เมื่ออาเซียนจะร่วมซ้อมทางทหาร เป็นครั้งแรกในทะเลจีนใต้

ข่าวอาเซียนเตรียมซ้อมทางทหารร่วมในทะเลจีนใต้เป็นครั้งแรก ภายใต้การประสานของอินโดนีเซียในฐานะประธานของกลุ่มในปีนี้ ย่อมก่อให้เกิดความสนใจอย่างกว้างขวาง

เพราะกิจกรรมทางทหารของอาเซียนเช่นว่านี้กำลังจะเกิดขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดในหลายมิติของภูมิภาคนี้

“เราจะจัดการซ้อมรบร่วมทางทหารในทะเลนาทูนาเหนือ” ยูโด มาร์โกโน ผู้บัญชาการกองทัพอินโดนีเซียกล่าว หลังการประชุมหัวหน้ากลาโหมของอาเซียนที่บาหลีเมื่อเร็ว ๆ นี้

การซ้อมรบที่ว่านี้กำหนดไว้ว่าจะมีขึ้นในเดือนกันยายน และมีสมาชิกทั้งหมด 10 ประเทศของกลุ่ม รวมทั้งสมาชิกผู้สังเกตการณ์ "ติมอร์-เลสเต" เข้าร่วมด้วย 

แถลงข่าวอย่างนี้แปลว่าจะเชิญกองทัพเรือเมียนมาเข้าร่วมด้วยหรือไม่ คงเป็นอีกประเด็นที่ต้องถกแถลงกันพอสมควรในมวลหมู่สมาชิก

ผู้นำทางทหารของอินโดฯ แจ้งว่า การฝึกซ้อมจะมุ่งเน้นไปที่การรักษาความปลอดภัยและกู้ภัยทางทะเล 

ย้ำว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการรบแต่อย่างใด

แต่ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องถูกมองว่าเป็นเรื่องของความมั่นคงของภูมิภาคนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สมาชิกอาเซียนเคยจัดการซ้อมรบทางเรือกับสหรัฐฯ มาก่อน แต่ไม่เคยฝึกซ้อมทางทหารระหว่างอาเซียนด้วยกัน

บริบทและจังหวะของการประกาศเรื่องร่วมซ้อมทางทหารของอาเซียนน่าสนใจ

เพราะเกิดขึ้นหลังจากวอชิงตันเรียกร้องให้ปักกิ่งหยุดพฤติกรรม "ยั่วยุ" ในน่านน้ำพิพาท หลังเกิดเหตุใกล้ชนกับเรือของฟิลิปปินส์

และการซ้อมรบที่อันตรายของนักบินขับไล่จีนใกล้กับเครื่องบินตรวจการณ์ของอเมริกา

ขณะเดียวกัน เรือของจีนยังได้รุกล้ำเข้าไปในน่านน้ำนาทูนาเหนือของอินโดนีเซียที่อินโดนีเซียอ้างสิทธิ์เป็นครั้งคราว 

ทำให้เกิดการประท้วงในกรุงจาการ์ตามาแล้ว

จีนอ้างสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้ทับซ้อนกับอินโดนีเซีย  เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย

เรือของปักกิ่งออกลาดตระเวนเป็นประจำ และเมื่อเกิดเหตุเผชิญหน้ากับประเทศเพื่อนบ้านก็จะอ้างประวัติศาสตร์ของ "เส้นประเก้าเส้น" ของจีน อันหมายถึงการเป็นเจ้าของน่านน้ำแถบนี้ทั้งหมด

ในการประชุมสุดยอดเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผู้นำอาเซียนได้หารือเกี่ยวกับ "เหตุการณ์ร้ายแรง" ในทะเลจีนใต้ และการเจรจาอย่างต่อเนื่องสำหรับการยกร่าง Code of Conduct หรือแนวทางปฏิบัติที่มีเป้าหมายเพื่อลดความเสี่ยงของความขัดแย้งที่น่านน้ำแถบนี้

อาเซียนบางประเทศมองไปที่สหรัฐฯ เพื่อเป็นผู้มาร่วมปกป้องไม่ให้จีนมีนโยบาย “ก้าวร้าว” เกินเหตุ

แต่สมาชิกอาเซียนอีกจำนวนหนึ่งก็มองว่าควรจะต้องพยายามหว่านล้อมให้จีนยอมลดความกร้าวลง เพื่อไม่ต้องการให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างสองมหาอำนาจในย่านนี้

สหรัฐฯ มาตั้งพันธมิตรทางทหารในบริเวณนี้อย่างชัดเจน รวมไปถึงการตั้งกลุ่ม “จตุภาคี” หรือ Quad ที่มีสหรัฐฯ, อินเดีย, ญี่ปุ่น และออสเตรเลียเพื่อสกัดอิทธิพลของจีน

จีนกล่าวหาว่าอเมริกากำลังจะสร้าง “นาโตเอเชีย” ขึ้น เพื่อขยายบทบาททางทหารของฝ่ายตะวันตกเพื่อต่อต้านจีน

สหรัฐฯ โต้ว่าการสร้างพันธมิตรทางทหารในเอเชีย ก็เพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถทำให้ย่าน Indo-Pacific นั้นเป็นเขต “เสรีและเปิดกว้าง”

และยืนยันในหลักการของ “เสรีภาพแห่งการเดินเรือ" หรือ freedom of navigation ในทะเลจีนใต้

แปลว่าสหรัฐฯ และพันธมิตรสามารถจะส่งเรือรบและเรือสินค้าผ่านน่านน้ำแถบนี้ได้อย่างเสรี

โดยที่จีนจะต้องไม่ขัดขวางและอ้างสิทธิ์เหนือน่านน้ำเป็นของตน

นั่นคือสาเหตุหลักของความขัดแย้งที่ทำให้ทะเลจีนใต้กลายเป็น “จุดเปราะบาง” ที่ “พร้อมปะทุ” กลายเป็นสงครามได้

จุดยืนร่วมของอาเซียนในกรณีนี้จึงมีความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะมหาอำนาจทั้งสองประเทศต่างก็พยายามจะชิงความได้เปรียบด้วยการดึงเอาอาเซียนเข้ามาเป็นพวกตน

แต่อาเซียนก็ไม่มีความเป็นเอกภาพในเรื่องนี้

ตรงกันข้ามกลับมีแนวโน้มว่าอาเซียนจะแตกเป็นสามกลุ่ม...คือกลุ่มเอียงไปทางสหรัฐฯ, กลุ่มเอนข้างจีน และกลุ่มที่พยายามจะไม่แสดงตนชัดเจนในประเด็นนี้

กรณีของท่าทีของอาเซียนต่อรัฐบาลทหารเมียนมา เป็นตัวอย่างของการปริแตกของอาเซียนและมหาอำนาจอย่างชัดเจน

จีนยืนเคียงข้างรัฐบาลทหารของเมียนมา ขณะที่สหรัฐฯ พยายามจะกดดันให้รัฐบาลของมิน อ่อง หล่าย ต้องยอมถอยเพื่อกลับไปสู่กระบวนการประชาธิปไตย

ผลที่ตามมาก็คือ อาเซียนเองก็พลอยแตกด้วย กลายเป็นกลุ่มที่ต้องการจะแสดงความขึงขังกับรัฐบาลทหาร และกลุ่มที่โอนเอียงไปทางพยายามจะน้าวโน้มเมียนมาด้วยการทูตแบบประนีประนอมถ้อยทีถ้อยอาศัย

ดังนั้น ความตึงเครียดที่ทะเลจีนใต้ก็ลามมาถึงประเด็นเชื่อมโยงอื่นๆ ที่เกี่ยวกับอาเซียนอย่างปฏิเสธไม่ได้

ดังนั้น การซ้อมทางทหารของอาเซียนไม่ว่าจะมีรายละเอียดเกี่ยวกับการซ้อมความพร้อมเพื่อสงครามหรือไม่ก็ตาม ย่อมจะทำให้เกิดภาพลักษณ์ของความกังวลต่อเสถียรภาพด้านความมั่นคงของกลุ่ม

ความท้าทายสำหรับอาเซียน (และประเทศไทย) มีเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ในภาวะความผันผวนปรวนแปรกับความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ขณะนี้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ