็นหลักฐานสำคัญชี้ว่าแต่เดิมฝ่ายยุโรปไม่คิดว่ารัสเซียเป็นภัยคุกคามจึงไม่เตรียมกองทัพใหญ่โต

ย้อนหลังรัฐบาลเยอรมันชุดก่อน พฤษภาคม 2017 อังเกลา แมร์เคิล (Angela Merkel) นายกรัฐมนตรีเยอรมนีในขณะนั้นเอ่ยถึงนโยบายต่างประเทศว่า “ห้วงเวลาที่เราต้องพึ่งพาประเทศอื่นอย่างสิ้นเชิงได้สิ้นสุดลงแล้ว” ประโยคดังกล่าวไม่ได้เอ่ยชื่อประเทศใดแต่ทุกคนรู้ว่าหมายถึงสหรัฐอเมริกา แนวคิดนี้สอดคล้องกับกระแสยุโรปตะวันตกที่ต้องการเป็นอิสระ ไม่ถึงขั้นแยกตัวออกจากนาโตแต่หวังเป็นมิตรกับรัสเซียซึ่งหมายถึงยุโรปที่มีสันติภาพ หลีกเลี่ยงสถานการณ์ยุโรปอยู่กึ่งกลาง 2 มหาอำนาจที่ต่อสู้แข่งขันกัน รัฐบาลทรัมป์ในสมัยนั้นต่อต้านท่าทีอียูเป็นอิสระอย่างหนัก ถึงกับขู่ว่าจะสลายนาโต

หลายสิบปีแล้วที่รัสเซียเป็นผู้ส่งออกพลังงานรายใหญ่สู่ยุโรป มีระบบท่อส่งหลายท่อผ่านยุโรป เฉพาะ Nord Stream เป็นท่อจากรัสเซียเข้าเยอรมนีโดยตรง คำถามที่พูดกันเสมอคือหากรัสเซียปิดท่อก๊าซจะส่งผลต่อคนเยอรมันหลายสิบล้านคนอย่างไร ในอดีตอาจตอบว่าเยอรมนีนำเข้าจากหลายประเทศ เมื่อมาถึงสมัยแมร์เคิลนำเข้าจากรัสเซียมากกว่าครึ่งและทำท่าจะเพิ่มขึ้นอีก คำถามนี้จึงมีน้ำหนัก

ข้อโต้แย้งคือ เพราะเยอรมนี (กับยุโรป) เป็นลูกค้ารายใหญ่ รัสเซียจึงไม่ผลีผลามทำอะไรที่ทำให้ยุโรปรู้สึกไม่ปลอดภัย ด้วยการมีระบบเศรษฐกิจร่วมกัน เป็นคู่ค้ารายใหญ่ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ จึงมุ่งอยู่ร่วมกันโดยสันติ

โครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 อันเป็นโครงการใหม่สมัยรัฐบาลแมร์เคิลเป็นหลักฐานในตัวเองว่ารัฐบาลเยอรมนีชุดก่อนเห็นว่านโยบายพลังงานเหมาะสมดีแล้ว ไม่คิดว่ารัสเซียเป็นภัยคุกคามอย่างที่รัฐบาลสหรัฐกล่าวอ้าง

ถ้ารัสเซียไม่คิดรุกรานยุโรป ยูเครนจะเป็นแค่เหยื่อที่ถูกหลอกใช้ให้ทำศึกกับมหาอำนาจรัสเซีย ต้นปี 2023 ซอรัน มีลาโนวิช (Zoran Milanovic) ประธานาธิบดีโครเอเชียกล่าวว่า “วอชิงตันกับนาโตกำลังทำสงครามตัวแทน (proxy war) โดยอาศัยยูเครน”

ผลคือประเทศเต็มด้วยบาดแผลสงคราม ร่องรอยของกระสุนนานาชนิด ระเบิด ขีปนาวุธของสารพัดประเทศ เป็นสมรภูมิทดสอบสารพัดอาวุธเก่าใหม่ นับวันประเทศจะกลายเป็นเศษซาก ระบบเศรษฐกิจย่อยยับไม่รู้ว่าต้องใช้เวลาบูรณะอีกกี่สิบปี บาดเจ็บล้มตายเป็นแสน เดือนกุมภาพันธ์ UN ร้องขอรับบริจาค 5,600 ล้านดอลลาร์เพื่อซื้อหาอาหาร สิ่งของบรรเทาทุกข์แก่คนยูเครน 15.3 ล้านคน และอีกกว่า 4 ล้านคนที่ลี้ภัยในต่างแดน ถึงกระนั้นรัฐบาลเซเลนสกียืนยันสู้ต่อไปเพื่อปกป้องเสรีประชาธิปไตยยุโรป

วันนี้ยูเครนยังรบได้เพราะอาวุธกระสุน งบประมาณจากรัฐบาลสหรัฐกับพวกโดยแท้ (การรบจะยุติทันทีถ้าไม่รับการสนับสนุน)

ควรสรุปว่าอนาคตยูเครนไม่อยู่ในมือของคนยูเครนอีกต่อไป ทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะรัฐบาลเซเลนสกีตัดสินใจทำสงครามแทนยอมรับข้อเสนอวางตัวเป็นกลางของรัสเซีย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นโยบายต่างประเทศจีน2024จากมุมมองสหรัฐ

เป้าหมายนโยบายต่างประเทศคือการฟื้นฟูชาติจีนครั้งยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะใช้มุมมองจีนหรือสหรัฐ ทั้งคู่มองว่าต่างเป็นคู่แข่งเชิงยุทธศาสตร์และน่าจะเป็นปรปักษ์ในที่สุด

ยุทธศาสตร์แห่งชาติจีน2024จากมุมมองสหรัฐ

กำหนดเป้าหมาย ‘มีกองทัพเข้มแข็งระดับโลก เป็นผู้นำทบทวนระเบียบโลก’ ในการนี้จีนต้องเผชิญหน้าสหรัฐผู้นำระเบียบโลกปัจจุบันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ปฐมบทอาหรับสปริงซีเรีย

ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจสังคมเป็นต้นเหตุสำคัญของอาหรับสปริงซีเรีย รัฐบาลต่างชาติที่หวังล้มอัสซาดพยายามอยู่นานหลายปี รอจนวาระและโอกาสเป็นใจ

จากฮาเฟซ อัลอัสซาดสู่จุดเริ่มอาหรับสปริงซีเรีย

อำนาจการปกครองเป็นของคนส่วนน้อย คนกลุ่มนี้แหละที่ได้รับประโยชน์ ทิ้งให้ประชาชนจำนวนมากอยู่ตามมีตามเกิด อำนาจนี้เปลี่ยนมือไปมาจนมาถึงระบอบอัสซาดที่อยู่ได้ 2 ชั่วคน คือพ่อกับลูก

2024สงครามกลางเมืองซีเรียระอุอีกครั้ง

สงครามกลางเมืองที่ดำเนินมาเกือบ 14 ปียังไม่จบ สาเหตุหนึ่งเพราะมีรัฐบาลต่างชาติสนับสนุนฝ่ายต่อต้านกับกลุ่มก่อการร้าย HTS เป็นปรากฏการณ์ล่าสุด