เสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา ข่าวใหญ่ที่ติดตามกันทั่วโลกไม่ใช่สงครามยูเครนหากแต่เป็นศึกภายในของรัสเซีย
เมื่อทหารรับจ้าง Wagner Group ที่นำโดย Yevgeny Prigozhin บุกยึดเมื่อ Rostov ทางใต้ของรัสเซียและเตรียมเคลื่อนทัพเข้าเมืองหลวงมอสโก
เหมือนหนังกำลังจะถึงจุดไคลแม็กซ์...แต่คนเขียนบทหนังต้องการจะทำให้คนดูนั่งไม่ติด...เพราะยังไม่ทันไรเลย ตัวละครเอกในเรื่องสองคนก็เจรจาตกลงกันได้นาทีสุดท้าย
เกิด ‘ดีลลับ สงบศึก’ นาทีสุดท้ายระหว่างปูตินกับปริโกซิน
และยังมี “พระเอก” คนที่สามมาร่วมซีนด้วย นั่นคือประธานาธิบดี Alexander Lukashenko ที่เล่นบทเป็นกาวใจ ช่วยเจรจาต่อรองกับคู่กรณีทั้งสอง
โดยข้อตกลงกะทันหันนั้นมีรายละเอียดว่า
ปริโกซินจะออกจากรัสเซียไป “ลี้ภัย” ที่เบลารุส
และรัฐบาลรัสเซียยกเลิกข้อกล่าวหา “กบฏ” กับเขาและกองกำลังวากเนอร์
อีกทั้งยังจะให้นักรบรับจ้างที่เป็นลูกน้องของปริโกซินขึ้นทะเบียนเป็นทหารประจำการ
เท่ากับสลายข้อตกลงจ้าง Wagner Group ในการทำสงครามในยูเครนไปเลย
เหตุผลทางการ? เพื่อหลีกเลี่ยง "การนองเลือด"
อาจจะมีคนถามว่าเรื่องราวที่สร้างความน่าตื่นเต้นมายาวนานจะจบง่าย ๆ อย่างนี้หรือ?
คำตอบคือยังแน่นอน..สถานการณ์ยังไม่ปกติเพราะเหตุการณ์ “ก่อจลาจลยึดเมือง” ของกลุ่มทหารรับจ้างครั้งนี้ถือเป็นการเปิดจุดอ่อนหลายด้านของปูตินโดยเฉพาะในกองทัพรัสเซีย
สงครามยูเครนคงดำเนินต่อไปแต่ปูตินคงถูกกดดันให้ต้องโยกย้ายระดับสูงกันครั้งใหญ่ เพราะหันซ้ายหันขวาแล้วคงมีคำถามว่าใครคนไหนเกือบจะแปรพักตร์ข้ามขั้วไปฝั่งที่พยายามจะโค่นเขาในช่วงความสับสนใน 2 วันที่ผ่านมา
คำถามใหญ่ที่สุดสำหรับคนรัสเซียและผู้เฝ้าติดตามสถานการณ์ของรัสเซียและสงครามยูเครนก็คือปูตินจะเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีกลาโหมและผู้บัญชาการทหารที่เป็นมือซ้ายมือขวาหรือไม่
นั่นคือ Sergei Shoigu และ Valery Gerasimov ที่เป็นรัฐมนตรีกลาโหมและผู้บัญชาการทหารตามลำดับ
มีหน้าที่รับผิดชอบบัญชาการรบในยูเครน
และเป็นเป้าการโจมตีอย่างต่อเนื่องของปริโกซินหลายเดือนที่ผ่านมา
คำถามที่ตามมาก็คือปูตินกับปริโกซินจะคบกันในฐานะเพื่อนที่ปูตินกล่าวหาในแถลงการณ์ทางการเมื่อวันเสาร์ (แม้ไม่ได้ระบุชื่อตรง ๆ) ว่าเป็น “คนทรยศ” และ “หักหลัง” ต่อไปอย่างไร
ที่เปิดเผยออกมานั้นยังถือว่าเป็นเพียง “สงบศึกชั่วคราว” ใช่หรือไม่
ทั้งสองจะหันมาเคลียร์ใจกันอย่างไร
หรือจะมี “ดีลลับยกสอง” เพื่อรักษาฐานอำนาจต่อไปสำหรับทั้งสองคนอย่างไรต้องจับตากันต่อไป
อีกคำถามหนึ่งก็คือเมื่อปูตินเอาคลิปมานั่งศึกษาและได้เสียงตะโกนเชียร์ “Wagner! Wagner!” ตอนทหารกลุ่มนี้ถอนตัวออกจากเมือง Rostov นั้นมีความหมายอย่างไร
ยิ่งเมื่อชาวบ้านเมืองเดียวกันตะโกนขับไล่ตำรวจที่กลับมาประจำการหลัง “สงบศึก” อย่างไม่พอใจนั้นตีความได้ไหมว่าประชาชนขาดความไว้วางใจอำนาจรัฐเสียแล้ว
ที่ผมเชื่อว่าค่อนข้างจะแน่นอนคือความพยายามเขย่าบัลลังก์ปูตินของ ‘เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด’ ครั้งนี้จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในโครงสร้างอำนาจรอบ ๆ ปูตินแน่ ๆ
แต่จะหนักหน่วงและรุนแรงเพียงใด ช้าเร็วอย่างไรย่อมเป็นเรื่องที่ปูตินต้องไตร่ตรองอย่างหนัก
เพราะครั้งนี้เป็นการท้าทายอิทธิพลบารมีของปูตินครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่เขาขึ้นครองอำนาจทางการเมืองรัสเซียมาเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2012 หรือเมื่อ 11 ปีที่แล้ว
การจลาจลของทหารวากเนอร์ครั้งนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนอันสำคัญสำหรับปูติน
บางคนบอกว่าเป็น “ช่วงเวลาที่อันตราย” สำหรับประธานาธิบดีรัสเซียคนนี้
เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพลักษณ์แห่งอำนาจของเขาถูกปรับเปลี่ยนชั่วข้ามคืน
จากที่เคยมีคนเชื่อว่าปูตินเป็นผู้นำที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด พูดคำไหนต้องเป็นคำนั้น
กลายเป็นว่าหัวหน้าทหารรับจ้างที่มีนักรบติดอาวุธอยู่เพียง 25,000 คนสามารถบุกเข้ายึดเมืองและสร้างความปั่นป่วนไปทั่วประเทศถึงขั้นที่มอสโกต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน
สะท้อนว่าฐานอำนาจของปูตินมีช่องโหว่และมีจุดเปราะบางหลายด้านที่ไม่เคยถูกเปิดเผยมาก่อน
สัจธรรมแห่งอำนาจคือเมื่อคุณอยู่ในอำนาจมานานจนคุณคิดว่าคุณไร้เทียมทาน และจะสามารถรอดพ้นทุกวิกฤต
ครั้งนี้พิสูจน์ว่า “มันก็ไม่แน่เช่นนั้นเสมอไป”
รอดได้...แต่รอดแล้วจะเรียบร้อยเพียงใดเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
16 เดือนก่อน ปูตินเปิด "ปฏิบัติการทางทหารพิเศษ" ในยูเครนเพื่อ "ทำให้รัสเซียปลอดภัยยิ่งขึ้น"
แต่ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา มีโดรนโจมตีเครมลินและระดมยิงในรัสเซียตะวันตก
และตอนนี้ การก่อกบฏด้วยกองกำลังติดอาวุธของทหารรับจ้างประกาศมุ่งหน้าสู่มอสโกโดยเรียกร้องให้ปลดรัฐมนตรีกลาโหมที่แต่งตั้งโดยปูติน ก่อนที่จะเกิด “ดีลสงบศึก” นาทีสุดท้าย
เป็นปรากฏการณ์ที่สร้างความสั่นสะเทือนให้กับบัลลังก์แห่งอำนาจของปูตินไม่น้อย
ยิ่งต้องอาศัยผู้นำเบลารุสเป็น “คนกลาง” ช่วยเกลี้ยกล่อมหัวหน้าทหารวากเนอร์ให้ยอมถอยก็ยิ่งแสดงว่าปูตินไม่สามารถจะต่อสายตรงถึงปริโกซินและสั่งให้สลายตัวทันที
อีกทั้งการยอมยกเลิกข้อหา “กบฏ” ต่อทุกคนที่ก่อการครั้งนี้ด้วยก็หมายความว่าปูตินไม่อาจจะใช้ “ไม้แข็ง” จัดการกับใครก็ตามที่กล้าหือกล้าอือกับตนได้
คนที่เชียร์ปูตินก็คงจะชี้ให้เห็นว่าผู้นำรัสเซียคนนี้สามารถจัดการกับวิกฤตของบ้านเมืองได้อีกครั้งหนึ่งโดยไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ
สะท้อนว่าปูตินยังเป็น “พระเอกตลอดกาล” ไม่ว่าใครจะกล้าคิดร้ายกับเขาก็ย่อมจะมีอันต้องถอยไปในที่สุด
อีกไม่นานคงรู้ว่าปูตินจะรักษาสถานภาพของผู้กุมอำนาจอมตะในรัสเซียได้อย่างเหนียวแน่น...หรือต้องโยกย้ายตำแหน่งสำคัญ ๆ รอบตัวครั้งใหญ่
เพื่อรักษาสถานภาพของตนไว้จนกว่าจะประกาศชัยชนะสงครามยูเครนได้
ปูตินเจอทั้งศึกในบ้านและนอกบ้านครั้งนี้ทดสอบความแข็งแกร่งทนทานของผู้นำรัสเซียคนนี้เต็มรูปแบบจริง ๆ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ