เด็กจีนแข่งสอบเข้ามหาวิทยาลัย ด้วยจำนวนสูงสุดหลังโควิด

เยาวชนจีนเพิ่งจะผ่านการแข่งสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่เรียกว่า “เกาข่าว” (高考) ซึ่งมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดอย่างยิ่ง

ปีนี้จำนวนเด็กลงทะเบียนเข้าสมัครเกือบ 13 ล้านคน ถือว่าเป็นตัวเลขสูงสุดในประวัติการณ์ เพราะเพิ่งผ่านการระบาดของโควิด-19

ผมเพิ่งได้คุยกับอาจารย์ภากร กัทชลี ซึ่งขณะนี้เรียนปริญญาเอกอยู่ที่เมืองจีน

ได้ภาพที่เห็นได้ชัดว่าการสอบแข่งเข้ามหาวิทยาลัยของจีนเป็นการแย่งชิงเข้าสถาบันอุดมศึกษาที่โหดที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง

ผู้สมัครเกือบ 13 ล้านคน แต่มีที่นั่งในมหาวิทยาลัยที่แย่งกันเข้าเพียงประมาณ 1 ล้านเศษๆ เท่านั้น

เด็กที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ต้องได้คะแนนขั้นต่ำประมาณ 600 จากคะแนนเต็ม 750

แต่ถ้าต้องการจะเข้ามหาวิทยาลัยระดับต้นๆ ของประเทศ คะแนนก็ต้องดีกว่านั้นอีก

ยิ่งถ้าจะหวังเข้ามหาวิทยาลัยสุดยอด เช่น มหาวิทยาลัยปักกิ่งหรือชิงหัว ก็ต้องทำคะแนนได้ไม่ต่ำกว่า 650 ขึ้นไป

ดังนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครองของนักเรียนต่างก็พากันเครียดอย่างหนัก

มหาวิทยาลัยระดับต้นๆ ของจีนมีสองกลุ่ม เรียกว่ากลุ่ม 211 และ 985

หมายถึงมหาวิทยาลัยระดับหัวกะทิที่เน้นงานวิจัยเป็นหลัก และมีคณะที่ค่อนข้างดีซึ่งรับได้ประมาณ 1 ถึง 2 แสนคนเท่านั้น

โครงการ 211 เป็นโครงการค่อนข้างเก่าแก่ของจีน โดยทางการให้งบสนับสนุนมหาวิทยาลัยจีน 100 แห่ง เพื่อยกคุณภาพการเรียนการสอนให้แข่งขันกับต่างประเทศให้ได้

ตัวเลข 211 มาจากการตั้งเป้าว่ามหาวิทยาลัยของจีนกลุ่มนี้จะต้องทันกับความก้าวหน้าของศตวรรษที่ 21

และเมื่อมีทั้งหมด 100 แห่ง ก็เรียกย่อๆ เป็นที่เข้าใจกันว่า 211

ในจำนวน 100 แห่งนี้จะครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศจีน ซึ่งหมายความว่ามีจำนวนหนึ่งที่ตั้งอยู่เขตรอบนอกที่ค่อนข้างยากจนและกันดาร

เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่รัฐบาลจีนต้องการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

อีกโครงการหนึ่งชื่อ 985 ที่มุ่งเน้นไปที่มหาวิทยาลัยที่มีความสามารถเทียบเท่ากับต่างประเทศด้วยการเน้นงานวิจัย

ช่วงหลังที่เห็นมหาวิทยาลัยจีนตีพิมพ์งานวิจัยในต่างประเทศเป็นจำนวนมากขึ้นทุกทีนั้น ส่วนใหญ่เป็นผลงานมาจากมหาวิทยาลัยชั้นหัวกะทิในกลุ่มนี้นั่นเอง

กลุ่มนี้มีเพียง 40 มหาวิทยาลัยเท่านั้น

ประหนึ่งเป็นแนวรบด่านหน้าทางด้านการศึกษาระดับสูงของจีนที่พร้อมจะไปแข่งขันกับนานาชาติอย่างไม่สะทกสะท้านกันเลยทีเดียว

ส่วนใหญ่จะอยู่ในการจัดอันดับไม่ต่ำกว่ามหาวิทยาลัย 500 แห่งของโลก

นั่นคือสาเหตุที่พ่อแม่และเด็กจีนเองตั้งความหวังไว้ตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมเลยว่า เป้าหมายสูงสุดของชีวิตจะต้องเริ่มที่การสอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำเหล่านี้ให้จงได้

เมื่อการแข่งขันดุเดือดเลือดพล่านอย่างนี้ ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาก็เฟื่องฟู

แต่ทางการจีนก็เห็นถึงปัญหานี้ สองปีก่อนก็เริ่มเห็นกระทรวงศึกษาของจีนประกาศมาตรการ “จัดระเบียบ” โรงเรียนกวดวิชาทั้งหลาย

โดยทางการพยายามจะลดความสำคัญของโรงเรียนกวดวิชาสำหรับเด็กที่ต้องการจะสร้างความได้เปรียบกว่าเพื่อนๆ ด้วยการเข้ารับการ “ติว” พิเศษ

แม้พ่อแม่จะต้องควักเงินก้อนใหญ่เพื่อสร้างความพร้อมสำหรับการทำศึกยื้อแย่งที่นั่งในมหาวิทยาลัยก็ตาม

แต่รัฐบาลก็มองเห็นปัญหาว่า หากปล่อยให้ธุรกิจกวดวิชาขยายตัวออกไป เด็กในเมืองก็จะได้เปรียบมากกว่าเด็กต่างจังหวัด

เท่ากับเป็นการตอกย้ำถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงโอกาสของการแข่งขันอีกเช่นกัน

ในจำนวนคนที่เข้าแข่งสอบนั้น มีจำนวนหนึ่งที่สอบมาหลายปีก่อนแล้วยังสอบไม่ได้ ก็ขอเข้าแข่งอีกครั้งหนึ่ง

อีกด้านหนึ่ง ทางการจีนได้ยกเลิกเงื่อนไขอายุสูงสุดสำหรับคนที่จะสมัครเข้าเรียนขั้นอุดมศึกษา

เรียกว่าจะวัยไหนก็มาสอบแข่งกันได้หมด

จึงยิ่งทำให้ตัวเลขคนเข้าแข่งขันสูงขึ้นไปอีก

มีข่าวว่ามีคนจีนอายุเกือบ 60 ปีคนหนึ่ง เคยสอบเข้ามหาวิทยาลัยมาแล้ว 26 ครั้ง เพราะครั้งก่อนๆ ยังไม่สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ต้องการ

เจ้าตัวให้สัมภาษณ์ว่า ที่ยังกลับมาสอบทุกปีนั้นเพราะมาถึงวัยที่เรียนเพื่อเอาความรู้ ไม่ได้หวังจะเอาปริญญาไปได้งานดีๆ แล้ว เพราะทำธุรกิจส่วนตัว

และอยากท้าทายตัวเองว่าจะทำสำเร็จได้หรือไม่

มีคำถามว่าคนที่เรียนจบมัธยมปลายมานานแล้ว แต่ยังเข้ามหาวิทยาลัยที่ต้องการไม่ได้ เขาทำอย่างไร

ทางออกทางหนึ่งคือไปเลือกมหาวิทยาลัยรองๆ ลงมา

เพื่อเรียนหนังสือไปก่อน แล้วกลับมาสอบใหม่ในปีต่อไป

การสอบเข้ามหาวิทยาลัยมีเพียงปีละครั้ง จากนั้นก็เอาคะแนนที่ทำได้มายื่นกับมหาวิทยาลัยที่ต้องการเพื่อให้เขาพิจารณาว่าเข้าข่ายหรือไม่

ขณะเดียวกัน ประชากรจีนก็เริ่มเข้าสู่วัยสูงอายุมากขึ้น ขณะที่อัตราการเกิดใหม่ของเด็กในจีนลดน้อยลง

อีกทั้งอัตราการแต่งงานของหนุ่มสาวจีนก็หดตัวลงเช่นกัน หรืออายุคนแต่งงานเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

นั่นเป็นเพราะภาระของการมีครอบครัวนั้นหนักขึ้นมาก ไหนพ่อแม่จะต้องเลี้ยงลูกอย่างมีคุณภาพมากขึ้น ไหนจะต้องมีเงินซื้อบ้าน และไหนจะต้องมีเงินสำหรับส่งลูกให้ไปโรงเรียนดีๆ

ล้วนเป็นแรงกดดันสำหรับคนจีนวันนี้ที่สร้างความเครียดมากขึ้นทุกที

ดังนั้น แม้รัฐบาลจะผ่อนคลายนโยบายให้มีลูกมากกว่าหนึ่งคนได้มาหลายปีแล้ว ก็ยังไม่ปรากฏผลอย่างที่ทางการต้องการ

หนึ่งในมาตรการที่จะลดความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาคือการหมุนเวียนอาจารย์มหาวิทยาลัยให้ตระเวนสอนสลับระหว่างในเมืองกับชนบท

แต่ในด้านปฏิบัติ ปัญหาความเหลื่อมล้ำก็ยังไม่อาจจะแก้ไขได้ทั้งหมดอยู่ดี

ตามมาด้วยการเรียกร้องของรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นในการให้ลดความสำคัญของการสอบภาษาอังกฤษเพื่อเข้ามหาวิทยาลัย

เพราะเห็นว่าเป็นภาระหนักเกินความจำเป็นสำหรับเยาวชนจีนวันนี้

ทุกวันนี้ การสอบเข้ามหาวิทยาลัยของจีนมีวิชาบังคับคือภาษาอังกฤษ โดยมีคะแนนเต็ม 150 คะแนน จากคะแนนเต็มทั้งหมด 750

มีเสียงเรียกร้องให้ลดคะแนนภาษาอังกฤษให้เหลือ 100 เพื่อลดภาระของผู้ปกครองที่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการส่งลูกหลานไปฝึกเรียนภาษาอังกฤษก่อนสอบเข้ามหาวิทยาลัยอีก

หัวข้อนี้กำลังเป็นเรื่องถกแถลงกันอย่างกว้างขวาง

เพราะมีคนเห็นด้วยและเห็นต่างไม่น้อย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ