เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมเล่าเรื่องศาลฎีกาของสหรัฐได้มีคำวินิจฉัย ถือว่าลบล้างนโยบาย Affirmative Action ที่มีมายาวนานกว่า 50-60 ปี ทำให้ฝ่ายเสรีนิยมแสดงความไม่พอใจเป็นแถว และทำให้ฝ่ายอนุรักษนิยมปรบมือเชียร์ ยิ่งออกขวาเท่าไหร่ ก็ยิ่งปรบมือดังมากขึ้น
ในคอลัมน์อาทิตย์ที่แล้ว ผมอธิบายว่า คำวินิจฉัยในครั้งนี้มาจากการฟ้องจากกลุ่ม Students for Fair Admissions โดยแกนนำ Edward Blum ที่บอกว่ามหาวิทยาลัย Harvard กับมหาวิทยาลัย North Carolina ได้กีดกั้นโอกาสผู้สมัครผิวขาวในการถูกรับเข้ามหาวิทยาลัย เพราะมีนโยบาย Affirmative Action ที่บีบบังคับให้มหาวิทยาลัยต่างๆ
ต้องรับคนเชื้อชาติอื่น คนสีผิวอื่นและศาสนาอื่นๆ ไม่ใช่เพราะความสามารถหรือเกรดเฉลี่ย แต่เป็นเพราะสีผิวของเขา แทนที่จะเปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยมีความเสมอภาคกัน กลับกลั่นแกล้งคนผิวขาวแทน
แต่เดิมผมเข้าใจว่า Students for Fair Admissions ล้วนแต่เป็นนักศึกษาคนผิวขาวที่ถูกปฏิเสธเข้ามหาวิทยาลัยที่สมัครไว้ เลยรวมตัวกันแสดงจุดยืนให้ชัดเจน โดยให้ Blum เป็นแกนนำ ส่วนพวกเขาจะ Racist หรือไม่นั้น คงไม่มีใครรู้ เพราะเขาบอกว่าสังคมอเมริกันไม่ควรจะมี Affirmative Action เพราะไม่ได้แก้ไขปัญหาเรื่องสิทธิ์ไม่เท่าเทียมกัน เป็นการเพิ่มความไม่เท่าเทียมกันมากกว่า
แต่กลับกลายเป็นว่ากลุ่ม Students for Fair Admissions ไม่ได้เป็นตัวแทนคนผิวขาวนะครับ เป็นกลุ่ม Asian-Americans ที่มีความเห็นว่าพวกเขาไม่ได้รับเข้ามหาวิทยาลัยที่สมัคร เพียงเพราะเขาเป็นเชื้อชาติเอเชีย และในการรับนักศึกษาของมหาวิทยาลัย เขามีโควตาที่ต้องรับกลุ่ม Minority (กลุ่มคนไม่ใช่คนผิวขาว) จำนวนหนึ่งอยู่แล้ว และในโควตานี้จะต้องหนักไปทางคนผิวดำ กับกลุ่ม Latin-American มากกว่า เลยเท่ากับว่ากลุ่ม Asian-Americans เสียเปรียบคนผิวดำ กับคน Latin-America
ผมก็ตกใจครับ เพราะอ่านข่าวครั้งแรกผมนึกว่า Students for Fair Admissions ล้วนแต่เป็นคนผิวขาว แต่กลับเป็นคนเอเชีย ผมเลยสงสัยว่า Edward Blum คือใคร แล้วมีอะไรทำให้สนใจเรื่องนี้ เพราะถ้าผมไม่ได้กลับเมืองไทย และใช้ชีวิตที่สหรัฐต่อ ผมอาจเป็นหนึ่งใน Students for Fair Admissions ก็ได้
Blum ไม่ได้เป็นทนายความครับ แต่เดิมเป็นโบรกเกอร์หุ้น เพียงแต่เขาศึกษากฎหมายมากพอที่จะรู้เรื่องกฎหมาย แต่ไม่ถึงขั้นเป็นทนายความ เมื่อ 1989 เขาย้ายไปอยู่เมือง Houston แล้วปีถัดไปไปลงคะแนนเลือกตั้ง ปรากฏว่าพรรคที่เขาสนับสนุน (พรรค Republican) ไม่ส่งคนลงในเขตของเขา เพราะคนลงคะแนนในเขตเขาล้วนเป็นคนดำ และคนดำส่วนใหญ่จะเลือกพรรค Democrat ทาง Blum มีความเห็นว่าทุกคนควรมีทางเลือก เขาเลยลงสมัครในนามพรรค Republican ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป แต่ก็แพ้ครับ
ระหว่างหาเสียงนั้น เขาพบว่าการแบ่งเขตพื้นที่เลือกตั้งของเขา ทำให้คะแนนคนผิวดำมีพลังสูงและเป็นก้อนใหญ่ เขาเลยตั้งเป้าว่าจะฟ้องรัฐ Texas เรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง ปรากฏว่าศาลฎีกาของสหรัฐ (ในยุคนั้น) เห็นด้วยกับคำร้องของ Blum และวินิจฉัยว่า 3 เขตเลือกตั้งใน Texas แบ่งเขตผิดปกติ หลังชนะใน Texas ทาง Blum กับทีมกฎหมายออก Road Show ไปที่ New York, Virginia, South Carolina, Louisiana และ Florida เพื่อหาแนวร่วมเป็นโจทก์ฟ้องรัฐนั้นๆ ในเรื่องเดียวกัน
Blum หันทิศจากแบ่งเขตการเลือกตั้งไปทางมหาวิทยาลัยช่วงปี 2003 หลังจากมหาวิทยาลัยที่เขาจบ (University of Texas Austin หรือ UT Austin) ประกาศให้เรื่อง Affirmative Action เป็นหนึ่งในหลายปัจจัยการพิจารณารับนักศึกษา Blum เลยถือโอกาสหาแนวร่วมเพื่อเป็นโจทก์ในการฟ้องร้อง และในที่สุด Abigail Fisher ยินดีเป็นโจทก์ให้ Fisher เป็นคนผิวขาวที่ถูกปฏิเสธเรียนที่ UT Austin เพราะเขาเชื่อว่าเขาต้องเสียที่นั่งให้กับคนผิวดำ หรือคน Latin America ตามนโยบาย Affirmative Action มากกว่าความสามารถและเกรดเฉลี่ย ซึ่งการฟ้องร้องในครั้งนั้นไม่ประสบความสำเร็จ เพราะศาลฎีกามีความเห็นว่า มหาวิทยาลัยทุกแห่งควรเปิดโอกาสกว้างให้กับทุกๆ คนอยู่แล้ว เรื่อง Affirmative Action ควรเป็นเรื่องปลายๆ ในการตัดสินด้วยซ้ำ
ถึงแม้จะพ่ายแพ้คดีในครั้งนั้น (ปี 2013) ทาง Blum ปรับกลยุทธ์และเห็นช่องทางในการต่อสู้ครั้งต่อไป
ในการปรับกลยุทธ์ เขารู้เลยว่าถ้าใช้คนผิวขาวเป็นโจทก์ มันจะดูไม่งาม และดูไม่น่าเชื่อถือ เพราะดูเป็นเรื่อง Racist ขึ้นมาทันที เขาเลยตั้งใจเน้นกลุ่ม Asian-American แทน และในปี 2014 ก่อตั้งกลุ่ม Students for Fair Admissions ขึ้นมา โดยมีสมาชิก (จากการอ้างของเว็บไซต์ตัวเอง) มากกว่า 20,000 คนทั่วประเทศ ส่วนผู้บริหารของกลุ่มนี้คือ Blum, Abigail Fisher และ Richard Fisher (พ่อของ Abigail)
หลังก่อตั้งกลุ่มนี้ขึ้นมา Blum ใช้วิธีเดิมคือประกาศหาแนวร่วม เพื่อเป็นโจทก์ฟ้องมหาวิทยาลัยต่อไปนี้ Harvard, University of North Carolina (UNC) และ University of Wisconsin Madison เพราะเป็น “อันเข้าใจว่า” มหาวิทยาลัยเหล่านี้มีโควตาสำหรับคนเอเชียที่ต่ำกว่าเชื้อชาติคนอื่นๆ แต่ในครั้งนี้ในการหาแนวร่วมเป็นโจทก์ เขาเน้นกลุ่มคน Asian-American ล้วนๆ ครับ
การเดินทุกก้าวของ Blum ไม่ได้มีแต่ใจถึงๆ กับอุดมการณ์ เขาต้องมีแหล่งสนับสนุน และต้องมีเงินหนาพอ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่เขาพยายามล้มล้างนโยบาย Affirmative Action นั้น เขาได้แหล่งสนับสนุนจากกลุ่ม Searle Freedom Trust Foundation, Sarah Scaife Foundation และ Donors Trust เป็นหลัก ทั้ง 3 แหล่งนี้ออกแนวอนุรักษ์ขวา…ถึงขวาจัดครับ
วันนี้ถือว่าเป็นบทความให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่น่าติดตามในสหรัฐ ถือว่าเป็นบทเรียน หรือเป็นอุทาหรณ์ก็ว่าได้ ว่าอย่าลบหลู่ อย่ามองข้าม และอย่าดูถูกความมุ่งมั่น ความตั้งใจของคนคนหนึ่ง หรือกลุ่มกลุ่มหนึ่งที่อยากเปลี่ยนแปลงสังคมและประเทศ ด้วยเงินหนาและใจถึงๆ โดยใช้กลุ่มที่ (เชื่อว่า…หรือถูกล้างสมองให้เชื่อว่า) เป็นเหยื่อมาเป็นเครื่องมือครับ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
A Whole New World? หรือ Same Same, But Different?
ในเร็วๆ นี้ โลกของเราจะเปลี่ยนโดยที่เราไม่รู้ตัวครับ ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่ก็ตาม จะอยู่ใน Gen ไหน สิ่งที่พวกเราต้องยอมรับกันคือ
วันส่งท้าย 'สวัสดีปีใหม่'
หวังว่าวันนี้คงไม่สายเกินไปที่ผมจะทักแฟนคอลัมน์ด้วยคำว่า “สวัสดีปีใหม่” ครับ เนื่องจากวันนี้เป็นวันแรกที่เราได้เจอกันในรอบปีใหม่ แต่ผมมีคำถามอยู่คำถามหนึ่งว่า
'This is what butterflies listen to after a long day.'
ทิ้งท้ายปีนี้ด้วยคอลัมน์สบายๆ ครับ ผมไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ผมจะเขียนในวันนี้ จะถึงใจแฟนคอลัมน์หรือเปล่า เพราะผมไม่แน่ใจว่าพวกเราชอบฟังเพลงแนว Podcast
Gisele Pelicot วีรสตรีของโลก
วันนี้ผมขออนุญาตเขียนเรื่องที่อาจสะเทือนใจ และสร้างความอึดอัดให้กับแฟนคอลัมน์หลายท่าน มันไม่ใช่เรื่องที่คนปกติจะนั่งพูดคุยกัน เป็นเรื่องสะเทือนใจ
สงครามที่โลกลืม…ปิดฉากไปแล้ว
มันแปลกจริงๆ ครับ ประมาณเกือบ 2 สัปดาห์ที่แล้ว อยู่ๆ ผมนึกถึงคอลัมน์ที่ผมเคยเขียน เรื่องเกี่ยวกับ “สงครามที่โลกลืม”
President Biden….You’re a Good Dad
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีสารพัดเรื่องที่น่าสนใจและน่าเขียนถึง เรื่องแรกต้องเป็นเรื่องประกาศกฎอัยการศึกในเกาหลีใต้ เพราะเป็นเรื่องไม่มีวี่แววว่าจะเกิดขึ้น และถือว่าเป็นการประกาศฟ้าผ่าทีเดียว