คนรุ่นใหม่จีนวันนี้: แข่งกันเรียนแข่งกันหางาน

เมื่อวานได้เขียนถึงการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของเด็กจีน ที่ต้องแข่งขันกันอย่างเข้มข้น...จนทำให้ทั้งเด็กและผู้ปกครองต่างพากันเครียดไปตามๆ กัน

ผมคุยกับอาจารย์ภากร กัทชลี ซึ่งกำลังเรียนทำปริญญาเอกที่เมืองจีนในเรื่องนี้ ก็ต้องถามว่านอกจากจะต้องแข่งกันเข้าสถาบันอุดมศึกษากันอย่างรุนแรงแล้ว พอจบออกมาการหางานทำจะต้องแข่งกันดุเดือดระดับเดียวกันหรือไม่

อาจารย์ภากรบอกว่า การหาอาชีพในเมืองจีนก็เจอกับการแข่งขันหนักหน่วง มีแรงกดดันไม่แพ้กับการสอบเข้ามหาวิทยาลัย

ทางเลือกทางหนึ่งคือ ถ้ายังไม่ทำงานทันทีหลังจบมหาวิทยาลัยก็ทำปริญญาโทต่อ

กลายเป็นว่าตอนนี้คนจีนเรียนต่อ ป.โทไม่น้อย

 “และการเรียนต่อปริญญาโทก็ต้องแข่งกันสอบเข้าอีกเช่นกัน ต้องแข่งขันกันหนักอีกรอบหนึ่ง...”

และตอนนี้คนหางานบางตำแหน่งมีแค่ปริญญาตรีอาจจะไม่พอแล้ว ต้องมีปริญญาโทด้วย

โดยเฉพาะในสาขาที่ต้องใช้ความรู้เข้มข้น เช่นด้านไอทีและเอไอ ซึ่งถือว่าเป็นสาขาที่คนจีนหางานมากที่สุดในตอนนี้ เพราะมีความต้องการในตลาดแรงงานสำหรับสองด้านนี้มากขึ้น ทำให้เด็กจีนหันไปเรียนทางด้านนี้หนักขึ้นเช่นกัน

เพราะนโยบายของรัฐบาลจีนกำลังขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศทางด้านนวัตกรรม ซึ่งก็ต้องใช้คนมีความรู้ด้านเอไอมากขึ้นทุกที

เป็นงานที่ได้เงินเดือนสูงกว่าอาชีพอื่นๆ เช่นกัน

อีกสาขาหนึ่งที่คนจีนแข่งกันเรียนและหางานคือ ด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะหลังประสบการณ์โควิด-19

ทำให้เด็กจีนมุ่งเรียนทางด้านการแพทย์และสุขอนามัยมากขึ้นเช่นกัน

แต่ครอบครัวจีนส่วนใหญ่ขณะนี้ต้องการให้ลูกเรียนทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ สูงกว่าความนิยมทางด้านแพทยศาสตร์ด้วยซ้ำไป

เพราะก่อนและระหว่างการระบาดของโควิด บุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานหนักมาก อีกทั้งยังมีการฟ้องร้องโดยคนไข้ ทำให้ความนิยมด้านเรียนทางการแพทย์ลดน้อยถอยลง...แซงหน้าโดยการเรียนด้านวิศวกรรมศาสตร์

อีกด้านหนึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่กำลังปรากฏตัวค่อนข้างชัดเจน แต่สถิติคนว่างงานของเยาวชนกลับแย่ลง

ในภาพรวมนั้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนดูเหมือนจะเป็นไปตามแผน อันเนื่องมาจากนโยบายปลอดโควิดที่เคยเข้มข้นอย่างมากมาตลอด 3 ปี

แต่จำนวนเยาวชนว่างงานกลับเพิ่มขึ้น เป็นการเน้นย้ำถึงความท้าทายที่ยากลำบากข้างหน้าสำหรับรัฐบาลจีน ในการที่จะบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจและรักษาเสถียรภาพทางสังคม

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนได้เปิดเผยดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจที่สำคัญสำหรับเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์

ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามปกติเพื่อหลีกเลี่ยงจากภาวะไม่ปกติ ในกิจกรรมด้านเศรษฐกิจช่วงวันหยุดยาวตรุษจีน ซึ่งมักจะตรงกับวันที่ต่างกันทุกปี

สถิติทางการแจ้งว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 2.4% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 1.3% ในเดือนธันวาคม

ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 3.5% พลิกกลับจากที่ลดลง 1.8% ในเดือนก่อนหน้า

ตัวเลขการเติบโตเป็นไปตามการคาดการณ์ของตลาด การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร เช่น อสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐานพุ่งขึ้น 5.5% สูงกว่าประมาณการ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้จ่ายด้านทุนกับสิ่งอำนวยความสะดวกด้านไฟฟ้าและเครื่องทำความร้อน และทางรถไฟพุ่งสูงขึ้นราว 20%

ตัวเลข PMI ล่าสุดบ่งชี้ว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีนฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง

โดยผลผลิตของโรงงานในเดือนกุมภาพันธ์ จากรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่แตะระดับสูงสุดในรอบกว่าทศวรรษ

นักวิเคราะห์มองว่า การเบาบางลงของโควิดทำให้สภาพเศรษฐกิจดีขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงต้นปี

แต่พออ่านรายงานนี้ให้ละเอียดลงไปก็เจอว่าไม่ใช่ทุกอย่างเป็นข่าวไปทางบวก

ตัวเลขที่น่าจะสร้างความกังวลให้ทางการจีนคือ อัตราการว่างงานของเยาวชนเพิ่มขึ้น

อัตราว่างงานของคนอายุ 16 ถึง 24 ปี แตะ 18.1% ในช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ เทียบกับ 16.7% ในเดือนธันวาคม อัตราการว่างงานโดยรวมเพิ่มขึ้นเป็น 5.6%

ขณะเดียวกันภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงจมอยู่ในภาวะตกต่ำอย่างหนัก

การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ลดลง 5.7% จากปีที่แล้วในช่วงสองเดือนแรกของปีนี้ แม้ว่าจะเป็นการกระเตื้องขึ้นจากการลดลง 12.2% ในเดือนธันวาคม ยอดขายอสังหาริมทรัพย์ตามพื้นที่หดตัว 3.6%

ในการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติได้กำหนดแผนการเติบโตอย่างระมัดระวังสำหรับปีนี้ โดยตั้งเป้าจีดีพีไว้ที่ราว 5% และเป้าหมายการสร้างงาน 12 ล้านคน

แต่หลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่เข้ารับตำแหน่งต่อจากหลี่ เค่อเฉียง ยอมรับว่า "ไม่ใช่งานง่าย" ที่จะบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้

หลี่ เฉียง เน้นย้ำถึงความท้าทายในการสร้างงานให้ได้เพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการของคนจีนรุ่นใหม่

 “บัณฑิตวิทยาลัยในปีนี้คาดว่าจะสูงถึง 11.58 ล้านคน จากมุมมองของการจ้างงานจะมีแรงกดดันบางอย่าง” เขากล่าว

และเสริมว่า “เราจะขยายช่องทางการจ้างงานและช่วยเหลือเยาวชนต่อไป”

ปัญหาคนรุ่นใหม่ว่างงานย่อมเป็นเรื่องละเอียดอ่อนสำหรับประเทศจีนที่มีประชากรผู้สูงวัยมากขึ้นทุกที แต่จำนวนคนเกิดใหม่มีน้อยลง

ทำให้ภาระการดูแลพ่อแม่และลูกตกอยู่กับคนรุ่นที่จบมหาวิทยาลัย และต้องหางานทำเพื่อสร้างรายได้ให้สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นอย่างชัดเจน

ดังนั้น อย่าได้แปลกใจที่คนรุ่นใหม่ของจีนจะมุ่งมั่นที่จะต้องเรียนหนังสือเพื่อให้เข้ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง เพื่อจะได้ออกมาหางานทำที่มีรายได้มากพอที่จะปฏิบัติหน้าที่เป็นคนดี ทั้งในฐานะลูก พ่อ และสามี (หรือภรรยา) ที่ดี

ในขณะที่ต้องดำรงตนให้เป็นพลเมืองที่ดีของสังคมจีนวันนี้อีกด้วย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ