เวียดนามคือคู่แข่งไทย ด้านการท่องเที่ยวอีกชาติหนึ่ง

นอกจากเวียดนามจะเป็นคู่แข่งไทยในด้านดึงนักลงทุนต่างชาติและการส่งออกแล้ว อีกมิติหนึ่งคือการท่องเที่ยว

ล่าสุดบริษัทท่องเที่ยวออนไลน์ Agoda ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในกรุงเทพฯ มองว่าการท่องเที่ยวในเวียดนามเติบโตเร็วกว่าในประเทศไทย

แต่เวียดนามสามารถรักษาความได้เปรียบโดยขจัดอุปสรรคเรื่องวีซ่า เปิดเส้นทางบินมากขึ้น และสร้างเหตุผลทางธุรกิจสำหรับการเดินทาง

เวียดนามมีส่วนแบ่งการเดินทางขาเข้าเพิ่มขึ้นในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้

โดยมาเป็นอันดับ 3 รองจากญี่ปุ่นและไทยในกลุ่มจุดหมายปลายทางในเอเชีย

เพิ่มขึ้นจากอันดับที่ 5 ในปี 2019 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของการเดินทางก่อนเกิดโรคระบาดโควิด-19

ประเทศไทยอยู่ในอันดับต้นๆ ของ Agoda ในปีที่แล้ว

แต่ถูกแซงเกือบจะทันที โดยญี่ปุ่นซึ่งเปิดพรมแดนอีกครั้งในเดือนตุลาคม

ปีนี้ ถึงเดือนนี้ประเทศไทยต้อนรับผู้มาเยือนกว่า 11 ล้านคน

ซึ่งเพียงครึ่งปีก็มีตัวเลขสูงกว่าปีที่แล้ว

เป็นสถิติการเดินทางทั้งขาเข้า ขาออก และการท่องเที่ยวในประเทศที่ฟื้นตัว

เป้าหมายของรัฐบาลไทยคือจะต้องสร้างให้การเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นไปอย่างยั่งยืนต่อเนื่อง

เพราะเป็นเครื่องยนต์หนึ่งในสองที่เป็นเสาหลักของเศรษฐกิจไทยเคียงคู่กับการส่งออก

เมื่อปีนี้ภาพการส่งออกมีทีท่าว่าจะอ่อนแรงลง เพราะเศรษฐกิจโลกมีอาการซบเซา รายได้จากการท่องเที่ยวก็ยิ่งสำคัญมากขึ้น

ปี 2562 รายได้จากการท่องเที่ยวคิดเป็นประมาณ 1 ใน 5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี ทีเดียว

ถ้าถามคนที่อยู่ในวงการธุรกิจการท่องเที่ยวอย่างคุณ Omri Morgenshtern ซึ่งเป็นซีอีโอของ Agoda ประจำประเทศไทย ก็จะได้คำตอบว่า

"ประเทศไทยเป็นสถานที่พักผ่อนที่ดีเยี่ยมเสมอ...แต่ถ้าจะให้การท่องเที่ยวยั่งยืนและขยายตลาดเพิ่มขึ้นอีก ประเทศไทยก็ต้องพยายามช่วยหาเหตุผลให้ผู้คนมาที่นี่มากกว่านี้ด้วยวิธีการต่างๆ"

พูดง่ายๆ คือเขากำลังบอกว่าเราจะอาศัย “บุญเก่า” หรือจุดขายเดิมๆ อย่างเดียวไม่พอแล้ว

ยิ่งเมื่อมีคู่แข่งข้างบ้านเราปรับปรุงความน่าสนใจด้านการท่องเที่ยวของตนตลอดเวลา เช่นเวียดนาม

มอร์เกนชเทิร์นบอกนักข่าวในการให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับทิศทางการท่องเที่ยวของไทยจากสายตาของธุรกิจจองที่พักออนไลน์ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชียว่า

แม้ว่าเกาหลีใต้จะส่งนักท่องเที่ยวขาเข้ามายังประเทศไทยกลุ่มใหญ่ที่สุด แต่ก็มีชาวเกาหลีจำนวนมากที่เดินทางไปญี่ปุ่นและเวียดนาม

ทั้งนี้เพราะเกาหลีใต้ไปเปิดโรงงานที่เวียดนามในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น

ทำให้มีการก่อตัวของชุมชนชาวต่างชาติที่กระจายข่าวเกี่ยวกับเวียดนามทางบ้านมากขึ้น

“ยิ่งคุณนำการลงทุน ธุรกิจ และผู้คนเข้ามาได้มากเท่าไหร่... คุณก็สามารถขับเคลื่อนการท่องเที่ยวได้เมื่อเวลาผ่านไป” มอร์เกนชเทิร์นกล่าว

เราอาจจะไม่เคยโยงการลงทุนต่างชาติด้านอุตสาหกรรมกับการท่องเที่ยว แต่คนที่อยู่ในวงการนี้วิเคราะห์ลงรายละเอียดเลยว่า

ถ้ามีนักลงทุนเข้ามาในประเทศมากขึ้น พวกเขาก็จะส่งข่าวกลับบ้านเพื่อชักชวนให้ผู้คนจากประเทศนั้นไปเที่ยวที่นั่นมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

น้อยคนจะรู้ว่า Agoda มีสำนักงานที่ใหญ่ไม่น้อยในกรุงเทพฯ เพราะมีพนักงานมากกว่า 3,000 คน หรือประมาณครึ่งหนึ่งของพนักงานทั่วโลก

มอร์เกนชเทิร์นรับตำแหน่ง “ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร” ตั้งแต่ปีที่แล้ว จึงอยู่ในฐานะจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของการท่องเที่ยวในไทยและภูมิภาคนี้ระหว่างช่วงท้ายๆ ของโควิด-19 กับแนวโน้มของวันนี้  

เขาบอกว่าการเดินทางเพื่อธุรกิจยังไม่ฟื้นตัว แต่เห็นโอกาสที่ประเทศไทยจะดึงดูดบริษัทเทคโนโลยีอย่าง Agoda และการประชุมทางธุรกิจจากสิงคโปร์มาได้ไม่ยากนัก หากมียุทธศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพ

เขาเชื่อว่าประเทศไทยจะต้องสร้างระบบนิเวศของสตาร์ทอัป อีกทั้งยังต้องส่งเสริมให้ผู้คนให้รู้จักความคิดที่แตกต่างเพื่อให้ประเทศกลายเป็นศูนย์กลางของธุรกิจที่เกี่ยวกับนวัตกรรมใหม่ๆ ทั้งหลาย

นักท่องเที่ยวจากประเทศจีนเคยเดินทางเข้ามาในประเทศไทยมากเป็นอันดับ 3 รองจากชาวเกาหลีและชาวมาเลเซีย

วันนี้การจองมาเที่ยวประเทศไทยจากจีนฟื้นตัวขึ้นสู่ระดับประมาณ 80% ของปี 2562 บนแพลตฟอร์มของ Agoda

โดยสังเกตได้ว่าเป็นการก้าวกระโดดขึ้นทันทีหลังจากที่จีนเปิดประเทศอีกครั้งในเดือนมกราคมปีนี้

แต่ตัวเลขนี้กลับลดลงในเดือนต่อๆ มา

เหตุผลสำคัญคือข้อจำกัดด้านวีซ่าและจำนวนสายการบินยังคงจำกัดอยู่

เขาเชื่อว่าการเดินทางจากจีนจะกลับไปสู่ระดับเดิมภายในสิ้นปีนี้

ญี่ปุ่นก็เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวของชาวจีนไม่น้อย

พอจีนเปิดประเทศอีกครั้งเมื่อต้นปีนี้ ญี่ปุ่นก็ได้ประโยชน์ทันทีเพราะอาการ “อั้น” มาสองปีอันเป็นผลจากโรคระบาด

เสน่ห์ของญี่ปุ่นสำหรับนักท่องเที่ยวจากจีนเป็นเพราะมีความหลากหลาย

คนมาเที่ยวประเทศไทย เพราะแสวงหาอากาศที่ดี ชายหาด และงานปาร์ตี้

แต่ญี่ปุ่นมีดิสนีย์แลนด์ เมืองต่างๆ และการเดินทางเพื่อธุรกิจก็ช่วยผลักดันให้ตัวเลขนักเดินทางเข้าญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

Agoda มองธุรกิจการจองการท่องเที่ยวที่ต้องปรับตัวและขยายกิจกรรมเพื่อการเติบโตผ่านการใช้ AI หรือปัญญาประดิษฐ์เชิงสร้างสรรค์

การใช้ AI จะเปลี่ยนวิธีการค้นหาของนักท่องเที่ยวทางออนไลน์และปรับปรุงการดำเนินหลังบ้าน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องปรับปรุงเพื่อยกระดับประสบการณ์ของลูกค้าและเสนอราคาที่ต่ำลง

ซึ่งเป็นเกราะป้องกันเงินเฟ้อ ความผันผวนของค่าเงิน และการชะลอตัวของเศรษฐกิจ

บริษัทท่องเที่ยวออนไลน์แห่งนี้ก่อตั้งขึ้นในสิงคโปร์ในปี 2002 และถูกซื้อโดย Booking Holdings ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ Nasdaq ในปี 2007 เป็นแพลตฟอร์มเพื่อการท่องเที่ยวที่มีความเชี่ยวชาญในเอเชียแปซิฟิก

การจองมีรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2022 ที่ผ่านมา ที่ 17 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 578,000 ล้านบาท

โดยยอดจองการเดินทางรวมมีมูลค่า 121.3 พันล้านดอลลาร์ หรือเท่ากับ 4.1 ล้านล้านบาท

แนวทางวิเคราะห์ของคนที่อยู่ในแวดวงที่มองเห็นการแข่งขันด้านการแย่งชิงนักท่องเที่ยวอย่าง Agoda จึงมีประโยชน์สำหรับการวางยุทธศาสตร์สำหรับรัฐบาลไทยใหม่ที่กำลังจะต้องสร้างจุดแข็งของไทยในด้านต่างๆ อย่างเร่งด่วน...และยั่งยืน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ