รักชาติ ชังชาติ (ตอนจบ)

 

คราวที่แล้วได้กล่าวถึง “คนไทยผสม” ในพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งหมายถึง คนจีนในไทยที่ยังไม่รู้ว่าจะเป็นคนไทยหรือจีนกันแน่  และผมได้กล่าวไว้ว่า “คนจีนที่อยากเป็นไทยนั้น เมื่อเป็นไม่สำเร็จ ความขมขื่นในใจเขาอาจทำให้เขาเกิดความรู้สึกที่เป็นปฏิกิริยา ‘ชังชาติไทย’ ขึ้นมาได้ และหากความเป็นชาติไทยนั้นผูกโยงกับสถาบันพระมหากษัตริย์เข้าด้วยแล้ว ก็พาลจะพลอยชิงชัง ‘สถาบันพระมหากษัตริย์’ และผู้คนที่อยู่รายรอบหรือเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ไปด้วย แต่ครั้นคนเหล่านี้จะกลับไปจีนก็ไม่ได้เสียแล้ว เรื่องมันก็เลยอิหลักอิเหลื่อ แต่คนเหล่านี้จะมีความสุขสงบใจได้ก็ต่อเมื่อเขาสามารถเปลี่ยนแปลงหรือทำลายสิ่งที่เขาชิงชังนั่นเอง และส่วนหนึ่งของการทำลายคติเหล่านี้ก็คือ การสมาทานแนวคิดเสรีนิยมอย่างสุดโต่ง เพราะจริงๆแล้ว ลึกๆ แก่นของเสรีนิยมไม่สามารถอยู่กับชาติหรือชาตินิยมได้”

ปัญหาข้างต้นไม่ได้เกิดเฉพาะกับคนจีนในไทยเท่านั้น แต่ยังสามารถเกิดกับคนเชื้อชาติอื่นในไทยได้เช่นกัน  และรวมทั้งคนท้องถิ่นที่ถูกกดทับจากกระบวนการสร้างรัฐชาติด้วย และไม่เพียงแต่เฉพาะเชื้อชาติ ยังรวมไปถึงผู้ที่นับถือศาสนาอื่นที่ไม่ใช่พุทธ

ปัญหาดังกล่าวนี้เกิดจากการที่คนเชื้อชาติอื่นหรือศาสนาอื่นอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่สร้างความแปลกแยกให้กับตัวพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นการล้อเลียนหรือเหยียดรังเกียจหรือมองว่าไม่ใช่ “คนไทย”  ดังนั้น ในมุมกลับ หากสังคมไทยโดยรวมไม่มีอคติต่อพวกเขาในฐานะที่เป็น “คนอื่น”  ปัญหาก็จะไม่มีหรือมีน้อย และก็จะไม่เกิดการเที่ยวไปตีตราคนเหล่านี้ว่าเป็น “พวกชังชาติ”   เพราะการไปตีตราว่าพวกเขาเป็นพวก “ชังชาติ” มันเกิดจากการสร้างและผูกขาด “ความเป็นชาติหรือความรักชาติ” ที่จะต้องมีเงื่อนไขเฉพาะ

ที่จริง นักวิชาการฝรั่งที่ศึกษาสังคมไทยชอบที่จะกล่าวว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่สร้างความผสมกลมกลืนได้เป็นอย่างดี  ซึ่งการที่กล่าวเช่นนี้ น่าจะเกิดจากการเปรียบเทียบกับสังคมอื่นๆด้วย

ที่จริง ในปัจจุบัน ปัญหาเรื่องรักชาติ ชังชาติ ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องของเชื้อชาติเท่ากับเรื่องจุดยืนแนวคิดที่มีต่อสังคมการเมือง   และการที่พวกที่ถูกกล่าวหาว่า “ชังชาติ” นั้น จริงๆแล้ว พวกเขาน่าจะรักชาติมากกว่า เพราะพวกเขาออกมารณรงค์ต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมจากที่พวกเขาคิดว่า “ไม่ดีไปสู่สิ่งที่ดีกว่า”  การที่ออกมารณรงค์  ก็เพราะน่าจะมีความเป็นห่วงเป็นใยชาติบ้านเมือง ซึ่งก็น่าจะดีกว่าคนที่ไม่ใส่ใจอะไร วันๆเอาแต่ทำมาหากินตักตวงผลประโยชน์จากแผ่นดินไทยไปเรื่อยๆ                     

แต่แน่นอนว่า การเปลี่ยนแปลงย่อมจะต้องทำให้บางสิ่งบางอย่างหายไป  และบางสิ่งบางอย่างที่หายไปหรือเปลี่ยนไปนั้น อาจจะเป็นสิ่งที่คนอีกพวกหนึ่งเห็นว่าเป็นสิ่งดีงามที่ต้องรักษาไว้ !

อ้าว !  แล้วทีนี้จะทำยังไง เมื่อเห็นต่างกันในเรื่องว่าอะไรดีไม่ดี ?

มันเลยเป็นที่มาของการไปด่าว่า พวกที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าดีต้องรักษาไว้ว่าเป็นพวก “ชังชาติ”  เพราะสิ่งที่จะต้องถูกเปลี่ยนไปนั้นฝ่ายที่ต้องรักษาเชื่อว่ามันคือ “ความเป็นชาติ”

ส่วนพวกที่ถูกหาว่าเป็น “พวกชังชาติ” ก็ตอบโต้กลับว่า ไม่ได้ชังชาติ แต่ “ชังพวกแกที่ผูกขาดเนื้อหาความเป็นชาติและวิธีการรักชาติ” ไว้แต่ผู้เดียว

ผมเห็นว่า “พวกรักชาติ” น่าจะทำความเข้าใจว่า  คนที่พวกท่านไปกล่าวหาว่าชังชาตินั้น จริงๆแล้วพวกเขาก็ “รักชาติ” ไม่แพ้พวกท่าน  แต่เห็นต่างกัน สิ่งที่ผมอยากเห็นก็คือ การจัดนัดคุยกันแบบไม่ต้องเปิดสาธารณะให้มีกองเชียร์ ให้ต้องรักษาหน้าตากันและกันต่อหน้ากองเชียร์         

ขณะเดียวกัน ฝ่ายที่ถูกกล่าวหาว่าชังชาติ ซึ่งจริงๆก็รักชาติไม่แพ้กัน ก็ควรจะเข้าใจว่า สิ่งที่พวกตนต้องการจะเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นสิ่งที่คนอีกกลุ่มหนึ่งเขาต้องการรักษาและเห็นว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ  ก็ควรจะเคารพความเชื่อของพวกเขาไว้บ้าง  ไม่ได้ให้ท่านต้องไปเคารพในสิ่งที่ท่านไม่เชื่อ แต่ถ้าเป็นเสรีนิยมและพหุนิยมจริงๆ ก็ต้องเคารพสิ่งที่คนอื่นเขารักเขาเชื่อด้วย

วลีที่ว่า “ไม่เชื่อ อย่าลบหลู่”  นี่มีสองความหมาย  ความหมายแรกคือ ถ้าไม่เชื่อ อย่าไปลบหลู่ เพราะสิ่งที่ท่านไม่เชื่อ อาจจะมีพลังอิทธิฤทธิ์จริงๆก็ได้ เพราะยากที่จะพิสูจน์ได้แน่นอนว่าศักดิ์สิทธิ์หรือไม่ศักดิ์สิทธิ์

ความหมายที่สองนี่ไม่เกี่ยวกับว่าศักดิ์สิทธิ์หรือไม่ศักดิ์สิทธิ์  แต่มันเป็นเรื่องของการเคารพในความคิดความเห็นความเชื่อของคนอื่นตามหลักการสิทธิเสรีภาพอันเสมอภาคกันของมนุษย์ คุณไม่มีสิทธิ์ไปด่าเขาว่าโง่ งมงาย ไดโนเสาร์เต่าล้านปี  ถ้าหากเขาจะเชื่อในสิ่งที่เขาอยากจะเชื่อ   

ถ้าคุณไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เขาเชื่อ คุณต้องไม่ลบหลู่ แต่คุณสามารถชวนคุยอย่างมีเหตุมีผล ค่อยๆตั้งคำถามกับเขาอย่างสุภาพอ่อนน้อมถ่อมตน ซึ่งเป็นเงื่อนไขพื้นฐานที่จะมีการสื่อสารสนทนาแลกเปลี่ยนกันและกัน

ขณะเดียวกัน เมื่อฝ่ายที่เขาไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่คุณเชื่อมาคุยด้วยดีๆ  คุณก็ควรจะใจกว้างเปิดรับฟังความคิดเหตุผลของเขา ไม่ใช่ว่า ใครมาตั้งคำถามดีๆกับสิ่งที่คุณเชื่อ คุณก็ประณามทันทีว่าเป็นพวก “ชังชาติ”

ดังนั้น ผมว่า เราควรจะเลิกวาทกรรม “ชังชาติ” และอื่นๆได้แล้ว  เพราะคนที่ออกมาแข็งขันทางการเมืองก็ล้วนแต่ “รักชาติ” ทั้งสิ้น ยกเว้นพวกที่จะให้ประเทศตกเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติไปเลย อันนั้นก็ชัดอยู่                   

ผมเห็นว่า มีสิ่งต่างๆที่สมควรต้องเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคนในประเทศไทย นั่นคือ ความไร้ระเบียบ มักง่าย ไม่เคารพกฎหมาย  หรือทำผิดแล้วไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ที่เห็นอยู่ทุกวันคือ รถไม่จอดให้คนข้ามทางม้าลาย และคนข้ามก็ไม่ต่อสู้เพื่อสิทธิ์ในการข้ามตามกฎหมาย   ซึ่งผมเชื่อว่า พวกรักชาติทุกฝ่ายน่าจะเห็นพ้องต้องกันว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่ควรรักษาไว้ ก่อนที่จะไปขัดแย้งกันเรื่องใหญ่เรื่องโต !

(เผยแพร่ครั้งแรก โพสต์ทูเดย์ วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2563)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เพจพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ปลื้ม ‘คนคุณภาพประชาธิปัตย์’ ได้เป็นขรก.การเมือง

เฟซบุ๊กเพจ พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความว่า ครม. เห็นชอบ แต่งตั้ง “คนคุณภาพประชาธิปัตย์” เป็นข้าราชการการเมือง สังกัด ทส. และ สธ.

'เทพไท' เรียกร้องนิรโทษกรรมทุกกลุ่ม รวมคดี 112 ด้วย

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีตสส.นครศรีธรรมราช โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง "พรบ.นิรโทษกรรม:ปรองดองจริงหรือ?" ระบุว่ากรณีนายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการยื่นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.

ด้อมส้วมดิ้น! 'เพนกวิน' ย้อนพรรคส้ม ไม่ควรฟ้องปิดปากประชาชน

นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน ผู้ต้องหาคดี 112 ซึ่งหลบหนีออกไปต่างประเทศ โพสต์เฟซบุ๊กกล่าวถึงกรณีที่พรรคประชาชนประกาศว่า จะดำเนินการฟ้องร้องประชาชน