เมื่อวันพฤหัสฯ ที่ผ่านมา ทางศาลฎีกาของสหรัฐมีคำวินิจฉัยที่เขย่าสังคมอเมริกาไม่ต่างกับตอนมีคำวินิจฉัยคว่ำเรื่องทำแท้ง ในคดี Roe VS Wade เมื่อปีที่แล้ว ในครั้งนี้ถือว่าเป็นการคว่ำแนวปฏิบัติที่เรียกว่า Affirmative Action ในการรับนักศึกษาเข้ามหาวิทยาลัยที่มีมายาวนาน
Affirmative Action สำหรับใครที่ไม่คุ้นเคย เป็นนโยบายที่จะผลักดันความเสมอภาคระหว่างเชื้อชาติในสหรัฐอเมริกา เป็นนโยบายที่เปิดโอกาสให้กลุ่มชั้นผู้น้อยในสหรัฐมีสิทธิหรือโอกาสเท่ากับคนผิวขาว ถ้าพูดภาษาชาวบ้าน พื้นฐานนโยบายนี้คือ อยากให้คนผิวดำกับคน Latin (คนผิวสีน้ำตาล) ได้มีโอกาสเท่า “คนอเมริกัน” (คนผิวขาว) ทั้งในโรงเรียนและที่ทำงาน
แต่เดิมสหรัฐเป็นประเทศที่แบ่งแยกสังคมด้วยสีผิว (ตามด้วยเชื้อชาติและศาสนา) ถ้าคุณเป็นคนผิวขาว คุณมีสิทธิเสรีภาพเต็มที่ คุณอยากเรียนที่ไหนก็เรียนได้ อยากทำงานที่ไหนก็ทำได้ อยากอยู่ที่ไหนก็อยู่ได้ แต่คนสีผิวอื่นๆ ไม่เป็นเช่นนั้นครับ ไปเรียนที่เดียวกับคนผิวขาว ส่วนใหญ่จะห้าม หรือแม้แต่กินกับพวกเขาก็ไม่ได้ครับ
จนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงสังคมยุค 1960s ที่คนผิวดำเริ่มลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของเขามากขึ้น และสิ่งสำคัญคือ สังคมอเมริกัน (คนผิวขาว) จำนวนไม่น้อย เริ่มเรียกร้องยืนอยู่เคียงข้างคนผิวดำ เพราะก่อนหน้านี้ไม่ค่อยสนเท่าไร จนผลักดันให้ผ่านกฎหมาย Civil Rights Act (1964) ระบุชัดเจนว่า คนอเมริกันทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเพศอะไร นับถือศาสนาอะไร หรือเป็นคนผิวสีอะไร และแนวความคิดของ Affirmative Action เข้ามาส่งเสริม Civil Rights Act
Affirmative Action โดยทั่วไปคือ ให้สถานศึกษาหรือที่ทำงานในการรับสมัคร (นักศึกษาหรือพนักงาน) ต้องเปิดโอกาสและพิจารณาถึงคนอื่นที่ไม่ใช่คนผิวขาว อันนั้นคือสปิริตและเจตนาของทั้ง Civil Rights Act กับ Affirmative Action แต่คำว่าสปิริตกับเจตนา มันเป็นนามธรรม และเป็นเพียงอักษรที่อยู่บนกระดาษ การปฏิบัติในโลกแห่งความจริงและเป็นรูปธรรมนั้นจะทำอย่างไร? หลายที่ (ไม่ว่าจะเป็นสถานศึกษาหรือที่ทำงาน) เลยคิดระบบโควตา (อย่างไม่เป็นทางการ) ซึ่งหมายความว่า ในสถานที่นั้นๆ จะรับนักศึกษาหรือพนักงานจำนวนหนึ่งตามสีผิวของเขา เพราะในยุคก่อน โอกาสเหล่านี้จะไปที่คนผิวขาวหมด
ข้อดีก็คือ คนเหล่านี้มีโอกาสมากขึ้น หรืออย่างน้อยๆ มีโอกาสมากกว่ายุคก่อน ที่ไม่มีโอกาสเลย แต่ข้อเสียคือ ที่เขาเข้าเรียนหรือทำงานได้ เพราะความสามารถ หรือเพราะสีผิวของเขา? และถ้าเขาเรียนหรือทำงานเพราะนโยบายนี้ คนผิวขาวที่มีความสามารถจริงๆ ทำไมเขาต้องถูกปฏิเสธไป? เพราะโควตา? ความยุติธรรม? ความเสมอภาค? คำถามเหล่านี้คือหัวใจของ Affirmative Action ที่มีคนทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยแรงพอๆ กัน แล้วเอาเข้าจริง ทั้งสองฝ่ายถูกทั้งคู่ครับ
คำวินิจฉัยของศาลฎีการิเริ่มจากการฟ้องของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า Students for Fair Admissions ที่ฟ้อง Harvard University กับ University of North Carolina at Chapel Hill (UNC) เมื่อปี 2014 ด้วยแกนนำของ Edward Blum ที่ต่อต้านเรื่อง Affirmative Action กลุ่มนี้ประกอบไปด้วยคนที่สมัครทั้งสองมหาวิทยาลัย แต่ถูกปฏิเสธ กลุ่มนี้กล่าวหาว่าที่เขาถูกปฏิเสธเป็นเพราะเขาเป็นคนผิวขาว และที่นั่งที่เขาควรจะได้ (ทั้งๆ ที่เกรดเฉลี่ยเข้าเกณฑ์และผ่านคุณสมบัติอื่นๆ หมด) ไปตกกับคนอื่นที่ไม่ควรจะได้ เพียงเพราะ Affirmative Action เท่านั้น วัตถุประสงค์ของกลุ่มนี้คือ เลิกระบบ Affirmative Action ตามมหาวิทยาลัย เพราะ Affirmative Action ละเมิดสิทธิพวกเขา และขัดต่อรัฐธรรมนูญ
ศาลชั้นต้นไม่เห็นด้วยกับคำร้อง พวกเขาเลยยื่นต่อที่ศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้น เลยยื่นต่อที่ศาลฎีกา ปรากฏว่าศาลฎีกาเห็นด้วยกับ Students for Fair Admissions ในเรื่องนี้ด้วยคะแนน 6-3 ครับ
ขั้นตอนต่อไปคือ จำเลย (Harvard University กับ UNC) มีโอกาสชี้แจงและยื่นคำร้องกลับไปที่ศาลฎีกา แต่อาจจะต้องใช้เวลาพอสมควร เพราะทางจำเลยต้องชี้แจงว่าเขาไม่เคยมีนโยบายกีดกันหรือกลั่นแกล้งผู้สมัครเข้ามหาวิทยาลัย เขาบอกชัดเจนมาโดยตลอดว่า เรื่อง Affirmative Action เป็นเพียง หนึ่งในกระบวนการพิจารณาผู้สมัครเท่านั้น และไม่ได้มีส่วนสำคัญในกระบวนการด้วย ซึ่งตรงนี้จะพิสูจน์ได้อย่างไรว่า Affirmative Action มีบทบาทหรือไม่ ก็ไม่รู้ครับ จึงต้องดูกันต่อไปว่า จำเลยทั้ง 2 มหาวิทยาลัยจะเดินหน้าต่ออย่างไร
แต่ที่รู้แน่ๆ คือ คำวินิจฉัยของศาลฎีกาในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการประกาศอวสานของ Affirmative Action ในรูปแบบที่คุ้นเคยกันมาในสหรัฐเป็นเวลากว่า 50 ปี และสำหรับคนอเมริกันที่ชอบมองการแต่งตั้งตุลาการศาลฎีกาว่าเป็นเรื่องไร้สาระ เป็นเรื่องไม่สำคัญ เป็นเรื่องไกลตัว ดูศาลฎีกาสหรัฐชุดนี้ครับ
ศาลชุดนี้ออกแนวอนุรักษนิยมขวาหน่อยๆ ซึ่งฐานของกลุ่มอนุรักษนิยมในสหรัฐต่อต้านแนวความคิดหรือนโยบายที่จะเป็นภัยต่อวิถีชีวิตดั้งเดิมที่เขา (หลง) เชื่อว่าเป็นวิถีชีวิตที่ดีที่สุดสำหรับพวกเขาและประเทศ เขาจะต่อต้านแนวความคิดเสรีนิยม โดยเฉพาะเสรีนิยมจ๋า ที่พวกเขารับไม่ได้
วินิจฉัยคว่ำกฎหมายเดิม Roe VS. Wade และการลบล้าง Affirmative Action ในตัว เป็นการประกาศให้โลกอนุรักษนิยมรับรู้ว่า โลกใหม่ที่ออกเสรีนิยมหน่อยๆ จะค่อยๆ เปลี่ยนทิศกลับไปที่วิถีชีวิตดั้งเดิม (ถึงบอกว่าเรื่องการเมืองไม่ได้ไกลตัวอย่างที่คิดครับ)
ในสหรัฐ เราก็ต้องดูกันต่อไปว่าการวินิจฉัยครั้งนี้จะเป็นไปในทิศทางไหนต่อ และมีผลกระทบกับทั้งประเทศอย่างไรต่อ แล้วจะต้องดูกันว่าเมื่อเข้าฤดูการเลือกตั้งเลือกประธานาธิบดี เรื่องการต่อต้านสังคม Woke จะเป็นเช่นไร แล้วใครจะโหนกระแสนี้มากที่สุด ซึ่งในโอกาสหน้าผมจะต้องใช้เวลาพอสมควร อธิบายและพูดถึงเรื่อง Woke ครับ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
Bye Bye Bye…Bytedance?
ขอออกตัวก่อนครับ วันที่เขียนคอลัมน์นี้ ผมจะเขียนล่วงหน้าหลายวัน ซึ่งหลายอย่างอาจมีการเปลี่ยนแปลง วันที่แฟนคอลัมน์อ่านคอลัมน์นี้อยู่ แต่ผมเห็นว่าเนื้อหาและประเด็นเป็นเรื่องน่าสนใจ
A Whole New World? หรือ Same Same, But Different?
ในเร็วๆ นี้ โลกของเราจะเปลี่ยนโดยที่เราไม่รู้ตัวครับ ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่ก็ตาม จะอยู่ใน Gen ไหน สิ่งที่พวกเราต้องยอมรับกันคือ
วันส่งท้าย 'สวัสดีปีใหม่'
หวังว่าวันนี้คงไม่สายเกินไปที่ผมจะทักแฟนคอลัมน์ด้วยคำว่า “สวัสดีปีใหม่” ครับ เนื่องจากวันนี้เป็นวันแรกที่เราได้เจอกันในรอบปีใหม่ แต่ผมมีคำถามอยู่คำถามหนึ่งว่า
'This is what butterflies listen to after a long day.'
ทิ้งท้ายปีนี้ด้วยคอลัมน์สบายๆ ครับ ผมไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ผมจะเขียนในวันนี้ จะถึงใจแฟนคอลัมน์หรือเปล่า เพราะผมไม่แน่ใจว่าพวกเราชอบฟังเพลงแนว Podcast
Gisele Pelicot วีรสตรีของโลก
วันนี้ผมขออนุญาตเขียนเรื่องที่อาจสะเทือนใจ และสร้างความอึดอัดให้กับแฟนคอลัมน์หลายท่าน มันไม่ใช่เรื่องที่คนปกติจะนั่งพูดคุยกัน เป็นเรื่องสะเทือนใจ
สงครามที่โลกลืม…ปิดฉากไปแล้ว
มันแปลกจริงๆ ครับ ประมาณเกือบ 2 สัปดาห์ที่แล้ว อยู่ๆ ผมนึกถึงคอลัมน์ที่ผมเคยเขียน เรื่องเกี่ยวกับ “สงครามที่โลกลืม”