หลังจากที่รัฐบาลได้รับพระราชทาน “พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศสละราชสมบัติ” รัฐบาลได้ออก “คำแถลงการณ์ของรัฐบาลเกี่ยวกับการสละราชสมบัติ” ให้ประชาชนได้รับทราบ และคณะรัฐมนตรีได้เสนอเรื่องต่อสภาผู้แทนราษฎร
ก่อนหน้าที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงสละราชสมบัติ พระองค์ได้เสด็จยังต่างประเทศ และได้ทรงแต่งตั้งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2477 และเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ทรงยืนยันว่าพระองค์ได้ทรงพ้นตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปพร้อมกับการสละราชสมบัติ และการตั้งผู้ครองราชย์สมบัติสืบต่อจากพระองค์นั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงได้มีกระแสรับสั่งว่า พระองค์ทรงสละสิทธิ์ที่จะตั้งผู้ครองราชย์สมบัติสืบต่อจากพระองค์
ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันเสาร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 ได้มีการอภิปรายเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรต่อกรณีการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้เขียนได้นำเสนอคำแนะนำที่หม่อมเจ้าวรรณไวทยากรฯทรงประทานให้แก่ที่ประชุมสภาฯ นั่นคือ สภาผู้แทนราษฎรไม่มีอำนาจในการรับหรือไม่รับการสละราชสมบัติ เพราะพระบาทสมเด็จพระปกเล้าฯทรงสืบราชสมบัติต่อจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระองค์มีสิทธิ์ที่จะสละราชสมบัติโดยไม่จำเป็นต้องขอการอนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น สิ่งที่สภาผู้แทนราษฎรจะทำได้คือรับทราบการสละราชสมบัติเท่านั้น ส่วนในกรณีพระมหากษัตริย์พระองค์ต่อไป หม่อมเจ้าวรรณไวทยากรทรงให้ความเห็นว่า “ส่วนพระองค์ต่อไปซึ่งจะขึ้นครองราชสมบัติ ก็ด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร”
หลังจากมีการอภิปรายไปพอสมควร เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ รัฐมนตรีกระทรวงวัง กล่าวว่า “ผู้ที่จะสืบราชสันตติวงศ์ของพระมหากษัตริย์ตามกฎมณเฑียรบาลตามที่สมเด็จกรมพระนริศฯ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ผู้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะสละราชสมบัติ/ผู้เขียน) ได้ทรงสืบสวนแล้ว ได้แก่ สมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงสงขลาฯ ซึ่งได้สิ้นพระชนม์แล้ว กับมีพระราชโอรส คือ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล นั้นเป็นผู้สืบราชสันตตติวงศ์ของพระมหากษัตริย์ตามกฎมณเฑียรบาล ตามที่ได้แจกไปให้ท่านแล้ว”
หลังจากที่มีการอภิปรายไปสักพัก นายกรัฐมนตรี (พระยาพหลพลพยุหเสนา/ผู้เขียน) ได้กล่าวต่อที่ประชุมสภาฯว่า “ที่รัฐบาลเสนอพระองค์แรก คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล สภาฯนี้จะรับหรือไม่รับ”
หลังจากนั้น มีสมาชิกสภาฯจำนวนหนึ่งได้อภิปราย และนายไต๋ ปาณิกบุตร ผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครกล่าวว่า “ตามบัญชีรายนามนี้ แน่แล้วหรือ ข้าพเจ้าสงสัย เพราะว่า กรมหลวงเพ็ชร์บูรณ์ อินทราชัยไม่เห็นมี ข้าพเจ้าสงสัย ขอให้อธิบาย”
เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ รัฐมนตรีกระทรวงวัง กล่าวตอบว่า “พระองค์เพ็ชรบูรณ์นั้นพ้นไปแล้ว ในหลวงแผ่นดินนี้ ท่านอยู่ต่ำกว่า ท่านรับมาแล้ว นั่นเหนือขึ้นไป”
ผู้เขียนขออธิบายความที่เจ้าพระยาวรพิพิฒน์กล่าวไว้ดังนี้ กรมหลวงเพ็ชรบูรณ์ อินทราชัย เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นพระอนุชาของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นพระเชษฐาของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมหลวงเพ็ชร์บูรณ์ อินทราชัยทรงสิ้นพระชนม์ พ.ศ. 2466 และมีพระโอรสคือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช ซึ่งในขณะนั้นทรงมีพระชันษาเพียง 1 ขวบ และในการกำหนดผู้สืบราชสันตติวงศ์ ตามกฎมณเฑียรบาล พ.ศ. 2467 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงโปรดให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นผู้สืบราชสันตติวงศ์ โดยทรงให้ข้ามพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช
ในที่ประชุมสภาฯ ต่อมานายไต๋ ปาณิกบุตร ผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร ได้กล่าวว่า “ข้าพเจ้าอยากจะทราบด้วยว่า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลนี้มีพระชนม์เท่าไร และมีคุณสมบัติอย่างไร ขอทราบ”
เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ รัฐมนตรีกระทรวงวัง ตอบว่า “๑๐ พรรษา คุณสมบัติก็เรียนอยู่สวิทเซอร์แลนด์ เวลานี้ก็ ๑๑ ขวบ ก็มีเท่าที่ทรงเล่าเรียนนี้แหละ”
ร.ท. ทองดำ คล้ายโอภาส ผู้แทนราษฎรจังหวัดปราจีนบุรี กล่าวว่า “ก่อนจะเลือก ข้าพเจ้าขออภิปรายเพื่อเหตุผลสำหรับประเทศชาติสักหน่อย วาระนี้ เราต้องเผชิญกับเหตุการณ์สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ การที่พระมหากษัตริย์ทรงสละราชสมบัติและต้องมีการเลือกตั้งกันใหม่ ในที่นี้ ข้าพเจ้ามีความประสงค์จะขออภิปรายถึงหลักการทั่วไปในการที่เราจะเลือกพระมหากษัตริย์ขึ้นครองราชสมบัติ เป็นประมุขของชาติต่อไป
ว่าโดยหลักการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเลือกผู้แทนตำบล ผู้แทนราษฎรหรือคณะรัฐมนตรี ทั่วโลกย่อมวางกฎเกณฑ์แห่งคุณสมบัติประจำบุคคลเป็นสาระสำคัญอย่างยอดเยี่ยม หลักเกณฑ์เหล่านี้ย่อมตราขึ้นเป็นพระราชบัญญัติ บุคคลและคณะบุคคลดังกล่าวมาแล้วนั้นสำคัญเพียงไร การเลือกพระมหากษัตริย์ก็สำคัญยิ่งกว่าหลายร้อยหลายพันเท่า เพราะเมื่อเลือกตั้งขึ้นแล้ว จะถอดถอนพระองค์ลงจากเสวตรฉัตรไม่ได้เลยเป็นอันขาด นอกจากความสมัครพระราชหฤทัยของพระองค์เอง เพราะฉะนั้น ถ้าสภาฯนี้เลือกเจ้านายที่ไม่สมควรขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ทั้งรัฐบาลและสภาฯ ตลอดจนประชาราษฎรทั้งหลายจะต้องหวานอมขมกลืม รับแต่ความขมขื่นนั้นตลอดชั่วระยะกาล หากเราเลือกเจ้านายที่บกพร่องด้วยคุณสมบัติแล้ว เราพอจะหลับตาแลเห็นเหตุการณ์อันร้ายแรงในอนาคตโดยประวัติศาสตร์ที่แล้วๆมาทั้งในและนอกประเทศ จะนำเราไปสู่จุดที่หมายในลักษณะการที่คล้ายคลึงกันฃ
ถ้าแหละจะมีผู้เถียงว่า พระมหากษัตริย์ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชกับสมัยปริมิตตาญาสิทธิราช (พระราชอำนาจจำกัด/ผู้เขียน) ทรงพระราชอำนาจไม่เหมือนกัน แต่ข้าพเจ้าขอร้องให้จำไว้ว่า ถึงแม้พระมหากษัตริย์จะทรงไร้พระราชอำนาจโดยพฤตินัย แต่พระองค์ไร้พระราชอิทธิพลไม่..(ยังมีต่อ)….”
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 37): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 36): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 47: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับคณะรัฐมนตรีและชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 46: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับคณะรัฐมนตรีและชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 34): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490