จับตาการเยือนสหรัฐฯ ของนายกฯ นเรนทรา โมดี ของอินเดียสัปดาห์นี้ให้ดี เพราะเป็นความเคลื่อนไหวการเมืองระหว่างประเทศที่จะมีผลกระทบต่อดุลแห่งมหาอำนาจจีนและสหรัฐฯ อย่างสำคัญ
การเยือนวอชิงตันของโมดีครั้งนี้ นักวิเคราะห์บางคนเรียกมันว่าเป็นจังหวะ “ประวัติศาสตร์"
ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือ จะมีการพูดถึงความร่วมมือด้านกลาโหมใหม่ระหว่างสองประเทศนี้อย่างเป็นรูปธรรม
มองอีกมุมหนึ่งก็อาจจะถูกตีความได้ว่า สหรัฐฯ กับอินเดียกำลังส่งเสริมความสัมพันธ์ทางทหารเพื่อถ่วงดุลคู่แข่งอย่างจีน
ความจริงโมดีเดินทางไปสหรัฐฯ หลายครั้งตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งในปี 2014
แต่ครั้งนี้มีความหมายพิเศษในหลายมิติ
การเยือน 3 วันตั้งแต่เมื่อวานเป็นวาระอย่างเป็นทางการครั้งแรกของผู้นำอินเดีย นับตั้งแต่การมาเยี่ยมของอดีตนายกรัฐมนตรีมานโมฮัน ซิงห์ เมื่อปี 2009 ในสมัยรัฐบาลบารัค โอบามา
ก่อนออกจากบ้าน โมดีปูทางด้วยการบอกว่าการไปเยือนอเมริกาอย่างเป็นทางของเขาเป็น "ภาพสะท้อนของพลังและความมีชีวิตชีวาของการเป็นหุ้นส่วนระหว่างระบอบประชาธิปไตยของเรา"
โดยเสริมว่าทั้งสองประเทศกำลัง "ร่วมมือกันเพื่อส่งเสริมวิสัยทัศน์ร่วมกันของเราเกี่ยวกับอินโด-แปซิฟิกที่เสรี เปิดกว้าง และครอบคลุม"
และย้ำในแถลงการณ์ว่า "เรายืนหยัดอย่างแข็งแกร่งในการรับมือกับความท้าทายระดับโลกที่มีร่วมกัน"
แอนโทนี บลิงเกน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวกับสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อินเดียในเดือนนี้ว่า การเยือนของโมดีถือเป็น "ประวัติศาสตร์" และจะ "ตอกย้ำสิ่งที่ประธานาธิบดีไบเดนเรียกว่า 'ความสัมพันธ์ที่กำหนดทิศทาง' ของศตวรรษที่ 21"
ต้นเดือนนี้เอง รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ลอยด์ ออสติน บินไปอินเดียเพื่อพูดคุยกับรัฐมนตรีกลาโหมอินเดีย ราชนัธ สิงห์ เพื่อยกร่างข้อตกลงด้านกลาโหมที่จะให้ระดับผู้นำทั้งสองคุยกันที่ทำเนียบขาวในสัปดาห์นี้
สหรัฐฯ กับอินเดียถือเป็นสองประเทศที่เป็นประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก
และเป็นสมาชิกของ “จตุภาคี” Quad อันเป็นกลุ่มความมั่นคงเชิงยุทธศาสตร์ที่รวมถึงญี่ปุ่นและออสเตรเลียด้วย
เป็นกลุ่มด้านความมั่นคงที่พยายามส่งเสริมความร่วมมือในอินโด-แปซิฟิก ที่เห็นได้ชัดว่ามีเป้าหมายเพื่อจำกัดอำนาจทางเศรษฐกิจและการทหารในภูมิภาคที่กำลังเติบโตของจีน
ข้อตกลงที่คาดว่าโมดีจะสรุปในการมาเยือนอเมริกาครั้งนี้ จะเกี่ยวกับข้อตกลงด้านความมั่นคงใหม่ รวมถึงความร่วมมือระหว่าง General Electric Co. และ Hindustan Aeronautics ของอินเดีย เพื่อผลิตเครื่องยนต์ร่วมกันสำหรับเครื่องบินขับไล่ Tejas ที่ผลิตขึ้นเองในอินเดีย
ยังมีความเป็นไปได้ที่จะมีข้อตกลงให้อินเดียซื้อโดรนติดอาวุธที่ผลิตโดยบริษัท General Atomics ในแคลิฟอร์เนีย
ทั้งนี้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการสอดแนมของอินเดียเอง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามแนวชายแดนหิมาลัยที่มีข้อพิพาทกับจีน ซึ่งเป็นฉากการปะทะกันระหว่างทหารจีนและอินเดียเมื่อสามปีก่อนหน้านี้
ตลอดเวลาที่ผ่านมารัสเซียเป็นผู้จัดหายุทโธปกรณ์รายใหญ่ที่สุดของอินเดีย
โดยจัดหาเสบียงทางทหารเกือบครึ่งหนึ่ง
แต่เห็นได้ชัดว่าอินเดียต้องการจะขยายช่องทางการนำเข้าอาวุธ และเพิ่มการผลิตด้านการป้องกันในประเทศของตนเองด้วย
นอกเหนือจากข้อตกลงเครื่องยนต์ไอพ่นและโดรนแล้ว ทั้งสองประเทศยังมีแนวโน้มที่จะลงนามในสนธิสัญญาเกี่ยวกับการผลิตร่วมกันของระบบการเคลื่อนที่ทางบก อาวุธยุทโธปกรณ์อัจฉริยะ
ตลอดจนความร่วมมือด้านปัญญาประดิษฐ์ ความปลอดภัยทางไซเบอร์ อวกาศ ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ ควอนตัม และเทคโนโลยีอื่นๆ
ตอนที่รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ไปเยือนอินเดียเมื่อต้นเดือนนี้ ก็มีการวาง "โรดแมป" สำหรับความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมกลาโหมใน "อีกไม่กี่ปีข้างหน้า" อย่างน่าสนใจ
ออสติน บอกนักข่าวหลังจากพบกับรัฐมนตรีกลาโหมอินเดียว่า “เราตั้งตารอที่จะเดินหน้าโครงการเหล่านั้นบางส่วน ระหว่างการเยือนของผู้นำเราที่กำลังจะมีขึ้นในปลายเดือนนี้”
อินเดียมีเรื่องระหองระแหงกับจีนในภูมิภาคลาดักห์ตะวันออก ตามแนวพรมแดนโดยพฤตินัยที่เรียกว่า Line of Actual Control (LAC)
การสู้รบประชิดตัวในหุบเขากัลวานของพื้นที่ในช่วงกลางปี 2020 ทำให้ทหารอินเดียเสียชีวิต 20 นายและทหารจีน 4 นาย
นับเป็นการสู้รบที่มีการสูญเสียชีวิตของเพื่อนบ้านที่มีอาวุธนิวเคลียร์ทั้งคู่เป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษ
ตอนนั้นออสตินบอกว่า “วันนี้ความเป็นหุ้นส่วนระหว่างสหรัฐฯ-อินเดียเป็นรากฐานที่สำคัญของอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง”
และเสริมว่ายังมี “งานที่ต้องทำอีกมาก” สะท้อนว่าทั้งสองฝ่ายยังมีแผนจะทำอะไรร่วมกันอีกหลายเรื่อง
เพราะความร่วมมือระหว่างวอชิงตันกับเดลีไม่ได้จำกัดแค่การแบ่งปันเทคโนโลยีร่วมกันเท่านั้น
แต่ย้ำว่าจะมี “ความร่วมมือกันมากกว่าที่เคยเป็นมา”
ที่กรุงเดลีวันนั้น ออสตินยังได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับที่ปักกิ่งกล่าวหาว่าสหรัฐฯ ต้องการจัดตั้งพันธมิตรแบบนาโตในเอเชีย เขาตอบว่า “เราไม่ได้พยายามที่จะก่อตั้ง NATO ในอินโด-แปซิฟิกอย่างแน่นอน”
แต่อ้างว่า "เรายังคงทำงานร่วมกับประเทศที่มีแนวคิดเดียวกัน เพื่อให้แน่ใจว่าภูมิภาคนี้ยังคงเสรีและเปิดกว้าง เพื่อให้การค้าเจริญรุ่งเรือง และยังสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้อย่างต่อเนื่อง"
ซึ่งฝ่ายจีนก็คงจะตีความว่าเป็นการอ้างข้างๆ คูๆ มากกว่า
ต้องไม่ลืมว่าโมดีเคยถูกสหรัฐฯ ตั้งข้อรังเกียจ และเคยถูกปฏิเสธวีซ่าเพราะ “ละเมิดเสรีภาพทางศาสนาอย่างร้ายแรง”
ถึงขั้นที่ถูกห้ามไม่ให้เข้าอเมริกายาวนานเกือบทศวรรษ
แต่ในช่วงเก้าปีนับตั้งแต่วอชิงตันยกเลิกมาตรการกีดกันต่อเขา โมดีได้รับการยอมรับจากทำเนียบขาวมากขึ้นเรื่อยๆ
และถึงวันนี้ต้องถือว่าสหรัฐฯ ถึงขั้นกระโดดเข้ากอดรัดฟัดเหวี่ยงโมดีกันเลยทีเดียว
ก็ด้วยเหตุผลเดียว นั่นคือเพราะผลประโยชน์สอดคล้องต้องกันในบางเรื่องบางเวลาจริงๆ!
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ