หลังกรณี “ปราบกบฏ” ที่รัสเซียผ่านมาได้กว่าสองสัปดาห์ สิ่งที่ต้องจับตาดูเป็นพิเศษคือความพยายามของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ที่จะทำให้คนในประเทศและสังคมโลกเห็นว่าเขายังสามารถควบคุมกลไกแห่งอำนาจรัฐไว้ได้อย่างเหนียวแน่น
ท่ามกลางแนววิเคราะห์จากหลายฝ่ายว่าการลุกฮือของทหารรับจ้างวากเนอร์ภายใต้การนำของคนที่เคยสนิทสนมด้วยอย่างยิ่งนั้นกำลังจะเขย่าฐานอำนาจของผู้นำรัสเซียคนนี้
รอยร้าวมีตั้งแต่ในแวดวงหน่วยงานด้านความมั่นคงไม่ว่าจะเป็นกระทรวงกลาโหมหรือกองทัพกลายเป็นประเด็นร้อนแรงที่ยังเป็นความลี้ลับมหัศจรรย์สำหรับคนรัสเซียและคนทั้งโลกวันนี้
คำถามว่าปูตินระแวงสงสัยคนรอบข้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของ “ทฤษฎีสมรู้ร่วมคิด” ที่จะโค่นเขามากน้อยเพียงใด
แน่นอนว่าเป้าหลักของการเกาะผลต่อเนื่องจากสถานการณ์ “กบฏ 24 ชั่วโมง”ที่นำโดยเยฟเกนี ปริโกซิน หัวหน้าวากเนอร์นั้นจะนำไปสู่การกำหนดชะตากรรมของเขาอย่างไร
และข่าวเรื่องสอบสวนและควบคุมนายพลคนสำคัญว่ามีส่วนรับรู้ความเคลื่อนไหวต่อต้านปูตินนั้นมีความจริงเท็จเพียงใด
ข่าวที่ออกมาเป็นระยะ ๆ แม้ก่อนการก่อเหตุกบฏก็ชี้ไปว่ามีความพยายามจากฝ่ายตรงข้ามของรัฐมนตรีกลาโหม เซอร์เก ชอยกูให้ถอดถอนเขาออกจากตำแหน่ง
โดยกล่าวหาว่าชอยกูไม่มีความสามารถเพียงพอในการบัญชาการศึกในยูเครน
ปูตินใช้ทั้งสัปดาห์หลังเหตุการณ์ 23-24 มิถุนายน ในการพยายามสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่าเขายังเป็นผู้นำที่แข็งแกร่งและเด็ดขาดอยู่
วิธีการแสดงออกเช่นนั้นมาพร้อมกับการถ่ายทอดสดกิจกรรมสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับการทหาร ธุรกิจ และกลุ่มอื่นๆ
ขณะที่โพลหลายสำนักในรัสเซียเองก็อ้างว่าเขายังได้รับการสนับสนุนจากสาธารณะอย่างแข็งแกร่ง
แต่ก็ห้ามเสียงกระซิบทางร้ายในแวดวงต่าง ๆ
เพราะความที่ปูตินปกครองรัสเซียมายาวนาน และได้ใช้มาตรการเข้มข้นกับผู้เห็นต่างอย่างไม่เกรงอิทธิพลใด
นั่นย่อมหมายความว่ามีผู้ได้ประโยชน์และเสียโอกาสเพราะบารมีแผ่ไปอย่างกว้างขวางทั่วทุกวงการในประเทศ
ประเด็นท้าทายทันทีคือผลจากกรณีกบฏวากเนอร์จะกระทบสงครามยูเครนที่ลากยาวมากว่า 17 เดือนแล้วอย่างไรบ้าง
สถานภาพทางการเมืองของปูตินในบ้านขึ้นอยู่กับความสำเร็จหรือล้มเหลวของสงครามครั้งนี้ไม่น้อย
ภาพที่ปริโกซินพยายามจะสร้างมาตลอดคือทหารรับจ้างวากเนอร์ของเขามีความสามารถในการทำสงครามกับทหารยูเครนมากกว่าทหารประจำการของกองทัพรัสเซียภายใต้การนำของ
รัฐมนตรีกลาโหมคนปัจจุบันนี้มากมายนัก
ขณะที่ประธานาธิบดีเซเลนสกีของยูเครนก็ฉวยจังหวะนี้เรียกร้องให้ฝ่ายตะวันตกเร่งส่งอาวุธยุทโธปกรณ์และความช่วยเหลืออื่น ๆ มา
เพื่อจะให้ “ยุทธการตีโต้” หรือ counter-offensive ที่ดำเนินอยู่นั้นได้ผลมากกว่าที่ผ่านมา
“เห็นได้ชัดว่าปูตินออกมาจากวิกฤตครั้งนี้แบบอ่อนแรงลงอย่างชัดเจน” โจเซป บอร์เรลล์ หัวหน้านโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป กล่าว
แต่เขาก็เตือนว่า “แต่ปูตินที่อ่อนแอกว่านั้นอันตรายกว่าตอนที่ปูตินแข็งแกร่ง”
ที่มีความเห็นแนวนี้ก็เพราะหากปูตินรู้สึกว่าตัวเองอยู่ในภาวะถูกบีบคั้นและกำลังจะตกกระป๋องก็อาจจะยิ่งดิ้นรนด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่ทำให้ความตึงเครียดกับตะวันตกยิ่งจะเข้าสู่เส้นอันตราย
เช่นอาจจะตัดสินใจเผด็จศึกในยูเครนด้วยการใช้อาวุธนิวเคลียร์
อีกด้านหนึ่ง หากปูตินหมดอำนาจและฝ่ายติดอาวุธที่อยู่ตรงกันข้ามขึ้นครองแทน ไม่มีใครสามารถทำนายได้ว่าผู้มีอำนาจกลุ่มใหม่จะมีนโยบายที่อาจจะก้าวร้าวกว่าปูตินเสียอีก
และหากกลุ่มวากเนอร์ที่นำโดยปริโกซินสามารถโค่นปูตินจริง สิ่งที่น่ากลัวก็คือคนเหล่านี้อาจจะเข้าควบคุมกลไกทางทหารที่เกี่ยวกับการใช้อาวุธนิวเคลียร์ได้
นั่นคือ “จุดอันตราย” ที่มิอาจจะจินตนาการได้ในขณะนี้
เจ้าหน้าที่สหรัฐและยุโรปกำลังเฝ้าดูอย่างใกล้ชิดเพื่อหาข้อบ่งชี้ว่าความวุ่นวายอาจส่งผลกระทบต่อคลังแสงนิวเคลียร์ขนาดมหึมาของรัสเซียหรือไม่
แม้จนถึงขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณของความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น
ในรัสเซียความลี้ลับยังครอบงำการสอบสวนเซอร์เก ซูโรวิกิน นายพลคนสำคัญซึ่งดูแลกองกำลังรัสเซียในยูเครนตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงมกราคม
เขาคือ “นายพลอาร์มาเก็ดดอน” หรือ “นายพลสิ้นโลก” เพราะการบัญชาการรบรูปแบบโหด ๆ ในซีเรีย
บางกระแสข่าวบอกว่าเขาถูกจับเพราะมีส่วนรู้เห็นกับการก่อกบฏ
แต่อีกบางกระแสบอกว่าเขาไม่ได้ถูกควบคุมตัวเพียงแต่ถูกจำกัดการเคลื่อนไหวเพราะเข้าข่าย “ไม่น่าไว้วางใจ” ของปูติน
คนวงในบางคนบอกสื่อว่าเกิดสุญญากาศทางอำนาจหลังการจลาจลที่บั่นทอน “องค์รักษ์”ปูตินอย่างชอยกูอย่างเห็นได้ชัด
แม้จะถูกกระทบบ้าง แต่ก็ยังไม่มีวี่แววว่าเหตุการณ์ครั้งนี้จะกัดเซาะฐานอำนาจของรัฐมนตรีกลาโหมชอยกูและนายพลวาเลอรี เกราซิมอฟ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของรัสเซีย
แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าเหตุการณ์หลายกรณีที่เกิดขึ้นในช่วงหลังนั้นทำให้ปูตินและระดับนำของรัฐบาลรัสเซียโดยเฉพาะทางด้านความมั่นคงนั้นต้อง”เสียหน้า” อย่างมาก
ปูตินเลือกที่จะให้ความสำคัญกับกองทัพในการปรากฏตัวต่อหน้าสาธารณชนเป็นครั้งแรกหลังการจลาจล
เริ่มด้วยการปราศรัยต่อทหาร 2,500 นายที่จัตุรัสหลักในเครมลิน
จากนั้นก็พบกับเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบในห้องโถงหรูหราเพื่อขอบคุณสำหรับความจงรักภักดีของพวกเขาต่อปูตินเอง
ภาพที่สร้างความแปลกใจให้ได้ผู้พบเห็นไม่น้อยคือตอนที่ปูตินแวะพักที่เมืองดาเกสถานทางใต้ของรัสเซียในวันรุ่งขึ้น เขาเดินลุยเข้าไปท่ามกลางกลุ่มผู้สนับสนุนอย่างใกล้ชิด...เกินกว่าที่ฝ่ายรักษาความปลอดภัยส่วนตัวปกติจะอนุญาตให้ทำ
แต่นี่เป็นโอกาสพิเศษที่ต้องมีข้อยกเว้นแม้จะมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยส่วนตัวของผู้นำในระดับหนึ่งก็ตาม
วันต่อมา ปูตินก็แสดงความรู้สึกเชิงบวกที่ฟอรัมธุรกิจด้วยการประกาศว่า “มีความรู้สึกมั่นใจว่าไม่ว่าปัญหาใดๆ จะเกิดขึ้น เราจะเอาชนะมันทั้งหมดอย่างสงบ เป็นจังหวะ และก้าวไปข้างหน้า”
ทั้งหมดนี้คือภาพของปูตินหลังเหตุการณ์เขย่าขวัญที่เป็นภาพที่ “ฝุ่นยังไม่หายตลบ”
แต่สำหรับปูตินแล้วจะรอให้ฝุ่นจางลงก่อนแล้วจึงจะมีปฏิบัติการฟื้นความมั่นใจของประชาชนไม่ได้เป็นอันขาด!
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ