กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่จากการกู้ยืมเงินหัวหน้าพรรคตัวเองเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ที่มีคนจำนวนหนึ่งหาว่าเป็นการกลั่นแกล้ง และทางพรรคอนาคตใหม่ก็มีข้อโต้แย้งในการต่อสู้คดีว่า “การกู้ยืมเงินในระบบกฎหมายต่างประเทศ พรรคการเมืองกู้ยืมเงินได้ โดยมีเงื่อนไขแตกต่างกัน และเมื่อเทียบเคียงกับนานาอารยประเทศแล้ว การกู้ยืมเงินเป็นนิติกรรมปกติ ที่พรรคการเมืองสามารถกระทำได้ทั่วไป และยังมีพรรคการเมืองอีก ๑๖ พรรคการเมือง ที่มีการกู้ยืมเงินซึ่งปรากฏในงบการเงินของพรรคการเมือง ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๑”
ในกรณีที่อ้างว่า “การกู้ยืมเงินในระบบกฎหมายต่างประเทศ พรรคการเมืองกู้ยืมเงินได้ โดยมีเงื่อนไขแตกต่างกัน และเมื่อเทียบเคียงกับนานาอารยประเทศแล้ว การกู้ยืมเงินเป็นนิติกรรมปกติ ที่พรรคการเมืองสามารถกระทำได้ทั่วไป” ผู้เขียนได้นำหลักฐานการกู้ยืมเงินของพรรคการเมืองในสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกามาแสดงให้เห็นในตอนก่อนๆแล้ว พบว่า พฤติกรรมการกู้ยืมเงินของพรรคการเมืองทั้งในสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาล้วนเป็นไปตามหลักการที่พบได้ในการศึกษาของ Anika Gauja (Political Parties and Elections: legislating for representative democracy. London: Routledge, 2010.) ที่ว่า ประเทศที่ปกครองโดยกฎหมายจารีตประเพณีและมีวัฒนธรรมของประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่เหมือนกัน (common law democracies) และเป็นประเทศที่มีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการพัฒนาทางการเมืองที่อยู่ในระดับเดียวกัน อันได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร นิวซีแลนด์ แคนาดา และออสเตรเลีย แม้จะมีมาตรการทางกฎหมายในการควบคุมพรรคการเมืองที่แตกต่างกัน แต่มีแนวโน้มที่กฎหมายพรรคการเมืองในประเทศเหล่านี้จะมีพัฒนาเหมือนกันมากขึ้นเรื่อยๆ
Gauja ชี้ว่า การที่แต่ละประเทศในห้าประเทศนี้มีกฎหมายควบคุมสถานะและการดำเนินกิจกรรมต่างๆของพรรคการเมืองที่แตกต่างกัน เป็นเพราะผู้บัญญัติกฎหมายและผู้พิพากษาตีความตัวบทกฎหมายของแต่ละประเทศมีชุดปทัสถานเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยตัวแทนและการทำหน้าที่ของตัวแทนที่แตกต่างกัน ส่งผลให้การจัดวางตำแหน่งแห่งที่และการออกมาตรการควบคุมพรรคการเมืองในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันตามไปด้วย แต่ที่สำคัญคือ ปรากฏการณ์เกี่ยวกับการบัญญัติกฎหมายพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศเหล่านี้วางอยู่บนหลักการพื้นฐานร่วมกัน นั่นคือ ทุกประเทศล้วนต้องการขจัดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นและการเกิดสภาวะรวมศูนย์ในพรรคการเมือง (corruption and centralization in party politics) เพื่อสร้างเวทีทางการเมืองที่เสรีและเป็นธรรมให้แก่ผู้สมัครและพรรคการเมืองทุกพรรค
และหลักการดังกล่าวนี้ก็ปรากฏในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 45 ที่มี “ความมุ่งหมายเพื่อรับรองเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองโดยกำหนดกรอบของกฎหมายเกี่ยวกับการจัดตั้งและการบริหารพรรคการเมือง เพื่อให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชนอย่างกว้างขวาง และมีการบริหารกิจการภายในของพรรคการเมือง ที่เป็นไปตามหลักความเป็นประชาธิปไตยภายในพรรคการเมือง
โดยเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และพรรคการเมืองสามารถปฏิบัติหน้าที่หรือดำเนินกิจกรรมได้โดยอิสระ ปราศจากการครอบงำหรือชี้นำ โดยบุคคลหรือคณะบุคคลใด ๆ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (เน้นโดยผู้เขียน) โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมือง ตั้งแต่เริ่มแรก และกำหนดให้การบริหาร การส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการดำเนินกิจกรรมอื่น ๆ ของพรรคการเมือง สมาชิกต้องมีส่วนร่วมด้วย อันเป็นการป้องกันมิให้ พรรคการเมืองเป็นธุรกิจการเมือง หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งอาศัยความได้ปรียบทางการเงินมาเป็นผู้บงการพรรค แต่เพียงผู้เดียวหรือกลุ่มเดียวได้ รัฐสภาจึงได้ตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐ ขึ้นเป็นกฎหมายตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๕ บัญญัติไว้”
ดังนั้น การที่พรรคอนาคตใหม่ได้ทำการกู้ยืมเงินหัวหน้าพรรคเป็นจำนวนทั้งสิ้น 191,200,000 บาทจึงขัดกับเจตนารมณ์ของมาตรา 45 ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และขัดกับหลักการสากลที่ต้องการขจัดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นและการเกิดสภาวะรวมศูนย์ในพรรคการเมือง (corruption and centralization in party politics) เพื่อสร้างเวทีทางการเมืองที่เสรีและเป็นธรรมให้แก่ผู้สมัครและพรรคการเมืองทุกพรรค ในคราวนี้ ผู้เขียนจะยกกรณีการเงินของพรรคการเมืองในสวีเดนมานำเสนอ
กรณีของสวีเดน
พรรคการเมืองสวีเดนถือว่าเป็นกรณีพิเศษกว่าพรรคการเมืองอื่นๆในยุโรปหรือในโลกก็ว่าได้ นั่นคือ พรรคการเมืองสวีเดนให้ความสำคัญกับความเป็นอิสระที่ปลอดจากการแทรกแซงหรือการตรวจสอบควบคุมใด สวีเดนจึงเป็นประเทศที่ไม่มีการตรากฎหมายมาควบคุมการเงินของพรรคการเมือง แม้ว่าจะมีกฎหมายกำหนดให้รัฐต้องให้เงินสนับสนุนแก่พรรคการเมือง ซึ่งเป็นเงินจำนวนที่คิดเป็นร้อยละ 90 ของค่าใช้จ่ายของพรรคการเมือง
ดังนั้น จากเงินสนับสนุนดังกล่าว พรรคการเมืองและนักการเมืองสวีเดนสามารถทำหน้าที่อย่างอิสระโดยไม่ต้องกังวลในการหาทุนผ่านการกู้หรือรับบริจาค หรือบางพรรคหารายได้จากการออกล็อตเตอรี่ แม้ว่ากฎหมายจะไม่ได้ห้ามไว้ก็ตาม แต่กระนั้น พรรคการเมืองต่างๆในสวีเดนก็สมัครใจที่จะร่วมมือกันกำหนดบรรทัดฐานทางธรรมาภิบาลขึ้นเอง โดยตกลงที่จะเปิดเผยบัญชีการเงินของพรรค และตกลงที่จะไม่รับเงินบริจาคจากธุรกิจเอกชน เพราะพรรคการเมืองสวีเดนให้ความสำคัญกับความเป็นอิสระจากภายนอกพรรค อันหมายถึงพรรคไม่ต้องตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของบุคคลหรือกลุ่มทุน หรือองค์กรใดๆที่ให้การสนับสนุนช่วยเหลือทางการเงินแก่พรรค
อีกทั้งพรรคการเมืองสวีเดนยังให้ความสำคัญต่อความเป็นอิสระภายในพรรค อันหมายถึง สมาชิกพรรคไม่ต้องตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลภายในพรรคที่ให้การสนับสนุนช่วยเหลือทางการเงินแก่พรรคและสมาชิกพรรค
กฎหมายสวีเดนอนุญาตให้พรรคการเมืองรับเงินบริจาคจากเอกชนได้ และก็ไม่มีได้ข้อจำกัดเคร่งครัดอะไรมากนัก จะมีข้อห้ามอยู่บ้าง เช่น ห้ามพรรคและผู้สมัครรับเลือกตั้งส่วนตัวรับเงินบริจาคจากต่างชาติ โดยกฎหมายได้บัญญัติไว้ว่า การรับเงินจากต่างชาติไม่ว่าจะเป็นองค์กรรัฐ- เอกชนหรือปัจเจกบุคคลที่กระทำในนามต่างชาติ ถือเป็นความผิดทางอาญา หากมีวัตถุประสงค์ที่จะมีอิทธิพลต่อความเห็นของประชาชนในเรื่องที่สำคัญต่อการปกครองของประเทศหรือความมั่นคงของชาติ (ที่อยู่ภายในขอบเขตของรัฐสภาหรือรัฐบาล)
อีกทั้งกฎหมายสวีเดนไม่ได้ห้ามรับเงินบริจาคจากบริษัทห้างร้าน สหภาพแรงงานหรือผู้บริจาคที่ไม่ประสงค์จะเปิดเผยตัวตน และยังอนุญาตให้พรรคการเมืองรับบริจาคอย่างไม่จำกัดจำนวนได้ทั้งในช่วงระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งและนอกฤดูการหาเสียงเลือกตั้งด้วย แต่มีข้อแม้ว่า พรรคการเมืองที่รับเงินบริจาคจากแหล่งที่เปิดเผยไม่ได้ เมื่อมีการร้องขอ จะไม่สามารถได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐ
ขณะเดียวกัน ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความโปร่งใสทางการเมืองของพรรคการเมือง (Act on Transparency of Party Financing) กำหนดว่า หากเป็นเงินบริจาคจากบริษัท พรรคการเมืองหรือผู้สมัครที่รับบริจาคจะต้องเปิดเผยยอดเงินบริจาค ไม่ว่าจะมียอดเท่าไรก็ตาม แต่การเปิดเผยนี้จะเกิดขึ้นเมื่อมีการร้องขอเท่านั้น และกฎหมายได้ระบุไว้ว่า การสนับสนุนจากส่วนอื่นๆของพรรคการเมืองที่อาจจะเป็นองค์กรของพรรค และการสนับสนุนจากบุคคลในภาคเอกชน จากบริษัท องค์กร สมาคมและชมรมต่างๆ และมูลนิธิและกองทุน และแหล่งสนับสนุนที่ไม่เปิดเผยชื่อ จะต้องมีการเปิดเผยยอดจำนวนเงินบริจาค ไม่ว่าจะมีจำนวนเท่าใดก็ตาม
การที่กฎหมายระบุว่า พรรคการเมืองหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งในสวีเดนสามารถรับบริจาคจาก “ส่วนอื่นๆของพรรคการเมือง” ดังที่ในเอกสารเผยแพร่ของ European Public Accountability Mechanisms (ระเบียบการเพื่อความรับผิดชอบสาธารณะของยุโรป) ใช้คำว่า “other parts of the party” คำว่า “ส่วนอื่นๆของพรรคการเมือง” นั้นอาจรวมความไปถึง “หัวหน้าพรรคการเมือง” หรือ “สมาชิกพรรค” ได้ด้วย นั่นคือ พรรคการเมืองหรือผู้สมัครสามารถรับเงินบริจาคจากหัวหน้าพรรคหรือสมาชิกพรรคเพื่อนำไปใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งได้ ข้อความดังกล่าวในปราฎใน หมวดที่หก ดังนี้ “Section 6 - contributions from other parts of the party, organisation, including affiliated organisations; contributions from private persons; contributions from companies, organisations, associations and other societies, foundations and funds; and anonymous contributions. The first paragraph also applies to revenue of activities conducted in a company or in any other operational form, if the party has a controlling influence on the activities. The same apphes to revenue of a foundation associated with the party." However the size of the donations must be disclosed.”
ผู้เขียนตีความว่า หัวหน้าพรรคหรือสมาชิกพรรคจะบริจาคเงินให้พรรคโดยไม่เปิดเผยก็ได้ เพราะกฎหมายอนุญาตให้พรรคและผู้สมัครรับเลือกตั้งส่วนตัวสามารถรับเงินบริจาคจากบุคคลที่ไม่เปิดเผยตัวตนได้ แต่จะต้องเปิดเผยรายการการรับบริจาค ไม่ว่าจะเป็นจำนวนเท่าใดก็ตาม
ดังนั้นจากข้อความในกฎหมายข้างต้นนี้ จึงตีความได้ว่า หากหัวหน้าพรรคหรือสมาชิกพรรคสามารถบริจาคเงินให้พรรคหรือผู้สมัครแต่ไม่เปิดเผยชื่อ ก็ย่อมกระทำได้ และก็ไม่มีใครทราบด้วย และกฎหมายก็ไม่ได้ระบุจำกัดจำนวนไว้ด้วย ซึ่งหมายความว่า จะรับเงินบริจาคเท่าใดก็ได้ แต่พรรคหรือผู้รับบริจาคจะต้องเปิดเผยยอดเงินรับบริจาค และเงื่อนไขตามกฎหมายคือ หากรับเงินบริจาคแล้ว จะไม่สามารถรับเงินอุดหนุนใดๆจากรัฐได้ แม้ว่ากฎหมายสวีเดนจะอนุญาตให้พรรคการเมืองและผู้สมัครรับเงินบริจาคได้ แต่ต้องเปิดเผยยอดรับบริจาค แต่ไม่ต้องเปิดเผยผู้ให้บริจาคหากผู้บริจาคไม่ประสงค์จะเปิดเผย แต่เมื่อรับเงินบริจาคแล้ว ก็ไม่มีสิทธิ์รับเงินอุดหนุนจากรัฐ ส่วนในกรณีของการกู้ เท่าที่สำรวจกฎหมายและข้อบังคับเกี่ยวกับการเงินของพรรคการเมืองในสวีเดน มิได้มีการกล่าวถึงแต่อย่างใด จริงๆแล้ว หลายประเทศในยุโรปก็ยังไม่ได้ออกกฎหมายการเงินพรรคการเมืองที่มีการระบุถึงการกู้หรือไม่ให้กู้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะประเทศทางตะวันออกเฉียงใต้และทางตะวันออกของยุโรป ไม่มีการกล่าวถึงเลย แต่ประเทศที่มีกฎหมายระบุเกี่ยวกับการกู้เงินที่ชัดเจนที่ก้าวหน้าสุดในยุโรปคือสหราชอาณาจักร ดังที่ได้กล่าวไปในกรณีของสหราชอาณาจักร ในทางปฏิบัติ ในกรณีของสวีเดน เงินสนับสนุนจากรัฐที่พรรคการเมืองได้นั้นถือเป็นแหล่งทุนสำคัญที่สุดของพรรคการเมือง โดยรัฐได้จัดเงินอุดหนุนให้แก่พรรคการเมืองระดับชาติเป็นจำนวนที่คิดเป็นร้อยละ 80-90 ของรายได้ต่อปีของพรรคการเมืองหลักๆในสวีเดน และถ้าบวกรายได้จากค่าสมาชิกที่คิดเป็นร้อยละ 5-10 และแหล่งรายได้อื่นๆที่ได้กล่าวไปข้างต้น ก็จะพบว่า เมื่อรวมเงินอุดหนุนจากรัฐและรายได้อื่นๆแล้ว พรรคการเมืองสวีเดนก็ดูจะไม่จำเป็นต้องหารายได้จากช่องทางอื่นๆอีก
แม้ว่ากฎหมายพรรคการเมืองสวีเดนจะไม่ได้ห้ามพรรคการเมืองรับเงินทุนบริจาคจากธุรกิจเอกชน แต่อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า ในช่วงทศวรรษ 1970 บรรดาหัวหน้าพรรคการเมืองต่างตกลงกัน ว่าจะไม่รับเงินสนับสนุนในลักษณะนั้น
ส่วนในกรณีของการกู้ แม้ว่าจะยังไม่ได้มีกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนในเรื่องการกู้เงินของพรรคการเมือง แต่ก็ยังไม่ปรากฏให้เห็นต่อสาธารณะว่า พรรคการเมืองหรือผู้สมัครแข่งขันเลือกตั้งได้ทำการกู้เงินมาเพื่อใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้งหรือดำเนินกิจการของพรรคแต่อย่างใด มิพักต้องพูดถึงการกู้เงินหัวหน้าพรรคตัวเอง เนื่องจากการให้ความสำคัญกับความเป็นอิสระของพรรคการเมือง
ดังนั้น กล่าวได้ว่า ในแง่ของกฎหมายการเงินในสวีเดน ไม่ได้ห้ามพรรคการเมืองกู้ยืมเงินหัวหน้าพรรค และไม่ได้กำหนดเพดานจำนวนเงินกู้ไว้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในสวีเดนคือ พรรคการเมืองในสวีเดนได้สมัครใจตกลงกำหนดบรรทัดฐานทางจริยธรรมขึ้นมาใช้กันในระหว่างพรรคการเมืองต่างๆเอง นั่นคือ แม้การกู้เงินหัวหน้าพรรคเป็นสิ่งที่กฎหมายไม่ได้ห้าม แต่เขาไม่ทำกัน !
คราวหน้า จะกล่าวถึงการกู้เงินของพรรคการเมืองในประเทศกรีซ
(ส่วนหนึ่งของงานวิจัย “เงินทางการเมืองในมุมมองเชิงเปรียบเทียบกรณีศึกษาประเทศไทย สหราชอาณาจักรและสวีเดน” ภายใต้โครงการวิจัยศึกษารัฐธรรมนูญ: การออกกฎหมายเพื่อรองรับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2560 สถาบันพระปกเกล้า พ.ศ. 2563)
(แหล่งอ้างอิง: http://europam.eu/?module=country-profile&country=Sweden; Ada-Iuliana Popescu, Financing Democracy or Corruption? Political Party Financing in the EU's Southeastern and Eastern Member States, CES Working Papers; Alexandru Ioan Cuza University of Iasi, Centre for European Studies, Iasi, Vol. 7, Iss. 2a, 2015).
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชะตากรรม 'นายกฯ ชินวัตร'
วันนี้ (๑๒ ธันวาคม) นายกฯ อิ๊งค์ แถลงผลงาน อยากรู้ว่าผลงานมีอะไรบ้าง เชิญเฝ้าหน้าจอสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที หรือช่อง ๑๑ นั่นแหละครับ
ไม่ยกมือไหว้คนโกง
ร้อนรนจนออกหน้าไปไหม? ผมถามคุณวันชัย สอนศิริ อดีต สว. ลูกศิษย์วัดไก่เตี้ยน่ะ เห็นโพสต์วันก่อนว่า.. “กระบอกเสียง หรือกระบอกเสีย รัฐบาล..
อ่อนกว่าวัย
ไม่น่าเชื่อในวันที่ 13 ม.ค. 2568 รัฐมนตรี 17 สมัย อย่าง “สมศักดิ์ เทพสุทิน” รมว.สาธารณสุข จะมีอายุครบ 70 ปี เนื่องจากรูปร่างหน้าตาดูอ่อนกว่าวัยมาก เหมือนกับคนอายุประมาณ 50 ปีเศษเท่านั้น
ดันSMEอีอีซีบุกตลาดตปท.
ที่ผ่านมารัฐบาลอาจจะยังไม่ได้พูดถึงโครงการพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี มากนัก เนื่องจากคงจะยุ่งกับการบริหารงานในแนวทางอื่นๆ อยู่ แต่กับหน่วยงานอย่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
บันทึกหน้า 4
ต้องเรียกว่าตีปี๊บกันอย่างยิ่งกับการแถลงผลงาน 90 วัน พร้อมสานฝันอนาคตในธีม “2568 โอกาสไทย ทำได้จริง” ที่ “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรีจะเป็นคีย์แมนหลัก โดยถ่ายทอดสดผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (เอ็นบีที) ในวันพฤหัสบดีที่ 12 ธ.ค.นี้
ในวันที่ 'ส้ม' โหยหาเพื่อน
ไอ้เสือถอย! ไปไม่ถึงสุดซอยครับ "หัวเขียง" ยอมเลี้ยวกลับเสียก่อน