ในอดีตอิสราเอลกับซาอุฯ คือ 2 ตัวแสดงหลักประจำภูมิภาคตะวันออกกลาง เปรียบเสมือนนายอำเภอประจำภูมิภาค โดยมีสหรัฐเป็นแกนกลาง เกิดความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน
ทั้งซาอุดีอาระเบียกับอิสราเอลต่างเป็นพันธมิตรสหรัฐเนิ่นนาน 8 ทศวรรษ นับจาก ค.ศ.1945 เป็นต้นมารัฐบาลสหรัฐยึดมั่นข้อตกลงปกป้องราชวงศ์ซาอุฯ ภูมิภาคอ่าวเปอร์เซีย แลกกับการที่สหรัฐได้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์น้ำมันซาอุฯ
ความสัมพันธ์กับอิสราเอลยิ่งล้ำลึก เริ่มตั้งแต่สถาปนารัฐอิสราเอลสมัยใหม่เมื่อ ค.ศ.1948 การเผชิญสงครามกับรัฐอาหรับ อียิปต์ หลายครั้งล้วนมีรัฐบาลสหรัฐ
เป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ รัฐบาลสหรัฐมีส่วนสำคัญทำให้นานาชาติยอมรับอิสราเอล สามารถกินดินแดนของปาเลสไตน์ท่ามกลางเสียงประณาม เมื่อไม่นานนี้ยอมรับเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงอิสราเอล ถือเป็นชัยชนะครั้งสำคัญอีกครั้งของอิสราเอล ที่คงอยู่และเติบใหญ่คือความขมขื่นของอาหรับทั้งมวล
สังเกตว่า หลายทศวรรษแล้วที่พวกซาอุฯ กับอิสราเอลขัดแย้งรุนแรงถึงขั้นทำสงครามต่อกันหลายรอบ ปัจจุบันยังมีเรื่องที่เห็นต่าง แต่ทั้งคู่เป็นพันธมิตรและอยู่ภายใต้การสนับสนุนดูแลของสหรัฐ
ไม่ทิ้งสัมพันธ์อาหรับ-อิสราเอลและอาจดีขึ้น:
ฟังดูอาจแปลกๆ เพราะซาอุฯ จับมืออิหร่านแล้ว ทั้งมีความขัดแย้งกับอิสราเอลโดยเฉพาะเรื่องปาเลสไตน์ แต่ถ้าพิจารณาให้ดี ซาอุฯ อาหรับร่วมมือทั้งทางตรงทางอ้อมกับอิสราเอลและกำลังฟื้นสัมพันธ์
ย้อนหลังปี 2018 มกุฎราชกุมารซัลมานกล่าวว่า อิสราเอลมี “สิทธิ” เหนือดินแดนมาตุภูมิของตน คนยิวมีสิทธิแห่งการเป็นรัฐชาติ (nation-state) ที่อยู่ร่วมกับชนชาติอื่นโดยสันติ ซาอุฯ “ไม่มีปัญหาคนยิว” ทั้งยัง “มีผลประโยชน์ร่วมกันหลายอย่าง”
คำพูดนี้เท่ากับยอมรับรัฐชาติอิสราเอลปัจจุบัน (ในเชิงหลักการ) ต่างจากอดีตที่ประกาศว่าอาหรับกับยิวอยู่ร่วมโลกกันไม่ได้
มกุฎราชกุมารอธิบายเพิ่มว่า “ประเทศของเราไม่มีปัญหากับคนยิว ศาสดามุฮัมมัด (Muhammad) ของเราแต่งงานกับหญิงยิว ไม่ใช่เพียงเป็นเพื่อนแต่แต่งงานกัน เพื่อนบ้านของศาสดาก็เป็นพวกยิว ซาอุฯ ในปัจจุบันมีชาวยิวไม่น้อยทั้งจากอเมริกา ยุโรป”
มีนาคม 2022 มกุฎราชกุมารซัลมานกล่าวว่าตนหวังว่าความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์จะหมดไป ซาอุฯ ไม่มองว่าอิสราเอลเป็นศัตรู ตรงกันข้าม คาดหวังว่าจะเป็นพันธมิตรต่อกัน มีผลประโยชน์หลายอย่างที่ร่วมมือกันได้
ไม่กี่ปีที่ผ่านมาชาติอาหรับบางประเทศปรับความสัมพันธ์กับอิสราเอล ที่โดดเด่นมากคือ Abraham Accords สิงหาคม 2020 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กับอิสราเอลสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระดับปกติ เป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ ก้าวย่างสำคัญของสันติภาพตะวันออกกลาง เดือนถัดมาบาห์เรนประกาศสถาปนาการทูตกับอิสราเอลเช่นกัน
เนื้อหาตอนหนึ่งใน Abraham Accord ระบุชัดว่า ทั้งอาหรับกับยิวต่างเป็นลูกหลานของอับราฮัม (Abraham) ความจริงแล้วในภูมิภาคตะวันออกกลางประกอบด้วยมุสลิม ยิว พวกนับถือคริสต์ และผู้นับถือศาสนาความเชื่ออื่นๆ แม้แตกต่างแต่ปรารถนาอยู่ร่วมกัน (spirit of coexistence) ด้วยความเข้าใจและเคารพซึ่งกันและกัน
สรุปแล้ว Abraham Accords คือการประกาศยอมรับรัฐอิสราเอล เริ่มติดต่อกันทุกด้านเหมือนประเทศทั่วไป ทั้งๆ ปัญหาปาเลสไตน์ยังคงอยู่ อิสราเอลยังคงลุกล้ำตั้งถิ่นฐานในเขตเวสต์แบงก์มากขึ้นตามลำดับ พูดให้ชัดคือ บรรดาประเทศที่เคยต่อต้านอิสราเอลเพราะปาเลสไตน์ (ส่วนใหญ่คือประเทศในตะวันออกกลาง นับถืออิสลามเป็นหลัก) ตอนนี้หันมาจับมือร่วมมือกัน นี่คือการทรยศหักหลังชาวปาเลสไตน์ใช่หรือไม่
มองภาพรวม อาหรับกำลังเป็นมิตรกับอิสราเอลและอิหร่านไล่เลี่ยกัน ลดความขัดแย้งภูมิภาค ลดโอกาสทำสงครามใหญ่ที่มหาอำนาจอย่างสหรัฐหวังและใช้มาตลอด ทำลายทีละประเทศ เช่น อิรัก ซีเรีย เยเมน คำถามคือใครเป็นรายต่อไป ทั้งหมดนี้มาจากการเปลี่ยนทัศนคติ หลักคิด จนนำสู่นโยบายปรับสัมพันธ์
ต้องมีเส้นทางสันติภาพกับชาวปาเลสไตน์ด้วย:
ในอีกด้าน ซาอุฯ ไม่ยอมมีความสัมพันธ์ระดับปกติกับอิสราเอล ยอมรับว่าถ้าซาอุฯ กับอิสราเอลปรับสัมพันธ์สู่ระดับปกติจะเป็นประโยชน์ต่อภูมิภาค แต่ตั้งเงื่อนไขว่าต้องมีเส้นทาง (แผน) สันติภาพกับชาวปาเลสไตน์ด้วย ให้พวกเขาได้รับความยุติธรรม มีอนาคต มีเส้นทางนำสู่ทวิรัฐ หาไม่แล้วสัมพันธ์ระดับปกติจะไม่เป็นประโยชน์เท่าไหร่ คิดว่าสหรัฐจะเห็นด้วยว่าเรื่องเหล่านี้สำคัญ
จุดยืนซาอุฯ คือความเป็นไปของปาเลสไตน์เป็นปัจจัยสำคัญต่อเสถียรภาพภูมิภาค ประณามการกระทำรุนแรงต่อชาวปาเลสไตน์ ย้ำต้องเร่งแก้ปัญหานี้อย่างครอบคลุม มองหาหนทางสู่สันติภาพตามแนวทางทวิรัฐ (two-state solution) อย่างที่นานาชาติเอ่ยถึง ตามข้อเสนอรัฐอาหรับ สอดคล้องกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศ สร้างรัฐปาเลสไตน์อิสระโดยยึดเขตแดนเมื่อปี 1967 มีเยรูซาเลมตะวันออกเป็นเมืองหลวง ยุติการยึดครองดินแดนจากการรุกรานของอิสราเอล ผู้บ่อนทำลายความพยายามสู่สันติภาพ ขอร่วมปกป้องเยรูซาเลม สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ รักษาสิ่งเหล่านี้ให้อยู่ดังเดิม
หากเทียบกับอิหร่าน-อาหรับอาจตีความว่า อิสราเอลถูกโดดเดี่ยวมากขึ้นเมื่อเทียบกับอิหร่าน (อาหรับเป็นมิตรกับทั้งอิสราเอลและอิหร่าน แต่อาหรับทุกประเทศเป็นมิตรอิหร่าน ต่างจากที่ซาอุฯ ยังไม่เป็นมิตรอิสราเอลอย่างเป็นทางการ เมื่อเทียบกันแล้วอิสราเอลจึงถูกโดดเดี่ยวมากกว่าในเชิงเปรียบเทียบ)
ซึ่งเป็นสถานการณ์ใหม่ ผลจากประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เชื่อมความสัมพันธ์ซาอุดีอาระเบียกับอิหร่านเมื่อปี 2023 นี้เอง
ไม่นานหลังซาอุดีอาระเบียกับอิหร่านเริ่มฟื้นฟูความสัมพันธ์ ต้นเดือนมิถุนายน 2023 Antony Blinken รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ กล่าวว่า สหรัฐหวังช่วยให้อิสราเอลมีความสัมพันธ์ระดับปกติกับซาอุฯ หวังว่าจะเข้าร่วม Abraham Accords อันจะส่งเสริมให้ภูมิภาคมั่นคงยิ่งขึ้น ตระหนักว่าไม่ง่าย ต้องใช้เวลา แต่หวังว่าจะสำเร็จในที่สุด ชี้ว่าการที่อิสราเอลเข้าไปตั้งถิ่นฐานในเขตเวสต์แบงก์ การปรับแก้สถานศักดิ์สิทธิ์ส่งผลเสียต่อแนวทางทวิรัฐ
วิเคราะห์การปรับสัมพันธ์อิสราเอลไม่น่าจะเกิด:
ประการแรก พื้นที่ของปาเลสไตน์
ถ้าคิดให้ดียากที่อิสราเอลจะสามารถทำตามเงื่อนไขของซาอุฯ แค่กลับไปยึดแนวเขตแดนเมื่อปี 1967 ก็ยากแล้ว หลายสิบปีที่ผ่านมาอิสราเอลเข้าครองพื้นที่ของปาเลสไตน์จำนวนมาก คนอิสราเอลหลายแสนเข้าไปตั้งถิ่นฐานและไม่น่าจะย้ายออกเพราะไม่รู้ว่าจะไปไหนดี ทุกวันนี้ยังคงกินดินแดนปาเลสไตน์มากขึ้น เห็นชัดว่าลำพังข้อนี้ก็ทำไม่ได้แล้ว ดังนั้นตราบใดที่รัฐบาลซาอุฯ ไม่เปลี่ยนข้อเรียกร้อง จะคืนความสัมพันธ์ได้อย่างไร
ประการที่ 2 Greater Israel
แนวคิดไซออนิสต์ต่อปาเลสไตน์คือ พื้นที่ของอิสราเอลแบ่งใครไม่ได้ ยึดว่าเขต Judea (พื้นที่อิสราเอลในขณะนี้) กับ Samaria (เวสต์แบงก์) เป็นของอิสราเอลตามประวัติศาสตร์แต่ดั้งเดิม ดังนั้นพื้นที่ประเทศอิสราเอลขณะนี้รวมกับเวสต์แบงก์จะต้องเป็นของอิสราเอลวันยังค่ำ และผู้อาศัยส่วนใหญ่ต้องเป็นชาวยิว จึงชอบธรรมที่จะผนวกเวสต์แบงก์เป็นส่วนหนึ่งของประเทศอิสราเอล ด้วยเหตุนี้บางคนคิดว่าเพราะไซออนิสต์นี่แหละอิสราเอล จึงมุ่งมั่นขยายดินแดนตามแนวทาง Greater Israel (เป้าหมายขยายพื้นที่อิสราเอลในทุกทิศทางจนกว่าจะได้พื้นที่ครบซึ่งต้องขยายอีกมาก)
ทุกวันนี้ลัทธิไซออนิสต์ยังเป็นที่นิยม เป็นลัทธินิกายหนึ่งที่ผู้คนศรัทธา Greater Israel เป็นเป้าหมายลัทธิ นอกจากไม่คืนพื้นที่ยึดครองปัจจุบันยังต้องจะกินดินแดนเพิ่มอีก
การฟื้นฟูความสัมพันธ์ซาอุดีอาระเบียกับอิหร่านกลายเป็นนโยบายเชิงรุก ส่วนสหรัฐกับอิสราเอลถอยร่น รัฐบาลไบเดนต้องรีบออกหน้าแสดงตัวขอปรับสัมพันธ์แทนอิสราเอล.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นโยบายต่างประเทศจีน2024จากมุมมองสหรัฐ
เป้าหมายนโยบายต่างประเทศคือการฟื้นฟูชาติจีนครั้งยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะใช้มุมมองจีนหรือสหรัฐ ทั้งคู่มองว่าต่างเป็นคู่แข่งเชิงยุทธศาสตร์และน่าจะเป็นปรปักษ์ในที่สุด
ยุทธศาสตร์แห่งชาติจีน2024จากมุมมองสหรัฐ
กำหนดเป้าหมาย ‘มีกองทัพเข้มแข็งระดับโลก เป็นผู้นำทบทวนระเบียบโลก’ ในการนี้จีนต้องเผชิญหน้าสหรัฐผู้นำระเบียบโลกปัจจุบันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ปฐมบทอาหรับสปริงซีเรีย
ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจสังคมเป็นต้นเหตุสำคัญของอาหรับสปริงซีเรีย รัฐบาลต่างชาติที่หวังล้มอัสซาดพยายามอยู่นานหลายปี รอจนวาระและโอกาสเป็นใจ
จากฮาเฟซ อัลอัสซาดสู่จุดเริ่มอาหรับสปริงซีเรีย
อำนาจการปกครองเป็นของคนส่วนน้อย คนกลุ่มนี้แหละที่ได้รับประโยชน์ ทิ้งให้ประชาชนจำนวนมากอยู่ตามมีตามเกิด อำนาจนี้เปลี่ยนมือไปมาจนมาถึงระบอบอัสซาดที่อยู่ได้ 2 ชั่วคน คือพ่อกับลูก
จากสถาปนาประเทศซีเรียสู่พรรคบาธ
เรื่องราวของซีเรียเต็มไปด้วยการแข่งขันช่วงชิงทั้งภายในกับอำนาจนอกประเทศ ความขัดแย้งภายในหลายมิติ เป็นอีกบทเรียนแก่นานาประเทศ
2024สงครามกลางเมืองซีเรียระอุอีกครั้ง
สงครามกลางเมืองที่ดำเนินมาเกือบ 14 ปียังไม่จบ สาเหตุหนึ่งเพราะมีรัฐบาลต่างชาติสนับสนุนฝ่ายต่อต้านกับกลุ่มก่อการร้าย HTS เป็นปรากฏการณ์ล่าสุด