กรณีกบฏวากเนอร์จะกระทบ สงครามยูเครนอย่างไร?

หนึ่งในหลายๆ คำถามหลังกรณี “กบฏวากเนอร์” ที่รัสเซียคือเหตุการณ์น่าตื่นตะลึงครั้งนี้จะมีผลกระทบต่อสงครามยูเครนอย่างไร

คำถามที่ตามมาก็คือทหารรับจ้าง Wagner Group จะสลายตัวไปทั้งหมด หรือ Yevgeny Prigozhin จะหวนกลับมาจัดทัพใหม่อีกครั้งหนึ่ง

ปริโกซินออกมาลุกขึ้นต่อต้านรัสเซียอย่างร้อนแรง และเปิดเผยหลังจากอ้างว่ากองทัพรัสเซียจงใจโจมตีกองกำลังของเขา

เขาจึง “เรียกร้องความยุติธรรม” และการแสดงออกเช่นนั้นมาในรูปแบบของการก่อจลาจลด้วยอาวุธ

•ปูตินกับเซอร์เกย์ ชอยกู, รัฐมนตรีกลาโหม รูปสองใช้แคปชั่น

ก่อนที่หัวหน้าวากเนอร์จะถอยร่นหลังการเจรจากับผู้นำเบลารุส ทหารรับจ้างกลุ่มนี้ได้เข้าควบคุมสิ่งอำนวยความสะดวกทางทหารที่สำคัญในเมือง Rostov-on-Don ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ของเขตทหารทางตอนใต้ของรัสเซีย

โดยภาษาทางการแล้ว วันนี้ปริโกซินกำลัง “ลี้ภัย” อยู่ที่เบลารุส โดยแลกกับการที่ประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียยอมยกเลิกข้อกล่าวหาเรื่องกบฏทั้งหมด...และไม่ดำเนินคดีใดๆ

ทั้งๆ ที่ปูตินเองออกแถลงการณ์ก่อนหน้านี้ว่า การกระทำเช่นว่านี้เป็นอาชญากรรมร้ายแรงที่จะต้องมีการลงโทษอย่างสาสม

แต่วันต่อมา กระทรวงกลาโหมรัสเซียประกาศยกเลิกข้อหาอาญาก่อกบฏสำหรับปริโกซินและพรรคพวกทั้งหมด

ความจริง การสู้รบอย่างเปิดเผยระหว่างกลุ่มวากเนอร์กับกองทัพรัสเซียไม่ใช่เรื่องใหม่

ทั้งสองฝ่ายได้ออกมาตอบโต้เชิงดูหมิ่นดูแคลน ไม่ให้ราคาซึ่งกันและกันมาระยะหนึ่งแล้ว

เรียกได้ว่ามีท่าทีเป็นปรปักษ์ต่อกันนับตั้งแต่สงครามรัสเซีย-ยูเครนเริ่มแล้วด้วยซ้ำไป

แต่ทั้งหมดนี้โยงกับปฏิบัติการทางทหารในยูเครนเกือบทั้งสิ้น

ความพยายามก่อกบฏของวากเนอร์มาจากความไม่พอใจของปริโกซินที่มีต่อรัฐมนตรีกลาโหมและผู้บัญชาการทหารของยูเครน

ความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายก่อนหน้านี้เปลี่ยนเป็น “ต่างคนต่างอยู่” ทันทีหลังจากเริ่มสงครามในยูเครน

เพราะก่อนหน้านี้ทหารรับจ้างกลุ่มนี้ยังยอมรับว่าต้องมีความสัมพันธ์อันดีกับกองทัพ

เพราะต่างฝ่ายต่างต้องเกื้อหนุนกัน เพื่อการได้มาซึ่งชัยชนะต่อศัตรู ไม่ว่าสนามรบจะอยู่ส่วนไหนของโลก

แต่ต้องไม่ลืมว่าการก่อเกิดของทหารรับจ้างกลุ่มนี้ เกิดจากนโยบายของปูตินที่ต้องการจะแยก “บทบาททางการของกองทัพรัสเซีย” กับ “บทบาทสนับสนุนต่อประเทศนั้นๆ อย่างไม่เป็นทางการ”

•ปูตินกับปริโกซิน, หัวหน้าวากเนอร์

การที่มีกลุ่มทหารวากเนอร์รบแทนกองทัพรัสเซียในสมรภูมิต่างๆ นั้น ทำให้ทางการรัสเซียสามารถปฏิเสธได้ว่ากองทัพรัสเซียไม่ได้มีส่วนร่วมรบในเวทีนั้นๆ

ภาษาการเมืองระหว่างประเทศเรียกว่า “ความสามารถในการปฏิเสธการมีอยู่” หรือ deniability

ในพื้นที่ที่รัสเซียมีส่วนได้เสีย แต่ต้องการจำกัดการมีส่วนร่วมโดยตรง เช่น ในสนามรบซีเรียและซูดาน การทำงานของทหารรับจ้างกลุ่มนี้ทำให้รัฐบาลรัสเซียสามารถใช้กลยุทธ์ “การปฏิเสธที่รับฟังได้” ต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาทนั้นๆ

พูดง่ายๆ คือปูตินสามารถจะบอกว่า “รัสเซียพร้อมช่วยเหลือ แต่รัสเซียไม่มีทหารมาร่วมรบ...”

ทั้งๆ ที่ความจริงมีทหารของฝ่ายรัสเซียมาร่วมรบอยู่อย่างคึกคัก

ในกรณียูเครนก็เช่นกัน รัสเซียใช้กลุ่มวากเนอร์ช่วยในการผนวกไครเมียในปี 2014

และการใช้กลุ่มวากเนอร์ลงไปปฏิบัติการในภูมิภาค Donbas ทางตะวันออกของยูเครนในปี 2014 ยังทำให้กองทัพรัสเซียปฏิเสธความเกี่ยวข้องได้หน้าตาเฉย

แม้ว่าทุกวงการจะรับทราบถึงความเกี่ยวโยงระหว่างรัฐบาลรัสเซียกับทหารรับจ้าง

แต่สงครามรัสเซีย-ยูเครนได้เปลี่ยนพลวัตระหว่างสองกลุ่มนี้อย่างมีนัยสำคัญ

กองทัพรัสเซียคาดหวังชัยชนะทางทหารอย่างรวดเร็วในยูเครน แต่กลับประสบกับอุปสรรคนานาประการจนไม่อาจจะบรรลุเป้าหมายตั้งแต่เริ่มต้นได้

ทำให้ต้องใช้ทหารวากเนอร์เข้ามาสนับสนุนปฏิบัติการในสนามรบยูเครนโดยตรง

ในแง่การทหาร การมีทหารกลุ่มวากเนอร์ช่วยให้ปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครนมีเสถียรภาพและต่อเนื่อง

ปีที่แล้ว ทหารวากเนอร์แสดงฝีมือในการสู้รบตรงกันข้ามกับกองทัพรัสเซียส่วนใหญ่

เพราะทหารรับจ้างชุดแนวหน้าเป็นกองกำลังที่ได้รับการฝึกฝนมาค่อนข้างดี

จึงทำให้ปริโกซินอ้างความสำเร็จในช่วงแรกๆ ให้กับฝ่ายรัสเซีย เช่น ยุทธการที่ซีวีเอโรโดเนตสก์

แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีความพ่ายแพ้ เพราะเอาเข้าจริงๆ แล้ว ทหารวากเนอร์ก็ประสบความสูญเสียครั้งใหญ่จนไม่สามารถคงกลยุทธ์แบบดั้งเดิมไว้ได้

ทำให้ปริโกซินต้องเร่งแก้ไขปัญหานี้ด้วยการพยายามเกณฑ์นักรบใหม่จำนวนมาก

รวมถึงการเข้าไปหานักรบจากเรือนจำของรัสเซียเองเพื่อเสริมกองกำลังที่ขาดแคลน

นั่นทำให้เส้นแบ่งระหว่างกลุ่มวากเนอร์กับกองทัพรัสเซียอยู่ในสภาพ “พร่ามัว” ไม่แน่ชัดว่าใครรับผิดชอบอะไรส่วนไหน ใครสู้ชนะและใครแพ้ในสนามรบแต่ละครั้ง

ทำให้เกิดขอบเขตอิทธิพลที่ทับซ้อนกัน

แต่จะว่าไปแล้ว ความไม่แน่ชัดของการแบ่งเส้นรับผิดชอบนั้นน่าจะเป็นคุณลักษณะหนึ่งของระบบการเมืองรัสเซียมายาวนานแล้ว

มีสิ่งเดียวที่ชัดเจนก็คือ มีผู้รับผิดชอบเพียงคนเดียว นั่นคือ วลาดิมีร์ ปูติน

ในท้ายที่สุดมีเพียงประธานาธิบดีรัสเซียเท่านั้นที่สามารถไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างผู้ใต้บังคับบัญชาได้

ประเด็นนี้เองไม่เพียงจำกัดความสามารถของผู้ใต้บังคับบัญชาของปูตินในการสร้างฐานอำนาจที่สามารถท้าทายเขา แต่ยังตอกย้ำความสำคัญของเขาต่อระบบการเมืองแต่เพียงผู้เดียว

ในยามสงบ ระบบการเมืองของรัสเซียอย่างนี้มีประสิทธิภาพค่อนข้างสูง

ตราบใดที่เป้าหมายคือให้ปูตินรักษาอิทธิพลและอำนาจของตนไว้

แต่ในช่วงเวลาแห่งความขัดแย้ง หรือสงครามที่เกิดขึ้นกะทันหัน การทับซ้อนเช่นนี้อาจกลายเป็นอุปสรรคในการบรรลุเป้าหมายใหญ่ได้

หนึ่งในปัญหาที่เห็นได้ชัดคือ ผู้ใต้บังคับบัญชาของปูตินไม่ได้ให้ภาพที่ถูกต้องและชัดเจนเกี่ยวกับขีดความสามารถของกองทัพยูเครนหรือรัสเซีย

นั่นเป็นที่มาของการยื้อแย่งแข่งขันระหว่างทหารประจำการกับ “นักรบอิสระ” อย่างวากเนอร์

หากแข่งกันเพื่อสร้างประสิทธิภาพของกันและกันก็เป็นสิ่งดี

แต่ในสถานการณ์ตึงเครียดและเพลี่ยงพล้ำนั้น ความระหองระแหงนั้นนำไปสู่ความขัดแย้งเปิดเผย

และเมื่อปริโกซินตัดสินใจ “ก่อกบฏ” ถึงขั้นยึดเมืองทางใต้ และเตรียมมุ่งสู่เมืองหลวงมอสโก สถานการณ์จึงถูกเหวี่ยงออกนอกการควบคุม

แม้แต่ผู้บัญชาการรบสูงสุดอย่างปูตินยังมิอาจสกัดไม่ให้ไฟลามทุ่งอย่างที่เห็นได้!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ