อะไรคือ De-coupling และ De-risking ของตะวันตกที่จีนต่อต้าน?

ถ้าใครเสนอว่านโยบายของตะวันตกต่อจีนควรจะปรับจาก de-coupling เป็น de-risking ก็อย่าเพิ่งงง

เพราะนักการเมืองระหว่างประเทศจำนวนไม่น้อยก็ยังพยายามทำความเข้าใจกับศัพท์แสงคำนี้อยู่

แปลตรงตัวแล้ว de-coupling แปลว่าแยกออกจากกัน

ส่วน de-risking แปลว่าลดความเสี่ยง

เดิมเมื่อจีนกับสหรัฐฯ มีความขัดแย้งทางด้านการเมืองที่ไปกระทบเศรษฐกิจ ก็มีการเสนอว่าตะวันตกกับจีนอาจจะต่างคนต่างแยกกันอยู่ แบ่งโลกเป็นสองซีกไปเลย ตะวันตกก็ค้าขายกันเอง จีนก็คบหากับประเทศที่เป็นมิตรกับตน ไม่ข้ามขั้วไปมาหาสู่กันเหมือนสมัย globalization หรือ “โลกาภิวัตน์”

แต่เอาเข้าจริงๆ มันเสี่ยงเกินไปสำหรับทั้งสองฝ่ายนั่นแหละ

เพราะต่างคนต่างมีตลาด มีทุน และศักยภาพที่เอื้อต่อกันและกัน

หากเกิด de-couple กันจริงก็เสียหายทั้งคู่

เป็นที่มาของข้อเสนอให้ลดวิธีสุดขั้วอย่างนั้น จึงมีข้อเสนอให้ปรับนโยบายที่ไม่ต้องถึงกับเลิกคบกัน แต่ให้คบกันแบบ “ลดความเสี่ยง” คือไม่พึ่งพาจีนมากเกินความจำเป็น

ข้อเสนอนี้แปลว่า โลกตะวันตกจะพยายามลดการพึ่งพาจีนในด้านห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก

แต่ไม่ได้ตัดความสัมพันธ์ทั้งหมด

เป็นแนวคิดที่อยู่ในแถลงการณ์ร่วมจากการประชุม Group of 7 เมื่อเร็วๆ นี้

แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ประเทศเศรษฐกิจประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลกจะมุ่งเน้นไปที่ “การลดความเสี่ยง ไม่แยกจากกัน”

การคบหาแบบ “ลดความเสี่ยง” กับจีนเกิดขึ้นหลังจากการกล่าวสุนทรพจน์ของประธานคณะกรรมาธิการยุโรป  Ursula von der Leyen เออร์ซูลา ฟอน แดร์ เลย์เอิน เมื่อวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา

โดยเธออธิบายว่าทำไมเธอถึงเดินทางไปปักกิ่งกับประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส และทำไมยุโรปถึงไม่ทำตามข้อเรียกร้องให้แยกตัวออกมา ซึ่งเริ่มขึ้นในสมัยประธานาธิบดีทรัมป์

“ฉันเชื่อว่าไม่มีความเป็นไปได้-หรือเป็นประโยชน์ต่อยุโรป-ที่จะแยกตัวออกจากจีน” เธอกล่าว

และเสริมว่า “ความสัมพันธ์ของเราไม่ใช่เรื่องขาวหรือดำ-และการตอบสนองของเราก็เช่นกัน นี่คือเหตุผลที่เราต้องมุ่งเน้นไปที่การลดความเสี่ยง-ไม่ใช่การแยกตัว”

ต่อมานักการทูตชาวเยอรมันและฝรั่งเศส ได้เรียกร้องให้ใช้คำนี้ในการวางแนวทางความสัมพันธ์ระดับนานาชาติ

แต่หลายประเทศในเอเชียไม่เห็นด้วย บอกว่าไม่ว่าจะเป็น de-coupling หรือ de-risking ก็ล้วนแล้วแต่เป็นมาตรการที่เกินความจำเป็น ในความพยายามที่จะคลี่คลายปัญหาความตึงเครียดระหว่างตะวันตกกับจีนทางด้านเศรษฐกิจ

จังหวะเหมาะเจาะพอดีกับที่นายกรัฐมนตรีจีน หลี่ เฉียง กล่าวสุนทรพจน์เมื่อเร็วๆ นี้

เขาไม่รอช้าที่จะบอกว่าข้อเสนอเรื่อง de-risking นั้นเป็น “มายาคติ” ที่เป็นไปไม่ได้

หลี่ เฉียง จับประเด็นนี้ในการแถลงที่ประชุมประจำปี World Economic Forum of the New Champions ที่เมืองเทียนจินเมื่อเร็วๆ นี้

จะเรียกว่าจีนประณามความพยายามของชาติตะวันตกในการ "ลดความเสี่ยง" ของเศรษฐกิจโลกว่าเป็น "เรื่องเท็จ" ก็ไม่ผิดนัก

เพราะต้องการจะตอบโต้และสวนกลับนโยบายของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปที่มุ่งลดการพึ่งพาจีน

หลี่ เฉียง ฟันเปรี้ยงว่า “ในโลกตะวันตก บางคนกำลังโฆษณาเกินจริงถึงสิ่งที่เรียกว่า cutting reliance and de-risking

"แนวคิดทั้งสองนี้ ... เป็นเรื่องเท็จ เพราะการพัฒนาของโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจนั้นทำให้เศรษฐกิจโลกกลายเป็นสิ่งเดียวกัน นั่นหมายถึงการจับของคุณและของผมมาผสมผสานกัน"

เศรษฐกิจของหลายประเทศผสมผสานกัน พึ่งพากัน ประสบความสำเร็จเพราะกันและกัน และพัฒนาไปด้วยกัน" เขากล่าวเสริม

"นี่เป็นสิ่งที่ดีจริงๆ ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย"

การประชุม World Economic Forum ที่จัดที่เมืองท่าเทียนจิน หรือที่เรียกกันติดปากว่า Summer Davos ถือเป็นการประชุมครั้งแรกหลังจากห่างหายจากการระบาดของโควิด-19 ไปนานถึง 3 ปี

หลี่ เฉียง เพิ่งกลับจากการเยือนเยอรมนีและฝรั่งเศส

ระหว่างเยือนยุโรป ผู้นำจีนคนนี้เรียกร้องให้จีนและยุโรป "อยู่เหนือความแตกต่าง"

และใช้เวทีที่เทียนจินแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับวาทกรรมล่าสุดที่โยงใยถึงความสัมพันธ์กับจีน

“อุปสรรคที่มองไม่เห็นโดยบางคนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กำลังแพร่หลายและผลักดันให้โลกเข้าสู่การแตกแยกและแม้กระทั่งการเผชิญหน้า” นายกฯ จีนกล่าว

โดยอ้างถึงคำพูดของประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เออร์ซูลา ฟอน แดร์ เลย์เอิน ว่ายุโรปต้อง “ลดความเสี่ยง” ทางการทูตและเศรษฐกิจจากจีน

“เราต่อต้านการนำประเด็นทางเศรษฐกิจและการค้ามาเป็นประเด็นทางการเมืองเทียม” หลี่กล่าว

พร้อมเสริมว่า การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพมีความสำคัญอย่างยิ่งในการหลีกเลี่ยงความเข้าใจผิดระหว่างประเทศต่างๆ

ผู้นำจีนคนนี้บอกว่า แนวโน้มของโลกาภิวัตน์ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงแม้ว่าจะมีความพ่ายแพ้บ้างก็ตาม

พร้อมย้ำว่า จีนยังคงเปิดกว้างสำหรับธุรกิจและยินดีต้อนรับนักลงทุนต่างชาติ

“เราควรตามกระแสของเวลา พัฒนาฉันทามติต่อไป และสร้างเศรษฐกิจโลกที่เปิดกว้างอย่างไม่เปลี่ยนแปลง” หลี่กล่าว

เศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 2 จะสูงกว่าไตรมาสแรก และกำลังจะบรรลุเป้าหมาย 5% สำหรับปีนี้

"เรามีความมั่นใจอย่างเต็มที่และสามารถผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจจีน ในระยะยาวอย่างมั่นคงและต่อเนื่องไปพร้อมกับการพัฒนาคุณภาพสูงในระยะยาว"

เนื่องจากผลผลิตของโรงงานชะลอตัวท่ามกลางอุปสงค์ภายนอกและภายในประเทศที่อ่อนแอ หลี่กล่าวว่า "เราจะเปิดตัวมาตรการที่ใช้งานได้จริงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในการขยายศักยภาพของอุปสงค์ในประเทศ กระตุ้นความมีชีวิตชีวาของตลาด ส่งเสริมการพัฒนาที่ประสานกัน...และส่งเสริมการเปิดสู่ระดับโลก"

แต่นักวิเคราะห์กำลังปรับลดการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในช่วงที่เหลือของปี

ธนาคารรายใหญ่หลายแห่งปรับลดคาดการณ์การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในปีนี้ หลังจากข้อมูลผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและยอดค้าปลีกในเดือนพฤษภาคมพลาดจากที่คาดการณ์

และระบุว่า ปักกิ่งจำเป็นต้องดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อพยุงการฟื้นตัวหลังโควิด-19 ที่สั่นคลอน

ธนาคารกลางของจีนเพิ่งจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยสำคัญ 2 รายการ เพื่อตอบสนองการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก

มีแนวโน้มด้วยว่า ปักกิ่งกำลังเตรียมชุดมาตรการที่เป็นตัวชี้วัดเป้าหมายหลายด้านของเศรษฐกิจ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

สรุปว่าจีนไม่ชอบคำว่า “แยกขั้วเศรษฐกิจ” และไม่เอาศัพท์ใหม่ “ลดความเสี่ยง”

สำหรับเศรษฐกิจจีนนั้น “โลกาภิวัตน์” ยังมีความขลังสำหรับการเติบใหญ่ของจีนในเวทีโลกอยู่แน่นอน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ